บทเรียนจากเกาหลีสู่ไทย
ความขุ่นมัวในโครงการน้ำ 3.5 แสนล้าน
บทเรียนจากเกาหลีสู่ไทย
ความขุ่นมัวในโครงการน้ำ 3.5 แสนล้าน
ผมทำงานเรื่องน้ำมานาน ยังหาคำตอบไม่ได้ว่าโมดุลทั้งหลายในชุดโครงการ 3.5 แสนล้าน มาจากไหน ทั้งเขื่อน แก้มลิงล้านไร่ ฟลัดเวย์ ฯลฯ จนวันนี้ยังไม่เห็นว่ามีการศึกษาชิ้นไหนระบุว่าชุดโครงการนี้จะแก้ปัญหาน้ำ ท่วมได้ เพราะส่วนหนึ่งของรากเหง้าปัญหาน้ำท่วมคือ การใช้ที่ดินอย่างไม่มีการวางแผน เมือง บ้านจัดสรร โรงงานไปอยู่ในที่น้ำหลากตามธรรมชาติ ทำลายพื้นที่รับน้ำตามธรรมชาติ
ผมเองก็คงเหมือนคนส่วนใหญ่ในสังคมไทยไม่รู้จักบริษัทเควอเตอร์ดีพอ และไม่รู้เหตุผลที่แท้จริงว่าทำไมบริษัทนี้ถึงได้รับการคัดเลือกให้ดำเนินโครงการฟลัดเวย์และแก้มลิง
เมื่อทราบว่าเค วอเตอร์ ทีสัญชาติเป็นเกาหลี ก็คิดถึงเพื่อนที่เกาหลี ซึ่งเป็นคนทำงานด้านสิ่งแวดล้อมในประเทศเกาหลีใต้ เคยประชุมร่วมกันหลายหน และคราวประชุมอนุสัญญาแรมซาร์ ครั้งที่ 9 ที่เกาหลีก็ได้ไปดูงานก่อน จึงติดต่อให้ช่วยมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินการของเค วอเตอร์ในเกาหลีหน่อย ก็ได้การตอบรับว่ายินดีมาและขอดูพื้นที่พบปะชาวบ้าน ทางเราจึงขอว่าอาจจะมีการจัดแถลงข่าวด้วยหลังลงพื้นที่ ซึ่งเขาเขาก็ยินดี
ลงพื้นที่ครั้งนี้มีคุณยัม ฮคองเชิล ผอ.องค์กรสิ่งแวดล้อมเกาหลี KFEM ที่เคยทำงานกันมานานเป็นสิบปี เราร่วมงานกันในเครือข่าย Rivers Watch East and Southeast Asia-RWESA เมื่อปี 2546 เราเคยจัดการประชุมนานาชาติของผู้เดือดร้อนเรื่องเขื่อน ระดับโลกครั้งที่ 2 ที่เขื่อนราษีไศล ยัมและเพื่อนๆ จากเกาหลีก็มาร่วมประชุม ตอนนั้นเขาร่วมกับนักสิ่งแวดล้อมและชาวบ้านตรวจสอบโครงการเขื่อนหลายแห่งใน เกาหลี โดยเฉพาะเขื่อนกั้นแม่น้ำฮัน ที่ถูกคัดค้านหนักเพราะผลกระทบสิ่งแวดล้อม
ในแวดวงสิ่งแวดล้อมเกาหลี KFEM เป็นองค์กรใหญ่มากและเป็นหัวหอกในหลายด้านโดยเฉพาะการตั้งคำถามต่อโครงการพัฒนาใหญ่ๆ ของทั้งภาครัฐและเอกชน โครงการใหญ่ล่าสุดที่ตรวจสอบกันอย่างหนัก คือโครงการ 4 แม่น้ำสายหลัก 4 Major Rivers Project ที่สร้างเขื่อนเกือบ 20 แห่ง และขุดลอก/เทคอนกรีตแม่น้ำสายหลักของเกาหลี จนเหลือสภาพเป็นแค่คลองระบายน้ำ ระบบนิเวศพังยับเยิน และนี่คือโครงการที่เควอเตอร์ทำในเกาหลี
ยัม ร่วมเดินทางลงพื้นที่ตำบลชมภู อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก และ หลายพื้นที่ในจ.นครสวรรค์ พร้อมกับสื่อหลายสำนัก ข้อมูลที่ได้จากเขา ชัดเจนว่าในเกาหลีเองโครงการที่ผ่านมาสร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศมาก ทั้งที่การแก้ปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้ง ก็ยังไม่มีข้อมูลรองรับว่าจะแก้ได้จริง ยิ่งมาเห็นพื้นที่เหนือปากน้ำโพ ที่จะกลายเป็นแก้มลิงขนาดเป็นล้านไร่ และฟลัดเวย์ตั้งเกือบ 300 กิโลเมตร ผ่านพื้นที่ 7 จังหวัด ถือเป็นโครงการใหญ่ เขารู้สึกเป็นห่วงเพราะไม่แน่ใจว่าเควอเตอร์จะสามารถทำโครงการได้จริง
ล่าสุดในรายงานตรวจสอบโครงการโดยคณะกรรมการตรวจเงินและประเมิน ของเกาหลี(คล้ายๆกับสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน หรือสตง. บ้านเรา) ชี้ว่าโครงการ 4 แม่น้ำสร้างผลกระทบสิ่งแวดล้อมมาก โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมทางน้ำจากเขื่อน 16แห่งและอื่นๆ ทำให้เกิดมลภาวะ สาหร่ายเขียวแพร่กระจาย รายงานแนะนำว่าควรเปิดเผยข้อมูลต่อสารธารณะตั้งแต่ต้น รายงานนี้ออกมาเมื่อเดือนเมษา (หาอ่านได้ http://english.bai.go.kr/ )
กลับมามองบ้านเรา เห็นได้ชัดว่าเริ่มมีสัญญาณแปลกๆ จากรัฐบาลเกาหลีมาตั้งแต่ต้นเมื่อครั้งที่ชาวบ้านเดินทางไปยื่นจดหมายที่สถานเอกอัคราชทูตเกาหลีใต้ตอนปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่สถานฑูตเขาก็อีเมลตอบสั้นๆ ถามย้อนกลับมาอีกว่าเราไปยื่นจดหมายที่สถานฑูตจีนด้วยหรือเปล่า ซึ่ง ผมก็ไม่รู้ว่าเขาถามเพื่ออะไร ครั้งนี้ก็เช่นกันทูตเกาหลีออกมาแจงแทนบริษัทเควอเตอร์ ทั้งๆที่ยังไม่เคยได้ยินข่าวว่าลงไปดูพื้นที่เลยและไม่รู้ว่าประชาชนไทยจะ ต้องประสบะตากรรมเยี่ยงไร หากปล่อยให้เควอเตอร์ดำเนินโครงการ จริงๆแล้วสถานทูตควรเป็นตัวแทนของประชาชนชาวเกาหลี มิใช่เป็นตัวแทนบริษัท ที่สำคัญควรคำนึงถึงความรู้สึกของประชาชนมากกว่าผลประโยชน์ของบริษัท
คุณยัมได้ถ่ายทอดประสบการที่เกิดขึ้นในเกาหลีให้พวกเราฟังอย่างตรงไปตรงมา แถมยังก็อปปี้ข้อมูลให้ผู้ที่สนใจโดยไม่หวงเลย ตั้งแต่เรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมตลอดจนถึงเรื่องที่มาที่ไปและสถานการณ์ ของเค วอเตอร์ ซึ่งเป็นประเด็นที่สังคมไทยไม่เคยรับรู้มาก่อน และ เมื่อคุณยัมกลับไปถึงประเทศ เขาก็ต้องพบกับสถานการณ์ยุ่งยากหลายอย่างแต่องค์กรที่เขาทำงานอยู่เป็น องค์กรใหญ่ มีสมาชิกทั่วประเทศกว่า 8 หมื่นคน มีความหนักแน่น แม้จะถูกคนของรัฐบาลเกาหลีวิพากษ์วิจารณ์ตลอดจนถูกเค วอเตอร์ฟ้องร้อง
ผมคิดว่าการที่เค วอเตอร์ แสดงท่าทีอันไม่เป็นมิตรกับการตรวจสอบหรือการมีส่วนร่วมของประชาชนไทยเช่นนี้ตั้งแต่ต้น น่าจะทำให้การทำงานของเค วอเตอร์ในประเทศไทยลำบาก เพราะเพียงแค่การเปิดโอกาสให้นักสิ่งแวดล้อมเกาหลีมาให้ข้อมูลต่อสังคมไทยคุณยังเกิดปฎิกริยาขนาดนี้ แล้วอนาคตที่มีการตรวจสอบกันอย่างเข้มข้น มิทำให้ความขัดแย้งยิ่งขยายวงกว้างหรือ
น้องๆ นักข่าวหลายคนเล่าให้ผมฟังว่า หลังจากที่คุณยัมมาเปิดประเด็นและเป็นข่าวใหญ่ปรากฎว่าได้มีกลุ่มบุคคลที่อ้างว่าเป็นฝ่ายประชาสัมพันธ์ของเควอเตอร์ เที่ยวโทรศัพท์ไปตามสำนักข่าวต่างๆ เพื่อหาตัวคนทำข่าว พร้อมทั้งพยายามให้ข้อมูลในลักษณะที่ลดความน่าเชื่อถือต่อคุณยัมและคนที่ชักชวนคุณยัมมาเมืองไทย บุคคลกลุ่มนี้ยังพยายามหารายละเอียดของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางของคุณยัม ถึงขนาดถามหาสถานที่ตั้งของที่ทำงาน
ผมคิดว่าวิธีการในลักษณะนี้ส่อไปในทาง “คุกคาม”เสียมากกว่า แทนที่จะให้ข้อมูลอีกด้านหนึ่งมาหักล้างสิ่งที่คุณยัมนำเสนอ ผมยังเชื่อมั่นในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนไทยในการแสวงหาข้อเท็จจริงในมุมต่างๆให้ปรากฎ ข้อมูลที่คุณยัมนำมาอธิบายให้สังคมไทยได้รับรู้นั้น วันนี้ บางส่วนปรากฎชัดจากรายงานการตรวจสอบของสตง.เกาหลีถึงความเสียหายด้านสิ่งแวด ล้อมที่เกิดขึ้นในประเทศของเขาซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่เราเป็นห่วงว่ากำลังจะ เกิดขึ้นในบ้านเรา
เมื่อค้นเข้าไปในแหล่งข้อมูลพบว่า เคยมีผู้ทรงอิทธิพลนอกประเทศเดินทางไปพบเค วอเตอร์ก่อนที่กบอ.จะตัดสินใจเลือกบริษัทเหล่านี้ให้ชนะการประมูล ยิ่งทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับความโปร่งใสมากยิ่งขึ้น จนมีนักศึกษาไทยในเกาหลีได้เขียนบทความมาอีกหลายชิ้น ชี้ให้เห็นพฤติกรรมของเค วอเตอร์ในโครงการแม่น้ำ 4 สายในเกาหลี ด้วยข้อมูลตรงไปตรงมา
ผมเชื่อว่าอีกไม่นาน สังคมไทยคงได้รับรู้ข้อมูลและความเลวร้ายที่เกิดขึ้นในแม่น้ำสายต่างๆ ของเกาหลีมากขึ้น และเราไม่ควรเพิกเฉยกับบทเรียนเหล่านั้น
นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเกาหลีเขายืนยันที่จะติดตามโครงการต่อ เพราะส่วนหนึ่งเป็นเงินภาษีของคนในประเทศเขาที่จะต้องมาการันตีโครงการ สำหรับคนไทยเอง โครงการนี้ก็เป็นเงินกู้กอ้นใหญ่ ซึ่งสุดท้ายทุกคนต้องร่วมกันรับผิดชอบทั้งต้นและดอกเบี้ย ใช้หนี้กันยาวนานไปยันชั่วลูกชั่วหลาน
เพราะฉะนั้นทุกคนจึงมีสิทธิ์ตั้งคำถามและแสดงความกังวลในโครงการ 3.5 แสนล้านบาทนี้ อย่าปล่อยให้คนเพียงไม่กี่คน ทำลายทรัพยากรของประเทศ แถมยังต้องใช้หนี้กันหัว
หาญณรงค์ เยาวเลิศ
มูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ(ประเทศไทย)
16 กรกฎาคม 2556