ชาวบ้านบ้านดงนาหวั่น เขื่อนบ้านกุ่มกระทบชีวิต วอนศึกษาให้ดีก่อนตัดสินใจ

fas fa-pencil-alt
ศูนย์ข่าวประชาสังคม
fas fa-calendar
20 พฤษภาคม 2551

ชาวบ้านดงนาริมแม่น้ำโขง เมืองอุบลฯ ซึ่งต้องหาปลาในแม่น้ำโขงขายและแลกข้าวเลี้ยงชีวิต รวมทั้งปลูกผักริมโขง หวั่นเขื่อนบ้านก่มทำให้ชาวบ้านไม่สามารถหาปลาและทำเกษตรได้ วอนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาให้ดีก่อนตัดสินใจสร้าง

นางสาคร ขันธิวัฒน์ ราษฎรบ้านดงนา ต.หนามแท่ง อ.ศรีเมืองใหม่ จ.อุบลราชธานี ซึ่งเป็นหมู่บ้านริมแม่น้ำโขงที่ตั้งอยู่เหนือเขื่อนบ้านกุ่มที่ทางรัฐบาลไทยมีแผนจะสร้างกั้นแม่น้ำโขงที่บริเวณบ้านท่าล้ง ต.ห้วยไผ่ อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวประชาสังคม จ.อุบลราชธานี เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2551 ว่า

“ถ้าสร้างเขื่อนแล้วเสียดายเรื่องการหาปลา ชาวบ้านที่อยู่ที่นี่ได้หาปลาในแม่น้ำโขงเลี้ยงชีวิต ทุกวันนี้ชาวบ้านดงนาเอาปลาแลกข้าวกับคนหมู่บ้านอื่น ทั้งไปแลกเองและคนเขาเอามาแลก เลยมีข้าวกิน เพราะที่บ้านดงนาไม่มีที่ให้ทำนา ปลาที่เอาไปแลกมีทั้งปลาสดหรือไม่ก็ทำปลาร้าไปแลก ข้าวที่กินทุกวันนี้ได้มาจากการเอาปลาไปแลกมา ถ้าไม่เอาปลาไปแลกข้าวก็ขายเอาเงิน โดยจะมีรถพ่อค้าเข้ามารับซื้อถึงในหมู่บ้าน ชาวบ้านหาปลาบางวันได้ 50 กิโลกรัม อย่างไม่ได้ก็วันละ 20 กิโลกรัม ถ้าช่วงปลาขึ้น ฝนตก จะได้ปลาเยอะมาก มันขึ้นมาจากทางที่เขาจะสร้างเขื่อน อาหารสมบูรณ์คนก็เลยไม่อยากหนี หาปลาได้ 20 กิโลกรัม ก็เอาไปขายได้คุ้มกับค่าน้ำมัน ปลาตัวใหญ่ 3 ตัว ก็ได้ 20 กิโลกรัมแล้ว ปลาที่ได้มีปลานาง ปลาอีตู๋ กิโลละ 60-65 บาท ถ้าน้ำมันแพงคนซื้อเขาก็ขึ้นราคาให้ หากินได้

นอกจากจากนี้ชาวบ้านที่นี่ยังปลูกผักตามริมฝั่งแม่น้ำโขงกันแทบทุกหลังคาเรือน มีทั้งข้าวโพด ฝ้าย ถั่วลิสง มัน กระเทียม ดินมีความอุดมสมบูรณ์มาก ชาวบ้านไม่ต้องใช้ปุ๋ยเลย ปลูกไว้ทั้งขายทั้งกิน อย่างถั่วลิสงชาวบ้านขายได้กิโลกรัมละ 120 บาทเป็นอย่างต่ำ ปีหนึ่งมีรายได้เป็นหมื่น

เคยมีเจ้าหน้าที่ที่ดูแลเรื่องการสร้างเขื่อนลงพื้นที่มาพูดคุยกับชาวบ้านว่าเขื่อนดังกล่าวมีความจำเป็นต้องสร้าง เพื่อประเทศไทยจะได้มีไฟฟ้าใช้ ซึ่งชาวบ้านยังสงสัยว่าไฟฟ้าไม่พอใช้จริงหรือเปล่า นอกจากนี้ทางเจ้าหน้าที่ยังบอกด้วยว่าหากหาปลาไม่ได้เหมือนเดิมจะส่งเสริมให้ชาวบ้านเลี้ยงปลาในกระชัง ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่อยากเลี้ยงปลาในกระชังเพราะต้องมีค่าซื้ออาหารปลา มันลงทุนสูง ไม่เหมือนการหาปลาในธรรมชาติ และอยากฝากบอกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าก่อนจะสร้างเขื่อนต้องมีการศึกษาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับธรรมชาติ และชาวบ้านให้ดีและถี่ถ้วนเสียก่อนว่ามันจะได้คุ้มกับสิ่งที่ต้องสูญเสียไปหรือไม่”

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง