บทเรียน 5 พันล้าน ผลงงานฮั้วข้ามชาติ

fas fa-pencil-alt
ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ-เครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
fas fa-calendar

 “เล่นกับน้ำเหมือนเล่นกับไฟ” สุภาษิตไทยประโยคนี้ดูเหมือนว่าใช้ได้ดีกับเขื่อนบางปะกง เนื่องจากเมื่อเขื่อนแห่งนี้เริ่มเปิดใช้งานในปี ๒๕๔๒  หายนะก็มาเยือนแม่น้ำบางปะกงทันที เพราะหลังจากปิดเขื่อนตลิ่งสองฝั่งแม่น้ำบางปะกงท้ายเขื่อนก็ทะยอยพังลงมาพาเอาบ้านเรือนและสิ่งก่อสร้างต่างๆ รวมทั้งวัดวาอารามพังลงด้วย ยิ่งไปกว่าน้ำเค็มจากทะเลยังหนุนเข้ามาจนทำให้เกิดสภาพดินเค็ม  ขณะที่อ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อนที่เคยคาดว่าจะใช้ประโยชน์ก็กลายเป็นอ่างเก็บน้ำเสียที่มาสะสมอยู่หน้าเขื่อน ฯลฯ

คนที่เดือดร้อนที่สุดจากเขื่อนแห่งนี้คือชาวบ้านที่มีบ้านเรือนอยู่สองฝั่งแม่น้ำบางปะกงรวมทั้งผู้ที่มีชีวิต พึ่งพาอยู่กับแม่น้ำสายนี้โดยที่ไม่ได้รู้อีโหน่อีเหน่ด้วย

ขณะนี้เห็นได้ชัดว่า เขื่อนบางปะกง สิ่งก่อสร้างมหึมาที่ลงทุนถึง ๕,๓๐๐ ล้านบาทที่มาจากเงินภาษีของประชาชนต้องกลายเป็นสิ่งที่ไร้ประโยชน์  การที่เขื่อนแห่งนี้ต้องเปิดบานประตูระบายน้ำนั้นก็ไม่ต่างกับว่าเป็นการปลดระวางเขื่อน (dam decommission) นั่นเอง หรือเปรียบไดกับการซื้อรถมายังไม่ทันได้ใช้ก็ต้องจอดทิ้งไว้รอขายเป็นเศษเหล็ก จะเดินหน้าต่อไปก็ไม่ใช่ง่ายเพราะคนท้องถิ่นที่เดือดร้อนจากเขื่อนแห่งนี้ต้องการให้ยกเลิกการกักเก็บน้ำหรือไม่ก็รื้อเขื่อนทิ้งไปเลย

            ที่จริงแล้ว เขื่อนบางปะกงไม่ได้เป็นกรณีแรกๆ ที่สร้างแล้วไม่ได้ใช้งาน แต่กลับสร้างหายนะกับสภาพแวดล้อมและคนท้องถิ่น แต่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมาแล้วในหลายที่โดยเฉพาะเขื่อนในโครงการผันน้ำโขง-ชี-มูล ดังเช่น เขื่อนหัวนาและเขื่อนราษีไศล เป็นต้น ที่ทุกวันนี้กำลังกลายเป็นอนุสาวรีย์เขื่อน

แต่เขื่อนบางปะกงแตกต่างกับเขื่อนอื่นๆ ก็คือ เขื่อนบางปะกงเป็นเขื่อนไม่กี่แห่งในประเทศที่สร้างขึ้นบริเวณใกล้ปากแม่น้ำและมันได้ก่อให้เกิดปัญหาใหม่ๆ ที่นักสร้างเขื่อนใช้คำว่า “คิดไม่ถึงมาก่อน” นั่นก็คือ การสร้างเขื่อนและกักน้ำของเขื่อนบางปะกงได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อ ระบบหมุนเวียนของน้ำในแม่น้ำเนื่องจากบริเวณที่สร้างเขื่อนเป็นพื้นที่ที่ได้รับอิทธิพลจากน้ำขึ้นน้ำลง

ความวิบัติของเขื่อนบางปะกงนั้น ไม่น่าเชื่อว่ากรมชลประทานคาดคิดไม่ถึงเพราะปัญหาเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องสลับซับซ้อน เช่นเรื่องตลิ่งพังนั้น ชาวบ้านทั่วไปที่อาศัยในพื้นที่ที่ได้รับอิทธิพลจากน้ำขึ้นน้ำลงนั้นรู้กันมานานแล้วว่า น้ำและพืชพรรณสองฝั่งแม่น้ำมีบทบาทสำคัญในการพยุงและรักษาตลิ่งไม่ให้พัง เมื่อสร้างเขื่อนและกักน้ำก็ทำน้ำหายไปและทำให้ตลิ่งพังลงมา

การที่นักสร้างเขื่อนกล่าวว่าปัญหาที่เขื่อนบางปะกงคาดไม่ถึงมาก่อนนั้นจึงเป็นการกล่าวแต่เพียงแค่ให้เรื่องนี้พ้นไป จากความรับผิดชอบ ขณะที่เรื่องนี้นั้นได้สะท้อนให้เห็นถึงความไร้ประสิทธิภาพของการศึกษาต่างๆ ของเขื่อนไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการศึกษาความเหมาะสมโครงการหรือการศึกษา ผลกระทบสิ่งแวดล้อมว่ารายงานเหล่านี้ที่ต้องจ้างผู้เชี่ยวชาญทั้งหลาย(ทั้งอาจารย์มหาวิทยาลัยและผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ) ทำนั้น เป็นการใช้เงินภาษีประชาชนที่ไร้สาระอย่างสิ้นเชิง เพราะเห็นได้ชัดว่ารายงานเหล่านี้มีเพียงคำตอบเดียวคือสร้างเขื่อนได้

การศึกษาทั้งหลายก่อนการสร้างเขื่อนจึงเป็นเพียงเรื่องพิธีกรรมของนักสร้างเขื่อนเท่านั้น แต่ดูเหมือนว่าพิธีกรรมนี้ก็ยังดำเนินต่อไปเพราะกรมชลประทานได้ใช้เงินโดยว่าจ้างบริษัทเอกชนจาก ๓ บริษัทให้ทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติมโดยที่ไม่มีการเปิดเผยชื่อบริษัทต่อสาธารณะ รวมทั้งปิดบังค่าจ้าง และขณะที่งานศึกษากำลังจัดทำอยู่อย่างไม่เสร็จนั้น กรมชลประทานได้เตรียมทุ่มเงินไว้สำหรับการแก้ไขปัญหานี้ในเบื้องต้น ๑,๔๐๐ ล้านบาท

เรื่องเขื่อนบางปะกงจึงเป็นเรื่องของความไร้ประสิทธิภาพของราชการอย่างแท้จริง

ดังที่กล่าวมาแล้วว่า เขื่อนบางปะกงเป็นเขื่อนที่สร้างบริเวณปากแม่น้ำ การที่กรมชลประทานทุ่มเงินไปนับพันล้านเพื่อแก้ไขปัญหาซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าจะสำเร็จนั้น ยังเกี่ยวข้องกับเรื่องของการเดิมพันสำหรับเขื่อนประเภทนี้ด้วย  ทั้งนี้ก็เพราะว่า ปัจจุบัน การสร้างเขื่อนทางต้นน้ำที่เรียกว่าเขื่อนกักเก็บน้ำ (reservoir dam ) นั้นทำได้ยาก ไหนจะเรื่องอพยพชาวบ้าน ไหนจะเรื่องพื้นที่น้ำท่วมที่ดินและป่า ดังนั้น เขื่อนปากแม่น้ำจึงกลายเป็นเป้าหมายของนักสร้างเขื่อนแทน ดังจะเห็นได้จากปัจจุบันโครงการที่มีลักษณะคล้ายกันกับเขื่อนบางปะกงก็กำลังถูกวางแผนสร้างอย่างเงียบๆ โดยที่สาธารณะชนไม่รู้ ที่พอจะได้ยินอยู่ก็เช่น โครงการเขื่อนกั้นปากแม่น้ำแม่กลอง เป็นต้น

เบื้องหลังของเรื่องนี้ยังเชื่อมโยงกับทุนอุตสาหกรรมเขื่อนเพราะกรมชลประทาน สร้างเขื่อนบางปะกงโดยได้รับการช่วยเหลือทางเทคนิคจากองค์กรเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งประเทศญี่ปุ่น (JICA) โดยบริษัท Sanyu Consultant ยักษ์ใหญ่แห่งวางการสร้างเขื่อนของญี่ปุ่นเป็นผู้ออกแบบเขื่อน และภายใต้คำว่า “การช่วยเหลือทางเทคนิค” ของญี่ปุ่นนั้น มีความจริงอย่างหนึ่งที่นักสร้างเขื่อนจากญี่ปุ่นไม่ได้บอกก็คือ ในญี่ปุ่นเองก็เกิดปัญหาที่คล้ายคลึงกันกับที่บางปะกง เพราะญี่ปุ่นได้ทำการสร้างเขื่อนบริเวณปากแม่น้ำมากมาย  และแต่ละเขื่อนล้วนแต่เกิดปัญหา เช่น เขื่อนปากแม่น้ำนาการา มีปัญหาตะกอนทับถมและน้ำเสียหน้าเขื่อนสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงทั้งต่อเขื่อนเองและชุมชนท้องถิ่น เขื่อยังทำลายอาชีพประมงพื้นบ้านบริเวณปากแม่น้ำนาการา จนกระทั่งชาวบ้านในท้องถิ่นเรียกร้องให้ยกบานประตูเขื่อนเช่นเดียวกับที่บางปะกง

บทเรียนจากเขื่อนนาการานี้ทำให้เขื่อนที่มีลักษณะเดียวกันอีกหลายแห่งที่มีแผนสร้างในญี่ปุ่นถูกประท้วงไม่ให้สร้าง อย่างเช่น เขื่อนปากแม่น้ำโยชิโน เป็นต้น

เมื่อเขื่อนในญี่ปุ่นสร้างยากขึ้น บรรดานักสร้างเขื่อนของญี่ปุ่นจึงหาที่สร้างเขื่อนใหม่ และที่ที่ดีที่สุดที่เป็นสวรรค์ของนักสร้างเขื่อนก็คือ ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายที่ยังคลั่งเขื่อน และเขื่อนบางปะกงคือผลพวงหรือสัญญาณของการส่งออกเขื่อนยุคใหม่จากญี่ปุ่นไปนั่นเอง

ยิ่งไปกว่านั้น หากมองในมุมของนิเวศวิทยาการเมือง เขื่อนบางปะกงจึงมิได้เกิดขึ้นเพราะแรงผลักดันของนักการเมืองและข้าราชการภายในรัฐไทยเท่านั้น แต่ยังรวมถึงรัฐบาลญี่ปุ่นที่เป็นนายหน้าของทุนบริษัทอุตสากรรมเขื่อนในญี่ปุ่นด้วย และแรงผลักดันนี้ คือการสุมหัวกันแสวงหาผลประโยชน์จากโครงการของรัฐที่เรียกได้ว่าเป็นการ“ฮั้วข้ามชาติ” นั่นเอง

 การฮั้วในเรื่องเขื่อนนั้นความจริงแล้วเกิดควบคู่กับประวัติศาสตร์การสร้างเขื่อนมาโดยตลอด และเกิดขึ้นในหลายที่ทั่วโลก

กรณีที่โด่งดังก็คือการฮั้วในโครงการเขื่อนในสหรัฐฯ ในยุคแรกๆ ของการสร้างเขื่อน เพราะสหรัฐฯ ทำการสร้างเขื่อนมากมายภายใต้สถานการณ์ของนโยบายการสร้างรัฐชาติจนกระทั่งทำให้ในยุคนั้นเรียกกันว่ายุคทองของการสร้างเขื่อน แต่เบื้องหลังของเขื่อนเหล่านี้ ส่วนมากแล้วมาจากแรงผลักดันของนักการเมืองและบรรดากลุ่มทุน  โดยนักการเมืองได้ใช้โครงการเขื่อนในการหาเสียง ดังกรณีการสร้างเขื่อนของโครงการพัฒนาลุ่มน้ำเทนเนสซี (TVA) ที่โรสเวลต์ได้เสนอระหว่างการรณรงค์หาเสียงให้สร้างโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ 4 โครงการ เมื่อเขาได้เป็นประธานาธิบดีจึงเสนอให้ก่อตั้ง TVA และโครงการสร้างเขื่อนที่เขาเสนอในระหว่างหาเสียงก็ถูกสร้างขึ้นบนลุ่มน้ำเทนเนสซีโดย TVA

ขณะเดียวกันก็มีการรวมหัวกันแสวงหาประโยชน์ระหว่างกลุ่มทุนก่อสร้างกับนักการเมืองที่เรียกกันว่า "pork barrel politics" ที่มีรากฐานมาจากการเรียกอาการคลุ้มคลั่งของทาสในพื้นที่เพาะปลูกทางตอนใต้ของสหรัฐฯ ที่หิวกระหายเมื่อนายทาสได้ส่งสัญญาณว่าจะได้รับอาหารพิเศษโดยการคลี่หมูเค็มออกจากถัง

"pork barrel politics" นี่แหละคือการ “ฮั้ว”

ด้วยระบบนี้ การสร้างเขื่อนและระบบชลประทานในสหรัฐฯ จึงทำให้เกิดการสะสมทุนของกลุ่มทุนก่อสร้างขึ้น และกลุ่มทุนนี้ก็เติบโตอย่างรวดเร็วจนกระทั่งกลายเป็นบรรษัทข้ามชาติ ดังกรณีบริษัท Brown & Root ที่ทำการสร้างเขื่อนและระบบชลประทานในโครงการ Central Arizona Project    ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นบริษัทก่อสร้างที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และได้เข้ามีบทบาทในการสร้างเขื่อนภูมิพลซึ่งเป็นเขื่อนแห่งแรกในประเทศไทยด้วย

สำหรับในประเทศไทย ในยุคแรกๆ ที่เริ่มมีการสร้างเขื่อน การฮั้วกันเกิดขึ้นภายใต้ระบบการพัฒนาแบบพึ่งพา เพราะการที่รัฐไทยจะสร้างเขื่อนขนาดใหญ่เป็นไปไม่ได้ไม่ใช่เรื่องง่าย ขาดทั้งวิศวกร ความรู้ และเทคโนโลยี แถมยังไม่เงินที่จะมาสร้าง จึงต้องพึ่งพาบรรดาองค์กรพัฒนาระหว่างประเทศอย่างธนาคารโลกหรือไม่ก็องค์กรพัฒนา ระหว่างประเทศของรัฐบาลประเทศอุตสาหกรรมเขื่อนอย่าง JICA หรือ USAID เป็นต้น

องค์กรเหล่านี้นั้น นักสิ่งแวดล้อมเรียกกันว่า “นายหน้า” ที่ทำหน้าที่หางานทำให้นายทุนอุตสาหกรรมเขื่อนในประเทศของตนอีกที 

ดังนั้น ถ้ามองไปยังเขื่อนที่สร้างไปแล้ว  สิ่งที่เห็นได้ชัดก็คือ เขื่อนในประเทศไทยล้วนแต่เป็นเขื่อนที่สร้างขึ้นมาโดยบริษัทข้ามชาติ จนกระทั่งกล่าวได้ว่า แต่ละเขื่อนนั้นมีสัญชาติต่างด้าว ดังเช่น เขื่อนญี่ปุ่นก็คือ เขื่อนสิรินธร ศรีนครินทร์ จุฬาภรณ์ เป็นต้น เขื่อนเยอรมันก็เช่น เขื่อนอุบลรัตน์ เป็นต้น

ต่อมา ในยุคที่เศรษฐกิจเจริญเติบโตมากขึ้นและทำให้เกิดกลุ่มทุนท้องถิ่นในไทย การฮั้วกันก็กลายเป็นปัญหาของความขัดแย้งเพราะกลุ่มทุนท้องถิ่นต้องการเข้าไปแสวงหาประโยชน์จากการสร้างเขื่อนด้วย  ความขัดแย้งที่โด่งดังก็คือ การประมูลการก่อสร้างเขื่อนเขื่อนแควรระบมสียัดซึ่งอยู่เหนือเขื่อนบางปะกงที่ปรากฏว่าลูกน้องนักการเมืองคน หนึ่งได้เข้าขัดขวางบริษัทเอกชน จากญี่ปุ่นไม่ให้เข้าร่วมประมูลก่อสร้างเขื่อนแห่งนี้เพื่อที่จะให้บริษัทในเครือญาติของตนได้รับการคัดเลือกให้สัมปทานสร้างเขื่อน  จนกระทั่งมีการตรวจสอบกันใหญ่โต แต่ต่อมาเรื่องนี้ก็เงียบหายไป

ยิ่งไปกว่านั้น ความขัดแย้งยังรวมถึงโครงสร้างอื่นๆ ที่ตามมาเช่น การฮั้วการสร้างระบบชลประทานซึ่งก็เป็นข่าวเมื่อเร็วๆ นี้ ด้วย

อย่างไงก็ตาม การฮั้วเช่นนี้ก็ไม่ได้เกิดทุกเขื่อน เพราะระบบการสร้างเขื่อนของรัฐไทยนั้นยังต้องพึ่งพาอุตสาหกรรมเขื่อนข้ามชาติดังเช่น ๔๐ กว่าปีที่ผ่านมา การฮั้วที่มีทุนท้องถิ่นจึงมักเกิดขึ้นกับเขื่อนบางเขื่อนที่เป็นเขื่อนดินที่ไม่ใหญ่มากและใช้เทคโนโลยีที่ไม่สูง  ส่วนเขื่อนอื่นๆ ที่ต้องใช้ความรู้และเทคโนโลยีสูงขึ้นก็ต้องพึ่งพานานาชาติต่อไป ดังนั้นจึงไม่แปลกที่เขื่อนในประเทศไทยที่กำลังจะสร้างนั้น ส่วนใหญ่ออกแบบโดยบริษัทข้ามชาติภายใต้สิ่งที่เรียกว่า “การช่วยเหลือทางเทคนิค” โดยเฉพาะอย่างยิ่งญี่ปุ่นที่ปัจจุบันมีบทบาทในวางแผนสร้างเขื่อนในประเทศไทยรวมแล้วเกือบ ๓๐ โครงการ (รวมทั้งเขื่อนและผันน้ำเช่น กก-อิง-น่าน สาละวิน และเขื่อนตามแนวชายแดนไทย-พม่าด้วย)

กล่าวได้ว่า ภายใต้กระบวนที่เรียกว่าการช่วยเหลือทางเทคนิคนี้เองที่ยังทำให้กระบวนการฮั้วข้ามชาติดำรงอยู่ต่อไป และสังคมไทยก็มักจะไม่ตั้งคำถามถึงเบื้องหลัง เพราะราชการและนักการเมืองของไทยแค่อาศัยแค่เสื้อคลุมของชาตินิยมและอุดมการณ์การพัฒนาในการสรางความ ชอบธรรมให้กับเขื่อน เช่น “สร้างเขื่อนเพื่อชาติ” หรือ “สร้างเขื่อนเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ” เป็นต้น แค่นี้ก็ไม่มีใครถามคำถามใดๆ แล้ว และปล่อยให้กระบวนการทั้งหมดดำเนินโดยข้าราชการและนักการเมือง ผลที่ออกมาจึงเป็นอย่างเช่นที่กำลังเกิดขึ้นหลายเขื่อนรวมทั้งเขื่อนบางปะกง

ในกรณีเขื่อนบางปะกงนั้น ไม่ว่าเราจะยกเลิกใช้มันโดยยกบานประตูตลอดไป รื้อมันทิ้ง หรือใช้มันต่อไปแม้ว่าต้องลงทุนอีกหลายพันล้านก็ตาม สังคมไทยจำเป็นอย่างยิ่งที่จะรวมกันตรวจสอบไม่หให้มีการนำเอาเงินภาษีของประเทศชาติไปถลุงกัน

ยิ่งไปกว่านั้น สังคมไทยยังต้องร่วมมือกันทลายระบบการฮั้วให้หมดสิ้นไป ซึ่งครอบคลุมทั้งข้าราชการ นักการเมือง บรรดานักวิชาการประเภทมือปืนรับจ้างทำรายงานต่างๆ รวมทั้งองค์กรของรัฐบาลและทุนอุตสาหกรรมเขื่อนที่ลอยนวลมาโดยตลอด

 


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง