บันทึกจากป่าเขา เรื่องเล่าของคนอยู่ป่า

fas fa-pencil-alt
เดเด
fas fa-calendar

ปลายฝนต้นหนาว กลางเดือนตุลาคม ในผืนป่าสาละวิน จังหวัดแม่ฮ่องสอน ผมและเพื่อนอีก 2 คนมีโอกาสได้ไปเยือนบ้านแม่ก๋อน อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน หมู่บ้านเล็ก ๆ ของชาวปกาเกอะญอ (กะเหรี่ยง) ที่มีเพียงไม่กี่สิบครัวเรือนซ่อนอยู่ในผืนป่าอันกว้างใหญ่ ตรงทางเข้าหมู่บ้านมีลำห้วยแม่ก๋อนไหลผ่าน ลำห้วยสายนี้หล่อเลี้ยงสัตว์น้อยใหญ่และผู้คนที่นี่มาหลายช่วงอายุคน

การเดินทางของพวกเราเริ่มต้นจากตัวอำเภอแม่สะเรียงด้วยรถยนต์ขับเคลื่อนสี่ล้อ ใช้เวลาเกือบชั่วโมงครึ่ง ขณะที่รถแล่นไปตามทางลูกรัง ผู้โดยสารที่นั่งอยู่กระบะหลังรถบางทีกระเด็นกระดอนขึ้นมาแทบจะลอยออกนอกรถ เมื่อมาถึงจุดสิ้นสุดเส้นทางที่รถยนต์จะไปต่อไม่ได้ รถมอเตอร์ไซค์ที่จอดรออยู่ก็เป็นพาหนะต่อมาที่พาเราสู่หมู่บ้าน ใช้เวลาประมาณ 30 นาที บนเส้นทางลูกรังตลอดสาย แม้ว่าจะยาวนานเป็นชั่วโมงและยากต่อการขับขี่ แต่เราก็ไม่ท้อ เพราะสองฟากเส้นทางเต็มไปด้วยต้นไม้น้อยใหญ่และเสียงนกร้องเพลงให้ฟัง

ต้นไม้ข้างทางบางต้นมีกล้วยไม้ป่าดอกสีขาวขึ้นเบียดเสียดกันเต็มเครือไม้ ความชุ่มชื่นของผืนป่าทำให้เราลืมความยากลำบากของเส้นทาง ความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าสาละวินทำให้ขุนห้วยต้นน้ำต่าง ๆ มีน้ำไหลให้ความชุ่มชื้นกับผืนป่า และหล่อเลี้ยงสัตว์น้อยใหญ่และผู้คนที่พึ่งพาอาศัยน้ำในการดำรงอยู่ ลำห้วยแม่ก๋อนเป็นน้ำห้วยสาขาของแม่น้ำสาละวิน มีน้ำสมบูรณ์ตลอดทั้งปี มีปลาน้อยใหญ่แหวกว่ายขึ้น-ลงระหว่างห้วยแม่ก๋อนกับแม่น้ำสาละวินตามฤดูกาลอพยพของปลา นอกจากปลาแล้ว บริเวณตลิ่งของลำห้วยยังมีทั้งกบ เขียด กุ้ง ปู ปลา และสัตว์น้ำอื่น ๆ อาศัยอยู่

ด้วยความสมบูรณ์ของลำห้วย ชาวบ้านจึงมีแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ ชาวบ้านได้จัดตั้งเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลาขึ้นในระยะทางกว่า 2 กิโลเมตร เราจึงเห็นปลาน้อยใหญ่แหวกว่ายไปมาโดยไม่กลัวว่าจะมีใครจับ การที่มีแหล่งน้ำ แหล่งอาหาร และผืนป่าอันกว้างใหญ่อุดมสมบูรณ์ ทำให้วิถีชีวิตของผู้คนที่นี่อยู่อย่างเรียบง่าย พอเพียง และอาศัยพึ่งพาผืนป่าต้นน้ำ

เมื่อพวกเราไปถึงหมู่บ้านก็ได้สัมผัสถึงความเป็นมิตรที่ทุกคนมีต่อกัน รอยยิ้มของผู้คน และการทักทายของเด็ก ๆ แสดงถึงน้ำใจ ความเป็นมิตร และความสมบูรณ์ของอาหารที่พวกเขาไม่กังวลว่าจะหมด เพราะพวกเขาสามารถหาอาหารจากผืนป่าได้ตลอดเวลา ผู้คนที่นี่ทำมาหาเลี้ยงชีพด้วยการเลี้ยงสัตว์ ทำไร่ ทำนา หาปลาตามแหล่งน้ำ และหาอาหารตามป่า หาเพียงพอเท่าที่จำเป็นต่อการดำรงชีพเท่านั้น

ในหมู่บ้านบางคนอาจไม่มีไร่เป็นของตนเอง คนที่มีไร่ก็จะแบ่งให้คนที่ไม่มีไร่ทำ เมื่อถึงช่วงเก็บเกี่ยว ผู้ที่ยืมไร่จะจ่ายข้าวให้เจ้าของไร่ตามความเหมาะสม หมู่บ้านนี้มีผืนป่าอันสมบูรณ์และมีสายน้ำที่หล่อเลี้ยงชีวิต จึงมีปลาหลายพันธุ์ในห้วย โดยเฉพาะในเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลาของหมู่บ้าน ชาวบ้านที่นี่หาปลาด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น ปักเบ็ด เหวี่ยงแห ใช้สวิง ปืนยิงปลาหรือการตึกแค

ในบ่ายวันที่ 17 ตุลาคม เพื่อนร่วมเดินทางชาวปกาเกอะญอชวนพวกเราไปหาปลา การตึกแคเป็นวิธีหาปลาโดยการกั้นน้ำห้วยที่มีแควน้ำแยกออกเป็น 2 แคว โดยเลือกกั้นแควน้ำที่เล็กกว่าและวิดน้ำออก น้ำจะแห้งลงเองและสามารถจับปลาได้ง่าย การกั้นแควน้ำต้องช่วยกันทำประมาณ 5-10 คน การหาปลาวิธีนี้ก่อให้เกิดความสามัคคีและความร่วมมือ

ผู้เฒ่าผู้แก่ปกาเกอะญอสอนว่าเมื่อตึกแคแล้วต้องปล่อยน้ำให้ไหลกลับดังเดิมเพื่อให้ปลามีโอกาสขยายพันธุ์ต่อไป ในวันนั้นเราตึกแคได้ปลามาหลายชนิด รวมถึงปลาหลาด ซึ่งมีลักษณะคล้ายปลาช่อนแต่ตัวเล็กกว่า มื้อเย็นของเราคือ "แอ็บปลา" อาหารพื้นเมืองทางภาคเหนือที่รสเด็ดไม่ธรรมดา

การเยือนหมู่บ้านที่เต็มไปด้วยความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติและการสัมผัสวิถีชีวิตของผู้คนที่อยู่อย่างพอเพียง ทำให้พวกเราตระหนักว่าผู้ที่อยู่กับป่าและถูกมองว่าเป็นผู้ทำลายป่า แท้จริงแล้วเป็นผู้ที่คอยดูแลรักษาป่าให้ลูกหลานรุ่นหลังได้พึ่งพา ตามคำที่บรรพบุรุษปกาเกอะญอสอนต่อกันมาว่า "อ่อทีกะตอที อ่อก่อกะต่อก่อ" หรือ "กินน้ำรักษาน้ำ อยู่ป่ารักษาป่า"

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง