จากเวทีสาธารณะสู่การประชุมสุดยอดผู้นำลุ่มน้ำโขงตอนล่าง
: Human Selection กับ “กระแสการพัฒนาที่ล้าหลัง”
ประเด็นความร้อนแรงของภาวะแม่น้ำโขงแห้งขอดเป็นวิกฤติการณ์สูงสุดในรอบหลายสิบปี ในพื้นที่ของประเทศที่อยู่ในลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ได้แก่ ไทย ลาว เวียดนาม และกัมพูชา มีการกล่าวถึงสาเหตุที่เกิดขึ้นกันอย่างหนาหูว่า เป็นผลกระทบจากการสร้างเขื่อนกั้นลำน้ำโขงในประเทศจีน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อยู่ต้นน้ำของแม่น้ำนี้ ทำให้เกิดการรวมตัวกันของภาคประชาสังคม และองค์กรพัฒนาเอกชนต่างๆ ออกมาเรียกร้องต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ทราบข้อเท็จจริงของปัญหา และเพื่อให้มีการแก้ไขปัญหานี้อย่างรวดเร็วที่สุด
การรวมตัวกันของภาคประชาสังคมและองค์กรพัฒนาเอกชนในครั้งนี้ ได้มีการจัดการประชุมสาธารณะในวันที่ 1 เมษายน 2553 ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีการเชิญหน่วยงานและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และระดับนานาชาติเข้าร่วมหารือและแลกเปลี่ยนด้วย และในวันที่ 2 เมษายน 2553 เป็นเวทีแลกเปลี่ยนและรวบรวมข้อเสนอจากกลุ่มของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ต่อเนื่องด้วยวันที่ 3 เมษายน 2553 อันเป็นการรวบรวมข้อเสนอจากภาคประชาสังคมขึ้นเป็นแถลงการณ์เข้ายื่นต่อสถานทูตจีนประจำประเทศไทย ซึ่งมีข้อเรียกร้องให้พิจารณาประเด็นการพัฒนาลุ่มน้ำโขงในอนาคต
ต่อข้อสังเกตที่ว่าน้ำโขงแล้งหนักในปีนี้ เหตุการณ์อุทกภัยในปี 2551 และการที่ระดับน้ำขึ้น-ลงไม่ปกติ ล้วนเป็นผลมาจากการสร้างเขื่อนในจีนซึ่งอยู่เหนือน้ำนั้น ตัวแทนทางการจีน ผู้บริหารระดับสูงของประเทศไทย และผู้บริหารระดับสูงของ MRC ได้มีการชี้แจงต่อภาคประชาสังคมว่าผลกระทบจากเขื่อนนั้นแทบไม่มี แต่สถานการณ์ที่ประสบอยู่ในปัจจุบันเป็นผลพวงมาจากภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งมีการชี้แจงถึงปริมาณน้ำสาขาที่ไหลลงสู่น้ำโขง ว่ามาจากประเทศลาวมากที่สุด จึงไม่เกี่ยวข้องกับการสร้างเขื่อนของจีน เพราะปริมาณน้ำจากจีนที่ไหลลงน้ำโขงนั้นเพียง 16% อีกทั้งยังยกประเด็นน้ำท่วม-น้ำแล้งที่เกิดขึ้นเข้าสู่กระบวนการเร่งรัดโครงการสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานน้ำ โดยอ้างว่าหากมีเขื่อนจะช่วยป้องกันน้ำท่วมและช่วยแก้ปัญหาภัยแล้งได้ ซึ่งสวนทางกับข้อมูลจากชาวบ้านที่ใช้ชีวิตเป็นชาวประมงและเกษตรริมโขงมาตั้งแต่เกิดกว่าครึ่งชีวิต ที่กล่าวว่าภัยพิบัติต่างๆ เหล่านี้เริ่มเกิดขึ้นมาเรื่อยๆ นับตั้งแต่มีการสร้างและเปิดใช้เขื่อนในจีน
ในขณะเดียวกันในวันที่ 3-5 เมษายน 2553 ก็มีการประชุมสุดยอดผู้นำลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ครั้งที่ 1 ที่โรงแรมไฮแอท รีเจนซี่ หัวหิน ประเทศไทย จัดโดยคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) โดยมีผู้นำของภาคีสมาชิก 4 ประเทศร่วมกัน คือ ไทย ลาว เวียดนาม และกัมพูชา ในโอกาสการดำเนินงานร่วมกันมาครบรอบ 15 ปี เพื่อสรุปการดำเนินงานที่ผ่านมารวมทั้งสร้างข้อตกลงร่วมกันในอนาคตต่อไป โดยมีจีนและพม่าซึ่งไม่ได้เป็นภาคีสมาชิก แต่ถือเป็นอีกสองประเทศที่ต้องพึ่งพิงทรัพยากรจากลำน้ำโขงเช่นกัน เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ด้วยในฐานะผู้สังเกตการณ์ รวมทั้งร่วมให้ข้อมูลในการพัฒนาแม่น้ำโขงในประเทศของตน ถือเป็นสัญญาณอันดีที่ได้มีการร่วมพูดคุยหารือกัน ทั้งนี้ ได้มีการนำข้อสรุปจากการประชุมในระดับของนักวิชาการและองค์กรพัฒนาเอกชน ซึ่งมีการรวบรวมประเด็นและข้อคิดเห็นของภาคประชาสังคม จากเวทีสาธารณะ และเวทีประชาชน เข้าที่ประชุมสุดยอดผู้นำเพื่อพิจารณาด้วย ผลการประชุมและข้อตกลงจากที่ประชุม ได้รับรองเป็น “ปฏิญญาหัวหิน” อีกทั้งมีการวางแผนในอนาคตว่าจะมีการประชุมกันเช่นนี้ทุกสี่ปี ระหว่างประเทศภาคีสมาชิก
อย่างไรก็ตาม ใจความสำคัญหนึ่งของปฏิญญาหัวหิน ก็ยังยืนยังแผนการพัฒนาลุ่มน้ำโขงโดยการสร้างแหล่งผลิตไฟฟ้าจากพลังงานน้ำ รวมทั้งแผนเปิดเส้นทางการเดินเรือพาณิชย์ขนาดใหญ่เพื่อการค้า อันเป็นแผนพัฒนาเดิมที่เขียนขึ้นมาเกือบสองทศวรรษ แม้จะมีคำมั่นว่าจะมีการทบทวนแผนพัฒนาให้เป็นไปอย่างบูรณาการ ด้วยการให้ความสำคัญต่อความเป็นอยู่ของประชาชนริมโขง และทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งความหลากหลายทางชีวภาพให้มากขึ้น เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) ในภูมิภาคนี้
แต่คงไม่อาจปฏิเสธได้ว่าการเปลี่ยนแปลงใดๆ บนลุ่มน้ำโขงแม้เพียงนิดก็สามารถส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทั้งระบบได้ จึงเป็นเรื่องที่ต้องจับตามองต่อไปว่าแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงนั้น จะสามารถ “รักษา” ความอุดมสมบูรณ์ของเส้นเลือดใหญ่สายนี้ต่อไปได้หรือไม่ ท่ามกลางกระแสการพัฒนาจากแผนที่เขียนขึ้นในอดีตเกือบยี่สิบปีมาแล้ว ในขณะที่ประเทศทางฝั่งยุโรปและออสเตรเลีย หลายประเทศเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพ ตลอดจนมีความเข้าใจบทเรียนจากการแผนพัฒนาที่ผิดพลาด ของการสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานน้ำ จนบางประเทศเลือกที่จะทุบหรือระเบิดทำลายเขื่อนใหญ่บางแห่งของประเทศตนเองทิ้งไป ด้วยความหวังว่าจะสามารถกอบกู้ให้สมดุลธรรมชาติกลับคืนมาได้
สุดท้ายแล้ว กฎของกระบวนการการคัดเลือกก็คงเปลี่ยนจาก “ธรรมชาติ” เป็นผู้เลือก (Natural Selection) ไปเป็น “มนุษย์” เป็นผู้เลือก (Human Selection) โดยสมบูรณ์ ชาวบ้านที่อยู่ริมปลายสายน้ำแห่งนี้ ก็คงต้องช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้ากันเองต่อไป ไม่ว่าจะในแง่ของสังคม เศรษฐกิจ ถิ่นที่อยู่ อาชีพ ตลอดจนความมั่นคงทางอาหาร เมื่อภาครัฐ รวมทั้งหน่วยงานระดับนานาชาติที่เกี่ยวข้องจับมือกันผลักภาระของปัญหาให้เป็น “ความผิด” ของความแปรปรวนตามธรรมชาติ...เมื่อคนที่ “อยู่ข้างนอก” รู้ดีกว่าคนที่ “อาศัยอยู่กับน้ำ” และเมื่อ “เสียงขู่คำราม” ของ “มังกร” ดังมากกว่า “เสียงร้องขอ” ของ “พญานาค”!