ชาวบ้าน/ภาคประชาสังคมรวมตัวหน้าทำเนียบยื่นหนังสือนายก
ถึงเวลารัฐบาลต้องสั่งกฟผ. ระงับเขื่อนฮัตจี!

fas fa-pencil-alt
ชาวบ้าน ภาคประชาสังคม รวมทั้งกลุ่มเยาวชน นักศึกษา
fas fa-calendar
23 พฤศจิกายน 2552

กรุงเทพฯ - วันจันทร์ที่ 23 พฤศจิกายนนี้ ตั้งแต่เวลา 10.00 น. เป็นต้นไป ชาวบ้าน ภาคประชาสังคม รวมทั้งกลุ่มเยาวชนและนักศึกษา นัดรวมตัวกันหน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือลงนามโดย 189 องค์กรต่อนายกรัฐมนตรี และแถลงข่าวกรณีขอให้ระงับการสร้างเขื่อนฮัตจี ซึ่งมีแนวโน้มจะเป็นเขื่อนแรกที่ผลักดันให้สร้างบนลำน้ำสาละวิน ลำน้ำสายอิสระสายสุดท้ายของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่จะทำให้ปัญหาละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่ารุนแรงยิ่งขึ้น รวมทั้งปัญหาสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของทั้งฝั่งไทยและพม่า

ภาคประชาชนสงสัยว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นตัวการหลักในการผลักดันรัฐบาล ทั้งที่ไม่ได้เปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส และไม่สนใจข้อเสนอของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนที่ให้รัฐบาลสั่งระงับการสร้าง กฟผ. ยังคงดื้อดึงผลักดันโครงการอย่างเต็มที่ โดยรัฐบาลมีแนวโน้มตกลงสร้างเขื่อน ซึ่งส่อให้เห็นการร่วมกันเมินชาวบ้าน หลังจากที่นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้รัฐมนตรีพลังงานรับจดหมายแทน แต่รัฐมนตรีกลับส่งต่อให้ผู้ว่ากฟผ.

เขื่อนฮัตจี ขนาด 1,360 เมกะวัตต์ เสนอสร้างบนแม่น้ำสาละวินในเขตรัฐกะเหรี่ยง ประเทศพม่า ห่างชายแดนไทยเพียง 47 กิโลเมตร โดยบริษัท กฟผ. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ร่วมทุนกับบริษัท ชิโนไฮโดร คอร์ปอเรชั่น จำกัด ยักษ์ใหญ่ของจีน และกรมไฟฟ้าพลังน้ำ กระทรวงพลังงานไฟฟ้าของสหภาพพม่า เพื่อผลิตไฟฟ้าขายให้ไทย

โครงการเขื่อนบนแม่น้ำสาละวิน เป็นเป้าหมายการรณรงค์ของกลุ่มภาคประชาสังคมทั่วโลกมาตั้งแต่ปี 2549 และมีการชุมนุมหน้าสถานทูตพม่าในหลายประเทศ โดยมีผู้ลงนามในหนังสือเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรีของไทยหลายพันคน และตั้งแต่เดือนเมษายน 2552 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้เสนอให้รัฐบาลพิจารณาสั่งการให้ กฟผ. ระงับการก่อสร้างเขื่อนฮัตจี ด้วยเหตุผลว่า "การสร้างเขื่อนฮัตจี เป็นการส่งเสริมให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อประชาชนชาวกะเหรี่ยงในพม่า และประเทศไทยต้องแบกรับภาระในการดูแลผู้อพยพ"

การปราบปรามชนกลุ่มน้อยชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่สร้างเขื่อนและสายส่งของทหารรัฐบาลพม่า ได้ทำให้เกิดการทะลักเข้ามายังประเทศไทยของผู้อพยพมากกว่า 3,500 คน และน้ำจากลำน้ำสาละวินที่จะกลายเป็นอ่างเก็บน้ำของเขื่อน จะท่วมล้ำเข้ามาในเขตอำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งกระทบรุนแรงต่อชุมชนฝั่งไทยเหนือเขื่อนเช่นเดียวกันกับในประเทศพม่า

กฟผ. ไม่เคยเปิดเผยข้อมูลที่ชัดเจนต่อทั้งประชาชนในพื้นที่และสาธารณชนไทย แต่กลับดื้อดึงผลักดันโครงการอย่างเต็มที่ ล่าสุดเมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ในการประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียนที่มัณฑะเลย์ รัฐมนตรีพลังงานของไทยยังหยิบยกประเด็นการสร้างเขื่อนฮัตจีกับท่าซางขึ้นมา บ่งชี้ให้เห็นแนวโน้มการสนับสนุนของรัฐบาลที่มีต่อกฟผ. อย่างชัดเจน

“การเข้าไปสร้างเขื่อนในพื้นที่สงครามในประเทศที่ไม่มีประชาธิปไตย ขัดแย้งกันโดยสิ้นเชิงกับข้ออ้างของกฟผ. ว่าฮัตจีจะให้ความมั่นคงด้านพลังงานกับไทย เรามีไฟฟ้าล้นเกินอยู่แล้ว การสร้างเขื่อนสาละวินจะเพิ่มปัญหามากมาย และยิ่งจะทำให้ทางเลือกด้านพลังงานยั่งยืนของไทยยิ่งตีบตัน” มนตรี จันทวงศ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ และนักวิจัยของโครงการฟื้นฟูนิเวศในภูมิภาคแม่น้ำโขง (TERRA) กล่าว

“ชาวบ้านไม่เคยรู้ข้อมูลเรื่องเขื่อนเลย เขาจะสร้างตรงไหน น้ำท่วมเท่าไหร่ ปลาจะหายไปหรือเปล่า คนที่จะสร้างเขื่อนไม่มาถาม ไม่มาบอก เวทีประชาคมให้ชาวบ้านแสดงความคิดเห็นก็ไม่มี” นายนุ ชำนาญคีรีไพร ชาวกะเหรี่ยงจากบ้านแม่ก๋อน หมู่บ้านริมน้ำสาละวิน จังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าว

จดหมายถึงนายกรัฐมนตรีระบุว่า กฟผ. กำลังผลักดันโครงการเขื่อนฮัตจีโดยขาดความโปร่งใส และมีแนวโน้มขัดรัฐธรรมนูญปี 2550 การตัดสินใจสร้างโครงการเขื่อนฮัตจีจะทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศไทยเป็นลบในสายตาประชาคมโลกที่เป็นประชาธิปไตย

ทั้งนี้ ในเวลา 14.00 น. กลุ่มภาคประชาสังคมจะเดินทางไปยื่นหนังสือต่อ ดร.ศรีประภา เพชรมีศรี ในฐานะสมาชิกคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ที่โรงแรมรอยัลริเวอร์ ตามที่ภาคประชาสังคมพยายามผลักดันประเด็นเขื่อนสาละวินเข้าสู่กรอบการพิจารณาของอาเซียนมาตั้งแต่การประชุมมหกรรมภาคประชาชนในวันที่ 18-20 ตุลาคมที่ผ่านมา

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง