จดหมายเปิดผนึก
ถึงการประชุมของ MRC เรื่องเขื่อนนำโขงตอนล่าง

fas fa-pencil-alt
เครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำโขงอำเภอเชียงแสน เชียงของ เวียงแก่น จังหวัดเชียงราย
fas fa-calendar
25 กันยายน 2551

กรณีการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมระดับภูมิภาคเรื่องการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าแบบยั่งยื่นในลุ่มน้ำโขงตอนล่างของคณะกรรมมาธิการแม่น้ำโขง MRC(เอ็มอาร์ซี) วันที่ ๒๕-๒๗ กันยายน ๒๕๕๑ ณ กรุงเวียงจัน สาธารณะรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยมีผู้เข้าร่วมกว่า ๒๐๐ คน จากรัฐบาลประเทศสมาชิก หน่วยงานภาครัฐ แหล่งทุน บริษัทที่ปรึกษา และภาคเอกชน เพื่อหารือในการพัฒนาเขื่อนผลิตไฟฟ้าบนแม่น้ำโขงตอนล่าง รวมทั้งสิ้น ๑๒ แห่ง

การประชุมครั้งนี้ระบุว่าจะเป็นการปรึกษาหารือกับผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม แต่ปรากฏว่า ภาคประชาสังคมในลุ่มน้ำ โดยเฉพาะองค์กรในท้องถิ่น ชุมชนริมแม่น้ำ กลับไม่ได้รับเชิญแต่อย่างใด แสดงให้เห็นว่าการกระทำดังกล่าวได้ละเลยการมีส่วนร่วมของชาวบ้านและภาคประชาชนในลุ่มน้ำโขง การประชุมในครั้งนี้สะท้อนให้เห็นความไม่โปร่งใสของหน่วยงานต่างๆโดยเฉพาะ MRC(เอ็มอาร์ซี) ที่ไม่จริงใจและเห็นคุณค่าของการมีส่วนร่วมของชาวบ้านภาคประชาชน อันเห็นได้จากการกระทำผ่านมาไม่ว่าจะเป็นการสร้างเขื่อนในประเทศจีน การระเบิดแก่งเพื่อการเดินเรือพาณิชย์เสรีขนาดใหญ่ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ จนก่อให้เกิดผลกระทบต่อวิถีชีวิตชาวบ้านในลุ่มน้ำโขงอย่างมหาศาล เป็นการพัฒนาที่ซ้ำเติมชุมชนชาวบ้าน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ล่มสลายเพิ่มมากยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้เครือข่ายชาวบ้านประชาชนลุ่มน้ำโขงไม่สามารถคาดหวังการจัดการลุ่มน้ำที่เป็นธรรมและยั่งยืนจากคณะกรรมมาธิการแม่น้ำโขง MRC(เอ็มอาร์ซี) ได้

เราขอประนามการกระทำของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง MRC(เอ็มอาร์ซี) ซึ่งไม่มีความจริงใจ ไม่มีธรรมาภิบาลในการปกป้องดูแลแม่น้ำโขง และเรียกร้องให้คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ทบทวนบทบาทของตนเองต่อการจัดการทรัพยากรธรรมชาติในแม่น้ำโขง ทั้งให้ทบทวนธรรมนูญขององค์กรที่เคยประกาศไว้ในปี ๒๕๓๘ ว่าภายใต้ข้อตกลงแม่น้ำโขง MRC มีภารกิจใน “การป้องกันและการหยุดยั้งผลกระทบที่เป็นอันตราย จะมีการดำเนินความพยายามทุกวิถีทาง เพื่อหลีกเลี่ยง ลด และบรรเทาผลกระทบที่เป็นอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม...ที่เป็นผลมาจากการพัฒนา และการใช้ทรัพยากรน้ำของลุ่มแม่น้ำโขง...” (มาตรา 7) เมื่อธรรมนูญกับแนวปฎิบัติไม่สอดคล้องกัน คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงก็ควรพิจารณาตนเอง

 เราจึงขอประกาศรวมตัวกันเพื่อปกป้องดูแลแม่น้ำโขง ในนามเครือข่ายชุมชนชาวบ้าน เพื่อดำเนินการดูแลรักษาแม่น้ำสายสำคัญที่หล่อเลี้ยงชีวิต สรรพสัตว์ มาหลายชั่วอายุคน ให้ได้โอบอุ้มชีวิตสองฝั่งโขงสืบต่อไป

เคารพธรรมชาติ ศรัทธาในความเท่าเทียมกันของมนุษย์

เครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำโขงอำเภอเชียงแสน เชียงของ เวียงแก่น จังหวัดเชียงราย

 


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง