ใบแถลงข่าว
การประชุมเชิงปฏิบัติการ
“คู่มือประชาชน : เขื่อนกับการพัฒนา
กรอบคิดใหม่ในการตัดสินใจโครงการขนาดใหญ่”
จากการประชุมในช่วง 2 วัน ที่ผ่านมา พวกเราชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน และโครงการขนาดใหญ่ จากทั่วประเทศ ทั้ง 15 โครงการ ได้แก่ เขื่อนปากมูล , เขื่อนสรินธร , เขื่อนห้วยละห้า , เขื่อนลำโดมใหญ่ , เขื่อนแก่งเสือเต้น , เขื่อนท่าแซะ , เขื่อนรับร่อ , เขื่อนคลองกลาย , เขื่อนหัวนา , เขื่อนราษีไศล , เขื่อนลำตะคอง , เขื่อนสาละวิน , เขื่อนแม่มอก , โครงการโขง-ชี-มูล , โครงการ กก อิง น่าน และองค์กรพัฒนาเอกชน ได้ร่วมกันพิจารณา ผลการศึกษาของคณะกรรมการเขื่อนโลก รวมทั้งข้อเสนอแนะ คู่มือประชาชน : เขื่อนกับการพัฒนา กรอบคิดใหม่ในการตัดสินใจโครงการขนาดใหญ่ ได้เห็นร่วมกันว่า
1. เราเห็นว่า ผลการศึกษาของคณะกรรมการเขื่อนโลก ซึ่งได้รับการรับรองจากสหประชาชาติ ภายใต้โครงการเขื่อนและการพัฒนา ของ UNEP. เป็นผลการศึกษาที่มีกระบวนการการศึกษาอย่างโปร่งใส และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน โดยเฉพาะผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการฯ ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการวางแผน การดำเนินการโครงการขนาดใหญ่ในอนาคต จะได้มีบทเรียน และกรอบคิดใหม่ในการตัดสินใจโครงการขนาดใหญ่
2. เราเห็นว่า UNEP โดย โครงการเขื่อนและการพัฒนา (DDP.) พึงต้องเร่งดำเนินการเผยแพร่ ให้กับสาธารณะชนได้รับรู้อย่างทั่วถึง และเร่งผลักดันให้รัฐบาล หน่วยงานที่รับผิดชอบในเรื่องนี้ ได้รับรู้และเร่งดำเนินการนำเอาข้อเสนอแนะของคณะกรรมการเขื่อนโลก และกรอบคิดใหม่ในการตัดสินใจโครงการขนาดใหญ่ มาเป็นบรรทัดฐานในการปฏิบัติจริง
3. เราเห็นว่า สังคมไทยกำลังเผชิญปัญหาเรื่องเขื่อนทั้งที่สร้างไปแล้ว และเขื่อนยังไม่สร้าง ในฐานะผู้ได้รับผลกระทบเราเห็นว่าสามารถลดความขัดแย้งที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ โดยกรณีเขื่อนที่ยังไม่สร้างขอให้ระงับโครงการ จนกว่าจะมีการดำเนินการตาม หลักการ 5 ประการ คือ ความเสมอภาค ความมีประสิทธิภาพ กระบวนการการตัดสินใจอย่างมีส่วนร่วม ความยั่งยืน และความรับผิดชอบ ซึ่งเป็นที่ยอมรับโดยสากล สำหรับเขื่อนที่สร้างไปแล้ว ให้แก้ไขปัญหาโดยการใช้องค์ความรู้ที่ได้จากการนำเสนอและศึกษาไว้ อาทิเช่น รายงานเขื่อนกับการพัฒนา และยึดหลัก 5 ประการ เช่นเดียวกัน
4. เราขอเรียกร้องให้สังคมไทย และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นปัญหาเขื่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง องค์กรอิสระมหาชน เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คณะกรรมาธิการคณะต่างๆ ของวุฒิสภา และสภาผู้แทนราษฎร สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ทำความเข้าใจถึงผลการศึกษาและข้อเสนอแนะ ของคณะกรรมการเขื่อนโลก เพื่อผลักดันให้มีการแก้ไขปัญหาเขื่อน ทั้งในเชิงนโยบายและการปฏิบัติ ต่อไป
แถลงโดย
นาย ไพจิตร ศิลารักษ์
ตัวแทนชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อน และโครงการขนาดใหญ่
วันที่ 1 มิถุนายน 2546 ณ ห้องประชุมมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม