บันทึกไม่ปะติดปะต่อ การตามหา ‘นกยูงโง่ 3 ตัว’ ที่แก่งเสือเต้น

fas fa-pencil-alt
 กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล-ผู้จัดการ
fas fa-calendar
25 มิถุนายน 2551

 เราไม่รู้มาก่อนว่า ปัจจุบัน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้รุดหน้าขนาดสามารถวัดระดับสติปัญญาของนกยูงได้แล้ว เราจึงอึ้ง ทึ่ง เสียว ต่อความรุดหน้าทางสติปัญญาของนายกรัฐมนตรี สมัคร สุนทรเวช เป็นอย่างยิ่งที่สามารถระบุได้ว่านกยูงตัวไหน ‘โง่’ หรือ ‘ฉลาด’ 


 ด้วยความอยากรู้อยากเห็นบวกกับจังหวะเวลาที่ดี เราจึงรุดหน้าสู่บ้านดอนชัยสักทอง ตำบลสะเอียบ อำเภอสอง จังหวัดแพร่ เพื่อค้นหา ‘นกยูงโง่ๆ 3 ตัว’ ดังที่ท่านผู้นำเอ่ยถึง 


 ปลุกผี 


 แรกเริ่มเดิมที เขื่อนแก่งเสือเต้นเป็นโครงการที่อยู่ในความรับผิดชอบของ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แต่เมื่อมีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอก็พบว่าเจ้าเขื่อนตัวนี้จะสร้างผลกระทบต่อ สิ่งแวดล้อมและชุมชนมหาศาล ทางธนาคารโลก (World Bank) จึงไม่ยอมอนุมัติเงินกู้ให้ สุดท้าย กฟผ. จึงต้องโอนโครงการไปให้กรมชลประทานรับลูกต่อเมื่อปี 2528


 พอถึงยุค พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรีจึงได้มีทีท่าว่าจะลงมือก่อสร้างจริงๆ จังๆ แต่ก็เป็นได้เพียงท่าที เพราะต้องเจอกับกระแสต้านเข้มข้น ทั้งจากภาคนักวิชาการ นักพัฒนาเอกชน นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะชาวบ้านสะเอียบที่ต้องยอมรับว่า ‘แรง’ ต่อการคัดค้านโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น 


 อาจไม่มากเท่ากรณีเขื่อนปากมูน แต่ก็มีงานวิชาการจำนวนไม่น้อยที่ทำการศึกษาผลกระทบ ที่จะเกิดขึ้นหากเขื่อนแก่งเสือเต้น ซึ่งได้ข้อสรุปว่ายังไงๆ ก็ได้ไม่คุ้มเสีย 


 แต่ก็เป็นที่น่าประหลาดใจว่าทุกรัฐบาลที่ก้าวเท้าข้ามธรณีประตูทำเนียบ มักจะต้องมีความพยายามรื้อฟื้นเขื่อนแก่งเสือเต้นขึ้นมาทุกครั้งไป กระทั่งสื่อมวลชนต้องใช้คำว่า ‘ปลุกผี’ กันอย่างยินยอมพร้อมใจ แต่ไม่ว่าจะปลุกอย่างไร ผีตัวนี้ก็กลับลงหลุมร่ำไป 


 ทำไมถึงอยากสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นกันนัก? 


 1.ผลประโยชน์ (แน่นอนที่สุด!!!) เนื่องจากมูลค่าไม้สักทองในบริเวณที่จะถูกน้ำท่วมมีมูลค่าหลพันล้านบาท ยังไม่ต้องพูดถึงว่าถ้ามีการสร้างเขื่อน มีนายทุนเข้าไปตัดไม้ แล้วจะมีลักไก่ตัดไม้ในส่วนอื่นหรือไม่ 


 หรือไม่ก็มีนักการเมืองส่งซิกให้นายทุนหรือมือไม้ในท้องถิ่นซื้อที่ดินเก็บไว้ ปลูกต้นยูคาลิปตัสลงไปหน่อย รอเรียกค่าเวนคืน (แต่มีหลายคนเจ็บตัวเพราะไม่สร้างสักที สุดท้ายต้องขายคืนให้ชาวบ้าน) 


 2.มายาคติ รัฐบาล นักการเมือง และหน่วยงานราชการ ยังคงกอดคัมภีร์เก่าแก่ที่มองการพัฒนากับการสร้างสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่เป็นเรื่องเดียวกัน เขื่อนเท่ากับการพัฒนา การได้ผันงบลงไปในพื้นที่ของตน ฯลฯ 


 ชาวบ้านสะเอียบ ของเขาแรงจริงๆ 


 นั่งรถฝ่ากลางคืนข้ามจากวันหนึ่งสู่อีกวันหนึ่ง เรามาถึงสะเอียบในตอนตี 4 ความมืดยังไม่ย่อยสลาย หอมกลิ่นน้ำค้างหลงอยู่ในอากาศ รู้สึกเย็นสบายที่ผิวหนัง แต่ก่อนที่จะลงมือทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน เราคงต้องนอนพักเอาแรงเสียก่อน 


 รุ่งเช้า... 


 เราเพิ่งได้มองดูตัวบ้านที่เราพักชัดๆ เสาบ้านขนาดใหญ่ที่ทำด้วยไม้สักทั้งต้นค้ำยันบ้านไว้อย่างมั่นคง ไม่ใช่บ้านนี้หลังเดียว แต่ยังมีอีกหลายหลัง สะท้อนความอุดมสมบูรณ์ของสักทองของดินแดนสะเอียบ 


 เส็ง ขวัญยืน ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 9 บ้านดอนชัยสักทอง หรือที่ใครๆ แถวนั้นเรียกว่าผู้ใหญ่เส็ง พาเราเข้าไปชมป่าสักผืนใหญ่ที่ชาวบ้านช่วยกันอนุรักษ์ไว้ 


 แต่ดั้งเดิมผืนป่าในอุทยานแห่งชาติแม่ยมเคยถูกสัมปทานจากบริษัทไม้จนกระทั่งมีการสัมปทานปิดป่า แต่การลักลอบตัดไม้ก็ยังคงอยู่ ชาวบ้านสะเอียบเองก็เคยเป็นส่วนหนึ่งของการทำไม้ แล้ววันหนึ่งก็มีเหตุอันเป็นจุดหักเหสำคัญที่ทำให้ชาวบ้านไม่อาจอยู่เฉยได้ ผู้ใหญ่เส็งเล่าว่า 


เมื่อประมาณ 20 กว่าปีก่อน นายตำรวจใหญ่นายหนึ่งเคยเข้ามาจับกุมคนที่ตัดไม้มาปลูกบ้านไป 25 หลัง ขณะที่พวกขนไม้ออกไปเป็นคันๆ รถกลับไม่ถูกจับ การใช้กฎหมายอย่างไม่เท่าเทียมคงกระแทกใจชาวบ้านสะเอียบอย่างแรง จึงทำให้ชาวบ้านตัดสินใจวางเลื่อย วางขวาน จับมือกันร่วมรักษาป่าสักทองผืนสุดท้ายนี้...ด้วยชีวิต 


เชื่อหรือไม่ว่าการปกป้องทรัพยากรของชาวบ้านสะเอียบส่งผลให้เกิดการขาดแคลนข้าราชการในพื้นที่ 


“มาอยู่แล้วไม่ได้อะไร ข้าราชการขาดแคลน สมัยก่อนมีแต่คนอยากมาอยู่เพราะมีรายได้จากทรัพยากรเยอะ พวกครูก็อยากย้ายมาอยู่ ตำรวจก็ไม่เอาเงินเดือน ให้นายหมด แล้วหันมาทำไม้แทน”


 ชาวบ้านสะเอียบร่วมกันวางกติกาและรักษามันอย่างเคร่งครัด ทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ จัดชุดลาดตระเวน คอยส่งข่าวให้เจ้าหน้าที่ป่าไม้เวลาพบเห็นพวกลักลอบตัดไม้ สร้างเด็ก เยาวชน รุ่นใหม่ๆ ขึ้นมาสานต่อ ฯลฯ ยิ่งภายหลังมีข่าวการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นก็ยิ่งทำให้ชาวบ้านรวมตัวกันเหนียวแน่นมากขึ้น การต่อสู้แบบตัวคนเดียวของชาวบ้านสะเอียบในอดีตจึงค่อนข้าง ‘แรง’ ในสายตาคนภายนอก ผู้ใหญ่บอกว่าสมัยก่อนสู้เหมือนมวยวัด ไม่ไว้ใจใคร ขนาดเจ้าหน้าที่รัฐ นักวิชาการ หรือสื่อจะเข้ามาในพื้นที่ก็ติดต่อล่วงหน้า


ชาวบ้านทุบรถธนาคารโลก ขับไล่บุคคลที่เข้ามาหาผลประโยชน์ เข้ามาซื้อที่ดิน ปลูกต้นไม้ เพื่อหวังค่าชดเชย จับนักวิชาการมายึดเอกสาร นักวิชาการบางคนก็ไว้วางใจไม่ได้ ชาวบ้านก็ต้องยืนอยู่บนขาของตัวเอง ชาวบ้านยืนยันว่าเราจะยอมตายอยู่ตรงนี้ เราจะฟื้นฟูสภาพป่าผืนนี้ให้อยู่กับเราให้จงได้ เพราะฉะนั้นอย่าได้หวังเลยว่าแผนการต่างๆ ที่จะเข้ามาทำร้ายให้หมดจากป่าเพื่อสร้างเขื่อน เลิกคิดได้เลย”


 เมื่อยิ่งสู้ก็ยิ่งเรียนรู้ ยิ่งเรียนรู้ก็ยิ่งพัฒนากระบวนการต่อสู้ ชาวบ้านสะเอียบคัดค้านเขื่อนกันมานับสิบปีจนรู้ว่าการใช้ท่าทีแข็งกร้าวเพียงอย่างเดียวคงไม่ได้ ต่อมาจึงเริ่มใช้เครื่องมือทางวัฒนธรรม การประสานกับนักวิชาการ หน่วยงานภาครัฐ นักพัฒนาเอกชน ภาคประชาสังคม สื่อมวลชน เพื่อสื่อสารจุดยืนของชุมชนออกสู่สังคมในวงกว้าง 


ไม่มีป่าสัก มีแต่นกยูงโง่ๆ แค่ 3 ตัว???


 บนจุดชมวิว ‘ดงสักงาม’ ในอุทยานแห่งชาติแม่ยม เรายืนอยู่บนหน้าผาสูงที่มองเห็นป่าสักทอง 20,000 ไร่ บนป้ายบรรยายว่า “ป่าสักทองผืนใหญ่ที่สุดที่เหลืออยู่...” เราจึงงงกับคำพูดของท่านผู้นำที่ว่าไม่มีป่าสักหลงเหลือ ...แล้วที่เราเห็นอยู่นี่คืออะไร? 


“ไม้สักตรงนี้มูลค่าน่าจะหลายพันล้าน เพราะของเรามันเป็นป่าสักธรรมชาติ การจะปลูกสร้างขึ้นมาใหม่จะทำไม่ได้ขนาดนี้ คนปลูกจะทำไม่ได้ขนาดนี้ มันมีความหลากหลายทางธรรมชาติ มีไม้หลายระดับ ถ้าเป็นสวนป่าจะไม่หลากหลายขนาดนี้” ศุภชัย วรรณวงษ์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแม่ยมบอกกับเรา 


พูดถึงเรื่องนกยูง 


“นกยูงจะกระจายอยู่ทางด้านทิศตะวันออก ที่ตำบลสะเอียบ ส่วนมากจะอยู่ในป่าเต็งรัง ของเราจะติดกับอุทยานแห่งชาติภูนาง โซนของมันจะติดกับป่าเต็งรังที่เป็นรอยต่อระหว่าง 2 อุทยาน ตอนนี้เห็นได้ชัดขึ้นคือกระจายมาแถวหาดทะลุซึ่งอยู่ตรงดงสัก เป็นหาดทรายที่นกยูงใช้เป็นพื้นที่ในการเกี้ยวพาราสี เคยเห็นสูงสุดฝูงหนึ่งประมาณ 12 ตัว เมื่อสัก 2 อาทิตย์ที่แล้วก็เจอ แต่ปกติจะมาประมาณ 5-6 ตัว มีเยอะครับ เดี๋ยวนี้จะเห็นถี่ขึ้น”

แปลว่ามีมากกว่า 3 ตัวแน่ๆ-เราถาม


 มีเพียงรอยยิ้มและเสียงหัวเราะเป็นเป็นคำตอบ 


“การสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นเพื่อป้องกันน้ำท่วมคิดว่าไม่น่าจะได้ผล เพราะเมื่อปี 2544 ที่น้ำท่วมใหญ่ กับปี 2548 ที่น้ำท่วมหนักที่สุโขทัย ที่น้ำยมนี่จะปกติ ระดับน้ำจะไม่ขึ้น น้ำไม่เยอะ การสร้างตรงนี้ถ้าสร้างเพื่อป้องกันน้ำท่วมก็ไม่น่าได้ผลเท่าไหร่” ศุภชัยทิ้งท้าย 


หาญณรงค์ เยาวเลิศ สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 


“นอกจากผลประโยชน์เรื่องไม้สัก ผมคิดว่าเป็นความเชื่อเรื่องเขื่อนป้องกันน้ำท่วม ป้องกันภัยแล้งได้ ผมว่านี่คือความเชื่อที่ถูกปลูกฝังกับนักการเมืองรุ่นเก่า อย่างสมัยรัฐบาลทักษิณ รัฐมนตรีคนหนึ่งก็เคยลงมาดูพื้นที่ พบว่าปัญหาน้ำท่วมมันไม่ได้เกิดจากการไม่มีเขื่อน แต่มาจากการจัดการน้ำในมิติอื่น เช่น ข้างล่างแถวจังหวัดสุโขทัยเป็นที่แคบ น้ำผ่านไม่ได้ ก็ใช้วิธีการขุดลอก หรือบายพาสน้ำแทน 


“เวลามีการผลักดันเขื่อนแก่งเสือเต้นผมคิดว่าคุณสมัครเอง รัฐบาลทุกรัฐาลยังคิดแบบเดิม คิดตามความเชื่อ ไม่ได้คิดตามข้อเท็จจริงว่ามันแก้ได้จริงหรือเปล่า และหน่วยงานรัฐอย่างกรมชลประทาน กรมน้ำก็ยังเชื่อแบบว่าแม่น้ำอื่นเขามีเขื่อนหมดแล้ว แต่แม่น้ำยมไม่มีเขื่อน ทั้งที่การจัดการน้ำในแต่ละลุ่มน้ำอาจจะแตกต่างกันไป สำหรับลุ่มน้ำยม ถ้าคุณอยากใช้น้ำก็สร้างฝาย ส่วนการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมแต่ละเมือง แต่ละอำเภอก็หามาตรการ หลายคนในจังหวัดแพร่ก็บอกว่าเราขาดโอกาสในการจัดการน้ำเพราะเรามองอยู่แค่โครงการเดียวคือแก่งเสือเต้น 


“ปี 34-35 ช่วงหลังจากที่มีการศึกษาโดยบริษัททีมและบริษัทปัญญา ผลการศึกษาพบว่า ช่วงปี 2532 ถ้าสร้างเขื่อนด้วยความสูงระดับ 92 หรือประมาณ 300 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลางก็จะท่วมอำเภอเชียงม่วนทั้งอำเภอ แต่เขาก็บอกว่าเพื่อไม่ให้น้ำท่วมอำเภอเชียงม่วนก็ลดสันเขื่อนลงมา 20 เมตร เขาก็บอกว่าอำเภอเชียงม่วนทั้งอำเภอจะไม่ท่วมเลย แต่มันเคยท่วมทั้งอำเภอ แล้วจะไม่ท่วมเลยได้ยังไง เราก็เลยสงสัย จึงให้คุณธารา บัวคำศรี ซึ่งตอนนี้ศึกษาปริญญาโทอยู่ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เอาแผนที่ 1 ต่อ 5 หมื่น มาลากเส้น เราพบว่าที่อำเภอเชียงม่วนจะท่วมประมาณ 11 หมู่บ้านที่ไม่ได้อยู่ในรายงาน 


“เฉพาะหน้านี้ บทบาทหนึ่งคือต้องทำให้ความจริงบางเรื่องที่เขาพยายามกล่าวอ้างให้คนในสังคม ได้ช่วยกันคิดว่ามันได้ประโยชน์จริงหรือเปล่า ป่ามันยังสมบูรณ์หรือไม่ นกยูงโง่ๆ 3 ตัวอยู่ที่ไหน ส่วนระยะยาว โดยส่วนตัวมองว่ารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ผ่านมาเกินกว่า 10 ปีแล้วทั้งสิ้น ผมคิดว่ากระบวนการของแก่งเสือเต้นจะต้องเปิดให้ชุมชนมีสิทธิ มีส่วนร่วมในการศึกษาผลกระทบและยุทธศาสตร์การจัดการน้ำยม น่าจะต้องมีการศึกษาใหม่ทั้งหมดว่าผลกระทบต่อชุมชน ต่อระบบนิเวศ”


 เดินเล่น ชวนชาวบ้านคุย 


เราเดินเตร็ดเตร่ชมทัศนียภาพบ้านสะเอียบ แดดแรงไปหน่อย แต่ภูเขารอบตัวก็ดูเขียวสบายตาดี แวะหาขนมกินในร้านโชวห่วยเล็กๆ ถือโอกาสคุยเรื่องเขื่อนกับเจ้าของร้าน เขาบอกว่าไม่เอาเขื่อน ยังไงก็ไม่เอา เราเคยอยู่ของเราแล้วจะมาไล่ ใครจะยอม 


นั่น! คุณยายเดินผ่านมา แกอายุ 70 กว่าแล้ว บอกว่าไม่เคยไปประท้วงกับเขา แต่ก็ไม่เอาเขื่อนเหมือนกัน 


นั่น! น้าผู้ชายคนหนึ่งกำลังวิ่งผ่านมา เขาเป็นตำรวจ เราถามเรื่องเขื่อน แกตอบแบบเจ้าหน้าที่รัฐว่าไม่มีความเห็น ถามใหม่ ถามในฐานะคนสะเอียบ แกบอกว่าไม่เอาเขื่อน ยิ้มให้กัน แล้วน้าก็วิ่งต่อไป 


“ผมไม่ยอมเด็ดขาด (หัวเราะ) ผมก็ดูป่าอยู่ทุกวัน อยู่ๆ เอาป่าผมไปทิ้งได้ไง ขอสู้แบบบางระจันน่ะ อยากจะรู้เหมือนกันว่าใครเป็นคนพูดที่บอกว่าป่าไม่มีแล้ว ชาวบ้านแถวนี้เขาบอกว่าเขาจะสู้อย่างบางระจันเลย มีนกยูงเยอะ (แล้วนกยูงโง่ๆ ล่ะ?) อยู่สวนสัตว์มั้ง (หัวเราะ)” อดุลย์ สะเอียบคง พูดทั้งในฐานะเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าและชาวบ้านสะเอียบ 


ทำไมจึงไม่ควรสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น? 


1.ผลการศึกษาขององค์การอาหารและการเกษตรโลก (FAO) ปี 2533 ระบุว่าเขื่อนแก่งเสือเต้นสามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมได้เพียง 8 เปอร์เซ็นต์ 


2.ผลการศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ปี 2540 สรุปว่าเขื่อนแก่งเสือเต้นไม่คุ้มทุนทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม 


3.ผลการศึกษาของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สรุปว่าการเก็บผืนป่าแม่ยมไว้จะมีมูลค่าต่อระบบนิเวศและชุมชนมากกว่าการสร้างเขื่อน 


4.ผลการศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สรุปว่าที่นี่เป็นแหล่งป่าสักทองผืนสุดท้ายที่มีความหลากหลายสูง จึงควรเก็บรักษาไว้ 


5.ผลการศึกษาของมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ กล่าวว่ามีวิธีแก้ปัญหาน้ำท่วมอีกมากโดยไม่ต้องสร้างเขื่อน 


6.ผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้เสนอแผนการจัดการน้ำแบบบูรณาการได้อย่างเป็นระบบทั้งลุ่มน้ำยมโดยไม่ต้องสร้างเขื่อน 


7.ผลการศึกษาของกรมทรัพยากรธรณี ชี้ชัดว่าบริเวณที่จะสร้างเขื่อนตั้งอยู่บนรอยเลื่อนแพร่ซึ่งยังมีการเคลื่อนตัวอยู่ตลอดเวลา 


8.ผลการศึกษาของโครงการพัฒนายุทธศาสตร์ทางเลือกนโยบายการจัดการลุ่มน้ำยม (SEA) ปี 2550 ระบุว่าเขื่อนแก่งเสือเต้นมีมูลค่าสูง และมีผลกระทบด้านต่างๆ มากมาย ขณะที่ยังมีทางเลือกในการจัดการลุ่มน้ำยมโดยไม่ต้องสร้างเขื่อน 


(อ้างอิงจาก รายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยคณะกรรมการสิทธิมนุยชนแห่งชาติ)


 ต่อชะตาแม่น้ำ ตัดชะตาผู้นำ 


ยามสาย นั่งเรือข้ามแม่น้ำยมกับเดินอีกไม่น่าจะเกินพันก้าว บริเวณนั้นเรียกผาอิง ตุ๊เจ้า (พระสงฆ์) สวดมนต์ ชาวบ้านสะเอียบนั่งพนมมือ ข้างๆ มีหุ่นฟางแปะชื่อท่านผู้นำ-เตรียมเผา เราถามชาวบ้านข้างๆ ว่านี่มากันทั้งหมู่บ้านหรือเปล่า คำตอบ-ใช่ 


เป็นพิธีสืบชะตาแม่น้ำที่ชาวบ้านร่วมกันจัดขึ้น และจะต่อด้วยการบวชป่าในลำดับถัดไป 


สิ้นเสียงสวด ตุ๊เจ้าเดินทั่วงานประพรมน้ำมนต์แก่ทุกคน ชาวบ้านเริ่มเอาพริก-เกลือ ทั้งโรย ทั้งสุมไปที่หุ่นท่านผู้นำ แล้วไฟสีแดงก็ลุกโชน กลิ่นพริกแสบจมูกยิ่งนัก 


คุณลุงคนหนึ่งนำหม้อดินสีสด ผ้าสีสด กับด้ายสายสิญจน์สีขาว เอามามัดปิดหม้อดิน ผนึกดวงวิญญาณท่านผู้นำลงหม้อ เอาไปลอยน้ำยม ไม่รู้ว่าป่านนี้มันลอยไปถึงไหนแล้ว 


ชาวบ้านร่วมอ่านแถลงการณ์...อย่างดุดัน 


“ภายใต้ความคิดของผู้นำที่ไม่มีวิสัยทัศน์ ไม่มีข้อมูล ใช้อารมณ์เป็นที่ตั้งเพื่อแก้ไขปัญหาของประเทศชาติ การแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ในลุ่มน้ำยม เขื่อนแก่งเสือเต้นไม่ใช่คำตอบของการแก้ไขปัญหา จากรายงานการศึกษาจากหลายสถาบันระบุชัดเจนว่าไม่สามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งได้ รวมถึงข้อมูล ข้อเท็จจริงเรื่องป่าไม้ และสัตว์ป่า มีความสมบูรณ์เป็นอย่างยิ่งควรค่าแก่การอนุรักษ์ดูแล เพื่อเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาสภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน...


 “พวกเราราษฎรตำบลสะเอียบขอประกาศยืนยันคัดค้านโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นขั้นแตกหักกับทุกรัฐบาล รวมถึงรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช ชุดนี้ และจะไม่ให้ความร่วมมือแก่หน่วยงานใดๆ ทั้งสิ้นที่ผลักดันโครงการและไม่รับรองความปลอดภัยแก่เจ้าหน้าที่ พนักงาน หรือหน่วยงานที่ผลักดันสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นหากเข้ามาในพื้นที่ของพวกเรา... 


“ถึงเวลาแล้ว ที่รัฐบาลจะต้องใช้ความกล้าหาญในการตัดสินใจ ยกเลิกโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น เพราะ 18 ปีที่ผ่านมา โครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นได้สร้างความกดดันต่อพี่น้องประชาชน ทั้งในเขตจังหวัดแพร่และจังหวัดพะเยา ต้องอยู่ในความหวาดผวาถึงความไม่มั่นคงในชีวิตและทรัพย์สิน อีกทั้งพี่น้องประชาชนในเขตลุ่มน้ำยมตอนล่างก็ต้องเผชิญกับปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม มาอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน เพื่อความผาสุกของพี่น้องประชาชน ชุมชน และเพื่อป่าสักทอง ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่ออนาคตของลูกหลาน เพื่อคนไทยทั้งชาติ และเพื่อมวลมนุษยชาติสืบต่อไป”

Amazing (นายกฯ) Thailand 


สุดท้ายแล้วเราก็ไม่ได้เจอนกยูงโง่ 3 ตัว อย่างน้อยพวกมันก็ไม่โง่ออกมาโชว์ตัวให้กองทัพสื่อและชาวบ้านอีกพะเรอเกวียนยลโฉม เพราะจะเป็นการผิดธรรมชาติของสัตว์ป่าอย่างร้ายแรง จึงต้องขออภัยที่ไม่อาจหาสิ่งยืนยันความโง่ของนกยูงได้ 


แต่อย่างน้อย เราก็ยังมีความเป็นที่สุดที่น่าภาคภูมิใจสำหรับประเทศไทย เมื่อเขื่อนแก่งเสือเต้นถูกปลุกผีขึ้นมาอีกครั้งในงานวันสิ่งแวดล้อมโลกที่ท่านนายกรัฐมนตรี สมัคร สุนทรเวช ได้รับเชิญไปแสดงปาฐกถา 


เพราะท่านน่าจะเป็นผู้นำประเทศเพียงคนเดียวในโลกที่ประกาศว่า จะสร้างเขื่อนเพื่อแก้โลกร้อนในวันสิ่งแวดล้อมโลก 


เพราะคงไม่มีผู้นำประเทศไหนกล้าทำ

อ้างอิง : http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9510000074781&Keyword =%e1%a1%e8%a7%e0%ca%d7%cd%e0%b5%e9%b9

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง