จับตาเขื่อนสาละวิน รุกแรงในความเงียบ
การพัฒนาเขื่อนบนแม่น้ำสาละวิน: ความเคลื่อนไหวและผลกระทบ
ในปีที่ผ่านมา ข่าวคราวเกี่ยวกับเขื่อนบนแม่น้ำสาละวินเงียบหายไปจากหน้าหนังสือพิมพ์ แต่ไม่ได้หมายความว่าโครงการเขื่อนทั้ง 5 แห่งบนแม่น้ำสาละวินจะยุติลง เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP 2007) ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 ได้บรรจุโครงการเขื่อน 2 แห่ง ได้แก่ เขื่อนท่าซางในรัฐฉาน และเขื่อนฮัตจีในรัฐกะเหรี่ยง
การบรรจุเขื่อนทั้งสองแห่งในแผนของประเทศไทย พร้อมกับความเคลื่อนไหวในพื้นที่ ชี้ให้เห็นว่าแผนนี้มีการเตรียมการและดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ดังนี้:
- โครงการเขื่อนท่าซาง ขนาด 7,000 เมกะวัตต์ มูลค่าการลงทุนขั้นต้น 300,000 ล้านบาท จะกั้นลำน้ำสาละวินด้วยความสูง 227 เมตร บริษัทเอกชนไทย MDX ได้ลงนามกับรัฐบาลทหารพม่าเพื่อพัฒนาโครงการดังกล่าวร่วมกัน โดยที่ผ่านมาได้มีการตัดถนนจากชายแดนไทยที่ จ.เชียงใหม่ เข้าสู่หัวงานเขื่อน การเตรียมการก่อสร้างต่างๆ เช่น บ้านพักคนงาน โรงไฟฟ้าขนาดเล็กสำหรับการก่อสร้าง และจัดพิธีเปิดการก่อสร้าง (Ground Breaking Ceremony) ในปลายเดือนมีนาคม 2550
ความไม่ปกติของพิธีลงเสาเอกของเขื่อนนี้อยู่ตรงที่มีการเกณฑ์ชาวบ้านในพื้นที่ให้มาร่วมงาน กลุ่มสิ่งแวดล้อมรัฐฉานรายงานว่าชาวบ้านถึง 400 คนถูกบังคับให้แต่งชุดชนเผ่า มาร่วมงานและต้อนรับนายพลพม่าและนักสร้างเขื่อนต่างชาติ
ไฮไลต์ของงานคือภาพนายทหารพม่าและกลุ่มนักลงทุนระดับสูงจากต่างชาติ เดินตรวจตราหัวงานเขื่อนโดยมีกองทหารคุ้มกันล้อมหน้าล้อมหลังราวกับอยู่ในสงคราม ไม่ใช่งานเฉลิมฉลองโครงการพัฒนาแต่อย่างใด
ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์เมียนมาร์ไทมส์ รายงานว่ารัฐบาลทหารพม่าตัดสินใจเชิญบริษัทพลังงานจากจีน CGC (China Gezhouba Water and Power Group Co., Ltd) มาร่วมทุนในโครงการนี้ โดยบริษัทจีนถือหุ้นสูงถึง 51 เปอร์เซ็นต์ รัฐบาลพม่า 25 เปอร์เซ็นต์ และบริษัทไทย MDX เหลือเพียง 24 เปอร์เซ็นต์
บริษัทจีน CGC ถือเป็นแนวหน้าของวงการเขื่อนในจีน ผลงานล่าสุดคือเขื่อนทรีกอร์จเจส (Three Gorges Dam) ซึ่งเป็นเขื่อนใหญ่ที่สุดในโลกที่แม่น้ำแยงซี บริษัทนี้มีทุนมหาศาลพร้อมทั้งการสนับสนุนเต็มที่จากธนาคารเพื่อการนำเข้าส่งออกของจีน (Ex-Im Bank)
ขณะนี้เขื่อนท่าซางทำท่ามาแรงและไปไกลกว่าโครงการอื่นๆ บนแม่น้ำสาละวิน
- โครงการเขื่อนฮัตจี ในรัฐกะเหรี่ยง ขนาด 1,200 เมกะวัตต์ มูลค่าการลงทุนขั้นต้น 40,000 ล้านบาท เป็นการลงทุนโดยตรงของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กับรัฐบาลทหารพม่า ในปี 2549 ได้ลงนามกับบริษัทไซโนไฮโดร (Sinohydro Corp.) มาร่วมทุนด้วย โดยแบ่งสัดส่วนการถือหุ้นในโครงการเป็น กฟผ. 45 เปอร์เซ็นต์ รัฐบาลทหารพม่า 15 เปอร์เซ็นต์ และไซโนไฮโดร 40 เปอร์เซ็นต์
กฟผ. ใช้บริษัทลูกคือ กฟผ. อินเตอร์ฯ (EGAT International Co.) เป็นผู้ดำเนินการในฐานะบริษัทเอกชน ไม่ใช่รัฐวิสาหกิจของรัฐบาลไทย ดังที่ผู้ว่าฯ กฟผ. คนก่อนให้สัมภาษณ์ว่า "ความที่ กฟผ.เป็นรัฐวิสาหกิจ ทำให้การดำเนินงานต่างๆ ไม่คล่องตัว และล่าช้า การแข่งขันกับบริษัทเอกชนทั้งในและต่างประเทศจึงยาก แต่เมื่อมีบริษัท กฟผ.อินเตอร์ฯ ก็ช่วยลดขั้นตอนการดำเนินงานตามระเบียบราชการลงไปได้มาก"
แม้จะเกิดเหตุการณ์สะเทือนขวัญเมื่อเดือนกันยายน 2550 ที่ค่ายพักคนงาน กฟผ. หัวงานเขื่อนฮัตจี ถูกโจมตีด้วยอาวุธหนักจนทำให้คนงานเสียชีวิต 1 ราย หลังเหตุการณ์ กฟผ. ประกาศระงับการสำรวจพื้นที่ทันทีจนกว่าจะมีมาตรการรักษาความปลอดภัย แต่รายงานภาคสนามของโครงการแม่น้ำเพื่อชีวิต เดือนมกราคม 2550 ระบุว่ากฟผ. ยังดำเนินการศึกษาโครงการในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ทั้งที่บ้านสบเมย จ.แม่ฮ่องสอน และในรัฐกะเหรี่ยง
จุดสร้างเขื่อนฮัตจี แม้จะอยู่ในรัฐกะเหรี่ยง แต่เป็นพื้นที่ภายใต้การควบคุมของกองทัพพม่าและกองกำลังกะเหรี่ยงพุทธ (DKBA) ซึ่งเป็นพันธมิตรของกองทัพพม่า ทำให้การเข้าพื้นที่ต้องผ่านการอนุญาตจากกองทัพพม่าอย่างเข้มงวด
โครงการเขื่อนทั้ง 5 แห่งบนแม่น้ำสาละวินมีแผนจะส่งไฟฟ้าขายให้แก่ประเทศไทย สำหรับเขื่อนฮัตจี มีแผนต่อสายส่งไฟฟ้าแรงสูงเข้าทางชายแดนด้าน จ.ตาก เช่นเดียวกับการขนส่งอุปกรณ์และพนักงานเข้าสู่หัวงานเขื่อน
ย้อนกลับไปดูจุดตั้งต้นของเขื่อนทั้งหมดบนแม่น้ำสาละวิน ว่าอะไรคือเป้าหมายหลักของโครงการข้ามชาติระดับแสนล้าน คำตอบที่ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าชาวไทยได้ยินตลอดมา คือประเทศไทยกำลังเติบโต ต้องการพลังงานอีกมาก จึงทำให้นโยบายพลังงานของประเทศต้องบรรจุโรงไฟฟ้าใหม่ๆ จำนวนมากเข้าไว้ด้วย
แต่หากพิจารณาข้อแนะนำของคณะกรรมการเขื่อนโลก จะพบว่า ข้อพึงปฏิบัติแรกสุดคือการพิจารณาทางเลือกอย่างรอบด้าน (Comprehensive Options Assessment) นั่นหมายถึงการหาทางเลือกทุกทางที่มีอยู่เพื่อตอบสนองความต้องการพลังงาน และคำนวณว่าทางเลือกใดมีต้นทุนต่ำที่สุด ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
ในกรณีของประเทศไทย ข้อมูลของกฟผ. ระบุว่า สัดส่วนการใช้ไฟฟ้าของประเทศไทย 75 เปอร์เซ็นต์ หมดไปกับภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจ ในขณะที่ผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อยระดับครัวเรือนใช้เพียง 20 เปอร์เซ็นต์ของไฟฟ้าทั้งหมด
ข้อมูลของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานระบุว่าประเทศไทยมีศักยภาพที่จะใช้พลังงานทางเลือกมหาศาล เช่น พลังงานลมที่สามารถผลิตได้สูงถึง 1,600 เมกะวัตต์ มากกว่ากำลังผลิตของเขื่อนฮัตจี พลังงานชีวมวล 7,000 เมกะวัตต์ เท่ากับเขื่อนท่าซาง และยังมีพลังงานแสงอาทิตย์ โรงไฟฟ้าขนาดเล็กของชุมชน และการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ไฟฟ้า
หรือโครงการเขื่อนบนแม่น้ำสาละวินถูกผลักดันด้วยผลประโยชน์อื่นที่ซ่อนอยู่ใต้โต๊ะ แต่เอาผู้ใช้ไฟฟ้าชาวไทยเป็นตัวประกัน?
ล่าสุดเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2550 นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของไทยมีดำริจะปัดฝุ่นโครงการผันน้ำสาละวินสู่เขื่อนภูมิพล ควบคู่กับนโยบายการผันน้ำโขงสู่ภาคอีสาน และกล่าวว่าเป็น “แม่น้ำสาธารณะ”
ทำให้เกิดคำถามว่า ในสายตาของกลุ่มธุรกิจ-การเมือง ผู้กุมอำนาจตัดสินใจ แม่น้ำระหว่างประเทศอย่างแม่น้ำสาละวินที่ถูกเรียกว่า “แม่น้ำสาธารณะ” ต่างจาก “ส้วมสาธารณะ” อย่างไร?