จดหมายเปิดผนึก ขอให้ยกเลิกโครงการเขื่อนท่าแซะ จ.ชุมพร

fas fa-pencil-alt
กลุ่มอนุรักษ์ต้นน้ำท่าแซะ
fas fa-calendar
18 สิงหาคม 2551

จดหมายเปิดผนึก

ที่ทำการกลุ่มอนุรักษ์ต้นน้ำท่าแซะ จ.ชุมพร 

                                      18 สิงหาคม 2551

เรื่อง    ขอให้ยกเลิกโครงการเขื่อนท่าแซะ จ.ชุมพร  

กราบเรียน      ฯพณฯ ท่านนายกรัฐมนตรี นายสมัคร สุนทรเวช ผ่านคณะกรรมการแก้ไขปัญหาสมัชชาคน

          ตามที่กรมชลประทานได้ผลักดันดำเนินโครงการก่อสร้างเขื่อนท่าแซะ จ.ชุมพร มาตั้งแต่ปี 2536 โดยอ้างว่าเพื่อป้องกันน้ำท่วมจังหวัดชุมพร และจะเอาน้ำไปใช้ในนิคมอุตสาหกรรมบางสะพานจังหวัดประจวบคีรีขันธ์นั้น กลุ่มอนุรักษ์ต้นน้ำท่าแซะซึ่งได้รับผลกระทบจากโครงการเขื่อนท่าแซะ ไม่เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าวและได้คัดค้านโครงการนี้มาตลอด ทั้งนี้ เหตุผลความเป็นมาและข้ออ้างของกรมชลประทานในการดำเนินโครงการเป็นเรื่องเก่าสมัยพายุเกย์เมื่อปี 2532 จึงไม่สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ปัจจุบันของลุ่มน้ำ โดยพวกเรากลุ่มอนุรักษ์ต้นน้ำท่าแซะ ขอยืนยันการคัดค้านโครงการเขื่อนท่าแซะต่อรัฐบาลของ ฯพณฯ ท่าน และขอให้มีการยกเลิกเขื่อนท่าแซะโดยเร็ว  โดยขอชี้แจงเหตุผลดังนี้

          1. พื้นที่โครงการเขื่อนท่าแซะมีความอุดมสมบูรณ์ของฐานทรัพยากรและพืชเศรษฐกิจหลักของประเทศ ปัจจุบันประชาชนในพื้นที่โครงการมีบ้านเรือนที่อยู่อาศัยมั่นคงถาวรแล้ว มีที่ดินอุดมสมบูรณ์ดีไม่ต้องการโยกย้ายไปไหน โดยเป็นที่ทำกินของประชาชน 400 ครอบครัวเศษ ปลูกพืชเศรษฐกิจยางพาราและปาล์มน้ำมันที่ได้รับผลผลิตแล้วไม่ต่ำกว่า 6,400 ไร่ ประชาชนมีเศรษฐกิจดี มีรายได้ส่งลูกหลานเรียนถึงปริญญาตรี มีปัจจัยสี่ครบถ้วน ส่งผลให้ชุมชนในพื้นที่และสังคมอยู่ดีมีสุขกันถ้วนหน้า จึงไม่ต้องการอพยพไปอยู่ที่อื่นแต่อย่างใด เพราะจะต้องเสียโอกาสในการทำกิน โครงการสร้างเขื่อนท่าแซะของกรมชลประทานทำให้กระทบต่อวิถีชีวิต สิทธิชุมชน การดำเนินชีวิตของพวกเราขาดปกติสุขและขาดความมั่นคงต่อเนื่อง

          2. พื้นที่อ่างเก็บน้ำของเขื่อนท่าแซะยังเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์คือ เป็นเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าอุทยานเสด็จในกรม กรมหลวงชุมพร ด้านทิศเหนือ ซึ่งเป็นป่าต้นน้ำลำธาร และพื้นที่อนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าที่อุดมสมบูรณ์ เป็นที่หวงแหนของประชาชน อีกทั้งสมเด็จพระราชินีมีพระราชดำริมากว่า 10 ปี ในเรื่องเกี่ยวกับให้รัฐบาลและประชาชนชาวไทยช่วยกันอนุรักษ์ป่าไม้ต้นน้ำธาร เมื่อมีป่าไม้สมบูรณ์อยู่แล้วกลุ่มอนุรักษ์ต้นน้ำท่าแซะ จึงไม่เห็นด้วยกับโครงการเขื่อนท่าแซะที่จะเข้ามาทำลายป่าอนุรักษ์ของชุมชนและส่วนรวม

          3. ปัจจุบันปัญหาน้ำท่วมเมืองชุมพรได้รับการแก้ไขแล้วจากโครงการแก้มลิงหนองใหญ่ตามพระราชดำริของพระเจ้าอยู่หัวตั้งแต่ปี 2541 มีคลองระบายน้ำหัววังพนังตักและคลองละมุ (นากระตาม) จึงไม่จำเป็นต้องสร้างเขื่อนท่าแซะอีก ส่วนที่กรมชลประทานอ้างว่ายังมีพื้นที่ตอนล่างของลุ่มน้ำคือตำบลบางลึก หาดพันไกร และนากระตาม ยังมีน้ำท่วมอยู่นั้น ก็ควรแก้ไขโดยทำโครงการเพิ่มศักยภาพแก้มลิงหนองใหญ่โดยขยายขนาดคลองระบายน้ำหัววัง-พนังตัก และเพิ่มประตูน้ำเป็น 6 บานจะดีกว่า เพราะไม่ต้องเวนคืนที่ดิน และมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าการสร้างเขื่อนท่าแซะ ในอนาคตปี 2552 เมื่อประตูระบายน้ำท่าแซะแล้วเสร็จจะกักเก็บน้ำได้อีก 7.13 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี จะช่วยชะลอน้ำไหลลงสู่แม่น้ำท่าตะเภาได้ และยังมีน้ำเพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำในลุ่มน้ำอีกด้วย เพราะลุ่มน้ำท่าแซะ-รับร่อ มีฝนตกกระจายทุกเดือนปริมาณน้ำฝนทั้งพื้นที่มีมากกว่า 3,000 มิลลิเมตรต่อปี ความต้องการใช้น้ำเพื่อการเกษตรจึงไม่มีเพราะภูมิอากาศเหมาะสมอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องพึ่งชลประทานเหมือนภาคกลางแต่อย่างใด

          4. ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลที่มีแผนจะผันน้ำจากเขื่อนท่าแซะข้ามไปยังนิคมอุตสาหกรรมบางสะพาน และไม่เห็นด้วยกับโครงการอุตสาหกรรมบางสะพาน เพราะทำให้เกิดมลภาวะสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ ทำลายสุขภาพของประชาชน เกิดปัญหาชุมชน ปัญหาสังคมตามมาอีกมาก เป็นการสร้างเศรษฐกิจให้กับกลุ่มทุนเพียงรายเดียว แต่ประชาชนส่วนใหญ่ต้องแบกรับภาวะต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมแทนนายทุน ซึ่งไม่ชอบธรรม ขอให้รัฐบาลได้ยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการตัดสินใจครั้งนี้ด้วย

          5. แนวสันเขื่อนท่าแซะของกรมชลประทานสร้างทับบนรอยเลื่อนระนองพอดี ซึ่งประชาชนในลุ่มน้ำท่าแซะมีความหวาดกลัวภัยจากแผ่นดินไหวเขื่อนอาจพังได้ จะไม่ปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน โดยข้อมูลของกรมชลประทานเกี่ยวกับรอยเลื่อนระนองไม่สมบูรณ์เพียงพอที่จะเชื่อถือได้ คือบอกไม่ได้ว่าคาบการเกิดแผ่นดินไหวของรอยเลื่อนระนองมีรอบอายุกี่ปี พวกเราจึงไม่ยอมรับ ไม่เห็นด้วยกับเขื่อนท่าแซะ

          6. นับเป็นเวลากว่า 15 ปีที่กรมชลประทานได้ศึกษาโครงการนี้ แต่ฝ่ายรัฐไม่สามารถหาพื้นที่อพยพให้ผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนท่าแซะได้จนถึงทุกวันนี้ ซ้ำยังบิดเบือนรายงาน EIA ให้กรรมการเห็นชอบ ดังนั้น การที่วันนี้กรมชลประทานมาอ้างว่าจะจ่ายเงินค่าชดเชยพิเศษนั้น เสมือนเป็นการลอยแพประชาชนผู้ได้รับผลกระทบนั่นเอง ถือเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ละเมิดสิทธิชุมชนอย่างร้ายแรงยอมรับไม่ได้ แสดงให้เห็นถึงความไม่จริงใจของรัฐบาลที่ต่อประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ โดยจะเอาแต่ได้ฝ่ายเดียว ดำเนินโครงการไม่โปร่งใส แกนนำกลุ่มอนุรักษ์ถูกฆ่าตายทุกวันนี้ยังหาคนทำผิดมาลงโทษไม่ได้ เป็นการกระทำที่ขาดหลักธรรมมาภิบาล ขาดเมตตาธรรมต่อประชาชนผู้อยู่ใต้ปกครอง อย่างให้อภัยไม่ได้

          7. ขอให้คณะกรรมการแก้ไขปัญหาของสมัชชาคนจน เร่งเสนอคณะรัฐมนตรี ให้ยกเลิกการดำเนินการสร้างเขื่อนท่าแซะทันที โดยยุติโครงการชลประทานท่าแซะไว้แค่การก่อสร้างประตูระบายน้ำคลองท่าแซะเท่านั้น เพราะปัญหาของลุ่มน้ำท่าแซะ-รับร่อ-ท่าตะเภา ได้รับการแก่ไขตามสมควรแก่เหตุผลและเกินจะเพียงพอแล้ว ทั้งนี้ เพื่อดำรงความเป็นธรรมกับประชาชนและสิ่งแวดล้อมที่จะได้รับผลกระทบ แล้วหันมารักษาความสมดุลของระบบนิเวศป่าต้นน้ำ-ลุ่มน้ำท่าแซะเอาไว้ ให้เกิดความยั่งยืน ดีกว่าคิดแต่จะทำลายล้างผลาญฐานทรัพยากรของชุมชนดังเช่นทุกวันนี้

                   จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณายกเลิกเขื่อนท่าแซะ จักขอบพระคุณยิ่ง

ด้วยความสมานฉันท์

กลุ่มอนุรักษ์ต้นน้ำท่าแซะ

18 สิงหาคม 2551

 


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง