ชะตากรรมบนแผ่นดินสงครามแห่งรัฐกะเหรี่ยง
ชีวิตท่ามกลางสงครามที่ริมฝั่งแม่น้ำสาละวิน
ดวงตะวันอับแสงขมุกขมัวที่ปลายดอยริมฝั่งแม่น้ำสาละวิน ระรอกคลื่นกระเพื่อมไหวเมื่อเรือหางยาวลำใหญ่เข้าจอดเทียบที่ริมหาดทราย ผู้โดยสารกว่า 70 คนท่าทางอิดโรยทยอยเดินขึ้นจากเรือ แบกสัมภาระเดินเร่งฝีเท้าลัดเลาะลำห้วยเข้าสู่หุบเขาเล็กๆ ก่อนแสงสุดท้ายของวันจะสิ้นไป
บนที่ราบแคบๆ ริมลำห้วยในรัฐกะเหรี่ยง ประเทศพม่า ไม่ไกลจากชายแดน จ.แม่ฮ่องสอน เพิงพักชั่วคราวนับร้อยหลังถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่พักพิงสำหรับชาวบ้านกว่า 800 คน ผู้หนีภัยความตายจากการรุกรานของกองทัพพม่า ภายใต้การคุ้มครองดูแลของกองกำลังกู้ชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union)
“มาถึงที่นี่ได้ก็ดีใจที่สุดแล้ว อย่างน้อยคืนนี้ก็คงได้นอนหลับสนิท” หม่อทู ชายชาวกะเหรี่ยงวัย 40 ปีที่หนีตายมาพร้อมครอบครัว กล่าวขณะรับผ้าพลาสติก ข้าวสาร พริก และเกลือ จากหน่วยงานบรรเทาทุกข์ ก่อนแยกไปสร้างเพิงพักเพื่อเป็นที่นอนในคืนนี้
เช่นเดียวกับชาวบ้านคนอื่นๆ หม่อทูและครอบครัวต้องทิ้งบ้านอย่างกะทันหันเมื่อทหารพม่าเข้ามาโจมตีหมู่บ้าน ซ่อนตัวในป่านานนับเดือน เมื่อข้าวสารและเสบียงหมด แต่ทหารพม่ายังคงปิดล้อม ชาวบ้านจึงตัดสินใจเดินเท้าข้ามลำห้วยและภูเขาสูงเป็นเวลานานนับเดือนเพื่อมายังริมฝั่งสาละวิน
ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2548 เป็นต้นมา กองทัพพม่าได้เปิดศึกครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 10 ปี ในรัฐกะเหรี่ยง ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองหลวงใหม่ของพม่าที่ปินมะนาเพียงราว 100 กิโลเมตร กลุ่มบรรเทาทุกข์ Free Burma Rangers รายงานว่าการโจมตีรัฐกะเหรี่ยงครั้งนี้ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่อย่างน้อย 11,000 คนต้องพลัดถิ่น หมู่บ้านอย่างน้อย 54 แห่งถูกเผาหรือทิ้งร้าง
กองทัพพม่าได้ขยายกองกำลังในพื้นที่รัฐกะเหรี่ยงอย่างหนัก นับเป็นการเพิ่มกำลังทหารครั้งใหญ่ที่สุด
เหตุผลหลักของการโจมตีรัฐกะเหรี่ยง
กลุ่มบรรเทาทุกข์ Free Burma Rangers วิเคราะห์ว่าการที่กองทัพพม่าเพิ่มกำลังทหารและโจมตีรัฐกะเหรี่ยงครั้งนี้มีสาเหตุหลักดังนี้:
- ควบคุมประชาชน
- ปราบปรามกองกำลังกู้ชาติชนกลุ่มน้อย
- ควบคุมการค้า
- ควบคุมทรัพยากร เช่น ไม้สัก และทอง
- สร้างเขื่อนบนแม่น้ำสาละวิน
เจ้าหน้าที่เคเอ็นยูคนหนึ่งให้ข้อมูลว่า “เรารู้ว่าพวกเขา (ทหารพม่า) จะยังคงโจมตีเราต่อไป เราจึงต้องปกป้องประชาชนของเรา แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือเราต้องหยุดการโจมตีครั้งนี้ให้ได้”
ถ้าไม่หยุดการโจมตี ประชาชนชาวกะเหรี่ยงที่ต้องเดือดร้อนจากภัยสงครามจะเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว รายงานระบุว่าขณะนี้ชาวบ้านกว่า 9,000 คนกำลังซ่อนตัวในป่า และกว่า 1,100 คนเดินทางมายังพื้นที่ปลอดภัยที่ชายแดนตะวันตกของประเทศไทย
ค่ำแล้ว ชาวบ้านที่เพิ่งเดินทางมาถึงวันนี้ยังสร้างเพิงพักไม่เสร็จ เด็กน้อยร้องไห้ด้วยความหิวและอ่อนเพลียจากการเดินทางไกล ผู้ชายตัดไม้ไผ่เร่งลงเสาและทำโครงหลังคา ผู้หญิงและคนแก่ช่วยกันสานหลังคาใบไม้ เพิงเล็กๆ หลังนี้จะเป็นเกราะกำบังให้แก่หลายชีวิตที่จะนอนหลับภายใต้ผืนฟ้าที่ชายขอบของแผ่นดินพม่าในคืนนี้
ซอหม่อทู เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานบรรเทาทุกข์ซึ่งได้รับมอบหมายให้ดูแลค่ายพักพิงชั่วคราวแห่งนี้เล่าว่า “ชาวบ้านหนีกันมาถึงที่นี่ทางเราก็ต้องดูแล มีหมอ มียารักษาเบื้องต้น มีข้าวสาร พริก ให้พอประทังชีวิตไปได้”
“ที่สำคัญที่สุดคือต้องหาพื้นที่ปลอดภัยให้ชาวบ้านอาศัยอยู่ชั่วคราวไปก่อน แต่ก็ไม่รู้จะดูแลกันได้แค่ไหน ทหารของเราก็มีน้อย ฐานพม่าอยู่ห่างไปแค่ 4-5 กิโล จะมาโจมตีพวกเราเมื่อไหร่ก็ไม่รู้” ซอหม่อทูกล่าวด้วยความกังวล แต่ถึงจะเสี่ยงอย่างไร หุบเขาแห่งนี้ก็เป็นพื้นที่สุดท้ายที่ผู้หนีภัยความตายจะฝากชีวิตไว้ได้
“หนี” ไม่ใช่ทางเลือก
“ทหารพม่าเข้ามาบุกหมู่บ้าน ชาวบ้านต้องรีบหนีเอาชีวิตรอด แทบไม่มีเวลาหยิบข้าวหรือของใช้ติดตัว ไม่ว่าเด็กหรือคนแก่ ทุกคนต้องไป ถ้าอยู่ก็ตาย” ซอโหย่เว เล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อหกสัปดาห์ก่อน ก่อนที่เขาและชาวบ้านทั้งหมู่บ้านจะทิ้งทุกอย่างหนีเอาชีวิตมายังที่นี่
มีรายงานว่าในหลายหมู่บ้าน ทหารพม่ามีคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษรแนบเป็นจดหมายมาพร้อมลูกกระสุนปืน สั่งให้ชาวบ้านย้ายไปอยู่ในพื้นที่ “แปลงอพยพ” ซึ่งควบคุมโดยทหารพม่า พร้อมระบุเส้นตายว่าหากพบชาวบ้านในหมู่บ้านเดิมหลังจากวันที่กำหนดจะถูกฆ่าทิ้งทันที
แปลงอพยพเหล่านี้ตั้งอยู่บนที่ราบใกล้ถนนที่ถูกใช้เป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ของกองทัพพม่า เป็นเส้นทางลำเลียงเสบียง กองกำลัง และยุทโธปกรณ์ของกองทัพพม่า
“ถ้ายอมไปอยู่ในแปลงอพยพเราก็เหมือนตายทั้งเป็น ทหารพม่าต้อนให้เราไปอยู่ใกล้ๆ กับค่ายทหาร ไม่มีบ้าน ไม่มีอะไรทั้งนั้น เราต้องสร้างทุกอย่างขึ้นมาใหม่ ถูกต้อนไปเรายังไม่มีบ้านจะซุกหัวนอนแต่ต้องไปสร้างค่ายให้ทหารพม่าก่อนสร้างบ้านของเราเอง อาหารก็ไม่มีจะกิน” เหยื่อสงครามเล่าด้วยน้ำเสียงเครือ
ภายใต้การควบคุมของกองทัพพม่า ชาวบ้านต้องเผชิญการละเมิดสิทธิมนุษยชนมากมาย ทั้งการเรียกเก็บส่วยเป็นข้าวสาร อาหาร สัตว์เลี้ยง และเงิน ที่สาหัสที่สุดคือการบังคับใช้แรงงานทาส
กองทัพพม่าที่เข้ากวาดล้างหมู่บ้านของประชาชนในรัฐกะเหรี่ยงและกวาดต้อนชาวบ้านเข้าสู่แปลงอพยพด้วยเหตุผลหลักคือตัดการสนับสนุนของชาวบ้านกะเหรี่ยงต่อกองกำลังของเคเอ็นยู และเข้าควบคุมพื้นที่อย่างเบ็ดเสร็จ
เหตุผลเหล่านี้ทำให้ชาวบ้านไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากหนีออกจากหมู่บ้านมาซ่อนตัวในป่า หรือจำใจหนีความตายข้ามพรมแดนไปยังค่ายผู้ลี้ภัยบนแผ่นดินไทย
เหยื่อสงครามตัวน้อย
สงครามที่กินเวลานานกว่าครึ่งศตวรรษทำให้ประชาชนบนแผ่นดินนี้มีชีวิตระหกระเหิน ไม่มีใครรู้ว่าพรุ่งนี้จะเกิดอะไรขึ้น แม้ทุกคนจะมีความหวังว่าสันติภาพจะคืนกลับมาในสักวัน แต่สิ่งหนึ่งที่น่ากังวลคือชีวิตน้อยๆ ที่เติบโตมาบนแผ่นดินเพลิง
เด็กๆ ที่ต้องเผชิญกับภัยสงครามสามารถรับรู้ได้โดยไม่ต้องสอนว่าทหารพม่าคือสิ่งอันตรายที่ทุกคนต้องหนี
“ตอนที่หนีตอนกลางคืนหนูกลัวมาก กลัวทหารพม่ายิง อยากกลับบ้าน แต่พม่าเข้ามาเราก็อยู่ไม่ได้ถ้าทหารพม่าไปเราก็จะกลับไปอยู่บ้านได้เหมือนเดิม” หน่อนอ เด็กหญิงวัย 12 ปีพูดเสียงใสเหมือนเรื่องสะเทือนใจที่เธอเล่าเป็นเรื่องปกติ
การมีชีวิตที่ระหกระเหินหนีตายกันเป็นประจำ ทำให้ประชาชนตัวเล็กๆ ไม่ได้รับการศึกษาอย่างต่อเนื่อง หรืออาจไม่เคยรู้จักโรงเรียนเลย
“ตั้งแต่ฉันอายุ 5 ขวบเราก็ต้องหนีกันอยู่ในป่า ตื่นเช้ามากินข้าวเสร็จก็เก็บของใส่ตะกร้าเตรียมหนีต่อ ฉันไม่เคยรู้จักเลยว่าโรงเรียนเป็นอย่างไร” พอวา เจ้าหน้าที่หญิงชาวกะเหรี่ยงคนหนึ่งเล่าย้อนความหลัง
โรงเรียนตามหมู่บ้านต่างๆ ในเขต IDP หรือเขตที่ชาวบ้านต้องหนีกันอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง การสร้างโรงเรียนและหาครูมาประจำก็ยากลำบากอยู่แล้ว การหาครูมาสอนนักเรียนตัวน้อยที่หนีกันอยู่ในป่าแทบเป็นไปไม่ได้ นอกจากว่าชาวบ้านในหมู่บ้านที่พอจะมีความรู้อาสามาเป็นครูสอนเด็กๆ กันเอง
“ตอนพวกเราหนี ครูก็หนีไปด้วยกัน ไปตั้งโรงเรียนกันในป่า สอนหนังสือไปก็ต้องคอยฟังข่าวสถานการณ์ไปด้วย” ผู้ใหญ่บ้านเล่า
หมอของคนทุกข์
สุขภาพของผู้พลัดถิ่นอยู่ในขั้นวิกฤติ เด็กๆ จำนวนมากขาดสารอาหารและน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์อย่างน่าตกใจ โรคที่ประชาชนเป็นกันมากที่สุดคือมาลาเรีย วัณโรค ท้องร่วง และโรคติดเชื้ออื่นๆ
ชาวบ้านที่หนีซ่อนกันในป่าต้องเสาะหายาสมุนไพรรักษากันตามมีตามเกิด หรือถ้าโชคดีก็อาจได้พบกับคณะแพทย์เคลื่อนที่จากหน่วยงานบรรเทาทุกข์
“ยามีน้อยมาก ส่งมาได้แค่ปีละ 2 ครั้ง ยิ่งช่วงที่พม่าเปิดศึกสกัดเส้นทางลำเลียง การขนยาลำบากมาก” วินซอ หมอหนุ่มชาวกะเหรี่ยงประจำคลินิกที่ฐานที่มั่นแห่งหนึ่งกล่าว
คลินิกนี้เป็นศูนย์กลางในการส่งทีมแพทย์เคลื่อนที่ออกเดินเท้าไปรักษาชาวบ้านตามหมู่บ้านและในป่า หลายครั้งที่อาการคนไข้สาหัส เช่น ถูกยิง หรือเหยียบกับระเบิด ก็ส่งมายังคลินิกแห่งนี้ หากอาการรุนแรงมากต้องช่วยกันหามคนไข้เดินข้ามภูเขา 2-4 วันเพื่อส่งข้ามไปรักษายังฝั่งไทย
ที่พื้นที่พักพิงริมห้วยสาขาของสาละวิน ผู้หนีภัยความตายยังโชคดีที่มีหมอคอยดูแล โดยตั้ง “คลินิก” ในเพิงไม้ไผ่คลุมหลังคาด้วยผ้าพลาสติก เปิดรักษาคนไข้ที่มารอหมอตั้งแต่เช้าตรู่ คลินิกนี้มีหมอชาวกะเหรี่ยง 3 คน เป็นหมอที่ฝึกจากแม่ตาวคลินิกของหมอซินเทีย มาว แพทย์หญิงชาวกะเหรี่ยงเจ้าของรางวัลแมกไซไซ
ตะวันคล้อย เมื่อคนไข้ที่คลินิกเริ่มน้อยลง หมอหนุ่มวัย 25 ปีถือกล่องยาออกไปตรวจรักษาคนไข้อาการหนักที่นอนรอหมออยู่ตามเพิงพัก ซึ่งคนไข้ส่วนใหญ่เป็นมาลาเรีย ท้องร่วง และอ่อนเพลียจากการรอนแรมมาหลายสัปดาห์
“ตอนนี้มีแค่ยาบรรเทา ยาฉีดยังส่งมาไม่ได้ เราก็รักษาเท่าที่ทำได้ไปก่อน ถ้าได้ยาก็คงรักษาคนไข้ได้มากกว่านี้” หมอกล่าวก่อนหันไปแทงสายน้ำเกลือให้แก่คนไข้ที่นอนหายใจรวยรินอยู่บนพื้น
ค่ำแล้ว จันทร์เสี้ยวส่องแสงวับวาวที่ยอดไม้ เพิงพักมืดเป็นเงาดำนิ่งสนิท ผู้พลัดถิ่นที่อ่อนเพลียต่างหลับใหลด้วยความอุ่นใจว่าที่บนยอดดอยและริมฝั่งน้ำ มีทหารกะเหรี่ยงคอยรักษาความปลอดภัย
ลุ่มสาละวินยังคงเป็นที่ปลอดภัย ตราบเท่าที่สายน้ำยังคงไหลอย่างอิสระ
หมายเหตุ ชื่อบุคคลที่ให้สัมภาษณ์เป็นชื่อสมมุติเพื่อเหตุผลด้านความปลอดภัย