จดหมายเปิดผนึกต่อสาธารณรัฐประชาชนจีนเกี่ยวกับการสร้างเขื่อนของบริษัทจากจีนในพม่า

fas fa-pencil-alt
เครือข่ายแม่น้ำพม่า
fas fa-calendar
ธันวาคม 2550

ธันวาคม 2550
ฯพณฯ ประธานาธิบดีหูจินเถา
Zhongnanhai, Xichengqu, Beijing 
People's Republic of China 
สำเนา Bo Xilai รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ สาธารณรัฐประชาชนจีน

เรียน ประธานาธิบดีหู

พวกเราในนามเครือข่ายแม่น้ำพม่า (Burma Rivers Network) และองค์กรรวมทั้งบุคคลตามรายชื่อด้านล่างขอแสดงความกังวลอย่างลึกซึ้งต่อโครงการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่หลายโครงการ ซึ่งบริษัทจากจีนมีสัญญาร่วมกับรัฐบาลทหารพม่าเพื่อพัฒนาโครงการเหล่านี้ในพื้นที่ของชนชาติพันธุ์ ซึ่งยังไม่มีการหยุดยิง ทั้งยังเป็นพื้นที่ที่มีการสู้รบอย่างต่อเนื่อง เราขอชมเชยนโยบายของรัฐบาลจีนที่มุ่ง “การพัฒนาโดยสันติ” ที่เป็นกรอบกำกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และขอเรียกร้องให้รัฐบาลจีนพิจารณาถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากโครงการพัฒนาสากลเช่นนี้ ให้ทบทวนกระบวนการและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนดังกล่าว และเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับแผนการสร้างเขื่อนให้ชุมชนผู้ได้รับผลกระทบได้ทราบ

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ธุรกิจจำนวนมากจากจีนมีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำในพม่า และเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมากมาย เฉพาะการสร้างเขื่อนในแม่น้ำอิรวดี สาละวิน ฉ่วยหลีและปางหลวง มีบริษัทจากจีนอย่างน้อย 10 บริษัทที่เกี่ยวข้อง อาทิ Sinohydro Corporation, Yunnan Machinery and Equipment Import and Export Co., และ China Power Investment Corporation โดยเป็นการลงทุนรวมกันมากกว่า 3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และเป็นกระแสเงินที่ไหลเข้าสู่รัฐบาลทหารพม่ามากที่สุด ในขณะที่องค์กร Transparency International จัดอันดับว่ารัฐบาลทหารพม่ามีการคอรัปชั่นมากเป็นอันดับสองในโลก รายได้เหล่านี้จะถูกนำไปใช้เพื่อจัดซื้ออาวุธและส่งเสริมปฏิบัติการด้านทหารเพื่อกดขี่ประชาชน

การลุกฮือจนถึงปัจจุบันในพม่าและการปราบปรามการประท้วงอย่างโหดร้ายในช่วงที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นความเสี่ยงทางการเมืองและการเงินอย่างมากอันเนื่องมาจากการลงทุนในโครงการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำในพม่า พื้นที่สร้างเขื่อนในพม่าล้วนเป็นพื้นที่ของชนกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งประสบกับทุรกรรมมากมายในช่วงที่เกิดสงครามความขัดแย้งหลายทศวรรษ การเผาและปล้นสะดมหมู่บ้าน การบังคับโยกย้าย ความรุนแรงทางเพศที่เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบและวิสามัญฆาตกรรมโดยทหารพม่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างดาษดื่น การก่อสร้างเขื่อนย่อมทำให้ความทุกข์ยากของชนกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งที่อยู่ในเขตหยุดยิงและเขตที่ไม่มีการหยุดยิงรุนแรงขึ้น พวกเขาทั้งหลายได้กลายเป็นผู้พลัดถิ่นในประเทศหรือเป็นผู้ลี้ภัยไปแล้ว นอกจากนั้น โครงการก่อสร้างเขื่อนในบริเวณพรมแดนยังจะส่งผลทำลายความมั่นคงและทำให้มีผู้ลี้ภัยหลบหนีเข้าไปในประเทศจีนมากขึ้น เพิ่มโอกาสที่จะมีการแพร่ระบาดของเชื้อเอชไอวี/เอดส์และการลักลอบขนยาเสพติดเข้าไปในจีน

กระบวนการตัดสินใจในการวางแผนและดำเนินงานโครงการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำกระทำกันอย่างเป็นความลับ โดยแทบไม่มีการเปิดเผยข้อมูล ประชาชนไม่มีส่วนร่วมรวมทั้งชุมชนผู้ได้รับผลกระทบในพม่า จนถึงปัจจุบัน ไม่มีหลักฐานชี้ว่าจะมีการทำการประเมินผลกระทบด้านสังคมหรือสิ่งแวดล้อมอย่างพอเพียงและสอดคล้องกับเวลาสำหรับโครงการเขื่อนเหล่านี้ แต่กลับมีการลงนามในสัญญา ทั้งยังเริ่มการก่อสร้างสำหรับบางโครงการแล้วด้วย ชุมชนส่วนใหญ่ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อน จะไม่ได้รับประโยชน์หรือการชดเชยใด ๆ

การก่อสร้าง การดำเนินงานและการสนับสนุนทุนโครงการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำจะต้องดำเนินไปตามมาตรฐานสากลหลายประการ แนวปฏิบัติของคณะกรรมการเขื่อนโลกมีความครอบคลุมมากที่สุด โดยกำหนดให้มีการจัดทำการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและการมีส่วนร่วมของประชาชน รวมทั้งการเปิดเผยข้อมูล กฎบัตรสากลหลายฉบับก็กล่าวถึงความจำเป็นที่จะต้องมีการจัดทำการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และการเคารพต่อสิทธิของชนพื้นเมือง ชุมชนนานาชาติตระหนักมากขึ้นถึงความจำเป็นของความรับผิดชอบของบรรษัท ดังที่ปรากฏในร่างบรรทัดฐานความรับผิดชอบของบรรษัทข้ามชาติ องค์การสหประชาชาติ (UN Norms on the Responsibility of Transnational Corporations) UN Global Compact และ OECD Guidelines for Multinational Enterprises

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ประเทศจีนได้กำหนดทั้งในกฎหมายและนโยบายให้มีการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม การมีส่วนร่วมของประชาชน การรายงานด้านสิ่งแวดล้อม และค่าชดเชยเนื่องจากการโยกย้าย นับแต่ปี 2546 กฎหมายการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมกำหนดให้มีการจัดทำการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการพัฒนาที่สำคัญ ซึ่งต้องประกอบด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชนและการเปิดเผยข้อมูลจากรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ทางหน่วยงานปกป้องสิ่งแวดล้อมแห่งรัฐได้ออกคำประกาศว่าด้วยการเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมของบรรษัทในปี 2546 ซึ่งระบุถึงความจำเป็นที่บรรษัทต้องรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของโครงการและเผยแพร่ต่อสาธารณะ นอกจากนั้นในปี 2549 ทางสภาแห่งรัฐยังมีคำสั่งที่ 471 ว่าด้วยมาตรการเกี่ยวกับการชดเชยการเวนคืนที่ดินและการอพยพประชาชนในพื้นที่โครงการอนุรักษ์น้ำขนาดกลางและขนาดใหญ่และโครงการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ แม้ว่ากฎหมายและมาตรการเหล่านี้มุ่งบังคับใช้ต่อธุรกิจของพลเมืองจีนในประเทศจีน แต่ก็มีความเหมาะสมที่รัฐบาลจีนจะขยายขอบเขตการบังคับใช้มาตรฐานในประเทศเหล่านี้กับโครงการนอกประเทศด้วย

เรายังขอชมเชยนโยบายของรัฐบาลจีนที่มุ่ง “การพัฒนาโดยสันติ” ที่เป็นกรอบกำกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตาม จุดยืนของรัฐบาลกำลังถูกทำลายโดยการกระทำของบรรษัทจีนที่ลงทุนอย่างปราศจากบรรทัดฐานในประเทศอื่นอย่างเช่น พม่า การก่อสร้าง ดำเนินงานและ/หรือสนับสนุนเงินทุนสำหรับโครงการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำในพื้นที่อ่อนไหวโดยไม่มีการจัดทำการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหรือสังคม ไม่มีการมีส่วนร่วมหรือฉันทานุมัติจากประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ หรือไม่มีความโปร่งใสเกี่ยวกับโครงการสร้างเขื่อนและการโยกย้ายประชาชน ชี้ให้เห็นว่าการมีส่วนร่วมของบรรษัทจากจีนในพม่าไม่ได้นำไปสู่การสถาปนาสันติภาพแต่อย่างใด มีผู้แสดงข้อกังวลว่านโยบายควบคุมบรรษัทในประเทศอย่างเข้มงวดมากขึ้นเป็นเหตุให้บรรษัทเหล่านี้ย้ายไปลงทุนในประเทศอื่นที่มีมาตรฐานต่ำกว่ามาก จากการพิจารณาความตึงเครียดทางการเมืองและความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นในพื้นที่โครงการเขื่อน เราขอกระตุ้นให้รัฐบาลจีนพิจารณาถึงความปลอดภัยและความมั่นคงของพลเรือนและบริษัทจากจีนซึ่งทำงานในพื้นที่เหล่านี้ด้วย

โครงการเขื่อนหลายแห่งที่เป็นการดำเนินงานของบริษัทจากจีนในพม่ายังอยู่ในขั้นเริ่มต้น แม้ว่าบางส่วนจะมีความก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วซึ่งนับเป็นโอกาสที่รัฐบาลจีนจะสามารถนำนโยบาย “การพัฒนาโดยสันติ” ไปปฏิบัติได้จริงกับโครงการพัฒนาในประเทศอื่น และมีการนำมาตรฐานสากลมาใช้ด้วย

ด้วยเหตุดังกล่าว เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลจีนตรวจสอบและควบคุมการปฏิบัติงานและสนับสนุนทุนสำหรับการพัฒนาการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำและกิจกรรมเหมืองแร่ในประเทศอื่น ๆ โดยธุรกิจเหล่านี้ควรปฏิบัติตามมาตรฐานของประเทศจีนเองและมาตรฐานสากล เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจโดยได้รับข้อมูลข่าวสาร และผู้ปฏิบัติต้องมีความรับผิดชอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง

1.     การดำเนินการให้มีการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างรอบด้านสำหรับโครงการในประเทศอื่น และให้มีการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชน เพื่อให้สามารถพิจารณาความเป็นไปได้ของโครงการอย่างพอเพียงก่อนที่จะตกลงในสัญญาใด ๆ

2.    ดูแลให้ชุมชนผู้ได้รับผลกระทบได้รับข้อมูลเกี่ยวกับแผนการทุกอย่างของโครงการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ และมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจของโครงการเหล่านี้ อันประกอบด้วยการเปิดเผยข้อมูลรายงานการศึกษาความเป็นไปได้ของการสร้างเขื่อน ข้อตกลงด้านการลงทุนและการเงิน บันทึกความเข้าใจ (MOU) บันทึกข้อตกลง (MOA) และข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับผู้รับผิดชอบโครงการ

เราหวังว่าท่านจะให้คำตอบในทางที่เป็นคุณประโยชน์

                ขอแสดงความนับถือ

                เครือข่ายแม่น้ำพม่า

เครือข่ายแม่น้ำพม่าประกอบด้วยตัวแทนจากองค์กรชาติพันธุ์หลายแห่งที่เป็นตัวแทนของชุมชนผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนในพม่า เรามุ่งส่งเสริมการคุ้มครองระบบนิเวศน์ของแม่น้ำและความหลากหลายทางชีวภาพที่ยั่งยืน คุ้มครองสิทธิและการประกอบอาชีพของชุมชน

องค์กรประชาสังคมที่ร่วมลงนามในจดหมายฉบับนี้

 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง