ชาวบ้าน-นักวิชาการชี้ "เขื่อนบ้านกุ่ม" ไม่คุ้ม-ผลกระทบอื้อ ผู้ว่าอุบลฯ สั่งชะลอด่วน

fas fa-pencil-alt
ประชาไท
fas fa-calendar
8 กันยายน 2551

จากกรณีโครงการก่อสร้างเขื่อนบ้านกุ่ม- เขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าแห่งแรกบนแม่น้ำโขง ขนาด 22 ประตู ซึ่งจะใช้งบประมาณในการก่อสร้างกว่า 120,000 ล้านบาท บริเวณพรมแดน จ.อุบลราชธานีกับประเทศลาว ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและลาว โดยรัฐบาลของทั้งสองประเทศได้มอบหมายให้บริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวลล็อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และบริษัทเอเชีย คอร์ป โฮลดิ้งส์ จำกัด เป็นผู้ดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ นั้น นายชวน ศิรินันทพร ผู้ว่าฯ จ. อุบลราชธานี ได้ทำหนังสือด่วนมาก ชี้แจงว่าทางจังหวัดยังไม่รับทราบเรื่อง จึงให้ทางบริษัทชะลอการดำเนินการใดๆ ไว้ก่อน จนกว่าจะได้รับการยืนยันจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นทางการแล้ว

คนอุบลฯจัดเวทีสาธารณะถก 'เขื่อนแสนล้าน'
เมื่อวันเสาร์ที่ 6 กันยายน 2551 ที่ผ่านมา ศูนย์วิจัยสังคมอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และสำนักยุทธศาสตร์ลุ่มน้ำโขง มหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานี ร่วมกันจัดเวทีสาธารณะ: "คน อุบลและสังคมไทยกับโครงการเขื่อนไฟฟ้าบ้านกุ่ม" ณ โรงละคร อาคารศูนย์ศิลปวัฒนธรรมกาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี เพื่อระดมความคิดเห็นจากทุกฝ่ายและรับฟังเสียงจากชุมชนที่จะได้รับผลกระทบ จากการสร้างเขื่อนบ้านกุ่ม ซึ่งมีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมเวทีประมาณ 400 คน


โดยในเวทีดังกล่าว ได้มีการนำเสนอข้อมูลจากรายงานก่อนรายงานความเหมาะสมและรายงานสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น ฉบับเดือนมีนาคม 2551 ซึ่งระบุว่าเขื่อนดังกล่าว จะตั้งที่บ้านท่าล้ง ต.ห้วยไผ่ อ.โขงเจียม โดยจะเป็นเขื่อนแบบน้ำไหลผ่าน (run of river dam) เช่นเดียวกับเขื่อนปากมูล แต่จะมีประตูระบายน้ำจำนวน 22 บาน  และจะทำให้เกิดอ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อนซึ่งมีความยาวประมาณ 110 กิโลเมตร ตามแนวลำน้ำโขงตั้งแต่อ.โขงเจียมไปจนถึงอ.เขมราฐ และมีความจุ 2,111 ล้านลูกบากศ์เมตร มีระดับเก็บกักที่ 115 เมตร รทก. ทั้งนี้ รายงานดังกล่าวยังระบุด้วยว่า จะมีการติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาด 1,872 เมกะวัตต์  ซึ่งจะมีกำลังผลิตไฟฟ้าพึ่งพิงสุทธิ 375 เมกะวัตต์  โดยเขื่อนดังกล่าวจะต้องใช้เงินทุนก่อสร้าง 120,330 ล้านบาท


รองผู้ว่าฯยัน "ถ้าประชาชนเดือดร้อนยอมไม่ได้"

นายสุเทพ เหลี่ยมเจริญ ผอ.สำนักพัฒนาพลังงาน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ได้ชี้แจงความเป็นมาเรื่องเขื่อนบ้านกุ่มว่า กระทรวงพลังงานมีความจำเป็นต้องศึกษาเรื่องการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขง เพราะเป็นสิทธิและผลประโยชน์ของประเทศชาติ เขื่อนบ้านกุ่มเป็นโครงการขนาดใหญ่ ต้องใช้ความระมัดระวังในการดำเนินการ ซึ่งจะต้องทำอีไอเอ การที่ปล่อยให้เอกชนเข้ามาดำเนินการ ประชาชนจะสามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ยาก 


ขณะที่นายสุรพล สายพันธ์ รองผู้ว่าฯ จ.อุบลราชธานี ได้กล่าวยืนยันว่า ทางจังหวัดไม่เคยทราบเรื่องนี้ และการสร้างเขื่อนบ้านกุ่มก็ไม่มีอยู่ในยุทธศาสตร์จังหวัด ถ้าจะมีการสร้างจริงต้องชั่งน้ำหนักข้อดีข้อเสีย ถ้ามีข้อเสียมากก็ไม่ต้องสร้าง ถ้าประชาชนเดือดร้อน ทางจังหวัดก็ยอมไม่ได้

ข้อมูลปกปิดสับสน ไกรศักดิ์ระบุ ผิดกฎหมาย-ขัดรัฐธรรมนูญ
นายประสาร มฤคพิทักษ์ ส.ว. กล่าวว่า จากที่ตนได้ไปรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้าน พบว่าชาวบ้านไม่ต้องการให้สร้างเขื่อนบ้านกุ่ม แต่ได้มีการให้ข้อมูลแก่ชุมชนว่าจะต้องสร้างเขื่อนดังกล่าวอย่างแน่นอน ดังนั้นจึงเกิดความสับสน จากการสอบถามผู้ว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยบอกว่าไม่รู้เรื่องเขื่อนบ้านกุ่ม และไม่ได้อยู่ในแผนผลิตพลังงานไฟฟ้าของประเทศไทยแต่อย่างใด และจะเสนอให้ทางจังหวัดมีการจัดตั้งคณะกรรมการมาศึกษา ติดตามและทำความเข้าใจเรื่องเขื่อนบ้านกุ่ม โดยมีตัวแทนชาวบ้าน สถาบันวิชาการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการ


เช่นเดียวกับนายถนอม ส่งเสริม สว. จ.อุบลราชธานี ซึ่งระบุว่า การตัดสินใจเรื่องสร้างเขื่อนบ้านกุ่ม จะต้องศึกษาข้อมูลเชิงลึก โดยจะต้องมีการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม สังคม สุขภาพ ซึ่งจะต้องศึกษาอย่างรอบด้านและรอบคอบ


ทางด้านดร.ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ สส.และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า รัฐไทยในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ตีความผลประโยชน์ของชาติเป็นผลประโยชน์ของทุนมากกว่าหมายถึงผลประโยชน์ของประชาชน ซึ่งแนวทางการพัฒนาแบบนี้ทำให้วิถีชีวิตของชาวบ้านถูกทำลาย อีกทั้งกระบวนการผลักดันยังขัดต่อกฎหมายหลายฉบับ รวมทั้งรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ว่าด้วยการทำสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่มีพันธะผูกพันจะต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อน รวมทั้งขัดต่อกฎหมายการลงทุน กฎหมายการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร กฎหมายสิ่งแวดล้อม และขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ดังนั้น คนอุบลฯต้องไม่ยอมให้มีการสร้างเขื่อนบ้านกุ่ม ปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง


ผลกระทบอื้อ นักวิชาการชี้ 'ไม่มีทางคุ้มค่า' ชาวบ้านเครียด-วอนรัฐแจงข้อเท็จจริง

ดร. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ กล่าวว่า เขื่อนบ้านกุ่มเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่าแม่น้ำโขงกำลังเผชิญความ ขัดแย้งและการแย่งชิงทรัพยากรจนลุกลามกลายเป็นมะเร็งที่กำลังกัดกิน การสร้างเขื่อนมักจะอ้างว่าจะช่วยแก้ไขน้ำท่วมและทำให้เกิดความแห้งแล้ง แต่เราต้องตั้งคำถามว่าเขื่อนเป็นยาวิเศษจริงหรือไม่
 
ขณะที่นายวิฑูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ จากมูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ ได้กล่าวยืนยันว่า การสร้างเขื่อนบ้านกุ่มไม่มีทางคุ้มค่าอย่างแน่นอน และยังมีการให้ข้อมูลเกินจริง มีการโฆษณาว่าเขื่อนนี้จะผลิตไฟฟ้าได้ 8,000 ล้านหน่วย แต่เขื่อนทุกเขื่อนที่ใช้อยู่ในปัจจุบันรวมกันยังได้แค่ 7,000 กว่าล้านหน่วย ทั้งๆที่มีกำลังผลิตติดตั้งมากกว่าเขื่อนบ้านกุ่มถึงหนึ่งเท่าตัว ทั้งนี้ควรศึกษากรณีเขื่อนปากมูลซึ่งเป็นตัวอย่างสำคัญในด้านความล้มเหลว รวมทั้งแสดงความกังวลว่า เมื่อลงมือก่อสร้างเขื่อนบ้านกุ่มอาจจะต้องใช้งบประมาณมากกว่าหนึ่งเท่าตัว


ด้านนายพฤกษ์ เถาถวิล อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้แสดงความห่วงใยถึงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นหากมีการสร้างเขื่อนดังกล่าวจริง ทั้งในเรื่องความมั่นคงทางอาหารที่จะได้รับผลกระทบอย่างมากจากการสร้างเขื่อนบ้านกุ่ม รวมทั้งปัญหาความขัดแย้ง โดยระบุว่า ไม่อยากให้เรื่องเขื่อนบ้านกุ่มเกิดความขัดแย้งเหมือนชายแดนภาคใต้ ดังนั้น รัฐต้องรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้าน


ขณะเดียวกัน นายสังข์ทอง อินทอง ชาวบ้านบ้านผาชัน ได้แสดงความวิตกว่า หากมีการสร้างเขื่อนบ้านกุ่มจริง จะเกิดผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชุมชนริมแม่น้ำโขงเป็นอย่างมาก รวมทั้งหมู่บ้านของตนซึ่งมีรายได้จากการทำเกษตรริมโขงและประมงปีละ 2-3 ล้านบาท จึงอยากฝากหน่วยงานราชการว่า แค่มีข่าวจะสร้างเขื่อนบ้านกุ่มก็ทำให้ชาวบ้านแตกแยก และได้รับผลกระทบทางจิตใจแล้ว อยากให้มีการชี้แจงข้อเท็จจริงกับชาวบ้านในพื้นที่ว่าเป็นอย่างไรกันแน่


นายเรืองประทิน เขียวสด อาจารย์โรงเรียนบ้านสองคอน ระบุว่า แม้ในปัจจุบันจะยังไม่มีการสร้างเขื่อนบ้านกุ่ม แต่ชุมชนริมน้ำโขงก็ได้รับผลกระทบจากการปล่อยน้ำของเขื่อนในจีนซึ่งทำให้น้ำขึ้นลงอย่างรวดเร็วอยู่แล้ว โดยเมื่อสิบวันที่ผ่านมาไม่มีฝนตกในลุ่มน้ำโขงของประเทศไทยเลย แต่ก็น้ำขึ้นอย่างมาจนแทบท่วมบ้าน พอจีนปิดประตูเขื่อนน้ำก็ลดลงอย่างรวดเร็ว ตนจึงเห็นว่า ในอนาคตศาลโลกอาจจะต้องระเบิดเขื่อนทุกเขื่อนในแม่น้ำโขง เพราะสร้างมาแล้วจะท่วมบ้านเรือนเสียหายหมด


นักวิชาการ-สว.สส. รุดลงพื้นที่ตรวจสอบ
ล่าสุด ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันอาทิตย์ที่ 7 กันยายน 2551 นักวิชาการ, สว. และสส. อาทิ ดร. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, ดร.ชวลิต วิทยานนท์ กองทุนสัตว์ป่าโลก, นายวิฑูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ, นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ, นายประสาร มฤคพิทักษ์สมาชิกวุฒิสภา, ดร.ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ สส.และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อมูลและติดตามสถานการณ์เรื่องนี้อย่างใกล้ชิดแล้ว

 

อ้างอิง : https://prachatai.com/journal/2008/09/18058

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง