ชำแหละวิธีพิฆาต “คาร์บอนเครดิต” ไทย/โทรมป่า-ล้มสักทองกลางอุทยานฯแม่ยม
ผู้จัดการออนไลน์
15 มกราคม 2551
ตลอดระยะเวลาเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา “ป่าสักทอง-ดงสักงาม” เนื้อที่กว่า 20,000 ไร่ กลางอุทยานแห่งชาติแม่ยม จ.แพร่ ที่มีเนื้อที่รวม 284,218 ไร่ ถือเป็นประเด็นหลัก ที่ถูกนักอนุรักษ์-ชุมชนชาวสะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ หยิบยกขึ้นมาต่อสู้คัดค้านการก่อสร้าง “เขื่อนแก่งเสือเต้น” โครงการเขื่อนยักษ์ขวางลำน้ำยม อย่างได้ผลมาโดยตลอด
แน่นอน! ประเด็นนี้จะยิ่งได้ผลมากขึ้นในยุคกระแสโลกร้อนกำลังพีกสูงสุดในขณะนี้ ที่แม้แต่ยูเอ็นเองก็รายงานชัดเจนว่า ไม่เกิน 50 ปีจากนี้ พื้นที่ชายฝั่งทะเลจะไม่มีแผ่นดินอยู่ เนื่องจากสภาวะหิมะละลาย ทางออกที่คนทั้งโลกต้องร่วมมือกัน ก็คือ เพิ่มพื้นที่ป่า เช่นเดียวกับ “ป่าสักทอง” กลางอุทยานฯแม่ยม ที่เป็น “คาร์บอนเครดิต” หน่วยหนึ่งของไทย
เพียงแต่วันนี้ “สักทองกลางป่าฯแม่ยม–คาร์บอนเครดิต” ของไทยกำลังถูกทำลายลงไปเรื่อยๆ ด้วยการใช้ยาฆ่าหญ้าที่มีพิษรุนแรง ราดรดให้ต้นสักทอง อายุ 50-80 ปี ดูดซึมแทนอาหาร จนยืนต้นตายทั่วผืนป่า และบางจุดเกิดขึ้นห่างจากที่ตั้งสำนักงานอุทยานแห่งชาติแม่ยม เพียง 3 กม.เท่านั้น
เป็น “ป่าสักทอง” ที่ล้ำค่าในสายตานักอนุรักษ์-นักวิชาการ และล้ำค่าตามโครงการฟื้นฟูป่าไม้ในสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถอีกด้วย
โดย นายชุม สะเอียบคง กำนันตำบลสะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ กล่าวว่า สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ทรงห่วงใยสภาวะแวดล้อมของประเทศ และเน้นให้มีการฟื้นฟูป่าไปทั่วประเทศ ป่าดงสักงาม เป็นอีก 1 แห่ง ที่พระองค์ท่านส่งเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวัง-นักวิชาการ เดินทางมาร่วมดูพื้นที่ป่าและถ่ายรูปเก็บไว้
“วันนี้ป่าดงสักงามถูกคนร้ายวางยา จนต้องยืนตายทั่วไปทั้งป่า และที่สำคัญอยู่ในจุดที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ ทรงห่วงใย เป็นจุดที่สำคัญต่อชุมชน สำคัญต่อนักท่องเที่ยว ก่อนหน้านี้ถ้าเราขึ้นไปที่จุดชมวิว จะเห็นดอกสักสีทอง อร่ามไปทั่วเวิ้งของลุ่มน้ำยม ต่อไปในฤดูฝนหน้าเราอาจไม่เห็นดอกสักสีทองอีกแล้ว”
ดยกรณีดังกล่าวชุดลาดตระเวนของชาวบ้านตำบลสะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ซึ่งเป็นชุมชนในเขตป่าอนุรักษ์ ภายในอุทยานแห่งชาติแม่ยม ตรวจพบว่า มีกลุ่มบุคคลบางกลุ่มใช้มีดบากเปลือกไม้สัก อายุเฉลี่ย 50-80 ปี ในป่าแม่ยม ให้เป็นแผลขนาด 5-10 ซม.จากนั้นใช้ยาฆ่าหญ้าราดรดตรงรอยแผล เพื่อให้ต้นสักดูซึมแทนอาหาร จนทำให้ต้นสักทองยืนต้นตายกระจายทั่วผืนป่า
จากการสำรวจโดยชาวบ้านที่พบมีการวางยาต้นสักทอง มีจำนวน 750 ต้น บริเวณสองข้างทางลาดตระเวน จึงได้รายงานให้นายชุม สะเอียบคง กำนันตำบลสะเอียบทราบ หลังจากนั้นคณะกรรมการป่าชุมชนได้นำเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเข้าตรวจสอบพบว่ามีการทำลายเป็นจำนวนมาก จึงได้รายงานให้ นายเฉลิมศักดิ์ วานิชสมบัติ อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติทราบโดยด่วน
กระทั่งวันที่ 12 ม.ค.2551 ที่ผ่านมา นายเฉลิมศักดิ์ ได้เดินทางเข้าตรวจสอบทางอากาศ ก่อนที่จะเข้าประชุมเจ้าหน้าที่จากกรมอุทยานฯ ที่อยู่ในจังหวัดแพร่ทั่งหมด ภายในสำนักงานอุทยานแห่งชาติแม่ยม โดยได้มอบหมายให้นายประจักรพงศ์ ไทยกลาง ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 (แพร่) เป็นหัวหน้าชุดในการเดินสำรวจโดยละเอียดต่อไป
นายเฉลิมศักดิ์ ยืนยันว่า เท่าที่รับรายงานมีการทำลายไม้สักใน 2 จุดใหญ่ๆ ห่างจากที่ทำการอุทยานไปทางทิศเหนืออยู่ริมฝั่งแม่น้ำยม ซึ่งเป็นบริเวณที่จะมีโครงการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น โดยเชื่อว่าเป็นฝีมือของขบวนการทำไม้เถื่อน ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหญ่มากนัก
วันที่ 13 ม.ค.2551 นายประจักรพงศ์ ไทยกลาง ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 (แพร่) -นายนายมงคล แสงรุ่งอรุณ นักวิชาการป่าไม้ 7 ว.หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแม่ยม พร้อมด้วยกำลังเจ้าหน้าที่จาก 4 อุทยานฯ - 2 เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและหน่วยดับไฟป่า ในจังหวัดแพร่ ได้ร่วมกันออกเดินเท้าสำรวจต้นไม้ที่ถูกวางยาและยืนต้นตายอยู่กลางป่า พบว่ามีกระจายอยู่ทั่วไปของพื้นที่ป่าแม่ยม มีการทำลายต้นไม้สักทองทุกขนาด ตั้งแต่ขนาดใหญ่ เส้นรอบวงลำต้น 1 เมตร ไปจนถึง 2-3 เมตร
นอกจากนั้น ยังพบมีการลักลอบตัดไม้สักแล้วถากเปลือกออก พบเห็นร่องรอยอยู่โดยทั่วไป ซึ่งเป็นไม้มีค่าถูกขนย้ายผ่านร่องน้ำในแม่น้ำยม ซึ่งการลำเลียงไม้สักออกทางน้ำต้องผ่านหน้าที่ทำการอุทยานแห่งชาติแม่ยม และเส้นทางรถยนต์มียามตรวจมากกว่า 2 ด่าน
และเมื่อวันที่ 14 ม.ค.2551 นายสมชัย หทยตันติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ พร้อมด้วยตัวแทนจากหลายหน่วยงานได้เข้าตรวจสอบพื้นที่อีกครั้ง
โดยรองผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ กล่าวว่า ปัญหาดังกล่าวถือเป็นการทำลายที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติการจับกุมขบวนการลักลอบตัดไม้ในทุกป่าของเมืองแพร่ ซึ่งหลังเกิดเหตุได้นำเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเดินทางเข้ามาดูร่วมกัน เพื่อหาทางแก้ปัญหาระยะยาวต่อไป เราจะต้องดูว่าจะดูแลรักษาอย่างใรให้อยู่นานที่สุด ประการต่อมาต้องมาดูสาเหตุและวิธีการลักลอบซึ่งไม่เคยมีมาก่อนเลยในจังหวัดแพร่
“จากหลักฐานที่กองพิสูจน์หลักฐานเข้ามาดำเนินการเชื่อว่าภายใน 3 วันนี้จะสามารถออกหมายจับได้”
รองผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ กล่าวอีกว่า กรณีที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของตัวบุคคลที่หากินทำประโยชน์จากไม้สัก เป็นบุคคลที่รู้จัก-ชำนาญพื้นที่ดี ได้สั่งการให้ ผอ.สำนักฯ จัดกำลังคนมาคอยดูแลติดตามหาข่าวอย่างใกล้ชิด โดยเข้าร่วมมือกับคณะกรรมการดูแลรักษาป่าของตำสะเอียบที่มีความเข้มแข็งอยู่แล้ว
รองผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ยืนยันอีกว่า จากการตรวจพิสูจน์แล้วพบว่ามีเพียง 297 ต้นเท่านั้น ที่มีการใช้มีดเฉาะเพื่อใส่ยา ไม่มากอย่างที่เป็นข่าว แผนงานข้างหน้าจะต้องทำอย่างไรให้มีการสร้างคนที่เข้ามาดูแลป่าอย่างยั่งยืนต่อไป โดยจะมีการของบประมาณจากสำนักอนุรักษ์ที่ 13 มาทำการอบรมราษฎร รวมไปถึงงบประมาณอยู่ดีมีสุขที่ชาวบ้านสามารถนำไปพัฒนาป่านี้ให้เกิดกระบวนการปกป้องผืนป่าต่อไป
เช่นเดียวกับ พล.ต.ต.ชำนาญ รวดเร็ว ผบก.ภ.จว.แพร่ กล่าวว่า ทีมพิสูจน์หลักฐานทำงานได้ผล และจะออกหมายจับผู้กระทำผิดได้ภายในวันที่ 18 ม.ค.51 นี้อย่างแน่นอน กลุ่มคนที่ก่อการเหล่านี้ เป็นกลุ่มทำไม้ในท้องถิ่น ที่นำไม้ลำเลียงไปตามลำน้ำยมและไปขึ้นฝั่งที่บ้านวังดิน ต.บ้านหนุน อ.สอง จ.แพร่
ขณะที่ นายเส็ง ขวัญยืน ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 ดอนชัยสักทอง ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ในฐานะคณะกรรมการป่าชุมชน ต.สะเอียบ กล่าวว่า จากการสำรวจพบว่ามีการวางยาต้นสักเป็นส่วนหลัก โดยไม่เลือกว่า จะเป็นไม้มีโพลงหรือผุด้านใน ขนาดเล็ก หรือใหญ่
บริเวณที่มีการวางยา คือ จุดชมวิวของอุทยานฯ ที่นักท่องเที่ยวมักขึ้นไปชม ที่จะเห็นดอกสักบานในฤดูฝน ซึ่งจุดเกิดเหตุอยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานเพียง 3 กิโลเมตรเท่านั้น ไม่ทราบว่าเจ้าหน้าที่จะรู้หรือไม่ หรือไม่มีกำลังพอ แต่ชาวบ้านได้ออกมาเตือนหลายครั้ง
นายเส็ง กล่าวอีกว่า การลักลอบตัดไม้ของชาวบ้าน ที่คณะกรรมการป่าชุมชนตำบลสะเอียบตรวจสอบในระยะที่ผ่านมา มักลักลอบตัดไม่กี่ต้น และทอนเป็นท่อนซุง จากนั้นใช้ช้าง หรือควาย ชักลากด้วยล้อเลื่อนออกไปทางบ้านดอกคำใต้ ต.แม่ตีบ อ.งาว จ.ลำปาง ไม่มีการแปรรูปในป่า
แต่ครั้งนี้มีการวางยาด้วยยาฆ่าหญ้าที่มีพิษรุนแรง ไม่เว้นแม้แต่ต้นที่เป็นโพลงไช้ไม้ไม่ได้ จุดวางยากระจายอยู่ตลอดเส้นทาง ห่างจากอุทยานเพียง 3 กม.เท่านั้น โดยในช่วงขาเข้าจากปากงาว พบว่ามีการตัดไม้ไม่มากเพียง 19 ตอที่ตัดใหม่ และมีร่องรอยการถาก พร้อมทั้งยังทิ้งร่องรอยของการเข้าป่าว่าเป็นชาวบ้าน ถือเป็นเรื่องน่าผิดสังเกตที่คนตัดไม้ไม่เคยทำมาก่อน เป็นการทิ้งรองรอยให้เห็นทุกขั้นตอน อาจจะเพื่อชี้ว่า มาจากการทำไม้ แต่ตามประสบการณ์เชื่อว่า กรณีนี้ไม่ได้วางยาต้นไม้เพื่อธุรกิจเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการวางยาเพื่อให้ป่าแม่ยมมีต้นสักเหลือน้อยลงมากกว่า เพื่อลดความชอบธรรมของความเป็นดงสักงามกลางเขื่อนแก่งเสือเต้น
ด้าน นายบำเพ็ญ บินไทสงค์ นายอำเภอสอง เปิดเผยว่า ทางมหาดไทยได้รับรายงานจากกำนันมาเป็นลำดับ และได้แจ้งเตือนไปยังนายมงคล แสงรุ่งอรุณ หัวหน้าอุทยานฯหลายครั้ง แต่ไม่ได้รับความร่วมมือ ซึ่งขณะนี้เกิดเหตุใหญ่ขึ้นมาแล้วการแก้ไขคงทำได้ยาก
อ้างอิง : http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9510000005645