ชาวบ้านแก่งเสือเต้นรุดยื่นหนังสือกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
หวั่นรัฐบาลลักไก่นำเข้าอนุมัติใน ครม. โดยที่ไม่ฟังเสียงประชาชน

fas fa-pencil-alt
สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
fas fa-calendar
 ธันวาคม 2546

สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ


 เมื่อเวลา 12.30 น. นายศรีมูน ขันทะบุตร และนายคำตัน แสงสุพรรณ ตัวแทนชาวบ้านคัดค้านเขื่อนแก่งเสือเต้น ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ และคณะฯ ได้เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อ นางสุนี ไชยรส คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะประธานอนุกรรมการที่ดูแลปัญหาเรื่องดินและน้ำ ที่ห้องประชุม 501 ชั้น 5 ตึกสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อให้ดำเนินการติดตามตรวจสอบรัฐบาลในการผลักดันโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น จ.แพร่ 


 นายศรีมูน กล่าวถึงสาเหตุที่ชาวบ้านต้องส่งตัวแทนเดินทางมายื่นหนังสือต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพราะว่า รัฐบาลนี้ โดยเฉพาะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีท่าทีที่ชัดเจนในการผลักดันโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น จ.แพร่ โดยไม่ฟังเสียงประชาชน ชาวบ้านในพื้นที่มีความกังวลต่อรัฐบาลที่ไม่ดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการกลางขึ้นมาดูแลกรณีเขื่อนยังไม่ได้ก่อสร้าง ทั้ง 5 เขื่อน ที่เคยมีข้อตกลงกับสมัชชาคนจน ไว้ก่อนหนานี้ “ผมคิดว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์คนใหม่ ซึ่งเป็นจอมผลักดันโครงการฯ อาจลักไก่นำเรื่องเข้า ครม. โดยไม่ฟังความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิชุมชน ตามที่กฎหมายรัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้” นายศรีมูนกล่าว 


 ทางด้านนางสุนี ไชยรส คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้รับหนังสือร้องเรียนจากชาวบ้าน และรับที่จะดำเนินการติดตามเรื่อง โดยในเบื้องต้นคณะอนุกรรมการด้านดินและน้ำ ซึ่งตนเป็นประธานอยู่จะได้เร่งทำการศึกษาข้อมูล ซึ่งอาจต้องเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือกัน อาจต้องลงพื้นที่ดูสภาพป่าตามที่ชาวบ้านได้ให้ข้อมูลมาว่าป่าไม้สักทองธรรมชาติยังอุดมสมบูรณ์และหนาแน่นอยู่ เรื่องเขื่อนแก่งเสือเต้นนี้ได้รับรู้กันมานานมีนักวิชาการศึกษามาแล้วหลายต่อหลายคณะ และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทยได้ข้อสรุปว่าโครงการนี้ไม่คุ้มทุน “กรรมการสิทธิ์ ก็คงต้องศึกษาข้อมูลในเบื้องต้น และหากได้ข้อสรุป หรือข้อเสนออย่างไร ก็อาจทำเรื่องเสนอต่อรัฐบาลต่อไป ในเรื่องเขื่อนแก่งเสือเต้น ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ ที่จะส่งผลกระทบต่อชาวบ้านและสิ่งแวดล้อมอย่างมหาศาล เราคงต้องรอบคอบในการตัดสินใจ เพราะมีบทเรียนมามากแล้ว ที่สำคัญคือชาวบ้านก็ได้เสนอทางเลือกในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง ในหลายมาตรการ ก็ต้องถามรัฐบาลว่าได้พิจารณาทางเลือกอื่นๆ รอบด้านแล้วหรือไม่” นางสุนี กล่าว 


 พร้อมกันนี้ตัวแทนชาวบ้านได้มอบกรอบรูปภาพป่าสักทองธรรมชาติขนาดใหญ่ รวมทั้งสมุดปกขาว เล่มที่ 1 และเล่มที่ 2 ซึ่งเป็นเอกสารที่รวบรวมข้อมูลกรณีเขื่อนแก่งเสือเต้น รวมทั้งข้อเสนอทางเลือกในการจัดการน้ำโดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เพื่อให้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการดำเนินการต่อไป


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง