คณะอนุกรรมธิการทรัพยากรน้ำ ทะเล และชายฝั่ง
ในคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ร่วมกับ คณะอนุกรรมธิการเสริมสร้างธรรมภิบาลในทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ในคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล
วุฒิสภา
จากการที่นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทย ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนส่งสัญญาณว่ารัฐบาลไทยจะไม่คัดค้านเขื่อนไซยะบุรี และพอใจกับความพยายามของรัฐบาลลาวในการบรรเทาผลกระทบ โดยกล่าวว่า "รัฐบาลลาวทำการศึกษาแล้วหลายชิ้น ซึ่งแสดงให้เห็นแล้วว่าไม่มีผลกระทบต่อการประมง" เป็นการสะท้อนให้เห็นวิธีคิดของรัฐบาลต่อกรณีเขื่อนไซยะบุรี บนแม่น้ำโขง ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว แต่ไม่ทราบว่า ฯพณฯ รัฐมนตรี ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างไร จึงได้เชื่อเอกชนเจ้าของโครงการและรัฐบาล สปป.ลาว ได้โดยง่าย ฯพณฯ รัฐมนตรี เคยลงพื้นที่ก่อสร้างเขื่อน หรือเห็นรายงานการศึกษาแล้วหรือยังว่าเป็นอย่างไร เคยได้รับรู้หรือไม่ว่าที่ผ่านมาประชาชนที่อาศัยริมแม่น้ำโขง ได้พยายามท้วงติงและมีข้อเสนอมาตลอด ให้ชะลอและศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดน สอดคล้องกับการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ (SEA) ที่จัดทำภายใต้คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) ที่เสนอให้มีการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมอีกอย่างน้อย 10 ปี
นอกจากนี้การประชุมคณะมนตรีแม่น้ำโขง ของ 4 ประเทศสมาชิก MRC เมื่อเดือนธันวาคม 2554 ก็เสนอให้ทำการศึกษาเพิ่มเติม แม้ว่ากระบวนการเปิดเผยข้อมูล PNPCA ตามระเบียบของ MRC จะครบวาระ 6 เดือน แต่หลายฝ่ายก็ยังมองว่าไม่สมบูรณ์ โดยเฉพาะในประเทศไทยซึ่งมีกฎหมายคุ้มครองสิทธิชุมชนในการมีส่วนร่วม
การสนับสนุนรัฐบาล สปป. ลาว และโครงการของเอกชนในครั้งนี้ จะทำให้ประเทศไทยเสียประโยชน์อย่างมหาศาล อีกทั้งเป็นการทอดทิ้งประชาชนให้เคว้งคว้าง
ข้อตกลงแม่น้ำโขง พ.ศ. 2538 ที่ 4 ประเทศสมาชิกลุ่มน้ำโขงตอนล่างลงนาม บัดนี้เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าไม่สามารถใช้ปฏิบัติได้อย่างจริงจัง รัฐบาลเองก็ไม่เคยตรวจสอบกับการละเมิดข้อตกลงที่เกิดขึ้น ซ้ำยังสนับสนุนให้เกิดการละเมิดข้อตกลง เดินหน้าสร้างเขื่อนไซยะบุรีโดยไม่ได้รับฉันทามติจากประเทศสมาชิกทั้ง 4
จวบจนขณะนี้ รัฐบาลปล่อยให้ประชาชนริมน้ำโขงต่อสู้อย่างโดดเดี่ยว ทั้งที่เรื่องนี้เป็นเรื่องผลประโยชน์ของประเทศชาติ และภูมิภาคลุ่มน้ำโขงทั้งหมด
คณะกรรมาธิการฯ เห็นว่ารัฐบาลควรมีท่าทีที่ชัดเจนในการปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ และรักษาทรัพยากรธรรมชาติให้อยู่อย่างยั่งยืน ควรระงับสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ลงนามไปเมื่อเดือนตุลาคม 2554 เพื่อไม่ให้รัฐบาลไทยต้องตกเป็นจำเลยของสังคมโลก หากมีความเสียหายเกิดขึ้นจากการสร้างเขื่อนไซยะบุรี
รัฐบาลควรเร่งดำเนินการหารือกับรัฐบาลกัมพูชา และเวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศท้ายน้ำ ในการเจรจากยุติปัญหาที่เกิดขึ้นในทันที