บันทึกคนเดินทาง : เก็บแผ่นดินที่สิ้นชาติ : ความฝันของชาวกะเหรี่ยงบนฟากฝั่งสาละวิน
กว่าสัปดาห์แล้วที่ฉันเดินเท้าไปตามหมู่บ้านในรัฐกะเหรี่ยงเพื่อเก็บข้อมูลผู้พลัดถิ่น ภายในประเทศ หรือ ไอดีพี (IDPs -Internally Displaced Persons) ในเขตลุ่มน้ำสาละวินร่วมกับกลุ่มสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชนกะเหรี่ยง ในแต่ละวัน ในทุกหมู่บ้านที่เราเข้าไปเรื่องราวเดิม ๆ ของชาวบ้านถูกเล่าออกมาซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทหารพม่าเข้ามาคุกคาม รีดนาทาเร้น เกณฑ์แรงงานทาส เก็บส่วยและผลผลิต และเลวร้ายที่สุดคือเมื่อกองทัพพม่าบุกเข้ามาในหมู่บ้าน เผาทำลายทุกสิ่ง ทุกคนทั้งเด็ก หนุ่ม และแก่ ต่างต้องหลบหนีเอาชีวิตรอดไปหลบซ่อนอยู่ในป่าเพื่อรอที่จะกลับมายังหมู่บ้านเดิม
วันที่แปดของการเดินทาง ที่หมู่บ้านบนยอดเขา ชาวบ้าน เล่าว่าสองสัปดาห์ที่ผ่านมามี ชาวบ้านกลุ่มใหญ่อพยพหนีกันลงมาจากทางตอนเหนือแล้วหลายร้อยคน และเมื่อคืนมีชาวบ้านชุดใหม่ประมาณ 90 คน พักนอนที่หมู่บ้านก่อนออกเดินเท้ามุ่งหน้าไปยังที่ปลอดภัยริมน้ำสาละวินเมื่อเช้านี้เอง
เย็นนั้นเราตัดสินใจไม่นอนค้างที่หมู่บ้าน มุ่งหน้าเดินข้าม ภูเขาตามขบวนผู้พลัดถิ่นไป "ที่ปลอดภัย" ใกล้แม่น้ำสาละวินรีบร้อนเดินทางมาถึงที่หมายเอาก็ค่ำมืด แต่ฉันก็ต้องผิดหวังเพราะการเป็นคนนอกที่จะเข้าไปถ่ายภาพและสัมภาษณ์ผู้พลัดถิ่นที่ตั้งค่ายพักพิงชั่วคราวอยู่ไม่ใช่เรื่องง่าย เพื่อนๆ ต้องเข้าชี้แจงแก่กรรมการดูแลผู้ลี้ภัยกะเหรี่ยงถึงวัตถุประสงค์ของการเข้าไปในพื้นที่ เนื่องจากกรรมการฯ เกรงว่าข้อมูลที่เผยแพร่ออกไปจะเป็นอันตรายต่อความปลอดภัยของผู้พลัดถิ่น
หลังจากรออยู่ 1 วัน 1 คืน โพซอ เพื่อนชาวกะเหรี่ยงก็วิ่งมาแจ้งข่าวดี ฉันได้รับอนุญาตแล้ว "ที่ปลอดภัย" ภายใต้การดูแลของกองกำลังกะเหรี่ยงกู้ชาติแห่งนี้คือป่าละเมาะบนที่ราบแคบๆ ริมลำห้วยสาขาของแม่น้ำสาละวิน เป็นที่พักพิงของชาวกะเหรี่ยงกว่า 300 คน จากเขตจังหวัดตองอู ทางตอนเหนือของรัฐกะเหรี่ยง
ซอ-กวอ ผู้ดูแลศูนย์พักพิงเล่าว่านี่เป็นเพียงผู้พลัดถิ่นกลุ่มแรก ๆ ที่เดินทางมาถึงริมน้ำสาละวิน ซึ่งขณะนี้มีชาวบ้านอีกอย่างน้อย 5,000 คน กำลังเดินทางตามมายังที่ปลอดภัยแห่งนี้หลังจากกองทัพพม่ากวาดล้างพื้นที่กว่า 16 หมู่บ้าน
ใน 2 จังหวัดทางตอนเหนือ ซึ่งเริ่มตั้งแต่ราวเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2549 เป็นต้นมา
คนทุกข์กว่า 50 ครอบครัวเพิ่งเดินทางมาถึงเมื่อสองวันก่อนหลังจากเดินเท้ากันเป็นเวลาเกือบหนึ่งเดือนเต็ม ด้วยทรัพยากรที่มีอยู่จำกัด หน่วยงานบรรเทาทุกข์ของกองกำลังกะเหรี่ยงกู้ชาติทำได้เพียงแจกจ่ายผ้าใบสีฟ้าและมุ้งให้ครอบครัวละ 1 ชุด มีข้าวสาร และอาหารจำเป็น ได้แก่ ถั่ว ปลาร้า พริก และเกลือ
สัมภาระติดตัวของชาวบ้านที่บรรจุในตะกร้ามีเพียงหม้อ เสื้อผ้าเก่าเพียงปกปิดร่างกาย มีด และอุปกรณ์ยังชีพเพียงไม่กี่ชิ้นเท่าที่หอบหิ้วกันมาได้ ส่วนบ้าน ไร่นา และสัตว์เลี้ยงางๆ เช่น วัว ควาย หมู ไก่ จำเป็นต้องทิ้งไว้เบื้องหลัง เด็กเล็กซึ่งมีราวครึ่งหนึ่งของจำนวนชาวบ้านทั้งหมด อ่อนเพลียและหลายคนไม่สบาย เนื่องจากการระหกระเหินจากบ้านมาไกลภายใต้อากาศร้อนอบอ้าวของลุ่มน้ำสาละวินตอนล่าง ซึ่งชาวบ้านเหล่านี้คุ้นเคยกับอากาศเย็นตลอดปีที่บ้านบนภูเขาสูง
ยังนับว่าโชคดีที่มีหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ที่ฝึกโดยแม่ตาวคลินิกของหมอซินเทีย แพทย์หญิงชาวกะเหรี่ยงมาให้บริการรักษาโรคพื้นฐานแก่ชาวบ้าน ในเพิงด้านหน้าของศูนย์พักพิงคือ "คลินิก" ที่มีหมอ 3 คน ตรวจอาการและจ่ายยาตามที่มี
ภายใต้ไอแดดร้อนระอุในเพิงพักชั่วคราว เด็กน้อยอายุ 20 วันหลับอยู่ในอ้อมอกของแม่ซึ่งมีสีหน้าเพลียมาก เด็กน้อยคนนี้ถือกำเนิดระหว่างการเดินทาง นั่นหมายความว่าแม่ต้องเดินเท้าขณะที่อุ้มท้องแก่ และออกเดินทางต่อทันทีไม่กี่วันหลังจากคลอดเสร็จ
"ผมต้องอุ้มลูกที่ป่วยอีก 2 คนแบกไว้ในตะกร้า เพื่อนบ้าน ก็ช่วยกันถือของ เดินทางตั้งแต่พระอาทิตย์ยังไม่ขึ้นจนมืดค่ำแต่ตอนที่จะข้ามถนนต้องรอกันเกือบ 1 อาทิตย์ รอจนทหารพม่า ไปแล้วจริงๆ ถึงจะข้ามมาได้" ผู้เป็นพ่อเล่า
ถนนสายนี้คือถนนเชื่อมระหว่างเมืองเจ้าจี้ และฐานทหาร พม่าที่จอท่า ริมแม่น้ำสาละวินทางตอนเหนือของรัฐกะเหรี่ยงซึ่งเป็นถนนสายหลักที่กองทัพพม่าใช้ขนส่งเสบียงและยุทโธปกรณ์ โดยมีกองกำลังอยู่เป็นจุด ๆ และกับระเบิดอีกจำนวนมหาศาลที่วางไว้ตลอดแนวถนนเพื่อป้องกันไม่ให้กองกำลังกู้ชาติชนกลุ่มน้อยเข้ามาโจมตี ถนนมรณะสายนี้เองที่ตัดรัฐกะเหรี่ยงออกเป็น 2 ส่วน การเดินทางของทั้งชาวบ้านและกองกำลังกะเหรี่ยงกู้ชาติเป็นไปได้อย่างสาหัสยิ่ง
"เราข้ามถนนกันตอนกลางคืน หนูกลัวมาก กลัวทหารพม่ามายิง แล้วก็กลัวเหยียบกับระเบิด แต่ก็ต้องเดินตามพ่อแม่ไป" ผู้พลัดถิ่นรุ่นเยาว์เล่า
กญอ-พอ เด็กหญิงวัย 11 ปีต้องจากบ้านและโรงเรียนมาเพราะทหารพม่าเข้ามาโจมตีหมู่บ้านเพียง 1 สัปดาห์หลังจากโรงเรียนปิดภาคฤดูร้อน เด็กหญิงสอบได้ที่ 1 มาตลอดและกำลัง จะขึ้นชั้นประถม 4 โตขึ้นเธออยากเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ แต่วันที่จะได้คืนสู่ห้องเรียนดูมืดมนสำหรับเธอ
"หนูอยากกลับไปเรียนหนังสือไหมเอ่ย" ฉันถาม
"เหม่เหม-อยากสิคะ หนูเดินมาหนูก็คิดถึงบ้าน คิดถึงโรงเรียน อยากกลับบ้าน แต่พม่าเข้ามาเราก็ต้องหนี"
เด็กน้อยยังเยาว์เกินกว่าจะเข้าใจสถานการณ์ความขัดแย้ง ทางการเมืองในประเทศของตนเอง พ่อของเธอบอกว่าถ้ากลับบ้านได้ก็จะพากันกลับทันทีที่สถานการณ์คลี่คลาย "อยู่บ้านเรามีความสุข แต่แผ่นดินไม่สงบเราก็ต้องหนี
กันแบบนี้ตลอด"
******
เมฆฝนทะมึนที่ปกคลุมทั้งหุบเขาตั้งแต่เย็นเริ่มสาดสายฝน แรกของปีลงมาในคืนนี้พร้อมกับสายลมกรรโชกแรง ผู้พลัดถิ่นคืนนี้จะเป็นอย่างไร ผ้าพลาสติกผืนแคบๆ คงไม่สามารถป้องกันอะไรได้ เด็กน้อยคงร้องไห้กันเสียงดังกว่าเมื่อตอนกลางวัน ใกล้รุ่งสางแล้วฝนยังไม่มีวี่แววว่าจะหยุด หยาดน้ำ ที่ไหลลงมาจากใบหน้าของผู้เป็นพ่อที่กอดลูกน้อยไว้แนบอกใครจะบอกได้ว่ามันคือน้ำฝนหรือน้ำตา
12 สิงหาคม 2550
กว่า 1 ปีที่ผ่านมา ฉันยังได้แวะไปเยี่ยมเยียนชาวบ้านที่นี่สม่ำเสมอ เพิงพักเล็กๆ ริมลำห้วยวันนี้ขยายเป็น "ค่ายผู้พลัดถิ่น" ขนาดเท่าๆ กับเมืองเล็กๆ ด้วยประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนเป็น 3,800 คนแล้ว และยังมีชาวบ้านทยอยเข้ามาไม่หยุด บ้านพัก โรงเรียน โรงพยาบาล ห้องประชุม ถูกสร้างขึ้น ด้วยไม้ไผ่ ไล่เรียงกันไปตามสองฝั่งลำห้วยยาวจนสุดสายตา
"มาเที่ยวเหรอครับครู" ซอดาปู ชายวัยกลางคนทักทายมาจากสวนผักข้างทาง
ฉันพบกับซอดาปูเมื่อกลางปีก่อน ตอนนั้นชายพิการนั่งเงียบ ๆ อยู่ที่มุมห้องของกระท่อมสำนักงานอยู่ทั้งวัน ขาเทียมที่เพิ่งได้รับก็วางอยู่ข้างๆ ตัว ฉันสงสัยว่าทำไมเขาจึงไม่ไปสร้างกระท่อมอยู่กับครอบครัวเหมือนคนอื่นๆ จึงเข้าไปคุยด้วย
"ครอบครัวผมยังมาไม่ถึง ผมเลยรออยู่ที่นี่ก่อน" ซอดาปูเล่าว่าเขาอยู่ในหมู่บ้านทางตอนเหนือแถบตองอู เขาต้องสูญเสีย ขาข้างหนึ่งขณะเดินไปไร่ในตอนเช้า ต้องกัดฟันข่มความเจ็บปวด รอจนกระทั่งเย็นเมื่อชาวบ้านมาพบและพาไปรักษา จากนั้นไม่นานภรรยาของเขาก็ล้มป่วยและเสียชีวิต ทิ้งให้ลูกน้อย 4 คนอยู่กับพ่อผู้พิการ และเมื่อทหารพม่าบุกเข้ามา ซอดาปูและลูกๆ พร้อมทั้งชาวบ้านทั้งหมู่บ้านก็ไปซ่อนตัวในป่า เมื่อเวลาล่วงเลย ชาวบ้านส่วนหนึ่งตัดสินใจเดินทางมายังริมสาละวินที่ปลอดภัยกว่า
“ผมมีขาข้างเดียว อุ้มลูกเล็กพามาด้วยกันไม่ได้ ตากับยายก็เลยบอกให้ผมหนีมาก่อนแล้วเด็ก ๆ จะตามมา ลูกคนโตก็อาสาดูแลน้อง ๆ แทนผมเอง เขาบอกไม่ต้องเป็นห่วง เดี๋ยวเด็ก ๆ ก็คงมาถึงกัน” ชายขาเดียวเล่าในวันนั้น
ผ่านไปกว่าขวบปี วันนี้พ่อก็ยังไม่ได้พบหน้าลูก ๆ "เขายังหลบอยู่ในป่า ไม่ยอมหนีมาเพราะไม่อยากทิ้ง
หมู่บ้านไปไกล แค่ได้ยินข่าวจากชาวบ้านที่เพิ่งมาถึง บอกว่าลูก ๆ ยังปลอดภัยผมก็สบายใจได้บ้าง" ซอดาปูเล่าพลางมองเด็ก ๆ ที่เดินไปยังโรงเรียน
วันนี้อาคารโรงเรียนไม้ไผ่แน่ขนัดไปด้วยเด็ก ๆ นักเรียนตั้งแต่ชั้นเล็กไปจนมัธยมปลาย รวมถึงพ่อแม่ที่ต่างมารวมกันในวันพิเศษ งานรำลึกถึง “ซอบาอูจี" วีรชนของชาวกะเหรี่ยงที่จากไปในวันนี้ 12 สิงหาคมเมื่อ 57 ปีก่อน
"ซอบาอูจีและวีรชนทุกคนที่ล่วงลับไปได้ต่อสู้เพื่อกอบกู้แผ่นดินของเรา บรรพบุรุษของเราได้ทำเต็มที่แล้ว แม้วันนี้เรายังไม่ได้รับเสรีภาพบนแผ่นดินของเราเอง แต่พวกเราที่ยังอยู่ก็ต้องสานต่อ ภารกิจนี้ต่อไป" ผู้นำทหารกล่าวเสียงหนักแน่นอยู่บนเวที
"เยาวชนคือความหวัง เด็กๆ ทุกคนต้องเรียนหนังสือ หาความรู้ และเติบโตขึ้นเพื่อเป็นกำลังของแผ่นดิน"
ด้านล่างของเวที ผู้ฟังตัวน้อยที่แต่งชุดกะเหรี่ยงสีสดใสต่างตั้งใจฟังอย่างมีสมาธิ ผ่านไปกว่าชั่วโมง เด็กเล็กๆ ก็ยังไม่ลุกไปเล่นที่ไหน เด็กชั้นโตๆ ก็จดบันทึกสิ่งที่ได้ยินไว้ในสมุด
ที่แถวหน้าสุด เด็กหญิงกญอ-พอยิ้มแป้นกวักมือเรียกฉันเข้าไปหา
"หนูได้เรียนหนังสือแล้วนะคะ ได้เรียนภาษาอังกฤษด้วย" เด็กหญิงกระซิบ บอกว่าจะตั้งใจเรียนแล้วจะได้กลับไปเป็นครูที่หมู่บ้าน
ครูสาวผู้จัดงานวันนี้บอกว่า อยากให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ของชาติ และสำนึกในความเป็นแผ่นดินเดียวกัน แม้จะถูกรุกรานจนต้องหนีมาอยู่ที่สุดขอบของแผ่นดินที่นี่
เสียงกีตาร์และเพลงที่นักเรียนชั้นต่าง ๆ ทยอยขึ้นมาร้องบนเวทีขับกล่อมทั้งหุบเขา วันพิเศษเล็ก ๆ วันนี้ทำให้คนทุกข์ที่นี่มีกำลังใจหยัดยืนต่อไป ด้วยหวังว่าวันหนึ่งชาติและแผ่นดิน จะกลับมาสงบสุขอีกครั้ง
ฉันข้ามเรือกลับมาสู่แผ่นดินไทยด้วยหัวใจพองโต ศรัทธาในหัวใจของคนบนแผ่นดินอีกฝั่งน้ำสาละวิน แม้ในวันที่หลังชนฝาไม่มีที่จะไปอีกแล้ว แต่ชาวกะเหรี่ยงที่นี่ก็ยังสานต่อความหวังที่จะกอบกู้สันติภาพกลับมา อาจเป็นเพราะคำคนเฒ่าคนแก่ชาวกะเหรี่ยงที่สอนกันว่า
"กว่าหมื่อลอหนึห่อเต่อเก เตอสิบ่าลาเกอถ่อเก
ตะวันตกดินไม่ต้องเสียใจ อีกไม่นานพระจันทร์ก็ขึ้น"