บริษัทจีนเซ็นเขื่อนกั้นน้ำโขงแห่งที่ 3 ในลาว
ผู้จัดการรายวัน -- บริษัทผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่จากจีน 2 ราย ได้เซ็นบันทึกช่วยความจำเพื่อความเข้าใจ (Memorandum of Understanding) ฉบับหนึ่งกับทางการลาวในสัปดาห์นี้ เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการเขื่อนผลิตไฟฟ้ากั้นลำน้ำโขงในแขวงไซยะบูลี ในภาคเหนือของประเทศ
หากการศึกษาพบว่ามีความเป็นไปได้ทางเศรษฐกิจ "เขื่อนปากลาย" แห่งนี้ จะเป็นแห่งที่ 2 กั้นลำน้ำโขงในแขวงเดียวกัน และเป็นแห่งที่ 3 ที่กั้นลำน้ำนานาชาติสายนี้ในดินแดนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
พิธีเซ็น MOU จัดขึ้นที่สำนักงานคณะกรรมการแผนการและการลงทุน นครหลวงเวียงจันทน์ในวันจันทร์ (11 มิ.ย.) ที่ผ่านมา ระหว่างผู้บริหารบริษัทซิโนไฮโดร (Sinohydro) กับบริษัท China National Electronics Import & Export Corporation (CNEIC) ฝ่ายหนึ่ง รองประธานคณะกรรมการแผนการและการลงทุน กับหัวหน้ากรมไฟฟ้า กระทรวงพลังงานลาว อีกฝ่ายหนึ่ง
"โครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำปากลาย" นี้ อยู่ในเป้าหมายของรัฐบาลในการพัฒนาเพื่อผลิตไฟฟ้าจำหน่ายให้แก่ประเทศใกล้เคียงและใช้ภายในประเทศ ทั้งนี้เป็นรายงานของสื่อทางการลาว
บันทึกช่วยความจำฉบับนี้ระบุว่า บริษัทผู้ลงทุนจากจีนจะทำการศึกษาความเป็นไปได้ต่างๆ ภายในเวลา 30 เดือน และผู้ลงทุนจะได้รับสัมปทานการผลิตกระแสไฟฟ้าเป็นเวลา 30 ปี ภายใต้สัญญาแบบ BOT (Build-Operate-Transfer)
ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ซิโนไฮโดรเข้าไปลงทุนในลาวหลายโครงการ รวมทั้งโครงการก่อสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ 4 แห่ง คือ เขื่อนน้ำอู 8 น้ำคาน 2 และ 3 กับเขื่อนน้ำงึม 5 นอกจากนี้ยังถือหุ้นใหญ่ในโรงงานปูนซีเมนต์ในแขวงคำม่วนอีกด้วย
ในต้นเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) จากประเทศไทย ได้เซ็นบันทึกช่วยความจำฉบับหนึ่งกับทางการลาว เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการก่อสร้างเขื่อนอีกแห่งหนึ่งกั้นลำน้ำสายเดียวกันในแขวงเดียวกัน
ตามรายงานของสำนักข่าวสารปะเทดลาว (ขปล.) ช.การช่างจะใช้เวลา 30 เดือนเท่ากัน ในการศึกษาโครงการสร้างเขื่อนแบบฝายน้ำล้น กั้นลำน้ำโขงแห่งที่ 2 ในดินแดนของลาว และจะได้รับสัญญาสัมปทานแบบ BOT เป็นเวลา 30 ปีเช่นเดียวกัน รวมทั้งระยะเวลาก่อสร้างด้วย
ช.การช่าง ยังมีหุ้นส่วนอยู่ในบริษัทพลังงานเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือ ASEAN ที่ได้รับอนุญาตลงทุนก่อสร้างเขื่อนน้ำงึม 2 เขื่อนน้ำพาก 1 และ 2 มีการทำบันทึกช่วยความจำเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ 2 โครงการหลัง ในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา
การเซ็นบันทึกช่วยความจำศึกษาโครงการเขื่อนกั้นลำน้ำโขงของบริษัทจากไทยและจีน มีขึ้นในขณะที่องค์กรที่ไม่สังกัดรัฐบาลได้ออกเคลื่อนไหวต่อต้านโครงการเขื่อนกั้นลำน้ำโขงอีกแห่งหนึ่งในภาคใต้ของลาว โดยระบุว่าจะส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมเป็นวงกว้างในอนุภูมิภาคนี้
ในต้นเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา องค์กรที่ไม่สังกัดภาครัฐจากเอเชียตะวันออก ออสเตรเลีย ยุโรป และสหรัฐฯ ได้รวมตัวกันยื่นหนังสือต่อทางการลาว ขอให้เปิดเวทีพิจารณ์โครงการก่อสร้างเขื่อนไฟฟ้ากั้นลำน้ำโขงที่ดอนสะหง ในแขวงจำปาสัก ซึ่งจะเป็นเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงแห่งแรก
โครงการดังกล่าว เป็นการลงทุนของบริษัทเมกะเฟิร์สคอร์ป (Mega First Corporation) จากมาเลเซีย ซึ่งได้ศึกษาความเป็นไปได้มาตั้งแต่ปี 2547 และคาดว่าจะแล้วเสร็จในเร็วๆ นี้
การก่อสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงเป็นประเด็นที่กลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสภาพแวดล้อมหลายกลุ่ม แสดงความวิตกกังวล และต่อต้านมาตลอด โดยชี้ว่าจะสร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศและสภาพแวดล้อมตลอดแนวแม่น้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางตอนใต้ของลาว ในกัมพูชา และในเวียดนาม