บทวิเคราะห์ ปัญหาที่ซ่อนเร้นใต้เขื่อนสาละวิน
นับตั้งแต่กลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ข่าวการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำสาละวินเริ่มปรากฎบนหน้าหนังสือพิมพ์เป็นระยะ ๆ หลังจากเงียบหายไปนานหลายปี สิ่งที่สร้างความสับสนให้กับคนทั่วไปมากพอสมควรคือสถานที่ตั้งของเขื่อนและผู้เป็นเจ้าของโครงการ เพราะมีข่าวว่า เขื่อนจะตั้งอยู่ในรัฐฉาน ประเทศพม่า และชายแดนไทย - พม่า ส่วนเจ้าของโครงการมีทั้งบริษัท MDX ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่ไม่คุ้นหู และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ความสับสนดังกล่าวทำให้คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าโครงการนี้ยังอยู่ในขั้นเริ่มคิด ยังไม่มีแผนดำเนินการเป็นจริงเป็นจังแต่อย่างใด
ทว่า หากใครติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดจะพบว่า เขื่อนสาละวินที่กำลังถูกพูดถึงมีถึงสองแห่ง และกำลังมีการผลักดันให้สร้างพร้อม ๆ กันถึงสองแห่ง โครงการหนึ่งมีบริษัทMDX บริษัทรับเหมาสร้างเขื่อนของประเทศไทยเป็นเจ้าของโครงการ และอีกโครงการหนึ่งเป็นของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และขณะนี้ ทั้งสองโครงการมีแผนก่อสร้างเป็นรูปเป็นร่างแล้ว เห็นได้จากนายสิทธิพร รัตโนภาส ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยออกมายืนยันว่า โครงการมีความเป็นเป็นได้ถึง 70 เปอร์เซ็นต์ และเตรียมเดินทางไปตกลงเรื่องที่ตั้งเขื่อนกับรัฐบาลพม่าในต้นปี 2546นี้ ส่วนบริษัท MDX ได้เดินทางไปเซ็นสัญญา “บันทึกความเข้าใจร่วมกัน” หรือ MOU (memorendum of Understanding) กับรัฐบาลพม่าเมื่อวันที่ 20 ธันวาคมเรียบร้อยไปแล้ว
โครงการเขื่อนทั้งสองโครงการ คือ โครงการเขื่อนท่าซาง และโครงการเขื่อนสาละวินตอนบนและล่าง เนื่องจากเทคโนโลยีที่นำมาใช้ในสร้างเขื่อนทั้งสองแห่งนี้เป็นเทคโนโลยีเขื่อนผลิตไฟฟ้าแบบสูบกลับ คือ สูบน้ำจากเขื่อนด้านล่างกลับขึ้นมาให้อีกเขื่อนด้านบนใช้ แต่ละมีเขื่อนสร้างควบคู่กันไปสองเขื่อน คือ เขื่อนแม่และเขื่อนลูก (ข้อดีของเขื่อนแบบนี้คือสามารถนำน้ำหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ แต่ข้อเสียคือทำให้สูญเสียพื้นที่อ่างเก็บน้ำเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า และก่อให้เกิดการพังทลายของพื้นดิน เนื่องจากต้องเจาะพื้นดินสำหรับฝังท่อสูบน้ำจากเขื่อนด้านล่างขึ้นมาใช้ด้านบน ซึ่งหากทำการเจาะไม่ดีจะทำให้เขื่อนร้าวและใช้งานไม่ได้ ดังเช่นเขื่อนลำตะคองซึ่งเขื่อนมีรอยร้าวมาจนวันนี้)
โครงการเขื่อนท่าซาง ตัวเขื่อนแม่และเขื่อนลูกกั้นแม่น้ำสาละวิน บริเวณท่าเรือท่าซาง ตอนใต้ของรัฐฉาน ประเทศพม่า ห่างจากชายแดนไทยด้านจังหวัดเชียงใหม่ประมาณ 130 กิโลเมตร บริษัท MDX บริษัทรับเหมาสร้างเขื่อนของประเทศไทยเป็นเจ้าของโครงการ (บริษัทนี้รับเหมาสร้างเขื่อนในประเทศลาวและกัมพูชา รวมทั้งเป็นเจ้าของโครงการพัฒนาชายแดนด้านตะวันตก หรือ เวสเทิร์น ซีบอร์ด อีกหลายโครงการ) เริ่มดำเนินการสำรวจความเป็นไปได้ครั้งแรกเมื่อปี 2541 ได้ข้อสรุปว่า สถานที่ตั้งเขื่อนที่เหมาะสม คือ บริเวณด้านเหนือและใต้ของสะพานท่าซาง บริเวณท่าเรือท่าซาง ตอนใต้ของรัฐฉาน
นายสว่าง จำปา ผู้จัดการบริษัท MDX จากประเทศไทยให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์เมียนมาร์ไทม์ หนังสือพิมพ์กึ่งรัฐบาลพม่าฉบับวันที่ ฉบับวันที่ 23 - 29 ธันวาคม 2545 ว่า เขื่อนแห่งนี้คาดว่าจะมีราคาสูงถึง 4 พันล้านเหรียญสหรัฐ และจะเป็นเขื่อนที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทางกลุ่มบริษัท MDX จะเป็นผู้รับผลิตในการหาเงินทุนในการก่อสร้างโครงการเขื่อนผลิตไฟฟ้า 4,600 เมกกะวัตต์แห่งนี้ โดยไฟฟ้าส่วนใหญ่จะขายให้กับประเทศไทย สำหรับการดำเนินงานในขั้นตอนสุดท้ายของโครงการจะต้องถ่ายโอนให้รัฐบาลไทย ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการสรุปในรายละเอียดเรื่องนี้ โครงการช่วงแรกสร้างจะดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2007 ส่วนการดำเนินโครงการในช่วงที่สองนายสว่างไม่ได้กล่าวถึงในการสัมภาษณ์ครั้งนี้
ส่วนโครงการเขื่อนสาละวินตอนบนและล่าง ซึ่งมีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าของโครงการ ตัวเขื่อนกั้นแม่น้ำสาละวิน บริเวณอำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน กับรัฐคะยาห์ ประเทศพม่า โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำบนแม่น้ำเมย - สาละวินระหว่างชายแดนไทย - พม่า เมื่อปี 2532 และมีบริษัทผลิตไฟฟ้าเอกชนและกระทรวงการคลังของญี่ปุ่น หรือ EPDC (Electric Power Development Company) เป็นผู้ทำการศึกษา ผลการศึกษา เสนอให้สร้างกั้นแม่น้ำเมยและสาละวินระหว่างชายแดนไทย – พม่าทั้งหมด 8 เขื่อน แบ่งออกเป็นเขื่อนกั้นแม่น้ำเมย 6 เขื่อน และแม่น้ำสาละวิน 2 เขื่อน คือ เขื่อนสาละวินตอนบนกำลังการผลิต 4,540 เมกะวัตต์ และเขื่อนสาละวินตอนล่าง กำลังการผลิต 792 เมะกะวัตต์ (เขื่อนสาละวินตอนบนทำหน้าที่เป็นเขื่อนแม่ ทำหน้าที่ผลิตกระแสไฟฟ้าโดยเฉพาะ ส่วนเขื่อนตอนล่างทำหน้าที่เป็นเขื่อนลูก คอยกักเก็บน้ำให้เขื่อนแม่ และผลิตกระแสไฟฟ้าบ้าง แต่กำลังการผลิตจะน้อยกว่าเขื่อนแม่) รวมกำลังการผลิตทั้งสองเขื่อนประมาณ 5,000 เมกกะวัตต์ ใช้เงินลงทุนอย่างต่ำ 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐหรือ สองแสนล้านบาท พลังงานไฟฟ้าที่ได้แบ่งออกเป็นสองส่วน คือ ส่วนหนึ่งส่งเข้าไปยังประเทศพม่า และอีกส่วนหนึ่งส่งเข้ามายังประเทศไทย
ผลกระทบจากการสร้างเขื่อนสาละวินแบ่งออกเป็นสองประเด็นใหญ่ ๆ คือ ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และผลกระทบด้านสังคม คือ ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งนำไปสู่ปัญหาผู้ลี้ภัยในประเทศไทยตามมา
เนื่องจากทั้งสองโครงการต้องสร้างเขื่อนแม่และเขื่อนลูกรวมทั้งหมด 4 เขื่อน พื้นที่อ่างเก็บน้ำจึงกินอาณาบริเวณกว้าง และจนถึงปัจจุบันยังไม่มีการเปิดตัวเลขของพื้นที่น้ำท่วมที่แน่ชัด แต่หากพิจารณาจากที่ตั้งของเขื่อนทั้งสองแห่งจะพบว่าพื้นที่ที่จะถูกน้ำท่วมค่อนข้างชัดเจนเป็นผืนป่า อุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคนี้ คือ โครงการเขี่อนท่าซางในรัฐฉานจะทำให้เกิดน้ำท่วมผืนป่าเชียงตอง ผืนป่าดั้งเดิมขนาดใหญ่และอุดมสมบูรณ์มากที่สุดแห่งหนึ่งของรัฐฉาน ส่วนโครงการเขื่อนสาละวินตอนบนและล่างจะทำให้เกิดน้ำท่วมบริเวณเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน
จากการสำรวจของนักนิเวศน์วิทยาพบว่า ผืนป่านับแต่จุดที่แม่น้ำสาละวินไหลเป็นพรมแดนไทย-พม่า เป็นสภาพพื้นที่อันต่อเนื่องระหว่างเขตชีวภูมิศาสตร์ย่อยอินโดจีน (Indo-Chinese Subregion) กับพื้นที่ต่อเนื่องจากชีวภูมิศาสตร์สิโนหิมาลายัน หรือ เขตชีวภูมิศาสตร์ย่อยอินเดีย (Sino-Himalayan or Indian Subregion) พื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแห่งนี้จึงได้รับอิทธิพลทางด้านการกระจายชนิดพันธุ์พืชและสัตว์ป่าจาก แถบเทือกเขาหิมาลัยลงมาตามเทือกเขาสูงที่ขนาบแม่น้ำสาละวินและแม่น้ำโขง จนบรรจบกับเทือกเขาสูงทางภาคเหนือของไทย การทำลายผืนป่าทั้งสองจะส่งผลกระทบต่อการทำลายพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ และสภาพแวดล้อมทั้งประเทศไทยและประเทศพม่าอย่างรุนแรงมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ แม่น้ำสาละวินยังเป็นแม่น้ำที่ยาวเป็นอันดับสองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากแม่น้ำโขง และเป็นแม่น้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์มากที่สุดแห่งหนึ่ง บริเวณที่ราบลุ่มปากแม่น้ำสาละวินเป็นเขตที่มีการตั้งชุมชนหนาแน่นที่สุด ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม และทำประมง การสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำสาละวินจะทำให้เกิดน้ำท่วมพื้นที่เกษตรกรรม และก่อให้เกิดน้ำนิ่งในบริเวณอ่างเก็บน้ำ ส่งผลให้พันธุ์ปลาธรรมชาติ ซึ่งเป็นแหล่งโปรตีนที่สำคัญของชาวบ้านลดจำนวนลง การสร้างเขื่อนจึงก่อให้เกิดผลกระทบทั้งต่อระบบนิเวศน์ของป่า ลำน้ำ และวิถีชีวิตของคนที่อาศัยแม่น้ำสาละวิน
ส่วนผลกระทบทางสังคมที่สำคัญการละเมิดสิทธิมนุษชนและวิถีชีวิตของชุมชน เนื่องจากพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนทั้งสองแห่งในส่วนของประเทศพม่า เป็นพื้นที่ที่มีกลุ่มชาติพันธุ์หลายสิบชาติพันธุ์อาศัยอยู่ อาทิ ชาวไทใหญ่ ชาวปะหล่อง ชาวกะเหรี่ยงแดง ชาวกะเหรี่ยง จากรัฐฉาน รัฐคะยาห์ และรัฐกะเหรี่ยง ตรงข้ามจังหวัดเชียงแม่และแม่ฮ่องสอน พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่มีความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลทหารพม่ากับกองกำลังชนกลุ่มน้อย และประชาชนถูกกองกำลังกลุ่มต่าง ๆ โดยเฉพาะกองกำลังทหารพม่าทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนมาโดยตลอด อาทิ การบังคับใช้แรงงานฟรีในค่ายทหาร การบังคับให้เป็นลูกหาบเสบียงและอาวุธ รวมทั้งการข่มขืนหญิงชาวบ้าน เป็นต้น
จากรายงาน “ใบอนุญาตข่มขืน” ซึ่งจัดทำโดยกลุ่มกิจกรรมผู้หญิงไทยใหญ่ (Shan Woman’s Action Network หรือ SWAN) และมูลนิธิสิทธิมนุษยชนไทยใหญ่ (Shan Human Rights Foundation) เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาพบว่า สถานที่ซึ่งผู้หญิงถูกทหารพม่าข่มขืนมากกว่าครึ่งหนึ่ง คือ บริเวณใกล้เคียงกับที่ตั้งของเขื่อนท่าซาง หากการสร้างเขื่อนสาละวินยังคงดำเนินต่อไป โอกาสที่ผู้หญิงชนกลุ่มน้อยทั้งในรัฐฉาน รัฐคะยาห์ และรัฐกะะเหรี่ยงจะถูกข่มขืน และชาวบ้านถูกบังคับใช้แรงงานฟรีจะต้องเพิ่มมากยิ่งขึ้น ผลพวงจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนดังกล่าวจะส่งผลให้ประชาชนลี้ภัยเข้ามายังประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น
รายงานจากกลุ่ม Salween Watch ซึ่งติดตามสถานการณ์การสร้างเขื่อนสาละวินอย่างต่อเนื่องเปิดเผยสถานการณ์ในพื้นที่สร้างเขื่อนท่าซาง เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมาว่า
“ปัจจุบันบริเวณใกล้กับที่ตั้งเขื่อนท่าซางมีทหารพม่าประจำการอยู่อย่างน้อย 17 กองพันทหารราบ จำนวน 6 กองพันเคลื่อนย้ายเพิ่งเข้ามาใหม่ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีกองกำลังทหารพม่าเข้ามาประจำการแต่อย่างใด ปัจจุบันพื้นที่แห่งนี้ได้ถูกพัฒนาให้เป็นศูนย์บัญชาการของทหารพม่าในพื้นที่ เฉพาะเมืองเชียงตองปัจจุบัน มีทหารประจำทั้งหมด 4 กองพัน การขยายงานสร้างถนนสายใหม่หลายสายในพื้นที่แห่งนี้ยิ่งเป็นการเปิดพื้นที่ให้ทหารพม่าเข้ามาเสริม กำลังทหารมากขึ้นในเวลาอันรวดเร็ว รวมทั้งส่งเสริมให้อัตราการตัดไม้ในผืนป่าเชียงตองสูงมากขึ้นเรื่อย ๆ การตัดไม้ดังกล่าวจัดเป็นกลยุทธทางการทหารอย่างหนึ่งของรัฐบาลทหารพม่าในการกวาดล้างกองกำลังไทยใหญ่ โดยการตัดไม้ให้เตียนโล่งจะช่วยป้องกันไม่ให้ผู้พลัดถิ่นภายในชาวไทยใหญ่ซึ่งใช้ผืนป่าเป็นที่หลบซ่อนพักพิง (ผู้พลัดถิ่นเหล่านี้มาจากหมู่บ้านชนบทซึ่งกองทัพพม่าบังคับโยกย้ายถิ่นฐานตั้งแต่ปี 1996) คอยส่งเสบียงหรือให้การสนับสนุนกองกำลังไทยใหญ่ นอกจากนี้ทหารพม่ายังบังคับให้ชาวบ้านโยกย้ายออกจากพื้นที่สร้างเขื่อนไปอยู่ในเขตควบคุมของทหาร และถอนชื่อชาวบ้านออกจากทะเบียนประชากรในพื้นที่ ซึ่งหากรัฐบาลพม่าดำเนินการสร้างเขื่อน คนกลุ่มนี้ก็จะไม่ได้ค่าชดเชยใด ๆ เลย”
นอกจากนี้ ยังมีรายงานการสังหารโหดและทรมานชาวบ้านตามหมู่บ้านต่าง ๆ และชาวบ้านผู้พลัดถิ่นภายในซึ่งอาศัยหลบซ่อนตัวตามราวป่าใกล้กับพื้นที่รอบเขื่อนท่าซางโดยทหารพม่ามาโดยตลอด เช่นกัน เหตุการณ์ล่าสุดที่ได้รับรายงานเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 24 กันยายนที่ผ่านมา คือ ผู้หญิง 3 คนข่มขืนและฆ่า พร้อมกับชาย 5 คน โดยทหารพม่ากองพันทหารราบเบาที่ 502 ในหมู่บ้านตองควายห่างจากสะพานท่าซางไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ 15 ไมล์
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตชี้แจงเหตุผลในการสร้างเขื่อนครั้งนี้ว่า ต้นทุนไฟฟ้าจากเขื่อนสาละวินจะถูกที่สุดในภูมิภาคนี้ คือ แค่เพียง 90 สตางค์ต่อหน่วย แต่หากพิจารณาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคมที่กล่าวมาจะพบว่า ผลกระทบดังกล่าวมีมูลค่ามากมายมหาศาลจนไม่สามารถประเมินค่าความสูญเสียได้ การคำนวนต้นทุนดังกล่าวจึงเป็นการคำนวนที่ไม่รอบด้าน และหากพิจารณาความต้องการไฟฟ้าของประเทศไทยจะพบว่า ขณะนี้เรามีพลังงานไฟฟ้าสำรองเกินกว่าร้อยละ 40 เปอร์เซ็นต์ การรีบเร่งสร้างเขื่อนสาละวินโดยจึงยังไม่มีความจำเป็น และหากเราขาดการศึกษาผลกระทบอย่างรอบด้านเหมือนเช่นเขื่อนปากมูลและเขื่อนอีกหลายแห่งในประเทศไทย เราอาจต้องตามแก้ปัญหาที่สืบเนื่องตามมาหลังสร้างเขื่อนกันแบบไม่รู้จบ โดยเฉพาะอันสืบเนื่องจากการร่วมมือกับรัฐบาลเผด็จการทหารพม่า ซึ่งติดบัญชีรายชื่อรัฐบาลที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนประชาชนของตนเองอันดับต้น ๆ ของโลก