จดหมายจากชาวบ้านท่าซาง ขอให้ MDX เลิกการลงทุน
บริษัท เอ็ม ดี เอ็กซ์ จำกัด (มหาชน)
อาคารคอลัมน์ทาวเวอร์ ชั้น 12A
199 ถนนรัชดาภิเษก
แขวงคลองเตย เขตคลองเตย กทม.
20 พฤศจิกายน 2550
เรื่อง ขอให้บริษัทเอ็มดีเอ็กซ์ จำกัด (มหาชน) ถอนการลงทุนโครงการสร้างเขื่อนท่าซางในรัฐฉาน ประเทศพม่า
เรียน ประธานกรรมการบริษัท เอ็ม ดี เอ็กซ์ จำกัด (มหาชน)
พวกเราประชาชนจากรัฐฉาน จำนวน 1536 และองค์กรชุมชนในรัฐฉานขอเรียกร้องให้บริษัทเอ็มดีเอ็กซ์ จำกัด (มหาชน) ถอนตัวจากการลงทุนในโครงการไฟฟ้าพลังน้ำท่าซาง บนแม่น้ำสาละวิน รัฐฉาน ประเทศสหภาพพม่า ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
1. การลงทุนในโครงการดังกล่าวให้ประโยชน์โดยตรงต่อรัฐบาลทหารพม่าซึ่งใช้ความรุนแรงปราบปรามผู้ชุมนุมต่อด้านอย่างโหดร้าย ดันเช่นเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2550 รัฐบาลทหารพม่าได้สั่งปราบปรามพระสงฆ์และประชาชนที่ได้ชุมนุมอย่างสันติหลายหมื่นรูป เป็นเหตุให้ประชาชนและพระสงฆ์ถูกจับนับพันคน และถูกฆ่าตายจำนวนมาก
2. สถานที่สร้างเขื่อนตั้งอยู่ในพื้นที่การสู้รบระหว่างชนกลุ่มน้อยกับรัฐบาลทหารพม่าระหว่างปี พ.ศ. 2539 ถึง 2541 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่บริษัทได้เข้าไปสำรวจพื้นที่ ทหารพม่าบังคับชาวบ้านให้ย้ายหมู่บ้าน เพื่อตรึงกำลังควบคุมสถานการณ์ ส่งผลให้ชาวบ้าน 300,000 คน ต้องพลัดที่นาคาที่อยู่ ส่วนใหญ่อพยพเข้ามาในเมืองไทย และยังคงมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นจนถึงปัจจุบัน
3. ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 เป็นต้นมา กองทัพพม่าได้เพิ่มขึ้นจำนวนทหารจาก 10 กองพันเป็น 30 กองพัน เพื่อรักษาความปลอดภัยรอบ ๆ เขื่อน เป็นเหตุให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างมาก เช่น การบังคับแรงงานการข่มขืน และการสังหาร ทำให้หายสาบสูญเป็นต้น
4. รายงานใบอนุญาตข่มขืนที่กลุ่มประสานงานสตริไทยใหญ่และมูลนิธิสิทธิมนุษยชนไทยใหญ่ได้เผยแพร่เมื่อ2545 ระบุว่า มีผู้หญิงไทยใหญ่รอบ ๆ บริเวณโครงการเขื่อนท่าซางถูกทหารพม่าข่มขืนกว่า 300 คน และรายงานล่าสุดยังระบุว่าเมื่อเดือนสิงหาคม 2007 ที่ผ่านมา ทหารพม่าได้ข่มขืนผู้หญิงอายุ 50 ปีที่หมู่บ้านแม่แกน ซึ่งอยู่เส้นทางสายไฟฟ้าท่าซางที่ชายแดนไทย
5. เดือนมิถุนายน 2550 ที่ผ่านมาองค์กรมูลนิธิสิทธิมนุษยชนของไทยใหญ่ได้รายงานผลสรุปทหารพม่าสังหารชาวบ้านในเขตรัฐฉานในรอบ 10 ที่ผ่านมาว่า มีชาวไทยใหญ่ถูกทหารพม่าสังหาร 1,221 คน และยังระบุว่า ในปี 2540 ปีเดียวมีการสังหารชาวบ้านในเขตเมืองกุ๋นฮิง 319 คน รวมทั้งการสังหารเจ้าอาวาสวัดอีกสามรูปด้วยการผูกเชือก จับใส่กระสอบ และถ่วงน้ำ
6. การบังคับใช้แรงงาน การลงทุนโครงการขนาดใหญ่เสี่ยงต่อการบังคับใช้แรงงาน เนื่องจากรัฐบาลพม่ามีชื่อเสียงในการเกณฑ์แรงงานเพื่อทำงานในโครงการต่าง ๆ ของรัฐมาโดยตลอด เช่น พิธีเปิดโครงการสร้างเขื่อนที่บริษัทเอ็มดีเอ็กซ์เป็นเจ้าภาพเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2550 มีการเกณฑ์ประชาชนจำนวนร้อยกว่าคนจากหมู่บ้านต่างๆ ในเมืองโต๋น และเมืองปั่นให้มาร่วมพิธี
7. เจ้าหน้าที่ของบริษัทบริษัทเอ็มดีเอ็กซ์เดินทางภายใต้การคุ้มกันของรัฐบาลทหารพม่า ตั้งแต่ชายแดนไทย-พม่าถึงสถานที่ตั้งโครงการ โดยมีรถนำขบวนและปิดท้ายขบวน การเดินทางแต่ละครั้ง มีเจ้าหน้าที่ทหารพม่าอย่างน้อย 6 นาย ต่อพนักงานหนึ่งคน และหน่วยทหารที่ผลัดเปลี่ยนกันคุ้มครองบริษัทที่ประจำอยู่ที่สะพานข้ามสาละวินท่าซางได้ละเมิดสิทธิชาวบ้านที่อยู่ในบริเวณการสร้างเขื่อน เช่น จำกัดสิทธิไม่ให้ไปหาของกินในป่า และห้ามการเดินทางบริเวณที่สร้างเขื่อน ทั้งยังมีการรีดไถประชาชนอีกด้วย
8. เดือนมิถุนายน 2550 เจ้าหน้าที่รัฐบาลทหารพม่าได้ยืดที่นาและที่ทำกินชาวบ้าน เพื่อเป็นสถานที่ตั้งของบริษัทในเขตเมืองโต๋น
9. ภายใต้การปกครองรัฐบาลพม่าที่ได้ไม่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม การก่อสร้างโครงการดังกล่าวไม่มีการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และผลกระทบต่อสังคม ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลของการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่
ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น เราจึงขอเรียกร้องให้บริษัทเอ็มดีเอ็กซ์ จำกัด(มหาชน) ระงับการดำเนินการโครงการไฟฟ้าพลังน้ำท่าซางทันที และถอนการลงทุนกับรัฐบาลทหารพม่า ทั้งนี้เพื่อภาพลักษณ์อันดีของบริษัท และหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิ ในการก่อสร้างโครงการเขื่อนท่าซาง รัฐฉาน ประเทศพม่า
จึงเรียนมาเพื่อพิจารณา
ขอแสดงความนับถือ
ชาวบ้านท่าซาง