จดหมายเปิดผนึก กรณีการประชุมเชิงปฎิบัตรการเรื่องการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำนานาชาติ: ลุ่มสาละวิน
จดหมายเปิดผนึก
กรณีการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่องการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำนานาชาติ: ลุ่มน้ำสาละวิน ซึ่งจะจัดขึ้นที่เชียงใหม่ ประเทศไทย วันที่ 13-16 กันยายน 2542
จากการที่กลุ่มของนักวิชาการ เจ้าหน้าที่รัฐ บริษัทที่ปรึกษาเอกชน และธนาคารเพื่อการพัฒนาพหุพาคีจะเข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่ออภิปรายถึงทรัพยากรน้ำระหว่างประเทศ กรณีการพัฒนาลุ่มน้ำสาละวิน ซึ่งเป็นการประชุมในสถานที่เฉพาะและเก็บเป็นความลับและเห็นได้ชัดว่า "เพื่อเป็นการพบปะสนทนากันระหว่างตัวแทนกลุ่มต่างๆ ที่มีความสนใจในการพัฒนาลุ่มน้ำสาละวิน"
เป็นที่ชัดเจนว่าการประชุมดังกล่าวไม่มีรายชื่อผู้เข้าร่วมประชุมที่เป็นคนในท้องถิ่นเลย ทั้งๆ ที่คนท้องถิ่นนั้นสำคัญที่จะขาดเสียมิได้ในโครงการพัฒนาต่างๆ ในทางตรงกันข้าม รายชื่อผู้ที่เข้าร่วมประชุมกลับเป็นกลุ่มอิทธิพลที่ไม่มีวันจะแสดงให้เห็นได้เลยว่าพวกเขาให้ความสนใจกับชุมชนท้องถิ่น ผู้ที่เข้าร่วมประชุมดังกล่าว ได้แก่ อธิบดีกรมการไฟฟ้าแห่งพม่า เจ้าหน้าที่รัฐบาลพม่าอีกหลายคน อธิบดีกรมชลประทานของไทย อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาพลังงานของไทย ผู้เชี่ยวชาญจากธนาคารโลกและธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย บรรดาวิศวกร นักวิชาการจากจีน ญี่ปุ่น แคนาดา สหรัฐอเมริกา เม็กซิโก และไทย นอกจากนี้ยังมีนักสร้างเขื่อนและที่ปรึกษาด้านการสร้างเขื่อนจากบริษัทปัญญาคอนเซาท์ติ้งจำกัดและบริษัทอิตาเลี่ยน-ไทย
การประชุมนี้ดูเหมือนว่าจะมีการเกี่ยวพันกับการสร้างเขื่อนสาละวินเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำและผันน้ำสู่ประเทศไทยด้วย โดยความช่วยเหลือจากบรรดาที่ปรึกษาจากประเทศญี่ปุ่น ไทย และนอร์เว รัฐบาลไทยและรัฐบาลพม่าได้ตระเตรียมแผนการนี้มานานนับทศวรรษ เพราะต้องปกปิดอย่างแนบเนียนเพื่อไม่ให้ประชาชนรู้ โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในลุ่มน้ำสาละวิน ทั้งๆ ที่ชนพื้นเมืองเหล่านี้ได้รับความทุกข์ทรมานมานานปีจากการสู้รบและการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยรัฐบาลทหารของพม่า และหลายแสนคนถูกบังคับให้ละทิ้งถิ่นฐานของตน ผู้คนส่วนหนึ่งจากการอพยพครั้งใหญ่ล่าสุดถูกเกณฑ์ไปไว้ในพื้นที่เดียวกัน ในขณะเดียวกับที่นักสำรวจได้เริ่มศึกษาที่ตั้งของเขื่อนที่จะกั้นแม่น้ำในรัฐฉาน
มีโครงการเขื่อนอย่างน้อยที่สุด 5 โครงการที่ถูกศึกษาในลุ่มน้ำสาละวิน อันเป็นกระบวนการตามคำแนะนำของคณะที่ปรึกษาที่ทำงานให้กับธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย ภายใต้แผนการพัฒนาอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง แผนเหล่านี้ได้พัฒนาไปจนถึงการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคมได้ทำเสร็จไปเรียบร้อยแล้ว ในขณะที่ไม่มีการรับฟังความเห็นใดๆ จากผู้ที่ได้รับผลกระทบแท้จริงในโครงการนี้ คนท้องถิ่นเหล่านี้มีสิทธิแค่ยืนดูผืนแผ่นดินของพวกเขาที่จะสูญเสียไปตลอดกาล
การสร้างเขื่อนบนแม่น้ำสาละวินจะทำให้เกิดน้ำท่วมป่าไม้และพื้นที่เกษตรกรรมจำนวนมาก หมู่บ้านจำนวนมากจะจมอยู่ใต้น้ำ การเกษตรถูกแยกออกจากการประมงในบริเวณเหนือเขื่อนและท้ายเขื่อน เขื่อนขนาดยักษ์นี้ยังเป็นมหันตภัยร้ายแรงเนื่องจากมันอยู่ในพื้นที่ที่มีการเกิดแผ่นดินไหวอยู่บ่อยครั้งด้วย นอกจากนี้ ไม่ว่าเขื่อนใดก็ตามที่จะสร้างบนแม่น้ำสาละวิน ล้วนแต่เป็นเขื่อนที่จะต้องมีราคาแพงลิบลิ่ว ทั้งนี้ก็เพราะเป็นโครงการที่ถูกวางแผนขึ้นมาเพื่อแบ่งเบาภาระหนี้สินจำนวนมากของทั้งรัฐบาลไทยและรัฐบาลพม่า ซึ่งสำหรับประเทศไทยแล้วการจัดหาพลังงานไฟฟ้านั้นมีอยู่อย่างเกินพอแล้วและสามารถคิดหาวิถีทางที่เหมาะสมและยุติธรรมในการจัดสรรทรัพยากรน้ำได้ดีกว่านี้แน่นอน
เรามีความกังวลเป็นอย่างยิ่งที่การประชุมเพื่อการวางแผนในครั้งนี้มิได้รวมเอาตัวแทนชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบไว้ด้วย และอาจถูกใช้เพื่อให้เกิดความชอบธรรมในทางกฎหมายได้โดยง่ายในกระบวนการพัฒนาอันอัปลักษณ์เช่นนี้
เราขอลงนามเพื่อเรียกร้องให้การวางแผนใดๆ ก็ตามในการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่บนลุ่มน้ำสาละวินปฏิบัติดังต่อไปนี้:
- โครงการต้องมีการเปิดเผยต่อสาธารณะอย่างจริงใจ โปร่งใส และซื่อตรง
- ต้องยืนหยัดเพื่อระบบนิเวศน์อย่างแท้จริงและยั่งยืน
- ตระหนักและเคารพในความเป็นมนุษย์อย่างเต็มที่ อันเป็นหน้าที่พื้นฐานของทุกโครงการที่จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน ให้การยอมรับและเชื่อมั่นในการมีส่วนร่วมของประชาชน รวมทั้งต้องจ่ายค่าชดเชยในสิ่งที่พวกเขาต้องสูญเสียไปอย่างเป็นธรรม
พวกเราขอยืนยันว่าแผนงานหรือโครงการใดก็ตามที่ไม่สามารถแสดงให้เห็นได้ว่าได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าว โครงการนั้นๆ จะต้องถูกล้มเลิกไปอย่างแน่นอน
- สมัชชาคนจน (Assembly of the Poor)
- กลุ่มจับตาสาละวิน (Salween Watch)
- เครือข่ายแม่น้ำแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asia Rivers Network)
- มูลนิธิสิทธิมนุษยชนแห่งรัฐฉาน (Shan Human Rights Foundation)
- กลุ่มสิ่งแวดล้อมคะเรนนี (Karenni Evergreen)
- องค์การยุวชนกะเหรี่ยง (Karen Youth Organisation)
- สหพันธ์เพื่อประชาธิปไตยแห่งชาติ-เขตปลดปล่อย (National League for Democracy - liberated area)
- โครงการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายคนชายขอบ (Legal Aid for Marginalised People)
- องค์การยุวชนแห่งชาติคะเรนนี (Karenni National Youth Agency)
- แนวร่วมนักศึกษาพม่าเพื่อประชาธิปไตย (All Burma Students' Democratic Front)
- เครือข่ายทำงานด้านเขื่อน แม่น้ำและประชาชนแห่งเอเชียใต้ (South Asia Network on Dams, Rivers and People)
- เครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนแห่งประเทศญี่ปุ่นเพื่อติดตามเอเปค (APEC Monitor NGO Network, Japan)
- พันธมิตรแห่งประชาชนเพื่อการปฏิรูปศักยภาพและการพัฒนาที่เท่าเทียมกันแห่งปากีสถาน (Citizens Alliance in Reforms for Efficient and Equitable Development, Pakistan)
- สหพันธ์ประชาธิปไตยแห่งรัฐฉาน (Shan Democratic Union)
- เครือข่ายเกษตรกรคะเรนนี (Karenni Farmers' Network)
- พรรคประชาธิปไตยเพื่อสังคมใหม่ (Democratic Party for a New Society)
- กลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติกะเหรี่ยง (Karen Nature Conservation Group)
- กลุ่มพระสงฆ์แห่งรัฐฉาน (The Buddhist Sangha of Shan State)
- กลุ่มเพื่อนประชาชน (Friends of the People)
- เครือข่ายผู้หญิงแห่งรัฐฉาน (Shan Women's Action Network)
- กลุ่มกรีนโนเวมเบอร์ 32 (Green November 32)
- เครือข่ายชาติพันธุ์ศึกษา (Ethnic Studies Centre, Chiang Mai)
- องค์การสตรีคะเรนนีแห่งชาติ (Karenni National Women's Organisation)
- องค์การเพื่อเสรีภาพปะโอ (Pa-O People's Liberation Organisation)
- มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ (Wildlife Fund Thailand)
- องค์การรัฐฉาน (Shan State Organisation)
- สภาเยาวชนและนักศึกษาพม่า (The Students and Youth Congress of Burma)
- กลุ่มศึกษากฎหมายและสิทธิมนุษยชนคะเรนนี (Karenni Human Rights and Law Education Team)
- โครงการช่วยเหลือผู้อพยพ (Migrant Assistance Program)
- แนวหน้าเสรีภาพของประชาชนแห่งพม่า (People's Liberation Front of Burma)
- กลุ่มเครือข่ายเยาวชนปะหล่อง (Palaung Youth Network Group)
- องค์กรคณาจารย์คะเรนนี (Karenni Teachers' Union)
- กลุ่มเครือข่ายนักเรียนกะเหรี่ยง (Karen Student Network Group)
- คณะกรรมการต่อต้านทางการเมืองของสภาแห่งชาติแห่งสหพันธรัฐพม่า (Political Defiance Committee of the National Council of the Union of Burma)
- หน่วยงานข่าวสารและสิทธิมนุษยชนคะเรนนี (Karenni Human Rights and News Agency)
- เครือข่ายกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือ (Northern Farmers Network)
- เท็ดดี้ บุรี (สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร) เขตเลือกตั้งลอยแก้ว 2 สมาพันธ์เพื่อประชาธิปไตยแห่งชาติ รัฐคะเรนนี
- ขุนมาโก บาน (สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร) เขตเลือกตั้งเปคอน องค์กรประชาธิปไตยเพื่อรัฐคะยาน
- ไสวินเพ (สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร) เขตเลือกตั้งมองสู สมาพันธ์แห่งชาติรัฐฉานเพื่อประชาธิปไตย
- แดเนียล อุง (สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร) เขตเลือกตั้งมองเป็ง พรรคพัฒนาชาติละหู่ รัฐฉาน
แถลงการณ์
กรณีการประชุมเชิงปฏิบัติการการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่บนแม่น้ำสาละวิน
- เราขอต่อต้านการสร้างเขื่อนบนลุ่มน้ำสาละวินที่ปราศจากความเห็นชอบของคนในท้องถิ่นอย่างถึงที่สุด
- จะต้องไม่มีการร่างโครงการใดๆ ขึ้นมาบนลุ่มน้ำสาละวินจนกว่าจะมีรัฐบาลพม่าซึ่งเป็นตัวแทนของคนท้องถิ่นอย่างแท้จริง
- โครงการทั้งหลายจะดำเนินการต่อไปได้ก็ต่อเมื่อมีการประเมินผลกระทบทุกด้านที่เหมาะสมแล้วเท่านั้น
- โครงการเขื่อนใดๆ ก็ตามจะต้องดำเนินการตั้งแต่เริ่มจนเสร็จสิ้นด้วยความโปร่งใสที่สุด
คณะกรรมการกลางองค์การยุวชนกะเหรี่ยง
11 กันยายน 2542