บทความชุด หมายเหตุราษีไศล ตอน ที่ 1ที่ 1
เสรี & เสรี VS คนจนผู้ไร้อำนาจแห่งราษีไศล

fas fa-pencil-alt
สนั่น ชูสกุล
fas fa-calendar

ต้นเค้าหรือเงื่อนปมแห่งความขัดแย้งกรณีเขื่อนราษีไศลไม่ค่อยได้ถูกพูดถึงนัก สภาพปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ก็เช่นกัน ถึงปัจจุบัน ก็ยังไม่ได้มีมาตรการแก้ไขหรือป้องกันผลกระทบระยะยาวอย่างเป็นระบบ

            อาการขัดแย้งจากการสร้างเขื่อนที่ถูกบิดเบือนเรียกว่า "ฝาย" กั้นแม่น้ำมูลตัวนี้ ยังคงคุกรุ่นแก้ไม่ตกและยังจะเกิดผลกระทบระยะยาว ไม่สิ้นสุด ทั้งปัญหาสิ่งแวดล้อมเช่น ภาวะน้ำท่วมนอกคันดินกั้นน้ำ,ปัญหาแพร่กระจายของดินเค็ม,ปัญหาการแตกกระสานซ่านเซ็นของ ชุมชนสองฝั่งแม่น้ำมูล

            ความวุ่นวายของการชุมนุมยืดเยื้อจนแผ่ลามไปเป็นปัญหาทางการเมืองอยู่ขณะนี้ กลายเป็นเรื่องยิ่งทำกันไปก็ยิ่งยุ่ง และยิ่งทำให้ ปัญหาเขื่อนราษีไศลส่งผลกระทบไปสู่ปัญหาอื่นๆ ซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ

            พล.ต.ท.เสรี เตมียเวส ซึ่งถูกออกแบบมาให้เป็นตัวละครในเรื่องนี้ตั้งแต่กลางปี 2541 เป็นต้นมา ต้องเปลืองเนื้อเปลืองตัวอย่างน่า สงสารที่สุด เหตุที่กล่าวเช่นนี้เพราะ คุณเสรีบุ่มบ่ามเป็นอย่างยิ่งในการเข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องราวอันละเอียดอ่อนของเขื่อนราษีไศล คุณเสรี และชุดสอบสวนคดีราษีไศลกล่าวยืนยันมั่นเหมาะว่า "เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องการเมือง" จะสอบสวนไปตามหลักฐานข้อเท็จจริงที่มี

            แต่ความเป็นจริงก็คือ จากความเดือดร้อนจริงๆ ของประชาชน กรณีราษีไศลถูกรัฐบาลชวน หลีกภัย หยิบขึ้นมาเป็นประเด็นทาง การเมืองมาก่อนหน้าที่จะส่งเรื่องให้ตำรวจแล้ว และขณะที่เรื่องอยู่ในขั้นสอบสวนเป็นเวลา 1 ปีมาแล้ว กรณีราษีไศลจะถูกหยิบขึ้นมาขู่ กรรโชกทางการเมืองอย่างได้ผลในทุกเทศกาลและคงจะได้ใช้กันอีกหลายครั้งนับจากนี้

            ยิ่งคดีนี้อยู่ในมือหรือในความควบคุมของ พล.ต.ท.เสรี ซึ่งมีอาการเด่นของ "ผู้ชายวัยทอง" อยู่ขณะนี้ เรื่องราวยิ่งลามปามกันไปไม่รู้ จบสิ้น

            เพราะยิ่ง พล.ต.ท.เสรี ออกมาพูดให้ร้ายจนถึงขั้นพิพากษาผู้ต้องหาคดีราษีไศล ก็ยิ่งสร้างความโกรธแค้นให้แก่กลุ่มราษฎรที่ประสบ ปัญหาจริง และยิ่งสร้างความเสื่อมให้แก่บรรยากาศประชาธิปไตยในยุคปฏิรูปการเมือง

            แรงกดบีบจากรัฐยิ่งสร้างแรงต้านจากองค์กรชาวบ้านและองค์กรประชาธิปไตย

            เหตุการณ์นี้จึงลามปามไปสู่การแจ้งจับแกนนำองค์กรประชาธิปไตยคือ คุณภิภพ ธงไชย คุณสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ ไปสู่การฟ้องหนัง สือพิมพ์ การฟ้องรองผู้การสันติบาล ผู้กำกับกองปราบ ลามไปสู่เรื่อง "น้องเก๊กคู่ขาเสรี" และจะเป็นเรื่องอะไรต่อไปก็สุดจะคาดเดา จนทำให้ เราได้เห็นความไร้วุฒิภาวะของนายตำรวจมือดีชื่อ เสรี ออกมาอย่างแจ่มแจ้ง

            นั่นคือ กระบวนการที่เกิดขึ้นจากท่าทีที่ไม่ได้ทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงปัญหาอันซับซ้อนของเขื่อนราษีไศล แต่ตรงข้าม รัฐบาลใช้วิธีทางการเมืองเพียงด้านเดียวเข้าจัดการกำราบองค์กรประชาชน ซึ่งยิ่งดำเนินการไปก็ยิ่งยุ่ง

 

            อีก "เสรี" หนึ่งที่กำลังถูกออกแบบให้มากระทำการเป็นปากเป็นเสียงให้แก่หน่วยงานเจ้าของโครงการเขื่อนราษีไศลอยู่ทางจอ โทรทัศน์ คือ

            ดร.เสรี วงศ์มณฑา

            ขณะที่ พล.ต.ท.เสรี เตมียเวส ใช้ฐานะแห่ง "อำนาจรัฐ" เข้ามาจับต้องกับกรณีราษีไศล

          ดร.เสรี วงศ์มณฑา มีฐานะอำนาจทาง "วิชาการ" ที่แน่นอน และเขากำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญในการเกี่ยวข้องกับกรณีราษีไศล โดย "บริษัท เบตเตอร์ อิมแพค คอมมิวนิเคชั่น" ของเขากำลังรับงาน "พีอาร์" ให้กับเขื่อนราษีไศล ตามสัญญาจ้างที่ 31/42 ลงวันที่ 7 เมษายน 2542  ราคา 4,862,663.63 บาท  โดยจัดทำรายการโทรทัศน์ออกอากาศทาง ไอทีวี ทุกเช้าวันศุกร์ ชื่อรายการ "จับต้นชนปลาย"  รายการวิทยุ ออกอากาศ ทางสถานี อสมท. เช้าวันอาทิตย์ซึ่ง ดร.เสรี เป็นผู้ดำเนินรายการด้วยตัวเอง นอกจากนั้นยังมีรายการจัดสัมมนา 1 ครั้ง และโฆษณา ทางหนังสือพิมพ์ต่อเนื่องอีก 3 ฉบับ

            รายการจับต้นชนปลายได้ออกอากาศเรื่องปัญหากรณีราษีไศลอย่างต่อเนื่องระหว่างเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม ที่ผ่านมา เช่นเดียวกับ งานโฆษณาชิ้นอื่น ๆ

            ดร.เสรี กล่าวถึงกรณีราษีไศลจ้อๆ ดั่งว่าเขาเป็นอธิบดีกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เสียเอง หรืออีกด้าน หนึ่งคล้ายว่า เขาเป็นราษฎรบ้านดอนงูเหลือมแห่งอำเภอราษีไศล ที่เคยถูกทางราชการเกณฑ์มาจัดม็อบชนม็อบสมัชชาคนจน

            ข้อมูลและความคิดเห็นที่ออกจากปาก ดร.เสรี วงศ์มณฑา ล้วนเป็นเรื่องราวที่กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานพร่ำพูดมาก่อน แต่แล้วก็ เกิดปัญหามวลชนตามมา เป็นเรื่องที่กรมพัฒนาฯ พูดแล้วราชการฝ่ายปกครองในพื้นที่ต่างส่ายหัวด้วยอิดหนาระอาใจ ราษฎรในพื้นที่ฟังแล้ว คับแค้นใจมากขึ้น มากขึ้น

            ไม่ว่าจะเป็นประเด็นกล่าวหาว่า ที่ดินของราษฎรอยู่นอกอ่างเก็บน้ำ กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานคงไม่ได้ให้ข้อมูลแก่ ดร.เสรี ด้วยว่า เขตอ่างเก็บน้ำเขื่อนราษีไศล ในเอกสารชิ้นแรกบอกกับสังคมว่า 12,500 ไร่ เมื่อถูกถามในที่ประชุมหลายเวที กรมพัฒนาฯตอบไม่ได้ แล้วที่สุดเมื่อกักเก็บน้ำไปแล้ว 5 ปี ก็ออกมาบอกว่าพื้นที่อ่างเก็บน้ำ 38,781 ไร่ แต่การตรวจสอบของนักวิชาการปรากฏพื้นที่อ่างเก็บน้ำไม่ต่ำ กว่า 50,000 ไร่

            ประเด็นความวุ่นวายในการตรวจสอบที่ดินทำกิน ถ้าผู้ทรงคุณวุฒิเช่น ดร.เสรี ได้ทราบข้อเท็จจริงว่า เขื่อนขนาดใหญ่ตัวนี้ไม่มีการ ศึกษาผลกระทบใดๆ เลยก่อนการก่อสร้าง ดร.เสรี ควรจะใช้เครดิตหรือเกียรติยศที่ตัวเองมีอยู่ "เปล่ง" คำพูดประณามชาวบ้าน หรือควรจะเปล่ง คำประณามกรมผู้สร้างเขื่อนขนาดใหญ่กันแน่

            อีกหลายประเด็นจากปากกว้างๆ ผ่านวาจาอันทรงภูมิวิชาการของ ดร.เสรี แสดงถึงการก้าวลึกเข้าไปในความยุ่งยากซับซ้อนของ กรณีราษีไศลเช่นที่ พล.ต.ท.เสรี เคยก้าวเข้าไปแล้ว

            การจ้างทำรายการ "จับต้นชนปลาย" แท้จริงแล้วคงไม่ต่างไปจากที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตเคยจ้างบริษัทโฆษณาทำสปอตเรื่อง "ความสำเร็จ ของบันไดปลาโจนเขื่อนปากมูล" ซึ่งการถ่ายทำโฆษณาอันแสนแพงนั้นต้องมีการจับปลา "โยน" ขึ้นไปบนอากาศ เพื่อตบตาคนทั้งประเทศ ว่าปลาตัวใหญ่สามารถดีดข้ามบันไดปลาโจนได้ ทั้งที่จริงแล้วบันไดปลาโจนล้มเหลวสิ้นเชิง โฆษณาชิ้นดังกล่าวถูกร้องเรียนจนต้องยกเลิกไป

 

            กรณีราษีไศลนั้นมีความซับซ้อน ละเอียดอ่อนเกินกว่าจะใช้มาตรการหยาบๆ อย่างที่รัฐบาลปัจจุบันใช้อยู่แก้ไขให้ลุล่วงไป

            สงสารชาวบ้าน คนจนธรรมดาผู้ถูกผลกระทบจากเขื่อนราษีไศลที่ถูก "แบ่งแยกออกเป็นกลุ่มๆ แล้วทำลายทีละกลุ่ม"

          พวกเขาไม่มีอำนาจพอที่จะต่อรองกับ "อำนาจรัฐ" อันแข็งแกร่ง

          พวกเขาไม่มีความรู้พอที่จะสู้กันทางวาจากับนักการเมืองเจ้าเล่ห์และนักวิชาการขายตัว

          พวกเขาไม่มีเงินพอที่จะจ้างนักจัดรายการหรือสื่อมวลชนเป็นกระบอกเสียงให้หรือจะลงประกาศทางหนังสือพิมพ์เพียงตารางนิ้ว

          สิ่งที่พวกเขาทำได้ก็คือ  "ชุมนุม" เพื่อแสดงความจริงต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหา

          และขณะนี้เขาชุมนุมอยู่ที่สันเขื่อน และอีกกลุ่มหนึ่งชุมนุมอยู่ในพื้นที่อ่างเก็บน้ำ หาเห็ดหาผักหาหน่อไม้จากป่า หาปลาจากแม่น้ำ มูลมาต้มแกงกิน หมุนเวียนกันไปทำนาทำไร่

          คอยดูใจของคนจนที่ถูกรัฐบาลทำให้จนตรอกเถิด.

 


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง