บวชป่าสักทอง สืบชะตาแม่น้ำยม
ตำบลสะเอียบ จัดการตนเอง ชูวัฒนธรรมประเพณี ฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่น

fas fa-pencil-alt
ประสิทธิพร กาฬอ่อนศรี
fas fa-calendar
14 กุมภาพันธ์ 2554

ตำบลสะเอียบ ร่วมใจ ทุกภาคส่วนบวชป่าสักทอง 12 กุมภาพันธ์ 2554 ชาวบ้านตำบลสะเอียบกว่า 300 คน ได้ร่วมใจกันจัดงานประจำปี บวชป่าสืบชะตาแม่น้ำยม ซึ่งสืบทอดกันมานานนับสิบปี ปีนี้ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานราชการมากเป็นพิเศษ ทั้งทางหน่วยงานราชการจังหวัด หน่วยงานตำรวจ ป่าไม้เขต ป่าไม้จังหวัด อุทยานแห่งชาติ ครู นักเรียน องค์การบริหารส่วนตำบล องค์กรภาคประชาชน กลุ่มอนุรักษ์ต้นน้ำยม อ.ปง จ.พะเยา กลุ่มอนุรักษ์ต้นน้ำสรอย อ.วังชิ้น จ.แพร่ พี่น้องชนเผ่าอาข่า บ้านแม่พร้าว และพี่น้องชมรมนักกิจกรรมภาคเหนือ อีกทั้งหน่วยงานต่างๆ ยังได้ร่วมจัดนิทรรศการแสดงผลงานกันอย่างคับคั่ง โดยมี พลตำรวจโทธีรเดช รอดโพธิ์ทอง ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้เกียรติเป็นประธานในพิธี


 พลตำรวจโทธีรเดช รอดโพธิ์ทอง ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ประธานในพิธี ซึ่งได้ร่วมกิจกรรมกับชุมชนสะเอียบ มาอย่างยาวนาน ได้ชี้ให้เห็นว่าชาวบ้านตำบลสะเอียบได้ร่วมกันอนุรักษ์ป่าสักทองสืบทอดกันมายาวนาน เป็นกลุ่มราษฎรที่เข้มแข็งมีความสามัคคีกันเป็นอย่างดี และพี่น้องประชาชนควรนำไปเป็นแบบอย่าง ชุมชนเข้มแข็ง การจัดกิจกรรมในครั้งนี้เป็นการสานต่อเจตนารมณ์การรักษาป่าเพื่อคนไทยทั้งชาติ และขอให้พี่น้องชาวชุมชนสะเอียบเข้มแข็งสืบต่อไป 


 นายสุรชัย อจลบุญ ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์ป่าเขต 13 จังหวัดแพร่ ได้กล่าวรายงานถึงวัตถุประสงค์ของการจัดพิธีบวชป่าสืบชะตาแม่น้ำยมในปีนี้ คือ ความสำคัญของป่าที่เป็นแหล่งดูดซับน้ำเปรียบเสมือนอ่างเก็บน้ำ ทำให้ต้นน้ำยมมีน้ำไหลตลอดทั้งปี ทำให้เกิดความสมดุลทางธรรมชาติและเป็นการช่วยลดภาวะโลกร้อนอีกด้วย


ดงสักงาม ป่าสักทอง ป่าชุมชนคนสะเอียบ 

ดงสักงาม เป็นเขตป่าสักทองที่หนาแน่น ซึ่งชุมชนคนสะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ร่วมกันปกป้องรักษาไว้ให้ลูกหลาน ยังเป็นสมบัติอันล้ำค่าของคนไทยทั้งชาติ ต้นสักทอง เป็นต้นไม้ขนาดใหญ่ขึ้นเป็นหมู่ในป่าเบญจพรรณ ไม้สักชอบขึ้นตามพื้นที่ที่เป็นภูเขา แต่ในพื้นที่ราบ พื้นที่ดินปนทรายที่น้ำไม่ขัง ไม้สักก็ขึ้นได้ดีเช่นกัน ไม้สักมักเป็นหมู่ไม้สักล้วนๆ และมีขนาดใหญ่และชอบขึ้นที่ที่มี ชั้นดินลึก การระบายน้ำดี ไม่ชอบดินแข็งและน้ำท่วมขัง ไม้สักเป็นไม้ผลัดใบ ขนาดใหญ่ ยอดกลมสูงเกินกว่า 20 เมตร เปลือกหนา สีเทาหรือน้ำตาลอ่อนแกมเทาแตกเป็นร่องตื้นๆ ไปตามทางยาวและหลุดออกเป็นแผ่นบางๆ เล็กๆ ใบใหญ่ ความกว้าง 25 - 30 เซนติเมตร ยาว 30 – 40 เซนติเมตร รูปใบรีมนหรือรูปไข่ แตกจากกิ่งเป็นคู่ๆ ท้องใบสากหลัง ใบสีเขียวแกมเทาเป็นขน ดอกเป็น สีขาวนวลออกเป็นช่อใหญ่ๆ ตามปลายกิ่ง เริ่มออกดอกเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป ผลค่อนข้างกลม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตร ผลหนึ่งๆ มีเมล็ดใน 1 – 4 เม็ด เปลือกแข็งมีขนสั้นๆ นุ่มๆ สีน้ำตาลหุ้มอยู่ ผลจะแก่ในราว เดือนพฤศจิกายน – มกราคม ลักษณะเนื้อไม้สีเหลืองทองถึงน้ำตาลแก่ มีลายเป็นเส้นสีน้ำตาลแก่แทรกเสี้ยนตรงเนื้อหยาบแข็งปานกลาง เลื่อนใสกบ ตบแต่งง่าย คุณสมบัติที่ดีบางประการ คือ ไม้สักปลวกมอดไม่ทำอันตราย เพราะในเนื้อไม้สักมีสารเคมีพิเศษ มีคุณสมบัติคงทนต่อ ปลวก แมลง เห็ดรา ได้อย่างดียิ่ง มีความแข็งแรงสูง นอกจากนี้ไม้สักทองยังพบว่ามีทองคำปนอยู่ 0.5 ppm (ไม้สักทอง 26 ตัน มีทองคำหนัก 1 บาท) 

ประเพณีบวชป่า สืบชะตาแม่น้ำ 

หลายปีที่ผ่านมานี้มีพิธีกรรมที่เรียกกันว่า "บวชป่า" และ "สืบชะตาแม่น้ำ" หลายคนคงไม่ทราบว่าพิธีกรรมนี้ไม่ได้มีมาแต่โบราณ แต่เป็นการประยุกต์การบวชคนมาเป็นการบวชป่า เอาการสืบชะตาคน ชะตาชุมชน มาสืบชะตาแม่น้ำ โดยความคิดริเริ่มของพระรูปหนึ่งเมื่อยี่สิบกว่าปีที่แล้ว

  ครูมนัสนทีพิทักษ์ อดีตเจ้าคณะอำเภอแม่ใจ วันนี้คือรองเจ้าคณะจังหวัดพะเยา ชื่อของท่านพระครูก็บอกอยู่แล้วว่า ท่านเป็นผู้พิทักษ์แม่ใจ แม่น้ำสายเล็กๆ ที่เกิดจากดอยจากป่า เมื่อแหล่งกำเนิดถูกทำลาย น้ำสายนี้ก็เหือดแห้ง ผู้คนก็ไม่มีน้ำกินน้ำใช้เพื่อการทำมาหากิน ท่านรณรงค์ให้ชาวบ้านร่วมกันอนุรักษ์ป่า

   แต่เทศน์สอนอย่างเดียวไม่ได้ผล ท่านจึงหากุศโลบายซึ่งเข้ากับวิถีชุมชน คือการประยุกต์ความเชื่อและประเพณีวัฒนธรรมให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม พิธีกรรมบวชป่าเป็นพิธีกรรมเรียบง่าย มีพระสงฆ์ร่วมพิธีสวดมนต์ เลือกเอาไม้ที่ใหญ่ที่สุดหรือพญาไม้จำนวนหนึ่ง แล้วเอาผ้าเหลืองพันรอบต้นไม้นั้น ก็เท่ากับได้บวชทั้งป่า เป็นป่าอันศักดิ์สิทธิ์ที่คนร่วมกันรักษาไว้ 

พิธีสืบชะตาแม่น้ำประยุกต์มาจากพิธีสืบชะตาคนและสืบชะตาหมู่บ้าน มีความสำคัญดังนี้
 1.ก่อให้เกิดความร่วมมือ ความสามัคคีและช่วยเหลือเกื้อกูลกันภายในชุมชน
 2. ทำให้เกิดความเลื่อมใส เคารพต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ปกป้องรักษาแม่น้ำ
3. เกิดความรักหวงแหนและสำนึกในการดูแลรักษาแม่น้ำ ตลอดจนต้นน้ำลำธาร

บวชป่าสักทอง สืบชะตาแม่น้ำยม ประเพณีชุมชนสะเอียบ กับภารกิจตำบลจัดการตนเอง

ชาวบ้านตำบลสะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ได้ร่วมใจกันจัดพิธีบวชป่า สืบชะตาแม่น้ำ ขึ้นทุกๆ ปี บริเวณริมแม่น้ำยม ที่ชาวบ้านเรียกว่าผาอิง ชาวบ้านกว่า 300 คน ได้เดินทางมารวมกันแต่เช้าของวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2554 โดยพร้อมใจกันเข้าร่วมพิธีกรรมทางศาสนา การสืบชะตาแม่น้ำ ซึ่งชาวบ้านได้ปรับมาใช้จากการสืบชะตาของคน โดยเชื่อว่าการสืบชะตาแม่น้ำนอกจากจะเป็นการแสดงความเคารพต่อแม่น้ำ ซึ่งมีบุญคุณต่อชาวบ้านและชุมชนตลอดเสมอมา ยังเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้กับชาวบ้านในการปกป้อง พิทักษ์ รักษาแม่น้ำ ให้มีความอุดมสมบูรณ์ หล่อเลี้ยงลูกหลานและชุมชนตลอดไปชั่วกาลนาน 

นายอุดม ศรีคำภา ชาวบ้านบ้านดอนชัย ต.สะเอียบ เล่าให้ฟังว่า นับตั้งแต่ปี 2534 เป็นต้นมา ชาวบ้านทั้ง 4 หมู่บ้าน คือ บ้านดอนชัย บ้านดอนแก้ว บ้านแม่เต้น และบ้านดอนชัยสักทอง ได้ร่วมกันตั้งกลุ่มราษฎรรักป่าขึ้นมา เนื่องจากตระหนักในคุณค่าของป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติ “ชาวบ้านได้ร่วมกันจัดพิธีกรรมบวชป่าสืบชะตาแม่น้ำมากันอย่างต่อเนื่อง เพื่อแสดงเจตนารมณ์ในการปกป้องป่า แม่น้ำ และทรัพยากรธรรมชาติ ที่ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์มาโดยตลอด ทั้งผัก เห็ด หน่อไม้ สมุนไพร จนชาวบ้านถือว่าเป็นซุปเปอร์มาเก็ดของชุมชน ต้องช่วยกันรักษา เราร่วมใจกันปฏิบัติสืบมาจนกลายเป็นประเพณีของชุมชนไปแล้ว” 

นายเส็ง ขวัญยืน กำนันตำบลสะเอียบ กล่าวถึงการสืบเนื่องในพิธีกรรมบวชป่าสืบชะตาแม่น้ำของชาวบ้านสะเอียบว่า “เราต้องการที่จะแสดงให้สังคมได้รับรู้ว่าที่ป่าสักทองแห่งนี้ เป็นป่าสักทองผืนสุดท้ายของประเทศไทย คนไทยทั้งชาติควรเห็นคุณค่า ความสำคัญของทรัพยากรป่าไม้ แม่น้ำ และให้การสนับสนุนการรักษาป่า รักษาแม่น้ำร่วมกับชุมชนสะเอียบ ช่วยกันปกป้องรักษาให้ถึงที่สุดอย่าให้เขื่อนร้ายแก่งเสือเต้นเข้ามาทำลายป่าสักทองแห่งนี้”

พิธีกรรมเสร็จสิ้น แต่การต่อสู้ยังดำเนินต่อไป เมื่อพิธีกรรมทางศาสนาเสร็จสิ้น ชาวบ้านแต่ละคนก็ได้นำผ้าเหลืองที่เตรียมมา ไปมัดยังต้นไม้ ที่ชาวบ้านเรียกว่าดงสักงาม ซึ่งมีต้นสักขนาดใหญ่ขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นว่า ต้นไม้ต้นนี้ ป่าแห่งนี้ ได้บวชแล้ว เปรียบเสมือนผู้ชายเมื่ออายุครบ 20 ปี ก็จะบวชเป็นพระสงฆ์เพื่อสนองพระคุณพ่อแม่ และสานต่อพระพุทธศาสนา ซึ่งถือว่าเป็นกุศโลบายที่บอกถึงการปกป้องรักษาต้นไม้ รักษาป่าสักทองแห่งสุดท้ายของประเทศนี้ไว้ ใครจะมาตัดทำลายมิได้ เพราะเปรียบเสมือนทำลายพระสงฆ์ และทำลายพุทธศาสนา การบวชป่า สืบชะตาแม่น้ำ ในปีนี้ได้เสร็จสิ้นลง แต่ภารกิจในการปกป้องป่า ปกป้องแม่น้ำ ของชาวตำบลสะเอียบ ยังคงสืบต่อเนื่องไป เพราะนี่คือประเพณีของชุมชน นี่คือภารกิจของชาวบ้านและชุมชนที่ต้องสานต่อ ตลอดรุ่นลูกรุ่นหลานสืบต่อไป และเราคงไม่ให้ภาระอันหนักอึ้งนี้ตกอยู่บนบ่าของชาวบ้านสะเอียบ เพียงเท่านั้น เราทุกคนต้องร่วมกันปกป้องรักษา เพื่ออนาคตของลูกหลานเราและมวลมนุษยชาติ

กลุ่มราษฎรรักษ์ป่า ผู้ประสานงานเครือข่ายลุ่มน้ำยม 
นายอุดม ศรีคำภา 
ประธานกลุ่มราษฎรรักษ์ป่า ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ นายเส็ง ขวัญยืน
 กำนันตำบลสะเอียบ แกนนำคัดค้านโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง