ชาวบ้านเผาหุ่นธีระ-สามารถ ค้านสร้าง"เขื่อนแก่งเสือเต้น"

fas fa-pencil-alt

กรุงเทพธุรกิจ

fas fa-calendar

28 กุมภาพันธ์ 2550

ชาวบ้าน ต.สะเอียบ ชุมนุมประท้วงคัดค้านการก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น พร้อมจะเผาหุ่น รมว.เกษตรฯ และอธิบดีกรมชลประทาน เชื่อมีกลุ่มหวังฮุบไม้สัก 


 วานนี้ (27 ก.พ.) ชาวบ้าน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ กว่า 700 คน นำโดย นายชุม สะเอียบคง กำนัน ต.สะเอียบ นายภิญโญ ชมภูมิ่ง นายก อบต.สะเอียบ นายเส็ง ขวัญยืน ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 9 พร้อมคณะได้พาชาวบ้านมาชุมนุมกันที่หน้าทำการอำเภอสอง เพื่อยื่นหนังสือค้านโครงการก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น พร้อมกับเปิดเวทีโจมตี นายธีระ สูตะบุตร รมว.เกษตรและสหกรณ์ และนายสามารถ โชคคณาพิทักษ์ อธิบดีกรมชลประทาน ที่กำลังผลักดันโครงการดังกล่าวขึ้นมาใหม่ 


 นายเส็ง ขวัญยืน ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 9 เปิดเผยว่า วันนี้ชาวสะเอียบรวมตัวกันเพื่อจะยื่นหนังสือผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ถึง รมว.เกษตรและสหกรณ์ ที่ได้มีการมอบนโยบายให้กรมชลประทาน เดินหน้าสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้ง ทั้งนี้เห็นว่าเป็นการละเมิดสิทธิผู้ได้รับผลกระทบของโครงการอย่างไม่มีเหตุผล ทั้งที่โครงการมีข้อขัดแย้งอยู่หลายประการที่จะต้องแก้ไข ซึ่งมีผลกระทบต่อชุมชน สิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังมีมติ ครม.ให้ชะลอโครงการและห้ามดำเนินการใดๆ ทั้งสิ้น 


 ขณะเดียวกัน ชาวบ้านยังได้ออกแถลงการณ์ว่า หลังจากมีการยึดอำนาจของคณะปฏิรูปฯ และได้แต่งตั้งรัฐบาลชั่วคราวขึ้นมาบริหารประเทศ โครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นได้ถูกหยิบยกขึ้นมาอ้างถึงการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำท่วมและภัยแล้งอยู่ตลอดเวลา จนถึงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2550 รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้มอบนโยบายให้กรมชลประทานเร่งผลักดันโครงการ ทั้งที่มีแนวทางอื่นๆ ที่จะกระทำได้ 


 บรรยากาศหน้าที่ว่าการอำเภอสอง แกนนำชาวบ้านได้นำหุ่นฟางจำนวนสองตัว คือ หุ่นฟางของนายธีระ สูตะบุตร รมว.เกษตรและสหกรณ์ และหุ่นฟางของนายสามารถ โชคคณาพิทักษ์ อธิบดีกรมชลประทาน เพื่อจะทำการเผา 


 เมื่อเวลา 11.30 น. ที่บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล นายวสันต์ สิทธิเขตต์ ผู้ประสานงานเครือข่ายศิลปินเพื่อสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยกลุ่มประชาชนที่เคยร่วมชุมนุมกับกลุ่มพันธมิตรได้นำแผ่นป้ายกระดาษหลายแผ่น ระบุข้อความโจมตี รมว.เกษตรและสหกรณ์ กับอธิบดีกรมชลประทาน เพื่อคัดค้านการก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น 


 นายวสันต์ ระบุว่า ข้อเท็จจริงหากโครงการนี้เกิดขึ้น จะทำลายป่าสักทองมูลค่ากว่า 4 พันล้านบาท และมีการแสวงหาผลประโยชน์จากโครงการนี้กันด้วย

อ้างอิง : 'http://www.bangkokpost.com/News/07May2004_news20.php

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง