ชาวบ้านบุญเรืองสอนมวยทุนใหญ่เศรษฐกิจพิเศษ ขอแค่ความสุขพอเพียง-ไม่ทำลายธรรมชาติ เปิดเวทีใหญ่ฟันธงไม่เอาแหล่งอุตสาหกรรม-รู้ทันเล่ห์บริษัทที่ปรึกษา

fas fa-pencil-alt
สำนักข่าวชายขอบ
fas fa-calendar
9 กันยายน 2558

เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2558 เวลา 13.30 น. ที่สำนักงานเทศบาลตำบลบุญเรือง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ได้มีการจัดเวทีประชุมกลุ่มย่อยระดับตำบลในกรณีโครงการส่งเสริมและพัฒนาด้านการค้าการลงทุนอาเซียน (กิจกรรมร่างแผนแม่บทการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษและสร้างความรู้ความเข้าใจกับประชาชน) โดยมีชาวบ้านเข้าร่วมประมาณ 400 คน พร้อมทั้งมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงทั้งทหารและตำรวจ คอยดูแลความเรียบร้อยตลอดการจัดกิจกรรม ทั้งนี้บริเวณชั้น 3 ของสำนักงานเทศบาล มีการจัดนิทรรศการภาพถ่ายเรื่องเล่าชุมชนบุญเรือง ผักสด ผลไม้สด ที่ชาวบ้านช่วยกันเก็บมาจากป่าบุญเรืองเพื่อสะท้อนความอุดมสมบูรณ์ของป่าชุมชน


เวลาประมาณ 14.00 น. บริษัทที่ปรึกษาด้านการวางแผนเขตเศรษฐกิจพิเศษ จังหวัดเชียงราย ได้นำเสนอหลักการของรัฐบาลที่เลือกจังหวัดเชียงรายเป็น 1 ในพื้นที่พัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยนายจักกริช ธรรมศิริ กรรมการบริหารบริษัทปัญญา คอนซัลแตนท์ จำกัด ที่ดำเนินการด้านการปรึกษาเขตเศรษฐกิจพิเศษ จังหวัดเชียงราย กล่าวว่า ในการจัดเวทีวันนี้เป็นการทำแผนแม่บทที่ประชาชนทุกตำบลที่จะมีการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษสามารถนำเสนอทางเลือกของจังหวัดได้ ซึ่งเป็นรูปแบบที่ใช้สำหรับจังหวัดเชียงรายพื้นที่เดียว โดยหากชาวบ้านเลือกที่จะไม่รับหลักการ และปฏิเสธเขตเศรษฐกิจพิเศษ ทางคณะที่ปรึกษาที่จัดเวทีก็จะยอมรับฟัง แต่อยากยืนยันว่า จังหวัดเชียงรายจะเป็นจังหวัดเดียวที่มีเขตอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ เน้นการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติและอื่นๆ โดยจะมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยรัฐบาล เช่น การสร้างถนนเชื่อมโยงพื้นที่จากตัวเมืองเชียงราย เข้ามายังอำเภอเชียงของ นอกจากนี้ยังมีเรื่องของสิทธิประโยชน์ที่ชาวบ้านในพื้นที่จะได้รับ เช่น การจ้างงานในกรณีที่มีการตั้งโรงงานแปรรูปอุตสาหกรรมการเกษตร เป็นต้น


“การเกิดเขตเศรษฐกิจพิเศษ ไม่ได้เกิดทันทีทันใด แต่จะเกิดช้าๆ และสร้างประโยชน์ระยะยาว เช่น ที่มาเลเซียใช้เวลากว่า 18 ปี คนมาเลเซียก็มีชีวิตที่ดีขึ้น โรงงานที่เกิดขึ้นในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ก็มีการจ้างคนท้องถิ่นในระดับผู้บริหาร ส่วนแรงงานไร้ฝีมือในภาคการผลิตก็จ้างต่างชาติ ถ้าไทยมีก็จะเป็นเช่นนั้น ผมจึงเชื่อว่ามีประโยชน์ และขอให้ชาวบ้านได้นำไปคิดข้อเสนอเข้ามาว่าต้องการเขตเศรษฐกิจพิเศษแบบใด” นายจักกริช กล่าว

นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ กล่าวว่า อุตสาหกรรมเชิงนิเวศนั้นไม่มีอยู่จริง สิ่งที่คณะทำงานด้านการขับเคลื่อนเขตเศรษฐกิจพิเศษต้องทำ คือ การทำตามจังหวะก้าวของกระบวนการมีส่วนร่วม เวทีวันนี้ชาวบ้านบุญเรืองระบุชัดว่าไม่เอานิคมอุตสาหกรรม ส่วนสิทธิประโยชน์ที่บริษัทที่ปรึกษาพยายามนำเสนอ ที่มีการลดหย่อนภาษี จ้างงาน กระจายรายได้ฯลฯ นั้นเป็นเพียงการกำหนดสิทธิประโยชน์เพื่อคนลงทุน โดยในเงื่อนไขนั้นไม่มีชาวบ้าน เกษตรกร ชาวนา หรือคนท้องถิ่น

นายสมหวัง ศิริเลิศวาจา อายุ 60 ปี ชาวบ้านตำบลบุญเรือง กล่าวว่าปัญหาคือ การสร้างเศรษฐกิจพิเศษไม่ว่าครั้งใดก็ตามรัฐบาลพยายามจะหาที่ดินราคาถูก อย่างป่าอนุรักษ์บุญเรืองที่มีมากกว่า3,000 ไร่นี้ เป็นป่าที่ดินสาธารณะประเภทหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (นสล.) ดังนั้นการที่รัฐบาลเลือกทำเลนี้มาสร้างอุตสาหกรรม ตามแผนที่พัฒนาที่มีข้อมูลออกมาในวันนี้เป็นความพยายามลดต้นทุนที่ดินของรัฐ เพราะในอำนาจการพัฒนานั้นสามารถเพิกถอนที่ดินได้ ซึ่งหากชาวบ้านยอมปล่อยให้รัฐกับเอกชนที่ลงทุนเข้ามาใช้ที่ดิน เท่ากับว่าฝ่ายสนับสนุนนิคมอุตสาหกรรมมีแต่จะลดต้นทุนในการจัดการที่ดินสำหรับการพัฒนาด้านต่างๆ เพื่อกำไรในอนาคต แต่สำหรับคนบุญเรือง ที่ดินดังกล่าวมีค่ามากกว่านั้น เพราะป่าอนุรักษ์นั้นเชื่อมระบบนิเวศมากมายเข้าด้วยกัน เชื่อมสังคม เชื่อมวัฒนธรรม และวิถีชีวิตเข้าด้วยกัน คนนอกก็มาหาของป่าในพื้นที่ได้ แต่ห้ามทำลาย ชาวบุญเรืองไม่มีใครแสดงความเป็นเจ้าของป่าดังกล่าว แต่ยังคงอนุรักษ์ไว้เพราะเชื่อว่าหากมีป่า จะมีน้ำ ช่วงน้ำหลากปลาจะอพยพเข้ามา ส่วนช่วงน้ำแล้งชาวบ้านก็สูบน้ำอิงเข้ามาใช้ พยายามใช้ทรัพยากรอย่างระมัดระวัง ไม่โลภ รอคอยช่วงเวลาในการทำเกษตรตามธรรมชาติจะลำบากหน่อยก็ทนเอา อย่างช่วงเดือนมีนาคม เมษายนที่ผ่านมา วิกฤติแล้งรุนแรงมาก แต่ชาวบ้านปลูกข้าวนาปรัง ปลูกผักลำบาก ผลผลิตน้อย ก็ต้องหางานอื่นทำ ไม่เข้าไปบุกป่าขยายพื้นที่

“ผมพูดเลย คนชุมชนบ้านผมไม่ได้รวย คนจนเยอะมาก เขาก็รับจ้างรายวันเอา บางคนเกิดมาไม่มีที่ดินทำกินเลย แต่เขาไม่เคยมาพูด มาร้องขอที่ดิน หรือมาแอบถางป่า ทำกิน เพราะเราเคารพป่ามาก เราจึงหวงมาก ความหวงของเรามันมากเกินจะปล่อยให้นิคมอุตสาหกรรมมาแย่งน้ำของเราไปใช้ หากเกิดภาวะแย่งน้ำ คนบ้านเราจะจนกว่าเดิม อีกสิ่งที่ผมกลัว คือถ้ามีนิคมอุตสาหกรรมมา โรงงานเขาจะหักน้ำไว้ใช้ แล้วพอเอาน้ำไปใช้ เกิดมีน้ำเสียปล่อยทิ้ง เรากลัวว่าน้ำจะไหลเข้าที่นาเกิดความเสียหาย เราจะต้องจากบ้านไปหากินที่อื่น เราจึงไม่เอา และไม่มีทางจะเสนอทางออกหรือทางเลือกใดแก่นายทุนทั้งสิ้น รัฐหาพื้นที่อื่นได้ก็หาไป แต่เราไม่ให้ป่าแห่งนี้ จะเจอท่วมบ้างก็ไม่เป็นไร เราอยู่ได้ และไม่มีความขัดแย้งกัน” นายสมหวัง กล่าว

นางศรีธร อรุณวระศิลา ชาวบ้านตำบลบุญเรืองกล่าวว่า การกินอยู่ของคนบ้านนอก ไม่ได้ขึ้นอยู่กับระดับเงินเดือนของแต่ละคน แต่ขึ้นอยู่กับความอุดม สมบูรณ์ ของป่า น้ำ และความช่วยเหลือระหว่างคนในชุมชน โดยไม่ต้องให้รัฐบาลกลางหรือใครมากำหนด ภาพความฝันของคนบุญเรืองในอนาคตนั้นไม่มีอะไรมากไปกว่าการขออยู่อย่างสงบ การเสนอแผนจ้างงานที่บอกจะให้เงินเดือน เอาตัวอย่างชีวิตต่างชาติกลุ่มที่มีกิน มีใช้มาแนะนำ ไม่จูงใจคนบุญเรืองมากนัก เรากินปลาธรรมชาติ กินพืชธรรมชาติ และปลูกเองมากกว่าการซื้อกิน ดังนั้นหลักการง่ายๆ คือ เราไม่สนใจการค้าที่รัฐบาลพยายามโฆษณาว่าจะเกิดการเปลี่ยนสินค้าเกษตรกรรมระหว่างประเทศ และมีพื้นที่แปรรูปสินค้าเกษตร เพราะการกินโดยไม่แปรรูปสำคัญที่สุด ปลอดภัยที่สุด

“เรามีลูกหลายบางคนที่ไปทำงาน มาบตาพุด ทุกคนกลับมาพูดเหมือนกันหมดแหละว่า น้ำดำ ปลาตาย ไม่มีใครอยากกินอะไรในเขตนั้น มันอันตราย เห็นเขาถ่ายรูปมาฝาก ฉันรู้สึกไม่ดี ไม่อยากเห็นบุญเรืองเป็นแบบนั้น” นางศรีธร กล่าว

นายศักดิ์ชาย วงศ์กนิษฐ์ นายอำเภอเชียงของ กล่าว่าเวทีวันนี้ชัดเจน ว่า ชาวตำบลบุญเรืองไม่ต้องการอุตสาหกรรม ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ แต่ไม่ได้หมายความว่าชาวอำเภอเชียงของไม่ต้องการ อย่างไรก็ตามได้รับเรื่องร้องเรียนที่ชาวบ้านมายื่นให้เกี่ยวกับข้อเสนอและความคิดของชาวบ้าน รวมทั้งเรื่องการเสนอให้อนุรักษ์พื้นที่ป่า ซึ่งตนจะนำข้อมูลเสนอผู้ว่าราชการจังหวัดต่อไป

อ้างอิง : https://transbordernews.in.th/home/?p=9777

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง