จาบี หมู่บ้านแห่งหุบเขาหลานชางเจียง-แม่น้ำโขง
หิมะเดือนเมษาโปรยปรายปกคลุมถนนทั้งสายขาวโพลน รถตู้คันเล็กวิ่งลัดเลาะหน้าผาสูงชันที่ความสูงกว่า ๓,๐๐๐ เมตรเหนือระดับน้ำทะเล เพื่อพาพวกเราไปหา หลานชางเจียง-แม่น้ำโขงตอนบน ในยูนนาน ประเทศจีนติดกับชายแดนทิเบต ลมหนาวพัดเย็นเยียบ มองไปเบื้องล่าง “โค้งพระจันทร์” ของแม่น้ำโขงก็ปรากฏต่อสายตา
ที่นี่คือเขตมรดกโลกทางธรรมชาติ “แม่น้ำสามสาย” หรือ Three Parallel Rivers ที่ประกาศโดยยูเนสโก เป็นพื้นที่ซึ่งแม่น้ำสามสาย ได้แก่ นูเจียง (สาละวิน) หลานชางเจียง (แม่น้ำโขง) และ จิงสาเจียง (แยงซี) เดินทางลงมาจากที่ราบสูงทิเบต และไหลเคียงกันเป็นระยะทางกว่า ๑๗๐ กิโลเมตรในเขตตอนบนของยูนนาน ช่วงที่แม่น้ำอยู่ใกล้กันที่สุดนั้นห่างกันเพียง ๑๘ กิโลเมตร ก่อนแยกย้ายกันไปลงทะเลในทิศต่างๆ ซึ่งปากน้ำของแม่น้ำทั้งสามสายห่างกันกว่า ๑ หมื่นกิโลเมตร แม่น้ำแยงซีเดินทางไปลงทะเลจนตะวันออกที่เซี่ยงไฮ้ แม่น้ำโขงไหลผ่านพม่า ลาว ไทย เขมร และลงทะเลจีนใต้ที่เวียดนาม ส่วนสาละวินไหลลงใต้ผ่านพม่า ไทย และลงทะเลอันดามันที่เมืองมะละแหม่ง
นอกจากความตระการตาทางภูมิศาสตร์และนิเวศวิทยา เขตแม่น้ำสามสายยังเป็นบ้านของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ๑๔ กลุ่ม ที่อาศัยอยู่อย่างกลมกลืนกับธรรมชาติ และวันนี้เราก็มีโอกาสมาเยี่ยมพี่น้องที่หมู่บ้านจาบี หมู่บ้านเล็กๆ ริมแม่น้ำโขง ของพี่น้องชาวทิเบต
“เข้ามาในบ้านก็ไม่หนาวแล้ว ดื่มชาอุ่นๆ ก่อน” แม่บ้านกุลีกุจอช่วยยกสำภาระเข้าในบ้านหลังใหญ่ ก่อนจัดแจงให้นั่งดื่มชานมจามรีรอบเตาไฟ
จาบา เจ้าของบ้าน เล่าว่าบ้านชาวทิเบตมักมีขนาดใหญ่ สร้างด้วยโครงไม้ฉาบดินเหนียว สูง ๓ ชั้น ชั้นล่างเป็นคอกสัตว์ ชั้นต่อมาเป็นที่อยู่อาศัย และชั้นบนสุดเป็นห้องพระ ผนังบ้านที่หนาเป็นพิเศษช่วยป้องกันลมหนาวทำให้ภายในบ้านอบอุ่นแม้ภานอก จะมีหิมะโปรย
“ชั่วชีวิตหนึ่งก็มีบ้านหลังเดียวนี่แหละ สร้างแล้วอยู่กันไปอีกหลายสิบปี” จาบา อธิบายต่อข้อกังขาที่คนนอกมักเข้าใจว่าชาวบ้านใช้ไม้สิ้นเปลือง ทั้งที่ชาวบ้านมีวิถีในการรักษาทรัพยากรธรรมชาติที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน
เย็นนั้นชาวบ้านจากทั้ง ๓๐ ครัวเรือน ต่างมารวมกันที่บ้านหลังใหญ่กลางหมู่บ้าน กลุ่มแม่บ้านยกข้าวร้อนๆ และต้มไก่สูตรท้องถิ่นมาให้ลิ้มลอง
ตามวัฒนธรรมดั้งเดิม ชาวทิเบตในทุกชุมชนจะมีสมาคมแม่บ้าน ที่ผู้หญิงจากทุกครอบครัวเป็นสมาชิกของกลุ่มโดยธรรมชาติ โดยเลือกตั้งคณะกรรมการและประธาน กลุ่มแม่บ้านนี่เองเป็นฟันเฟืองหลักของขบวนการชุมชนในการรักษาวัฒนธรรม ประเพณี และทรัพยากร
ที่หมู่บ้านจาบี กลุ่มแม่บ้านเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการฟื้นฟูแม่น้ำ ปลูกป่าทดแทน และตั้งกฎในการใช้ป่าอย่างยั่งยืน โดยไม่ต้องรอความช่วยเหลือจากภาครัฐ
ค่ำคืนในหุบเขา พี่น้องร่วมลุ่มน้ำต่างชาติพันธุ์ได้พูดคุยแลกเปลี่ยน โดยมีครูหนุ่มคนเดียวของหมู่บ้าน แปลให้ฟังจากภาษาทิเบตเป็นภาษาจีนกลาง
“ชาวบ้านอย่างพวกเราก็หาอยู่หากิน ปลูกข้าว เลี้ยงสัตว์ เก็บเห็ดเก็บผักตามฤดู เราอยู่กันได้ก็เพราะมีป่า มีแม่น้ำ มีลำห้วย” ผู้ใหญ่บ้าน เล่าเรื่องราวของชุมชน
หมู่บ้านจาบี อยู่บนเขตภูเขาหิมะเมลี มียอดเขาคาวาเกโบ ตั้งตระง่านอยู่บนจุดสุด ด้วยความสูง ๖,๗๔๐ เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ยอดเขาแห่งนี้เองที่ชาวทิเบตเชื่อว่าเป็นยอดเขาศักดิ์สิทธิ์ที่สถิตของเทพเจ้า ในช่วงชีวิตหนึ่งชาวพื้นถิ่นจะหาโอกาสออกเดินเท้าแสวงบุญ เส้นทางวนรอบยอดเขาผ่านสถานที่สำคัญทางศาสนาหลายแห่ง ใช้เวลาเดินทางฝ่าหิมะประมาณ ๑๓ วัน ทั้งนี้มีข้อห้ามว่านักแสวงบุญจะไม่ปีนขึ้นไปบนยอดเขาเด็ดขาด เพราะจะเป็นการลบหลู่เทพเจ้า
แม้ธรรมชาติจะยังคงอุดมสมบูรณ์ และชาวบ้านจะเคารพธรรมชาติมากเพียงใด หมู่บ้านเล็กๆ แห่งนี้ก็หนีไม่พ้นกระแสการพัฒนาคุกคาม ในบรรดาโครงการเขื่อนน้ำโขงตอนบนทั้งหมด ๑๓ แห่ง จำนวนนี้มี ๕ แห่งถูกวางแผนไว้เพื่อจะสร้างในพื้นที่แถบนี้ในไม่ช้า นั่นหมายความว่าโตรกเขาที่งดงามและหมู่บ้านน้อยใหญ่จะจมอยู่ใต้น้ำตลอดไป
โครงการเขื่อนผลิตไฟฟ้าบนแม่น้ำโขงตอนบนในยูนนานเดินหน้าอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเขื่อนแห่งที่ ๔ ที่จิงหง หรือ เชียงรุ้ง สิบสองปันนา ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างและดำเนินการรุดหน้าจนคาดว่าจะแล้วเสร็จก่อนกำหนดถึง ๓ ปี จนเป็นที่กล่าวขานในบรรดานักสร้างเขื่อนของจีนว่า ถ้าจะสร้างเขื่อน สร้างให้เร็วอย่างเขื่อนจิงหง
“ได้ยินว่าจะมีคนมาสร้างเขื่อน ก็รู้แค่ว่าปั่นไฟฟ้า ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเขื่อนหน้าตามันเป็นยังไง ก็เลยไปหาความรู้ ได้รู้ว่าพอสร้างเขื่อนแล้วชาวบ้านต้องย้าย ต้องอพยพ ที่ใหม่ก็ไม่ดี ดินไม่ดี ปลูกข้าวไม่ได้” ชาวบ้านคนหนึ่งเล่า
“ยิ่งวันนี้ได้เจอพี่น้องจากเมืองไทย ได้รู้ว่าน้ำโขงไหลลงไปไกล เราก็อยากรักษาไว้ให้ได้ใช้ด้วยกัน พี่น้องจะอยู่ที่ไหนก็ใช้แม่น้ำโขงเหมือนกัน เป็นลูกแม่น้ำเดียวกัน”
ด้วยรู้ดีว่าเป็นเพียงชาวบ้าน แต่ชุมชนที่นี่ก็รวมตัวกันตั้งกลุ่มศึกษาวิจัยยาสมุนไพรสูตรทิเบต ที่ต้องใช้ตัวยาจากป่าบนภูเขาหิมะ และร่วมกับองค์กรท้องถิ่นตั้งกรรมการในการจัดการลุ่มน้ำโดยชุมชน เพื่อแสดงให้เห็นว่าชุมชนได้พึ่งพิงและรักษาทรัพยากรมาอย่างยาวนาน
ค่อนคืน หิมะหยุดตกแล้ว สมาชิกวงคุยและวงเต้นรำก็ค่อยๆ ทยอยเดินทางกลับบ้านที่กระจัดกระจายอยู่ในหุบเขา เบื้องล่างคือน้ำโขงที่ยังคงไหลหล่อเลี้ยงลูกหลานอย่างที่เคยเป็นมา