ใบแถลงข่าว
เครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เผยเหตุน้ำโขงวิกฤติ
มาจากจีนแอบเร่งสร้างเขื่อนแห่งที่ ๔ และเร่งระเบิดแก่งแม่น้ำโขง
เชียงใหม่: เครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เปิดเผยถึงสาเหตุที่แม่น้ำโขงวิกฤติว่ามาจากการที่จีนควบคุมน้ำจากเขื่อนกั้น แม่น้ำโขงทาง ตอนบน เพื่อผลิตไฟฟ้า รวมกับการที่จีนปิดเขื่อนเพื่อเร่งระเบิดแก่งในแม่น้ำโขงบนพรมแดนไทย-พม่า
การที่แม่น้ำโขงวิกฤตินั้นมาจากการควบคุมน้ำโดยเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงในจีนอย่างชัดเจน โดยเฉพาะการที่จีนปิดเขื่อน ๓ วันเพื่อลดระดับน้ำในแม่น้ำโขงเพื่อเร่งระเบิดแก่งชุดสุดท้ายในแม่น้ำโขงบริเวณพรมแดนพม่า-ลาว ผลจากการควบคุมน้ำดังกล่าวทำให้ระดับน้ำของแม่น้ำโขงตั้งแต่พรมแดนพม่า-ลาว และไทย-ลาวลงไปทางท้ายน้ำลดลงจนถึงขั้นวิกฤติ
จากการเผ้าติดตามระดับน้ำในแม่น้ำโขงที่เชียงของ เครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังพบว่า ระดับน้ำในแม่น้ำโขงไม่เพียงแต่ลดต่ำเท่านั้น แต่ยังมีการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำที่มีลักษณะขึ้นลงตลอดเวลาหรือที่เรียกว่า Fluctuation คือ ในรอบวัน ระดับน้ำขึ้นลงแตกต่างกันมาก โดยบางวันน้ำขึ้นในตอนเช้าและลงในตอนเย็นแตกต่างกันถึง ๒๐ เซนติเมตร
จากข้อมูลดังกล่าว เครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เห็นว่าวิกฤติน้ำในแม่น้ำโขงไม่น่ามาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก (Climate change) เพราะหากเกิดจากปริมาณน้ำฝนน้อยระดับน้ำก็จะค่อยๆ ลดลงและจะไม่มีลักษณะขึ้นๆ ลงๆ ดังเช่นที่กำลังเกิดขึ้น แต่น่าจะมาจากการที่น้ำถูกปล่อยตามจังหวะของการผลิตไฟฟ้าของเขื่อนในจีนซึ่งเป็นวัตถุประสงค์หลักของเขื่อน จึงทำให้ระดับน้ำมีลักษณะขึ้นๆ ลงๆ ด้วย เพราะจากการติดตามข้อมูลของเครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พบว่า แม้ว่าปีนี้น้ำในเขื่อนต่างๆ ในมณฑลยูนนานของจีนและใกล้เคียงมีน้ำน้อย แต่เขื่อนมานวานซึ่งกั้นแม่น้ำโขงในยูนนานกลับสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้กำไรสูงมากกว่าเขื่อนอื่นๆ
นอกจากนั้น ยังเป็นไปได้ว่า ระดับน้ำที่ลดต่ำลงผิดปกตินั้น อาจมาจากการที่จีนเริ่มกักเก็บน้ำและเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเขื่อนด้าเฉาชานท้ายเขื่อนมานวาน ซึ่งเป็นเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงแห่งที่สองที่จีนเพิ่งสร้างเสร็จเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา
เครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่เชื่อว่าการที่ระดับน้ำโขงลดลงมาจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศโลกเป็นหลัก เพราะปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงที่ไหลมาจากจีนในฤดูแล้งส่วนใหญ่ไม่ได้มาจากน้ำฝน แต่มาจากการละลายของหิมะเหนือเทือกเขาหิมาลัย
การระบุว่าการที่น้ำโขงวิกฤติมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกจึงเป็น การเบี่ยงเบนประเด็นทำให้ไม่ต้องมีใครรับผิดชอบต่อวิกฤติแม่น้ำโขง
เครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังแสดงความวิตกกังวลเกี่ยวกับอนาคตของแม่น้ำโขงทางตอนล่างที่จะวิกฤติมากยิ่งขึ้นในปีต่อๆ ไป เพราะขณะนี้จีนกลับเร่งสร้างเขื่อนเพิ่มขึ้นอีก ๒ เขื่อน คือ โดยเขื่อนเซี่ยวหวานที่กำลังจะแล้วเสร็จในปี ๒๕๕๕ เหนือเขื่อนมานวานขึ้นไป ส่วนทางตอนล่างของเขื่อนมานวาน จีนได้เร่งสร้างเขื่อนแห่งที่ ๔ ที่จิงหงหรือเชียงรุ้ง สิบสองปันนา
หากเขื่อนเซี่ยวหวานและเขื่อนจิงหงสร้างเสร็จสมบูรณ์ จะทำให้น้ำในแม่น้ำโขงตอนล่างวิกฤติกว่านี้ โดยเฉพาะเขื่อนจิงหงเนื่องจากเขื่อนนี้ตั้งอยู่ห่างจากสามเหลี่ยมทองคำขึ้นไปตามลำน้ำประมาณ ๓๐๐ กิโลเมตร หรือไม่ไกลจากพรมแดนจีน-ลาวมากนัก ขณะที่ปริมาณน้ำจากพื้นที่รับน้ำเขตประเทศจีนมีส่วนสำคัญมากต่อกระแสน้ำในช่วงหน้าแล้งของแม่น้ำโขง ส่วนที่ไหลผ่านประเทศไทยและลาว ในขณะที่น้ำโขงช่วงประเทศกัมพูชาในเดือนเมษายนเป็นน้ำที่มาจากเขตจีนถึง ๔๕ เปอร์เซ็นต์
เครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พบว่า การสร้างเขื่อนจิงหงไม่ได้มีการเปิดเผยให้ประเทศท้ายน้ำอีก ๕ ประเทศ คือ พม่า ลาว ไทย และเวียตนามรับรู้ข้อมูลและไม่ได้ปรึกษาหารือกับคนที่อยู่ท้ายน้ำที่จะได้รับผลกระทบแม้แต่น้อย แม้แต่ประชาชนในจีนเองก็ไม่ได้รับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการดังกล่าว
ขณะนี้การก่อสร้างเขื่อนจิงหงได้มีการปิดลำน้ำโขงครึ่งหนึ่งหรือที่เรียกว่า coffer dam เพื่อให้สามารถสร้างฐานรากเขื่อนทางฝั่งขวาของแม่น้ำ การก่อสร้างเขื่อนจิงหงได้รีบเร่งผิดปกติโดยที่เจ้าหน้าที่สร้างเขื่อนจิงหงอ้างว่าต้องเร่งสร้างเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้าขายให้แก่ประเทศไทย ตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่ได้ลงนามไว้ระหว่าง ๒ ประเทศ ทั้งนี้เพื่อเร่งสร้างเพื่อความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศ
โครงการนี้จัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เมื่อเกือบสิบปีมาแล้วโดยทำไว้แล้วตั้งแต่ปี ๒๕๓๘ ในช่วงที่เป็นโครงการร่วมระหว่างไทย-จีน แต่หลังจากไทยประสบกับวิกฤติเศรษฐกิจ ทำให้โครงการดังกล่าวเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด จนมาพบว่าได้เริ่มงานก่อสร้างไปแล้ว โดยไม่ได้มีการศึกษาผลกระทบที่เป็นปัจจุบันแต่อย่างใด
ยิ่งไปกว่านั้น เขื่อนแห่งนี้ยังมีการเพิ่มกำลังผลิตติดตั้ง (installation capacity) จากแต่เดิม ๑,๕๐๐ เมกะวัตต์ เป็น ๒,๐๐๐ เมกะวัตต์ โดยที่ผู้สนับสนุนโครงการกำลังพยายามผลักดันให้ EIA ฉบับเดิมที่ทำไว้ตั้งแต่ปี ๒๕๓๘ ผ่านการอนุมัติ
โครงการดังกล่าวยังไม่ได้มีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมทางด้านท้ายน้ำ แม้ปรากฏชัดว่า การสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงในจีนได้ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงลดลงและไหลไม่ปกตินับแต่เขื่อนแรกคือเขื่อนมานวานเริ่มเดินเครื่อง เมื่อปี ๒๕๓๙
แถลงโดย นายไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ ผู้อำนวยการฯ
๔ มีนาคม ๒๕๔๗
ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ เพียรพร ดีเทศน์ ๐๑-๔๒๒ ๐๑๑๑ อีเมล