ชาวบ้านนาโพธิ์กลาง จี้รัฐเปิดรายละเอียดโครงการฝายกั้นแม่น้ำโขง
นักวิชาการเรียกร้องรายงานฉบับเต็ม

fas fa-pencil-alt
ประชาไท
fas fa-calendar
13 พฤษภาคม 2551

นักวิชาการเรียกร้องรัฐเปิดงานวิจัยฉบับเต็มพร้อมให้รายละเอียดโครงการไฟฟ้าพลังน้ำฝายบ้านกุ่ม ซึ่งจะเป็นฝายกั้นแม่น้ำโขงแห่งแรกของไทย ชาวบ้านถาม น้ำจะท่วมที่ไหนบ้าง จะทำอาชีพอะไร จะต้องอพยพไปอาศัยอยู่ที่ไหน และหากมีการชดเชยจะมีในลักษณะใด เพียงพอต่อสิ่งที่สูญเสียไปหรือไม่

ทั้งนี้ โครงการฝายบ้านกุ่ม เป็นโครงการของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานกระทรวงพลังงาน โครงการดังกล่าวเป็นโครงการไฟฟ้าพลังน้ำฝายขั้นบันไดแม่น้ำโขง ภายใต้ชื่อโครงการไฟฟ้าพลังน้ำฝายบ้านกุ่ม ซึ่งตั้งอยู่ใกล้บ้านท่าล้งและดอนกุ่มตำบลห้วยไผ่ อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี มูลค่าการก่อสร้างทั้งสิ้น 120,390 ล้านบาทระดับเก็บกักน้ำปกติและระดับเก็บกักน้ำสูงสุด 115 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง จะส่งผลกระทบให้มีพื้นที่น้ำท่วมริมตลิ่ง ประเทศไทย บริเวณ บ้านคันท่าเกวียน อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี เป็นจำนวน 16,641 ไร่ และมีบ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบจำนวน 29 หลังคาเรือนนั้น

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 11 พฤษภาคม 2551 เวลา 15.00 น. หลายหน่วยงานในจังหวัดอุบลราชธานีได้ร่วมกับเคเบิ้ลทีวีท้องถิ่น จัดรายการเวทีสาธารณะร่วมทุกข์ร่วมสุขขึ้น เพื่อรับฟังปัญหาจากชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างฝายบ้านกุ่ม ที่จุดผ่อนปรนคันท่าเกวียน ต.นาโพธิ์กลาง อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี มีผู้เข้าร่วมกว่า 200 คน อาทิ สื่อสร้างสุขอุบลราชธานี มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ มูลนิธิพิทักษ์ธรรมชาติเพื่อชีวิต นายอำเภอโขงเจียม สภาทนายความ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี สาธารณสุขอำเภอโขงเจียม กำนันผู้ใหญ่บ้าน วิทยุชุมชน สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลนาโพธิ์กลาง ชาวบ้านจากอ.คันท่าเกวียน ทุ่งนาเมือง ปากลา ฯลฯ

นางเจรจา มาลี อายุ 65 ปี ชาวบ้านบ้านคันท่าเกวียน กล่าวว่า หลังจากทราบข่าวการสร้างเขื่อน ชาวบ้านต่างวิตกกังวลเกี่ยวกับวิถีชีวิต การปลูกปอ ปลูกฝ้ายปลูกมันริมโขง หากชาวบ้านได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนจริง รัฐต้องมีการชดเชยอย่างเหมาะสมกับการที่ได้ลงทุนไป รัฐต้องเข้ามาพบปะพูดคุยกับประชาชนเป็นรายบ้าน

นายสำรอง พิมพ์วงศ์ ชาวบ้านบ้านปากลา กล่าวว่าการเข้าร่วมในเวทีในครั้งนี้ทำให้ได้รับข้อมูลที่ประชาชนเช่นตน ไม่เคยได้รับจากส่วนราชการ และไม่อยากให้มีการสร้างเขื่อน เพราะจะกระทบถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ เศรษฐกิจ สังคม ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นจึงอยากให้รัฐบาลได้ทบทวนโครงการนี้อีกครั้ง ศึกษาดูว่าโครงการนี้ประชาชนจะได้ประโยชน์ ต้องสูญเสียอะไร และควรให้ความรู้กับประชาชนให้มากขึ้นเพราะประชาชนยังไม่ทราบข้อมูลใดๆเกี่ยวกับโครงการนี้ เช่น น้ำจะท่วมที่ไหนบ้าง จะทำอาชีพอะไร จะต้องอพยพไปอาศัยอยู่ที่ไหน และหากมีการชดเชยจะมีในลักษณะใด เพียงพอต่อสิ่งที่สูญเสียไปหรือไม่ เพราะที่ดินสามารถใช้ทำมาหากินเลี้ยงชีพได้ชั่วลูกชั่วหลาน

นางบุตรศรี พวงพันธ์ ชาวบ้านบ้านทุ่งนาเมืองกล่าวว่าเมื่อทราบข่าวการสร้างเขื่อนก็เสียใจเพราะตนมีสวนและมีพี่น้องที่อาศัยในพื้นที่นี้ ประกอบกับที่ดินในบริเวณนี้ไม่มีเอกสารสิทธิ เพียงแต่เสียภาษีบำรุงท้องที่ให้กับองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นเป็นประจำทุกปี เมื่อจะมีการสร้างเขื่อนทำไมรัฐไม่ออกมาประชุมหรือปราศรัยให้ประชาชนได้รับทราบ ว่าจะสร้างเขื่อนที่บริเวณใด น้ำจะท่วมถึงบริเวณใด จึงอยากฝากผ่านไปยังรัฐบาลว่าหากหยุดโครงการนี้ได้ก็อยากให้หยุด ไม่อยากให้มาสร้างความรำคาญให้กับคนริมโขงซึ่งทำมาหากินมายาวนานหลายชั่วอายุคน

นางบุญมี พรมบุตรดี ชาวบ้านซึ่งปลูกลำไยริมโขง บ้านทุ่งนาเมือง ต.โพธิ์ไทร กล่าวว่าไม่อยากให้สร้างเพราะจะกระทบกับการทำมาหากิน การเกษตร การประมง ซึ่งปัจจุบันก็พออยู่ได้ แต่หากหยุดโครงการนี้ไม่ได้จริงๆ ก็อยากให้รัฐจ่ายค่าชดเชยให้อย่างเหมาะสมและเพียงพอกับสิ่งที่ต้องสูญเสียไป

นายนริศ มงคลศรี นายอำเภอโขงเจียม กล่าวว่าเมื่อได้รับฟังประชาชนแสดงความคิดเห็นทำให้ทราบว่าประชาชนมีความเป็นห่วงเรื่องการสร้างเขื่อน เกรงจะกระทบกับวีถีชีวิตในทุกๆด้าน ซึ่งอาจเกิดจากข้อมูลข่าวสารของภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเขื่อนยังไม่สามารถให้ความกระจ่างกับประชาชนได้ แต่เชื่อว่าด้วย พรบ.ข้อมูลข่าวสารจะทำให้ประชาชนในอำเภอโขงเจียมและประชาชนทั่วประเทศได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโครงการนี้ และในฐานะผู้ปกครองของ อ.โขงเจียม จะดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องการให้ข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบให้กระจ่างโดย ไม่ปิดบัง

 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง