ชะตากรรมของแม่น้ำโขงแขวนอยู่บนการตัดสินใจสร้างเขื่อน

fas fa-pencil-alt
RYT9
fas fa-calendar
27 มิถุนายน 2557

กรุงเทพฯ--20 มิ.ย.--WWF ประเทศลุ่มน้ำโขงทั้งสี่จะเข้าพบปะหารือในกรุงเทพช่วงสัปดาห์หน้าในประเด็นของผลประโยชน์และการจัดการต่างๆ ในความร่วมมือกันระหว่างประเทศเกี่ยวกับการจัดการหนึ่งในแม่น้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลก และทาง WWF เองได้แจ้งเตือนถึงเวลาที่เหลือเพียงน้อยนิดเกี่ยวกับความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการสร้างเขื่อนซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของอาหารและวิกฤตโลมาแม่น้ำที่ใกล้สูญพันธุ์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ได้ทำการประกาศการตัดสินใจในช่วงเดือนกันยายนปีที่แล้วในเรื่องของการดำเนินการสร้างเขื่อนพลังงานไฟฟ้าดอนสะโฮงโดยหลีกเลี่ยงที่จะเข้าในขั้นตอนปรึกษากับคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง และโครงการดังกล่าวได้เสียงวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างหนักและจะกลายเป็นประเด็นหารือในวันที่ 26 – 27 นี้ซึ่งเป็นการประชุมรัฐมนตรีประจำประเทศลุ่มแม่น้ำโขงโดยจะมีรายชื่อดังนี้ ประเทศกัมพูชา , ประเทศลาว , ประเทศไทยและประเทศเวียดนาม การประชุมร่วมกันระหว่างประเทศแม่น้ำโขงเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาถึงประเด็นดังกล่าวไม่บรรลุผลข้อตกลง แต่อย่างไรก็ตามการสร้างเขื่อนดอนสะโฮงนั้นจะต้องเป็นไปภายใต้การตัดสินใจร่วมกันระหว่างแต่ละประเทศซึ่งจะมีการหารือกันอีกครั้งในการประชุมที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ “ทางตันของทางออกเรื่องเขื่อนดอนสะโฮงนั้นแสดงให้เห็นว่าการร่วมมือระหว่างประเทศในเขตลุ่มแม่น้ำโขงนั้นมีปัญหาอยู่” Marc Goichot, ผู้เชี่ยวชาญด้านไฟฟ้าพลังน้ำอย่างยั่งยืน WWF ภูมิภาคลุ่มน้ำโขงกล่าว “แม่น้ำโขงคือแม่น้ำที่ใช้ร่วมกันทั้งสี่ประเทศการกระทำใดๆ จะต้องอยู่ภายใต้การตกลงของคณะกรรมการ การตัดสินใจสร้างเขื่อนอาจนำมาซึ่งผลกระทบที่อาจส่งผลต่อประเทศเพื่อนบ้าน และหากปราศจากการร่วมมือกัน นั่นหมายความว่าความปลอดภัยของทรัพยากรอาหารของผู้คนกว่า 60 ล้านคนในสี่ประเทศกำลังตกอยู่ในอันตราย.” โครงการการสร้างเขื่อนดอนสะโฮงเป็นภัยคุกคามอันใหญ่หลวงของโลมาอิรวดีที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์และเป็นการปิดกั้นช่องทางเดียวในการอพยพของปลาในแต่ละฤดูกาลซึ่งจะเป็นการทำให้หนึ่งในแหล่งประมงขนาดใหญ่ของโลกต้องตกอยู่ในความเสี่ยง ในปัจจุบันนี้ผู้คนจำนวนเกือบ 150,000 คนได้ลงชื่อเห็นด้วยกับ WWF ในการยุติการสร้างเขื่อนดังกล่าวที่มีกำหนดการสร้างในปีหน้านี้แล้ว “เราขอขอบคุณผู้คนจากทั่วโลกที่ใช้เสียงของคุณมาเป็นเครื่องมือในการปกป้องและพิทักษ์สิ่งมีชีวิตหายากอย่างโลมาอิรวดีเหล่านี้” Chhith Sam Ath ผู้อำนวยการ WWF ประจำประเทศกัมพูชา กล่าว “เวลากำลังนับถอยหลังลงเรื่อยๆ สำหรับการยับยั้งเขื่อนดอนสะโฮงครั้งนี้ ประเทศลาวควรที่จะยุติโครงการดังกล่าวและศึกษาถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นให้ดีเสียก่อน” หากเขื่อนดอนสะโฮงได้ถูกสร้างขึ้นนั่นจะเป็นเขื่อนที่สองที่ถูกสร้างขึ้นในแม่น้ำโขง โดยเขื่อนแรกนั้นคือเขื่อนไซยะบุรีที่ทางประเทศลาวได้มีการเริ่มการพัฒนาโดยคัดค้านเสียงต่อต้านจากประเทศกัมพูชาและเวียดนามในช่วงปีก่อน ซึ่งทางกลุ่มอนุรักษ์จำนวนถึงกว่า 40 องค์กรได้ทำการประกาศต่อต้านโครงการนั้นและได้เรียกร้องให้ประเทศไทยยกเลิกข้อตกลงการซื้อขายพลังงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการดังกล่าว “การหารือและข้อตกลงของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงในปี 2012 ได้ถูกทำลายลงเมื่อประเทศลาวได้ตัดสินใจเดินหน้าโครงการเขื่อนไซยะบุรีโดยไม่ฟังคำคัดค้านจากประเทศเวียดนามและกัมพูชา” Goichot กล่าวต่อ. “กลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขงจำเป็นที่จะต้องผลักดันความร่วมมือให้เกิดขึ้นอีกครั้งและแก้ไขปัญหาและขจัดความคลุมเครือใดๆ ก่อนตัดสินใจ” ความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญต่างๆ มองว่าเขื่อนไซยะบุรีนั้นมีช่องว่างและจุดอ่อนมากมายในเรื่องของการอพยพของปลาและได้ยืนยันว่าโครงการนั้นเป็นการขัดขวางการอพยพของปลาและการไหลของตะกอนที่ติดกับระบบนิเวศของแม่น้ำ. ถึงแม้ประเทศลาวจะได้ทำการตัดสินใจเพิ่มงบประมาณเข้าไปอีกประมาณหนึ่งร้อยล้านเหรียญสหรัฐเพื่อบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นแต่พวกเขาก็ยังไม่ตอบรับถึงความร่วมมือที่มีการหารือไปเมื่อปี 2012 ที่ผ่านมา “ในการผลักดันโครงการเขื่อนในแม่น้ำโขงให้เดินหน้าต่อไปนั้น ประเทศลาวคาดหวังความเสี่ยงต่างๆ ที่เพื่อนบ้านกังวลนั้นจะได้รับการแก้ไขไปในขณะเดียวกันกับที่โครงการได้เดินหน้าไปพร้อมกัน” Goichot กล่าวเพิ่มเติม “การประชุมในกรุงเทพฯ ครั้งนี้จะเป็นตัววัดว่าจะเกิดความร่วมมือหรือข้อพิพาทในลุ่มแม่น้ำโขง และตอนนี้ก็ยังไม่สายเกินไปที่จะระงับการก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรีก่อนที่อันตรายที่ไม่อาจแก้ไขกำลังจะเกิดขึ้น” WWF เรียกร้องให้รัฐมนตรีประเทศลุ่มแม่น้ำโขงเลื่อนการตัดสินใจสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงออกไปอีก 10 ปีเพื่อศึกษาถึงข้อมูลก่อนตัดสินใจโดยใช้การวิเคราะห์และข้อมูลที่เป็นวิทยาศาสตร์มาเป็นส่วนสำคัญของการตัดสินใจเดินหน้าต่อ

 https://www.ryt9.com/s/prg/1923906

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง