จดหมายถึงนายกฯ เรื่อง ขอให้ยกเลิกเขื่อนไซยะบุรี

fas fa-pencil-alt
เครือข่ายชุมชน
fas fa-calendar
9 กันยายน 2553

เรื่อง                ขอให้ยกเลิกเขื่อนไซยะบุรีบนแม่น้ำโขง
กราบเรียน          ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ

สืบเนื่องจากการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2553 ซึ่งมี ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในที่ประชุม ได้มีมติเห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจการรับซื้อไฟฟ้าโครงการไซยะบุรี และมอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมลงนามกับผู้ลงทุน คือ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) ตกลงจะรับไฟฟ้าซื้อ 1,220 เมกะวัตต์จากเขื่อนไซยะบุรี

เครือข่ายชาวบ้านในลุ่มน้ำโขง ที่ได้ร่วมลงนามตามรายชื่อแนบท้ายจดหมายฉบับนี้ ได้ติดตามแผนการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขง ทั้งทางตอนบนในจีน และทางตอนล่างบนพรมแดนไทย-ลาว ในลาว และกัมพูชา มาโดยตลอด

ประสบการณ์ที่ผ่านมาพบว่า หลังมีการก่อสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงในจีนในปี 2536 เป็นต้นมา ระบบนิเวศแม่น้ำโขงมีความผันผวนผิดธรรมชาติเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้งที่ผ่านมา
ระดับน้ำโขงแห้งจนถึงระดับวิกฤต และชุมชนต่างเห็นว่ามีสาเหตุหนึ่งจากการปิดกั้นแม่น้ำโขงโดยเขื่อนในจีน

อย่างไรก็ตามจวบจนปัจจุบันปัญหาความเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขงและความเดือดร้อนของงชาวบ้านก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม

ต่อกรณีการอนุมัติแผนการของรัฐบาลไทยที่รับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนไฟฟ้าไซยะบุรี ทางเครือข่ายชาวบ้านมีความเห็นว่า เป็นการสนับสนุนให้สร้างเขื่อนและจะยิ่งซ้ำเติมความเดือดร้อนของชาวบ้านริมโขงให้สาหัสยิ่งขึ้นไปอีก

จึงใคร่ขอกราบเรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ถึงความห่วงใยต่อโครงการเขื่อนไซยะบุรี โดยเฉพาะ ผลกระทบด้านสังคม สิ่งแวดล้อม ทั้งในเขตประเทศลาวและไทย และต่อระบบนิเวศของลุ่มแม่น้ำโขงโดยรวม

โครงการเขื่อนไซยะบุรีตั้งอยู่บนแม่น้ำโขงสายหลักในประเทศลาว ห่างจากชายแดนไทยที่
จ. เลยประมาณ 200 กิโลเมตร ผลกระทบด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศแม่น้ำโขง จึงมิได้เกิดกับประเทศสปป.ลาวเท่านั้น แต่ประเทศไทยที่มีพื้นที่ภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขงก็จะได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน

ประเด็นหนึ่งที่ชาวบ้านเป็นห่วงมากที่สุด คือการปิดกั้นเส้นทางอพยพของปลา และการทำลายระบบนิเวศ ซึ่งชุมชนริมน้ำโขงอาศัยฐานทรัพยากรธรรมชาติในการหาอยู่หากินมาโดยตลอด ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าสาธารณชนไทย โดยเฉพาะชุมชนควรมีสิทธิรับรู้ และร่วมพิจารณาโดยผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนเป็นสำคัญ

การตัดสินใจรับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรีของรัฐบาลไทยในครั้งนี้ เป็นเพียงการตัดสินใจเฉพาะภาคส่วนการเมืองกับหน่วยงานของรัฐ โดยละเลยต่อกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมต่าง ๆ และมิได้ให้ความสำคัญต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อประเทศไทย และประเทศท้ายน้ำ

เครือข่ายชุมชนลุ่มน้ำโขงที่ได้ร่วมลงนามตามรายชื่อแนบท้ายจดหมายฉบับนี้ ขอเรียกร้องให้ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ยกเลิกแผนการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการเขื่อนไซยะบุรี  ซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยปกป้องความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังได้ช่วยร่วมปกป้องทรัพยากรลุ่มแม่น้ำโขง และวัฒนธรรมของประชาชนในลุ่มแม่น้ำโขง ให้สามารถดำรงต่อไปได้อย่างยั่งยืน

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา

ขอแสดงความนับถืออย่างสูง

รายชื่อเครือข่ายชุมชน รับรองจดหมายฉบับนี้

กลุ่มรักษ์เชียงของ เครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง-ล้านนา
เครือข่ายชุมชนริมน้ำโขง อ.เชียงแสน อ.เชียงของ อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย
เครือข่ายชุมชนลุ่มน้ำกก อิง จ.เชียงราย
เครือข่ายชุมชนริมน้ำโขง อ.ปากชม จ.เลย
เครือข่ายชุมชนลุ่มน้ำสงคราม จ.นครพนม
เครือข่ายชุมชนริมน้ำโขง ต.บุ่งคล้า จ.หนองคาย
กลุ่มฮักน้ำของ จ.อุบลราชธานี

 


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง