จดหมายถึง คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง เรื่อง บทบาทคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงต่อการสร้างเขื่อนไฟฟ้าบนแม่น้ำโขงตอนล่าง จาก 178
วันที่ 12 พฤศจิกายน 2550
ถึง ประธานคณะผู้บริหาร สำนักเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง, กรุงเวียงจันทน์, สปป.ลาว
คณะกรรมาธิการจากประเทศผู้ให้ทุนต่อคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง
เรื่อง บทบาทคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ต่อการสร้างเขื่อนไฟฟ้าบนแม่น้ำโขงตอนล่าง
พวกเรา ตามรายชื่อที่แนบท้ายจดหมายฉบับนี้ เขียนจดหมายฉบับนี้เพื่อแสดงความห่วงใย เกี่ยวกับการรื้อฟื้นแผนการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำบนแม่น้ำโขงตอนล่าง โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับความล้มเหลวของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงในการยึดกุมหลักการ “ข้อตกลงความร่วมมือเพื่อการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน” ปี 2538 (ต่อไปนี้จะเรียกว่า “ข้อตกลงแม่น้ำโขง”) ในสภาวะปัจจุบัน ดังมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
เป็นที่ทราบกันว่าในขณะนี้ รัฐบาลของประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) และรัฐบาลของประเทศราชอาณาจักรกัมพูชา ได้อนุญาตให้บริษัทของประเทศไทย มาเลเซีย และสาธารณรัฐประชาชนจีน ดำเนินการสำรวจความเป็นไปได้ในการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำบนแม่น้ำโขง รวมทั้งหมด 6 แห่ง คืออยู่ในประเทศลาว 4 แห่ง ประเทศไทย 1 แห่งและประเทศกัมพูชาอีก 1 แห่ง โดยในปี 2537 สำนักงานเลขาธิการแม่น้ำโขงได้เผยแพร่ข้อเสนอการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำดังกล่าว โดยอ้างถึงการศึกษาโดยบริษัทที่ปรึกษาจากประเทศฝรั่งเศสและแคนาดา อย่างไรก็ตาม ในขณะนั้น แผนการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำทั้งหมดนี้ยังไม่มีความก้าวหน้า เนื่องจากไม่ได้รับการสนับสนุนจากประเทศผู้ให้ทุนต่างๆ ด้วยเหตุผลในเรื่องต้นทุนที่สูงเกินไปและการทำลายระบบนิเวศวิทยาแม่น้ำโขงอย่างรุนแรง รวมทั้งมีการเรียกร้องจากภาคประชาสังคมฝ่ายต่างๆ ทั้งกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ด้านการประมง กลุ่มนักวิชาการ กลุ่มท้องถิ่น และกลุ่มชุมชนที่จะได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงได้เรียกร้องให้ระงับแผนการดังกล่าวนี้ด้วย
ในช่วงที่ผ่านมา มีการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่ในลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งทำให้เกิดผลกระทบข้ามพรมแดนประเทศอย่างชัดเจน โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงด้านอุทกวิทยาและส่งผลเสียหายต่อเนื่องอย่างรุนแรงต่อระบบนิเวศ การประมง และชุมชนที่ต้องพึ่งพาการประมงและระบบนิเวศ ซึ่งได้ตั้งถิ่นฐานอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขานับพันชุมชน ผลกระทบข้างต้นนี้ โดยเฉพาะในประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างการไหลของแม่น้ำตามฤดูกาล และผลิตผลด้านการประมง ได้ถูกศึกษาไว้เป็นจำนวนมาก ทั้งจากกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงเอง กลุ่มที่ปรึกษาด้านการสร้างเขื่อน และองค์กรอิสระอื่นๆ รายงานการวิจัยของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงที่เผยแพร่ในปี 2547 ได้ชี้ว่า การสร้างเขื่อนเพื่อวัตถุประสงค์ด้านการชลประทาน ผลิตกระแสไฟฟ้าและควบคุมอุทกภัยนั้น คือ “ภัยคุกคามอันใหญ่หลวงต่ออนาคตของการประมงและการดำรงอยู่ของพันธ์ปลาในลุ่มน้ำแม่โขง”
ในปี 2546 การประชุมทางวิชาการครั้งที่ 6 เรื่องการประมงในลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งจัดโดยคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง นักวิจัยได้ข้อสรุปประเด็นการสร้างเขื่อนบนน้ำโขงว่า “ ไม่ว่าจะเป็นเขื่อนใดในแม่น้ำโขง...จะส่งผลทำลายล้างต่อพันธุ์ปลา และเขื่อนซำบอจะเป็นเขื่อนที่ส่งผลทำลายล้างพันธุ์ปลาที่เลวร้ายที่สุด”
การสร้างเขื่อนซำบอจะปิดกั้นเส้นทางการอพยพของปลาในแม่น้ำโขง รวมถึงปิดกั้นการอพยพของปลาจำนวนมหาศาลจากทะเลสาบเขมร ซึ่งจะเข้าไปอาศัยและหากินชั่วคราวอยู่ตามวังน้ำลึกต่างๆ ในแม่น้ำโขงตลอดช่วงฤดูแล้ง ในขณะที่การสร้างเขื่อนดอนสะฮอง จะสร้างบริเวณ ”ฮูสะฮอง” ซึ่งอยู่ในพื้นที่สี่พันดอน ใกล้กับน้ำตกคอนพะเพ็งทางตอนใต้ของประเทศลาว และไม่ไกลจากพรมแดนประเทศกัมพูชา นักชีววิทยาการประมงของ World Fish Center ซึ่งมีสำนักงานที่กรุงพนมเปญ ศึกษาพบว่า ฮูสะฮองคือช่องทางน้ำผ่านที่มีความสำคัญมากต่อการอพยพของปลาในแม่น้ำโขง อีกทั้งคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติกัมพูชาชี้ว่า อุตสาหกรรมการประมงมีความสำคัญมากต่อประเทศกัมพูชา ซึ่งผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (จีดีพี) ร้อยละ 12 มาจากการประมง ดังนั้นการลดลงของพันธุ์ปลาในแม่น้ำโขงและแม่น้ำโตนเลสาป แม้จะเป็นสัดส่วนเพียงเล็กน้อยจากจำนวนที่เคยได้ทั้งหมด แต่นั่นหมายถึงผลกระทบอันร้ายแรงต่อชุมชนนับพันชุมชน ในด้านความมั่นคงทางอาหารและคุณภาพชีวิต
แม้ว่าการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขง จะสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจและระบบนิเวศอย่างรุนแรง แต่คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงยังคงมิได้แสดงปฏิกิริยาใดๆ ออกมา พวกเราเห็นว่า ท่าทีเมินเฉยดังกล่าวถือเป็นการหลีกเลี่ยงการทำหน้าที่ หรือปัดความรับผิดชอบอย่างร้ายแรง ทั้งนี้ ภายใต้ข้อตกลงแม่น้ำโขง พ.ศ. 2538 มาตรา 7 เรื่องการป้องกันและการหยุดยั้งผลกระทบที่เป็นอันตราย (Prevention and Cessation of Harmful Effects) คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงมีภารกิจใน “การป้องกันและการหยุดยั้งผลกระทบที่เป็นอันตราย จะมีการดำเนินความพยายามทุกวิถีทาง เพื่อหลีกเลี่ยง ลด และบรรเทาผลกระทบที่เป็นอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้านปริมาณน้ำและคุณภาพน้ำ สภาพน้ำ (ระบบนิเวศ) และความสมดุลย์ด้านนิเวศวิทยาของระบบแม่น้ำ ที่เป็นผลมาจากการพัฒนา และการใช้ทรัพยากรน้ำของลุ่มแม่น้ำโขง...” ดังนั้น ในทางปฏิบัติแล้ว คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงมีหน้าที่ให้คำปรึกษาที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศในลุ่มน้ำโขง เพื่อหยุดยั้งการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลักทั้งหลายนี้ บนพื้นฐานข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงที่ดีที่สุดที่หน่วยงานมีอยู่เกี่ยวกับผลกระทบของเขื่อนที่จะมีต่อระบบนิเวศของแม่น้ำโขง
นอกจากนั้น ภายใต้ข้อตกลงแม่น้ำโขง มาตรา 1 ว่าด้วยเรื่องความร่วมมือ (Areas of Cooperation) คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ได้รับฉันทานุมัติจากประเทศภาคีสมาชิก ในการ “ดำเนินความร่วมมือกันในทุกด้านเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน การใช้ การบริหาร - จัดการ และการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำและทรัพยากรที่เกี่ยวข้องของลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งรวมถึง แต่ไม่จำกัดเฉพาะการชลประทาน ไฟฟ้าพลังงานน้ำ การเดินเรือ การป้องกันน้ำท่วม การประมง การล่องซุง สันทนาการ และการท่องเที่ยว ในลักษณะที่จะทำให้การใช้น้ำ ในประเภทต่างๆ และผลประโยชน์ร่วมกันของประเทศภาคีทั้งปวงให้บรรลุผลสูงสุด...” ในทางกลับกัน พวกเราย่อมมิอาจมั่นใจได้เลยว่า การศึกษาเพื่อการสร้างเขื่อนโดยบริษัทจากประเทศไทย มาเลเซีย และจีน จะทำให้เกิดการใช้น้ำที่ทำให้เหล่าประเทศภาคีสมาชิก สามารถบรรลุผลประโยชน์ร่วมกันได้ในที่สุด
ฉันทานุมัติของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ตั้งอยู่บนพื้นฐานการยอมรับว่า แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำนานาชาติ การตัดสินใจใดๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อการใช้หรือการบริหารจัดการแม่น้ำโขง จึงมิอาจจะดำเนินการโดยประเทศใดประเทศหนึ่งตามลำพัง และละเลยการพิจารณาผลประโยชน์ร่วมกันของกลุ่มต่างๆ ที่หลากหลายในแต่ละประเทศผู้ใช้แม่น้ำโขงร่วมกัน เนื่องจากแม่น้ำโขงเป็นทรัพยากรสาธารณะร่วมกันของชุมชนลุ่มน้ำโขง มิใช่เป็นทรัพยากรเพื่อการแสวงหาประโยชน์ในทางเศรษฐกิจของประเทศใดประเทศหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
ตามเป้าประสงค์ข้อตกลงแม่น้ำโขง คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงมีความชอบธรรมในการดำเนินการเพื่อ “...ทำการศึกษาและจัดการประเมินผลที่เหมาะสมเพื่อคุ้มครองสิ่งแวดล้อม และรักษาความสมดุลย์ด้านนิเวศวิทยาของลุ่มแม่น้ำโขง” (ตามมาตรา 24) และรวมทั้งการจัดการประชุมระหว่างประเทศภาคีสมาชิก เพื่อประเมินโครงการต่างๆ บนแม่น้ำโขง ที่จะส่งผลกระทบต่ออัตราการไหลของแม่น้ำโขงและผลต่อทะเลสาปเขมร ตามมาตราที่ 6
อย่างน้อยที่สุด คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ควรจัดให้มีการประเมินโดยใช้หลักวิชาการที่เชื่อถือได้ ในประเด็นความเหมาะสมการสร้างเขื่อน และต้องเปิดเผยและพิจารณาตรวจสอบการศึกษาที่ทำโดยนักวิชาการจากบริษัทผู้สร้างเขื่อนจากประเทศไทย มาเลเซีย และจีน ทั้งนี้ โดยเริ่มจากการเปิดเผยข้อมูลรายงานการศึกษาผกระทบด้านประมงของเขื่อนดอนสะฮอง ซึ่งคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงได้ทำการศึกษาเสร็จเรียบร้อยแล้วด้วย
อนึ่ง หากคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงไม่สามารถปฏิบัติพันธกิจตามข้อตกลงแม่น้ำโขงปี 2538 รวมทั้งไม่สามารถคุ้มครองความสมบูรณ์ของระบบนิเวศแม่น้ำโขงได้แล้วไซร้ การดำรงอยู่ของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงย่อมไม่เกิดประโยชน์อันใดเลย นอกจากเป็นเพียงหน่วยงานที่มีชื่ออยู่เท่านั้น จึงไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะได้รับทุนช่วยเหลือจำนวนนับสิบล้านเหรียญสหรัฐต่อปี รวมทั้งความช่วยเหลือทางวิชาการจากประเทศผู้ให้ทุนทั้งหลาย
ด้วยสภาพการณ์ และประเด็นความล้มเหลวของคณะกรรมธิการแม่น้ำโขงที่กล่าวมา พวกเราจึงขอเรียกร้องให้กลุ่มประเทศผู้ให้ทุนทั้งหลาย พิจารณาทบทวนอย่างจริงจังว่า สมควรให้ความสนับสนุนคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงหรือไม่ มา ณ โอกาสนี้
ลงนาม
รายนามทั้งหมด 201 รายนาม (178 องค์กร และลงในนามพลเมืองอีก 23 รายนาม)
รายนามจากองค์กรพัฒนาเอกชนในประเทศในลุ่มน้ำโขง
ประเทศกัมพูชา 57 รายนาม (43 องค์กร และลงในนามพลเมืองอีก 14 รายนาม)
ประเทศไทย 73 รายนาม (71 องค์กร และลงในนามพลเมืองอีก 2 รายนาม)
ประเทศจีน 10 รายนาม (8 องค์กร และลงในนามพลเมืองอีก 2 รายนาม)
พม่า 4 รายนาม (องค์กร)
ประเทศสปป.ลาว 4 รายนาม
อาทิเช่น คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กปอพช.) ไทยทั้ง 3 ภาค, กรีนพีชเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค, กลุ่มพลังไท, มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ, กลุ่มนิติธรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม, กลุ่มรักษ์เชียงของ, กลุ่มรักษ์เชียงแสน, เครือข่ายประมงท้องถิ่นจากกัมพูชา, กลุ่มสิ่งแวดล้อมไทใหญ่, ศูนย์อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมลี่เจียง-ยูนนาน,
รายนามจากองค์กรพัฒนาเอกชนในประเทศผู้ให้ทุนต่อคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (ออสเตรเลีย, เบลเยี่ยม, เดนมาร์ก, ฟินแลนด์, ฝรั่งเศส, เยอรมัน, ญี่ปุ่น, เกาหลี, นิวซีแลนด์, นอร์เวย์, สวิสเซอร์แลนด์, เนเธอร์แลนด์, สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา
รวมทั้งจาก องค์กรพัฒนาเอกชนนานาชาติ (บราซิล, แคนาดา, เอสโตเนีย, เอกวาดอร์, กานา,อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, แอฟริกาใต้, ฟิลิปปินส์, ปาเลสไตน์) ทั้งหมด 53 รายนาม (องค์กร) อาทิเช่น องค์กรแม่น้ำนานาชาติ, อ็อกแฟมออสเตรเลีย, เครือข่ายแม่น้ำโขงประเทศญี่ปุ่น, เครือข่ายเฟรนด์ ออฟ ดิ เอิร์ท ในประเทศต่างๆ , เครือข่ายสิ่งแวดล้อมอินโดนีเซีย, สหพันธ์สิ่งแวดล้อมเกาหลี, เครือข่ายปกป้องป่าไม้แอฟริกาใต้ และเครือข่ายอนุรักษ์ป่าบราซิล
สำเนาถึง:
สมาชิกคณะมนตรี (แต่ละประเทศ), คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง
สมาชิกสภาที่ปรึกษา (แต่ละประเทศ), คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง
ผู้ให้ทุนต่อคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง
รัฐบาลประเทศออสเตรเลีย, เบลเยี่ยม, เดนมาร์ก, ฟินแลนด์, ฝรั่งเศส, เยอรมัน, ญี่ปุ่น, เกาหลี, นิวซีแลนด์, นอร์เวย์, สวิสเซอร์แลนด์, สวีเดน, เนเธอร์แลนด์, สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา
ธนาคารพัฒนาเอเชีย
ธนาคารโลก
คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission)
โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme – UNDP)