ชาวบ้านสะเอียบ เห็นแย้ง กรรมาธิการภัยพิบัติฯ วุฒิสภา ดึงฟ้าลงต่ำ
ถวายฎีกา หนุนสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น

fas fa-pencil-alt
นายประสิทธิพร กาฬอ่อนศรี -ประชาไท
fas fa-calendar
1 พฤศจิกายน 2552

 ชาวบ้านสะเอียบ อัดกรรมาธิการภัยพิบัติ วุฒิสภา หลอกชาวบ้านนั่งประชุมครึ่งวัน แอบไปสรุปกันที่กรุงเทพ ว่าจะถวายรายงานหนุนเขื่อนแก่งเสือเต้นให้ในหลวงในวันที่ 5 ธันวาคม 2552 นี้ ด้านชาวสะเอียบเห็นแย้งอย่าดึงฟ้าลงต่ำ เพราะโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นเป็นโครงการที่ไม่คุ้มทุน สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (TDRI.) ได้สรุปให้กับรัฐบาลไปแล้ว อีกทั้งยังเป็นประเด็นขัดแย้งระหว่างหน่วยงานของรัฐกับชาวบ้านและชุมชน ตรงตามมาตรา 67 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน และยังหาข้อสรุปไม่ได้ จะเป็นการระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาทพระองค์ท่าน


 เช้าวันที่ 1 พฤศจิกายน 2552 ชาวบ้านสะเอียบ ทั้งชุมชน มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ทำหนังสือแย้งความเห็นของกรรมาธิการวิสามัญศึกษามาตรการป้องกัน แก้ไขปัญหาพื้นที่การเกษตรและชุมชนผู้ประสบภัยธรรมชาติ วุฒิสภา และเรียกร้องให้ประธานวุฒิสภาตั้งคณะกรรมการที่เป็นกลางตรวจสอบพฤติกรรมของกรรมาธิการชุดนี้ด้วย 


 จากการที่คณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษามาตรการป้องกัน แก้ไขปัญหาพื้นที่การเกษตรและชุมชนผู้ประสบภัยธรรมชาติ วุฒิสภา ได้ลงพื้นที่รับฟังความเห็นชาวบ้าน กรณีภัยธรรมชาติ ในวันที่ 20 สิงหาคม 2552 เวลาประมาณ 12.00-15.00 น. ที่วัดบ้านดอนชัย ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ซึ่งชาวบ้านได้ให้เหตุผลถึงการไม่เห็นด้วยกับโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น ทั้งเหตุผลที่โครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นมีผลกระทบกับป่าสักทองอย่างมหาศาล โครงการขาดความคุ้มทุนตามรายงานการศึกษาของ TDRI. ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน อีกทั้งเขื่อนยังตั้งอยู่บนรอยเลื่อนของเปลือกโลก เสี่ยงต่อเขื่อนแตกหากเกิดแผ่นดินไหว แต่กรรมาธิการกลับไม่นำเหตุผลการคัดค้านของชาวบ้านไประบุในข้อสรุปของกรรมาธิการเลย ในครั้งนั้นกรรมาธิการชุดนี้ได้มีความเห็นโน้มเอียงไปในทางสนับสนุนเขื่อนแก่งเสือเต้น จนทำให้ชาวบ้านสะเอียบ ลุกออกจากที่ประชุมเพื่อเป็นการประท้วงมาแล้ว


 ในวันที่ 2 ตุลาคม 2552 ที่ผ่ามา คณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษามาตรการป้องกัน แก้ไขปัญหาพื้นที่การเกษตรและชุมชนผู้ประสบภัยธรรมชาติ วุฒิสภา ได้จัดประชุมสรุปความเห็นที่รัฐสภา และได้ข้อสรุปว่าจะนำโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นถวายรายงานต่อในหลวง ทั้งที่ชาวบ้าน นักวิชาการ นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมร่วมกันคัดค้านโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นนี้มากว่า 20 ปี


 กำนันเส็ง ขวัญยืน กำนัน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ เห็นว่า ความพยายามในการผลักดันเขื่อนแก่งเสือเต้นมีมาทุกยุคทุกสมัย แต่ครั้งนี้จะไปกันใหญ่ กรรมาธิการภัยพิบัติมาคุยกับชาวบ้านครึ่งวันแล้วแอบ ไปสรุปกันที่กรุงเทพว่าจะถวายรายงานให้ในหลวง ผลักดันให้เขื่อนแก่งเสือเต้นเป็นโครงการพระราชดำริ “ผมไม่เห็นด้วย ชาวบ้านก็ไม่เห็นด้วย ที่กรรมาธิการภัยพิบัติ จะนำโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นถวายรายงานให้ในหลวง เพื่อผลักดันให้เป็นโครงการพระราชำริ ซึ่งถือเป็นการดึงฟ้าลงมาต่ำ เป็นการไม่บังควรอย่างยิ่ง ในที่ประชุมชาวบ้านแสดงการคัดค้านด้วยเหตุด้วยผล แต่กรรมาธิการกลับไปสรุปว่าชาวบ้านยอมรับโครงการนี้ ซึ่งเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริง” กำนันเส็งกล่าว 


 นายอุดม ศรีคำภา ประธานกลุ่มราษฎรรักษ์ป่า ซึ่งทำหน้าที่ในการปกป้องรักษาป่าสักทองมายาวนานกว่า 20 ปี เห็นว่า กรรมาธิการภัยพิบัติ วุฒิสภา ไม่มีหน้าที่อันใดในการถวายความเห็นในเรื่องโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น หากจะเสนอความเห็นให้รัฐบาลก็ว่าไปอีกอย่างซึ่งควรใส่ความเห็นของชาวบ้านฝ่ายคัดค้านโครงการเข้าไปด้วย ไม่ใช่สรุปว่าทุกฝ่ายเห็นด้วย ที่สำคัญไม่ควรไปรบกวนในหลวงในเรื่องที่เป็นปัญหาอยู่ เขื่อนแก่งเสือเต้นเป็นเผือกร้อนที่ไม่ควรโยนไปให้ในหลวง “ทั้งนี้ เราจะได้ทำหนังสือทักท้วงไปยังประธานวุฒิสภา ให้ตรวจสอบพฤติกรรม ผลประโยชน์ทับซ้อนของคณะกรรมาธิการชุดนี้ด้วย” นายอุดมกล่าว 


 นางสุดารัตน์ ชัยมงคล ผู้ใหญ่บ้าน บ้านดอนชัย ตำบลสะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ กล่าวว่า “เราให้โอกาส รัฐบาลทุกรัฐบาล แต่รัฐบาลและกรมชลประทานก็ไม่มีเหตุผลพอที่สร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นนี้ได้ เพราะจำนนด้วยเหตุผล ทั้งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จนทำให้ธนาคารโลกยุติการสนับสนุนโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นไปแล้ว เราเสนอแนวทางการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำ และเสนอทางออกเรื่องการจัดการแหล่งขนาดเล็กขนาดกลาง ในการแก้ไขปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วม เราขอให้มันจบได้แล้วกับโครงการขนาดใหญ่อย่างแก่งเสือเต้น ชาวบ้านจะได้อยู่ดีมีสุขกันเสียที” 


 ด้านนายภานรินทร์ ธรรมโม ตัวแทนกลุ่มเยาวชนตะกอนยม ซึ่งเป็นกลุ่มเยาวชนในพื้นที่ตำบลสะเอียบ เห็นว่า “อยากจะวงวอนให้ผู้ใหญ่มีเหตุผลบ้าง เมื่อทุกฝ่ายเห็นแล้วว่าไม่ควรสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ก็ไม่ควรดึงดัน ควรหาวิธีการอื่นๆ ในการแก้ไขปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วมจะดีกว่า และไม่ควรอย่างยิ่งที่จะถวายเรื่องนี้ไปให้ในหลวงตัดสิน เพราะพระองค์ก็เคยตรัสไว้แล้วว่า โครงการพระราชดำริต้องไม่ทำให้ประชาชนเดือดร้อน ขณะที่โครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นนี้ต้องอพยพพวกผม ญาติพี่น้องกว่าพันครอบครัว รวมแล้วจะมีคนเดือดร้อนไม่ต่ำกว่า 5,000 คน เช่นนี้แล้วในหลวงท่านคงไม่เห็นด้วยแน่” นายภานรินทร์ กล่าว


 ผู้สื่อข่าวยังรายงานอีกว่า การผลักดันโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น โดยการถวายรายงานให้กับในหลวงของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษามาตรการป้องกัน แก้ไขปัญหาพื้นที่การเกษตรและชุมชนผู้ประสบภัยธรรมชาติ วุฒิสภา ในครั้งนี้ เป็นเพียงความเห็นของ พลเอก สุรินทร์ พิกุลทอง ซึ่งเป็นที่ปรึกษาของคณะกรรมาธิการเท่านั้น โดยพลเอกสุรินทร์ อาจเห็นว่าการผลักดันโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นเป็นไปได้ยาก จึงเสนอให้กรรมาธิการฯ ถวายรายงานให้ในหลวงเพื่อทรงมีพระราชดำรัส จะได้นำไปกดดันชาวบ้านในพื้นที่ให้ยอมรับโครงการฯ เหมือนเขื่อนห้วยโสมง จังหวัดปราจีนบุรี ที่คณะรัฐมนตรีเพิ่งจะอนุมัติโครงการไป 8,000 กว่าล้านบาทในการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันอังคารที่ 27 ตุลาคม ที่ผ่านมา แต่อีกความเห็นหนึ่งอาจเป็นเพียงเทคนิคการหาเสียง เพื่อหนุนช่วยพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งเท่านั้น เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า พลเอสุรินทร์ พิกุลทอง ใกล้ชิดกับพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เป็นอย่างดี


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง