ชาวบ้านบุญเรืองเตรียมยกทัพร่วมเวทีเศรษฐกิจพิเศษระดับตำบล ปธ.สภาน้ำอิงย้ำป่าชุ่มน้ำ 3 พันไร่อายุกว่า 500 ปีไม่เหมาะสร้างอุตสาหกรรม วิจารณ์แซ่ด เทศบาลออกหนังสือเชิญเข้าร่วมแค่ 20 คน

fas fa-pencil-alt
สำนักข่าวชายขอบ
fas fa-calendar
8 กันยายน 2558

เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2558 นายถนอม อุตมะ ประธานสภาประชาชนลุ่มน้ำอิง เปิดเผยว่า หลังจากประชาชนตำบลบุญเรือง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงรายเริ่มตื่นตัวในเรื่องการเคลื่อนไหวคัดค้านนิคมอุตสาหกรรม ในเขตเศรษฐกิจพิเศษพื้นที่อำเภอเชียงของมาระยะหนึ่งแล้ว ในการประชุมกลุ่มย่อยระดับตำบลในกรณีโครงการส่งเสริมและพัฒนาด้านการค้าการลงทุนอาเซียน (กิจกรรมร่างแผนแม่บทการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษและสร้างความรู้ความเข้าใจกับประชาชน) ที่จะจัดขึ้น ณ เทศบาลตำบลบุญเรืองในวันพรุ่งนี้ (9กันยายน) ตนได้เตรียมความพร้อมจะนำเสนอแผนพัฒนาทรัพยากรน้ำและป่าในรูปแบบของท้องถิ่น เพื่อความยั่งยืนให้ทางที่ประชุมรับทราบ และหวังว่า เวทีในวันพรุ่งนี้จะเปิดให้ประชาชนเข้าอย่างเป็นอิสระ มีเวลาให้ชาวท้วงติงและนำเสนอข้อมูลของชุมชนอย่างเต็มที่ ไม่ฉาบฉวยเหมือนกับเวทีโครงการพัฒนาอื่นๆในอดีต อย่างไรก็ตามยืนยันว่า ชาวบ้านจะไม่ยอมเปิดโอกาสให้ใครมาทุบทำลายป่าอนุรักษ์ที่มีอายุมากกว่า 500 ปี อย่างแน่นอน



“ป่าชุ่มน้ำแม่น้ำอิงที่ชุมชนบุญเรืองอนุรักษ์มี 3,000กว่าไร่ เป็นป่าที่เป็นบ่อเงิน บ่อทองของชาวบ้าน ถ้ามองจากสะพานข้ามแม่น้ำอิง เป็นป่าแบบอ่างกระทะ ที่มีน้ำหลากในช่วงหน้าน้ำ และเป็นพื้นที่ซึ่งปลาในแม่น้ำโขงอพยพมาวางไข่ช่วงน้ำหลาก ก่อนจะว่ายกลับไปแม่น้ำโขงเมื่อน้ำลด ชุดความรู้เหล่านี้คนบุญเรือง คนลุ่มน้ำอิง เขาก็รู้กัน นักอนุรักษ์ที่อื่นเขาก็มาดูงาน มาเดินป่าเป็นระยะ เราไม่อนุญาตให้ทำลาย หรือไม่อนุญาตให้ใครครอบครอง เวทีที่จะจัดพรุ่งนี้ ชาวบ้านจะสะท้อนภาพความเป็นชุมชนให้ที่ประชุมรู้ เมื่อรู้แล้วเราก็อยากได้เวลาในการศึกษาเชิงลึกและบันทึกประวัติป่าบุญเรืองไว้ให้ละเอียด เผื่อจะให้พวกนักค้า นักธุรกิจเขาอ่านทำความเข้าใจอีกครั้ง” นายถนอม กล่าว

ประธานสภาฯ กล่าวด้วยว่า เชื่อว่าแผนเศรษฐกิจพิเศษนี้มีการคิดมานานมาก สังเกตได้จากความตื่นตัวของนายทุนที่กว่านซื้อที่ดินปลูกข้าวโพดในอีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำอิง (ตรงข้ามชุมชนบุญเรือง) ที่ดินของสำนักงานปฏิรูปเพื่อการเกษตร (สปก) ถูกนายทุนซื้อเอาไปออกเป็น นส.3แทบทั้งหมดแล้ว หลายคนพยายามจะเข้ามาซื้อในชุมชนบุญเรือง แต่ไม่สำเร็จ เพราะชาวบ้านเข้มแข็ง เนื่องจากมีบทเรียนหลายพื้นที่ในจังหวัดเชียงรายที่ป่าชุมชนโดนยึดไปหลายส่วน บ้างประกาศเขตอุทยานแห่งชาติ บ้างสร้างอาคาร ที่พัก ดึงดูดนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะสันดอยยาวที่ทอดระยะทางมาจากอำเภอเทิง อำเภอเชียงคำจนถึงอำเภอเชียงของ ชาวบ้านกำลังเผชิญกับโครงการพัฒนาดอยตุงแห่งที่2 โดยป่าชุมชนที่ชาวเขาอาศัยอยู่ เริ่มถูกเจ้าหน้าที่รัฐสั่งห้ามเก็บของป่าแล้ว คนลุ่มน้ำอิงจึงหวงแหนป่าบุญเรืองมาก และไม่อยากสูญเสียป่าผืนใหญ่ไปเหมือนสันดอยยาวซึ่งเป็นป่าเชื่อมโยงกันกับป่าบุญเรือง การต่อต้านเขตอุตสาหกรรมจึงดูเข้มแข็งขึ้นทุกขณะ นอกจากจะขับเคลื่อนประเด็นการปกป้องป่าอนุรักษ์เก่าแก่แล้ว ทางสภาลุ่มน้ำอิงยังยายามเจรจากับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท) เพื่อออกแบบการอนุรักษ์ป่าแนวสันดอยหมอก (ตรงข้ามสันดอยยาว) อีกด้วย โดยมีวัตถุประสงค์ คือ เพื่อพื้นฟูสภาพป่าให้กลับมามีลักษณะคล้ายป่าบุญเรือง ส่วนสันดอยยาวคงยากเกินแก้ไขแล้ว ดังนั้นในระหว่างการดำเนินการฟื้นฟูสันดอยหมอกเพื่อปรับปรุงป่าชาวบ้านจึงไม่ต้องการให้มีโครงการที่ทำลายป่าใดๆเข้ามาแทรก เพราะเป็นการบริหารทรัพยากรที่สวนทางกับชุมชน

นายพิชเญศพงษ์ คุรุปรัชฌามรรค ตัวแทนชาวบ้านชุมชนตำบลบุญเรือง กล่าวว่า ในวันพรุ่งนี้ชาวบ้านทั้งตำบลอาจจะรวมตัวกันไปรับฟังข้อมูลประมาณ 700 คน โดยหลายคนยังไม่เคยรับรู้เรื่องรายละเอียดในแผนที่ที่จะสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษมาก่อน ความหวังของชาวบ้านส่วนมากจึงยังคงอยู่ที่การรับฟังข้อมูลจากทางรัฐบาลว่าจะเป็นอย่างไร และกล้าการันตีหรือไม่ว่า จะไม่มีนิคมอุตสาหกรรม เพราะหากมุ่งหวังพัฒนาเศรษฐกิจชายแดนอย่างเดียว โดยเน้นที่การค้าขาย แลกเปลี่ยนระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านนั้น เชื่อว่า ขณะนี้สถานการณ์การค้าขายดีอยู่แล้ว คนเข้า ออกระหว่างประเทศแบบไม่มีปัญหาใดๆ แต่ข้อกังวลหลักคือ การรับอุตสาหกรรมจากทุนใหญ่ที่จะทำลายลุ่มน้ำในหมู่บ้าน และปล่อยน้ำเสียลงสู่ชุมชน เพราะหากเป็นเช่นนั้นเท่ากับทุบทำลายครัวใหญ่ของชุมชนบุญเรืองและทำร้ายป่าอนุรักษ์เก่าแก่ที่ชาวบ้านดูแลมา

“10 กว่าปีที่ผ่านมา ชาวบ้านปลูกต้นจามจุรีเพิ่มเติมในหมู่บ้าน มีการออกกฎการใช้ป่าร่วมกัน มาปีนี้ต้นจามจุรีโตขึ้นมา เราเพิ่งบวชป่าไปเมื่อสองอาทิตย์ที่แล้ว คนเขามีแต่ปลูกป่าเพิ่ม จู่ๆจะมาเอาพื้นที่ไปเร่ขายให้กลุ่มทุน เราก็รับไม่ได้ บางฤดูกาลชาวบ้านจัดกิจกรรมร่วมกันในชุมชน มีแขกจากที่อื่นมาเยี่ยม เรากางเต็นท์นอนริมน้ำอิง เก็บของป่ามาทำกับข้าว มันพึ่งพาแบบนี้มานานแล้ว ถ้าอุตสาหกรรมมา ทุกอย่างจบ” นายพิชเญศพงษ์ กล่าว

ด้านนายสงวน ซ้อนกลิ่นสกุล รองประธานหอการค้าจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า ในการบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษแบบฉบับเชียงรายนั้น อาจจะมีแหล่งอุตสาหกรรมแน่นอน แต่เป็นอุตสาหกรรมเบา ส่วนมากเขตเศรษฐกิจพิเศษจะเน้นที่การค้าขายเพื่อแข่งขันกันระดับภูมิภาคอาเซียน โดยชาวบ้านทุกพื้นที่มีส่วนร่วมในการเสนอสิทธิประโยชน์ของชุมชนที่จะได้รับ แต่จะให้ไม่มีเลย ประเทศไทยก็จะขาดโอกาสการแข่งขันไป ดังนั้นจะต้องให้เวลาในการพัฒนาเงื่อนไขการลงทุน โดยขณะนี้สินค้านำเข้า และส่งออกไปประเทศใกล้เคียงก็มีปริมาณมากพอสมควร ถ้าเพิ่มการลงทุนเข้ามาก็จะเกิดการจ้างงานในพื้นที่ชายแดนเพิ่มเติม อย่างไรก็ตามในวันพรุ่งนี้ทางหอการค้า อาจจะส่งเจ้าหน้าที่ไปร่วมสังเกตการณ์เวทีประชุมของตำบลบุญเรืองด้วย

ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในเครือข่ายออนไลน์ กำลังมีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงการออกหนังสือเชิญชวนประชาชนเข้าร่วมเวทีประชุมกลุ่มย่อยระดับตำบล ลงนามโดยนายกเทศมนตรี เทศบาลตำบลบุญเรือง โดยระบุกลุ่มเป้าหมายเพียงแค่20คนเท่านั้น ทำให้ผู้ใช้ออนไลน์ตั้งข้อสงสัยถึงโอกาสในการเข้าร่วมเวทีและตั้งคำถามกับเทศบาล ว่าเพราะเหตุใดจึงระบุจำนวนผู้เข้าร่วมเพียง20คน อย่างไรก็ตามชาวชุมชนบุญเรืองและภาคีเครือข่ายเชื่อมั่นว่าการประชุมในเวทีพรุ่งนี้ จะมีผู้เข้าร่วมหลายร้อยคน

วันเดียวกันที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กรุงเทพฯ มีการประชุมคณะอนุกรรมการสิทธิชุมชนถึงประเด็นที่ชาวบ้านร้องเรียนเรื่องความเดือดร้อนของชาวบ้านบุญเรืองหมู่2ตำบลบุญเรือง อำเภอเชียงของกรณีการประกาศพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่ป่าริมน้ำอิง ที่ชาวบ้านได้ส่งหนังสือไปเมื่อวันที่29สิงหาคม โดยมีสาระสำคัญในคำให้การหลายข้อ อาทิ สิทธิชุมชนในการดูแลรักษาและการใช้ประโยชน์ป่าสาธารณะ ข้อกังวลเรื่องน้ำท่วมที่ทำกินของคนในชุมชน ข้อกังวลเรื่องปัญหามลพิษทางอากาศ น้ำ และดิน เป็นต้น เครือข่ายชาวบ้านจึงขอให้ กสม.เร่งตรวจสอบการดำเนินการของแผนพัฒนาดังกล่าวโดยด่วน

อ้างอิง : https://transbordernews.in.th/home/?p=9754

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง