ชนชั้นกลาง กับ๑ปีแม่มูนมั่นยืน

fas fa-pencil-alt
กานต์ ณ กานท์
fas fa-calendar
20 เมษายน 2543

ขณะที่กำลังมีการชุมนุมของชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนปากมูล บริเวณลานจอดรถโรงไฟฟ้าของเขื่อนดังกล่าว ในนามของ 'หมู่บ้านแม่มูนมั่นยืน ๗' อยู่นี้ โดยการชุมนุมดังกล่าว เป็นการชุมนุมภายใต้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ และเป็นการชุมนุมที่มาจากการลง

มติเห็นชอบของผู้เข้าร่วมงานครบรอบหนึ่งปีแห่งการก่อตั้งหมู่บ้าน'แม่มูนมั่นยืน' ที่  เพิ่งผ่านพ้นไปเมื่อวันที่ ๒๐ และ ๒๑เมษายน

๒๕๔๓ นี่เอง

ผมขออนุญาตให้ข้อมูลเกี่ยวกับหมู่บ้านแม่มูนมั่นยืนสักเล็กน้อยนะครับ แม่มูนมั่นยืนเป็นหมู่บ้านประท้วง ซึ่งประกาศก่อตั้งขึ้นเมื่อ

วันที่ ๒๓ มีนาคม๒๕๔๒ โดยการรวมตัวของของชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐ ๘ กรณีปัญหา ได้แก่

กรณีเขื่อนปากมูล จ.อุบลราชธานี

กรณีเขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี

กรณีเขื่อนห้วยละห้า จ.อุบลราชธานี

กรณีเขื่อนลำคันฉู จ.ชัยภูมิ

กรณีเขื่อนโป่งขุนเพชร จ.ชัยภูมิ

กรณีปัญหาโครงการพัฒนาด่านช่องเม็ก-บ้านเหล่าอินทร์แปลง จ.อุบลราชธานี และกรณีป่าสงวนและอุทยานทับที่ทำกิน และที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน จ.อุบลราชธานี


โดยชาวบ้านประมาณ ๖,๐๐๐ คน ได้ปลูกกระต๊อบ เพื่อปักหลักชุมนุมโดยสงบบริเวณริมสันเขื่อนปากมูล อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี

ซึ่งจะว่าไปก็คือที่ดินผืนเดิมของชาวบ้านหลาย ๆ ครอบครัว

ก่อนการยึดครองของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยคำว่า มูน เป็น

ภาษาอีสาน แปลว่า มรดก (ผมค่อนข้างเชื่อว่า แม่น้ำมูลในความหมายของชาวบ้านคือ แม่น้ำมูน หรือ สายน้ำมรดกแต่ถูกบิดเบือนโดย

อาจไม่ตั้งใจของเจ้าหน้าที่ผู้เขียนชื่อแม่น้ำมูลในครั้งแรกๆ )

ในแผ่นพับประกาศเจตนารมย์ของการก่อตั้งหมู่บ้านระบุว่า‘เพื่อทำการรณรงค์ชี้แจงปัญหาผลกระทบต่อวิถีชีวิต ชุมชน วัฒนธรรม

เผยแพร่สู่สาธารณชนให้ได้รับรู้ในแง่มุมที่ถูกรัฐบาลปกปิดบิดเบือนในกรณีการดำเนินโครงการพัฒนาต่างๆ ทั้งที่ขณะดำเนินการ

และภายหลังการดำเนินการ…'

หนึ่งปีผ่านไป ท่ามกลางดินฟ้าอากาศที่แล้งร้าย เนื่องจากระบบนิเวศถูกทำลายและความเหน็ดเหนื่อยในการออกรณรงค์อย่างต่อ

เนื่องทั้งในรูปแบบของการร่วมลงแขกเกี่ยวข้าวกับชาวบ้านใกล้ไกลตลอดจนการเข้าไปรณรงค์เต็มรูปแบบในตัวจังหวัด หรือแม้แต่

เมืองหลวงในบางโอกาสผลของพยายามหนึ่งปีที่ค่อนข้างชัดเจนก็คือ ชาวบ้านได้ชุมนุมโดยสงบสมใจไร้วี่แววการเหลียวแลจากภาค

รัฐทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

หรือแม้แต่ประชาชนด้วยกันเอง ผมไม่แน่ใจว่า มีคนไทยถึง ๑๐%หรือไม่ที่รู้ว่ามีหมู่บ้านประท้วงชื่อแม่มูนมั่นยืนอยู่ในประเทศไทย

เราอาจจะจำกันได้ราง ๆ กับภาพข่าวการเดินขบวนของคนจนบนท้องถนนหลายครั้งหลายหนหรือที่ใหญ่หน่อยในการประชุมอังค์ถัด

เมื่อเร็ว ๆ นี้และที่ขึ้นหน้าหนึ่งอยู่ในขณะนี้แต่คงไม่เกินเลยถ้าหากผมจะพูดว่าเราจำได้เพียงเท่านั้นผมไม่ได้จะบอกว่าเราลืมง่ายหรือ

อะไรแต่กำลังสงสัยว่าเพราะเราไม่เคยสนใจพวกเขา…

พูดถึงปัญหาการสร้างเขื่อน เมื่อเร็ว ๆ นี้สหรัฐอเมริกาต้นแบบอันงามพร้อมในหลาย ๆ ด้านของรัฐบาลไทยได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อ

ทำวิจัยและสรุป ข้อดีข้อเสียของเขื่อนเก่าแก่เขื่อนหนึ่ง ที่รัฐเมน ชื่อ เอ็ดเวิร์ด(Edward dam)และได้มีข้อสรุปออกมาแล้วว่า ตัดสินใจ

ทุบเขื่อนดังกล่าวทิ้งเสีย>เนื่องจากไม่คุ้มค่ากับการสูญพันธุ์ของปลา และธรรมชาติอื่น ๆ

ขณะที่รัฐบาลไทยยังคงตั้งหน้าตั้งตากู้เงินต่างชาติมาลงทุนสร้างเขื่อนเพิ่มเติมตามนโยบายที่ลอกฝรั่งมาเมื่อหลายปีสิบก่อนโดยไม่ยอม

ลืมหูลืมตาดูอะไรทั้งสิ้น ทั้งที่มีบทเรียนท่วมหัวทั้งที่สังเวยด้วยชีวิตคน และสรรพสิ่งในลำน้ำซึ่งล่าสุดเห็นจะเป็นจรเข้ขนาดใหญ่

ที่เพิ่งลอยเป็นศพขึ้นมาหลังการปิดประตูเขื่อนกั้นแม่น้ำบางปะกงเมื่อเร็ว ๆนี้

มิหนำยังเห็นดีเห็นงามกับนโยบายการสร้างเขื่อนของประเทศลาวโดยเงินกู้ของธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย(ADB)เนื่องจาก

รวมหัวกันสำรวจแล้วพบว่าประเทศลาวมีแม่น้ำขนาดใหญ่มากมายแผนการพัฒนาจึงสรุปออกมาแล้วว่าในประมาณ ๑๐ ปีข้างหน้า

ลาวจะสร้างเขื่อนอีก๓๐เขื่อน เพื่ออุตสาหกรรมส่งออกกระแสไฟฟ้าโดยฝันหวานว่าจะเป็น'คูเวตแห่งเอเชีย'ตามที่ADBบอก

ในขณะที่วันนี้ประชาชนลาวผู้ถูกบังคับให้เสียสละเพื่อเขื่อนน้ำงึมยังไม่ได้รับการเหลียวแลใด ๆ จากรัฐบาลลาวนอกจากการใช้กำลัง

เข้าปิดปากชาวบ้านที่บังอาจให้ข้อมูลแก่นักข่าว NGOหรือแม้แต่นักท่องเที่ยว

เท่าที่คุยกับเพื่อนNGOฝรั่งที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนซึ่งเธอได้มีโอกาสคลุกคลีกับธนาคารโลก(WB)ในช่วงหลังทำให้รู้ว่าตอนนี้

ธนาคารโลกเองก็กำลังปรับเปลี่ยนนโยบายใหม่โดยให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนมากขึ้นจึงได้พยายามหันมาผูกมิตรโดยขอคำ

ปรึกษากับบรรดาNGO โดยเฉพาะด้านสิทธิมนุษยชน

เพราะกรณีต่าง ๆ ที่ผ่านมาเสียงประณามนั้นหนาหูจนเริ่มทนไม่ได้ต้องปรับตัว

สร้างภาพพจน์กันใหม่ให้ความสำคัญกับการศึกษาผลกระทบอะไรต่ออะไรมากขึ้น ซึ่งก็ยังดีที่คิดจะกลับตัวไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ ADB

หรือแม้แต่รัฐบาลอันเป็นที่รักยิ่งของเราจะรู้สึกอย่างนี้บ้าง

ผมไม่อาจโทษ IMF WB WTO ADB หรือองค์กรเหนือรัฐทั้งปวง

ว่าเป็นผู้ผิดแต่ฝ่ายเดียว แม้ว่าในหลาย ๆครั้งจะรู้สึกเจ็บปวดกับความ

เห็นแก่ตัวของยักษ์ใหญ่ข้ามชาติเหล่านี้และความเห็นแก่ได้ของรัฐบาลไทย

เพราะผู้ที่จะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ก็คือเราชนชั้นกลางผู้ทรนงว่าเป็นพลเมืองต่างวรรณะผู้ที่ดูเหมือนจะมีโอกาสและพลังต่อ

รองในสังคมมากกว่าแต่แทบจะไม่เคยให้ความสนใจกับชนชั้นรากหญ้าผู้อุ้มชูปากท้องของเราและรากฐานเศรษฐกิจของประเทศ

พลเมืองวรรณะผู้เสียสละที่ชักเริ่มขบถยิ่งกว่านั้นยังออกท่ารำคาญกับการออกมาร้องแรกแหกกระเชอเดินขบวนป่าวร้องของพวก

เขาด้วยซ้ำว่าทำให้รถติด วุ่นวาย แต่พอเขาปักหลักชุมนุมอย่างสงบอยู่ที่สันเขื่อนมาปีกว่าเราก็ไม่เคยให้ความสนใจอยู่ดี

เราสามารถปล่อยให้องค์กรสารพัดทั้งไทยเทศยำเยงชาวบ้านตามอำเภอใจแต่กับปัญหาของเรา เช่น หุ้นตก น้ำมันแพง ของแพง

ว่างงาน รถติด ฯลฯ

พวกเราเองก็พากันออกมาโวยวายร้องแรกแหกกระเชออยู่บ่อย ๆแถมวันดีคืนดีก็วิ่งเข้าหาชนชั้นล่างเหล่านั้นเพื่อ

ขอแรงขอเสียงสนับสนุนดูไปดูมาท่าเดินชักจะเหมือนนักการเมืองเข้าทุกที

‘ไม่มีความยากจน ในหมู่คนที่ขยัน'

เมื่อพยายามเปิดปัญหาของผลกระทบจากการพัฒนาที่มีต่อวิถีชีวิตคนในพื้นที่หลายคนมักอ้างถึงคาถาที่ปลุกเสกขึ้นมาโดยท่านผู้นำ

รัฐบาลสมัยหนึ่ง

และสร้างความชอบธรรมแก่ชนชั้นปกครองมาหลายยุคหลายสมัยในการที่จะดำเนินนโยบายรุกรานประชาชนใน

นามของการพัฒนาขณะเดียวกันก็ได้เข้าครอบงำสิงสู่ในจิตใจพลเมืองร่วมชาติมาตลอด จนพบในหลาย ๆครั้งว่า เราต่างหลอกตัวเอง

ด้วยมายาคติอันฉ้อฉลนี้ และหมิ่นหยามไยไพต่อคนจนแทนที่จะเหลียวแลช่วยเหลือ โดยเราต่างก็ลืมไปว่า หากถูกตัดทางทำมาหากิน

ตัดโอกาสที่จะขยันเสียแล้ว ไม่ว่าใครมันก็มีสิทธิ์จนทั้งนั้น

เมื่อพูดถึงปัญหาที่ทำทำกินและวิถีชีวิตของชาวบ้านกรณีเขื่อนหลายคนพูดถึงความจำเป็นของไฟฟ้าและการเจริญเติบโตของภาค

อุตสาหกรรมภายในประเทศที่ต้องพึ่งพาพลังงานไฟฟ้ายังไงเขื่อนมันก็จำเป็นว่างั้นเถอะ

ในหนังสือสิทธิชุมชน ซึ่งเขียนโดยอาจารย์ชัยพันธุ์ ประภาสะวัตจากสถาบันเพื่อสิทธิชุมชน ระบุว่าขณะที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่ง

ประเทศไทย(กฟผ.)สามารถผลิตไฟฟ้าได้ถึงวันละ ๑,๘๐๐เมกกะวัตต์ โดยอัตราการใช้ไฟฟ้าทั้งประเทศไทย ตกวันละ ๑,๓๐๐ เมกกะ

วัตต์

เท่ากับเรามีไฟฟ้าเหลือวันละ ๕๐๐ เมกกะวัตต์

แต่เขื่อนปากมูลสามารถผลิตไฟฟ้าได้แค่ประมาณวันละ ๕๐ เมกกะวัตต์

พูดง่าย ๆ ก็คือ การยกเลิก-เปิดประตูระระบายน้ำ หรือแม้กระทั่งทุบเขื่อนปากมูล

พร้อม ๆ กับเขื่อนอื่นที่มีขนาดและศักยภาพเท่า ๆ กัน

อีก ๙ เขื่อนทิ้งเสียก็หาได้กระทบกระเทือนต่อภาคอุตสาหกรรมหรือความสะดวกสบายของผู้ใดไม่

จริง ๆ แล้ว ผมไม่อยากจะพูดถึงปริมาณไฟฟ้าเนื่องจากมันเทียบกันไม่ได้กับชีวิตของผู้คน และธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ที่เคยดำรงอยู่และ

เกื้อกูลพวกเขารวมทั้งเลี้ยงดูอุ้มชูพวกเราคนเมืองมาก่อนไฟฟ้านานนักหนาแม่น้ำมูลเป็นแม่น้ำที่มีขนาดเล็กกว่าแม่น้ำโขง แต่มีปลามาก

กว่าแม่น้ำโขง

เพราะทุกปีปลาในแม่น้ำโขงได้เข้ามาอาศัยแม่น้ำมูลเป็นที่วางไข่ และเติบโต

ตามป่าบุ่งป่าทาม(ป่าชายเลนน้ำจืด) เนื่อง

จากผืนดินไม่เหมาะต่อการเพาะปลูกธรรมชาติจึงได้ชดเชยให้แม่น้ำมูลเป็นแม่น้ำที่อุดมไปด้วยปลาและสัตว์น้ำนานาชนิด จนพูดได้ว่า

เป็นแหล่งปลาที่ใหญ่ที่สุดในอีสาน

ตลอดเวลาหลายชั่วอายุคน ชุมชนริมน้ำแห่งนี้จึงดำรงชีพด้วยปลาในสายน้ำแทบทุกครอบครัวมีอาชีพประมงเป็นอาชีพหลัก

การสร้างเขื่อนปากมูลและเขื่อนอื่น ๆ ปิดกั้นลำน้ำมูลระเบิดเกาะแก่งขนาดใหญ่จำนวนมาก ตัดไม้ และกักน้ำท่วมทับป่าบุ่งป่าทาม

นอกจากจะเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ปลาจำนวนมหาศาลทำลายระบบนิเวศน์อย่างโง่เขลาจนไม่น่าให้อภัยแล้ว ยังทำลายวิถีชีวิตของ

ชุมชนชาวประมงพื้นบ้าน อันรวมถึงภูมิปัญญา ทักษะที่ผ่านการบ่มเพาะ พัฒนา และถ่ายทอดกันมาหลายชั่วอายุคนที่ไม่ว่าจะจ่ายเงิน

เท่าไหร่ก็ไม่อาจชดเชยได้

ผมถึงได้สะใจที่รู้ว่าเมื่อสองเดือนแล้วตัวแทนธนาคารโลกลงทุนเดินทางเข้าไปยื่นข้อเสนอเกี่ยวกับการจ่ายเงินค่าชดเชยแล้วถูกชาว

บ้านปฏิเสธหน้าหงายออกมา วันนี้พวกเขาต้องการเพียงให้'เอาเขื่อนออกไป!'

การเปลี่ยนอาชีพและวิถีของชุมชนไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนนักการเมืองย้ายพรรคเปลี่ยนขั้วคนบางคนเกิดมาเพื่อจะเป็นบางสิ่งจริงอยู่

ในหลายครั้งของชีวิตคนเราจำเป็นต้องปรับตัวแต่ถ้าหากถามว่าชาวบ้านเหล่านี้พวกเขามีความผิดอะไร เราต่างก็รู้เท่า ๆ กันว่า

สายน้ำและธรรมชาติเกื้อกูลคงอยู่กับชีวิตพวกเขามานับพันปีจนปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นของพวกเขาโดยชอบธรรม

ก่อนที่จะพูดถึงการเสียสละอันสวยหรูใด ๆ ก่อนที่จะถามถึงการปรับตัวการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตว่าเป็นไปได้หรือไม่ เราควรจะถามตัว

เองก่อนว่ามีความจำเป็นขนาดไหนที่จะต้องไปปล้นชิงเอาทุกสิ่งทุกอย่างมาจากพวกเขาคอขาดบาดตายเพียงใดที่จะต้องตัดทางเลือก

ของคนที่มีทางเลือกน้อยอยู่แล้วให้น้อยลงไปอีกเพื่อเขื่อนที่สามารถผลิตไฟฟ้าได้เพียงพอต่อความต้องการของห้างสรรพสินค้าขนาด

ใหญ่เพียงไม่กี่ห้างเรามีเหตุผลอะไรกันนักหนาที่จะบังคับให้พวกเขาเสียสละ

ไหนจะธรรมชาติที่ถูกการพัฒนาทำลายแทบจะเรียกได้ว่าย่อยยับ

ที่ไม่รู้ว่าต้องใช้เวลาอีกกี่ชั่วอายุคนจึงสามารถกอบกู้ให้ฟื้นคืนสภาพ

เดิมได้ธรรมชาติที่เป็นสมบัติร่วมกันของมวลมนุษยชาติ

รัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบัน รับรองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ไว้ในมาตรา๔และให้สิทธิคนท้องถิ่นในการที่จะจัดการ ดูแล พิทักษ์ปกป้อง

ทรัพยากร ภูมิปัญญาและสรรพสิ่งบนผืนดินของพวกเขาในมาตรา ๔๖ แต่ในความเป็นจริง หลาย ๆ ครั้งพบว่าขณะที่เราขานรับรัฐ

ธรรมนูญใหม่ที่รับรองสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเราเรากลับหลงลืมที่จะนึกถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนที่ถูก

นิยามว่าชนชั้นล่างของประเทศราวกับว่าพวกเขามีศักดิ์ศรีที่แตกต่าง

เมื่ออยู่ในเมือง เราพูดถึงมนุษยธรรมกันคนละหลาย ๆ ครั้ง

แต่เมื่อเอ่ยถึงของชีวิตคนบ้านนอกที่ต้องแลกกับการพัฒนาเพื่อความสะดวก

สบายของเราเรากลับพากันนิ่งอั้นจนถึงขั้นเดินหนีราวกับฟ้าดินอันอาธรรมได้กำหนดมาให้พวกเขาเป็นผู้เสียสละตลอดกาลกระนั้น

งานครบรอบ ๑ ปี ของ แม่มูนมั่นยืนจัดขึ้นเพื่อสรุปบทเรียนของชาวบ้านบนถนนอันเหยียดยาวของการต่อสู้ของพวกเขาซึ่งน่าที่ชนชั้น

กลางจะได้ถือเอาวาระนี้เป็นโอกาสในการสรุปบทเรียนของเราบ้างทั้งในส่วนของวิธีคิด และจุดยืนในสังคม

หากเราหวังจะเห็นการเปลี่ยนแปลงของโลกและสังคมไปทางที่ดีกว่า จริงหรือไม่ว่าจำเป็นต้องอาศัยคนจากทุกระดับชั้น

แต่ที่แน่ๆ เราไม่อาจหลอกตัวเองได้อีกแล้ว ทรัพยากรและทุกสรรพสิ่งบนโลกนี้

จะเกื้อกูลมวลมนุษย์ก็ต่อเมื่อเรามีความเคารพในธรรม ชาติ

ร่วมกันกินร่วมกันใช้ในวิถีของการแบ่งปัน หาใช่การกอบโกยปล้นชิงด้วยหลงเชื่ออย่างโง่เขลาว่าคนสามารถควบคุมสรรพสิ่งรวม

ทั้งธรรมชาติได้

อย่างที่เป็นอยู่ตลอดมา

เราไม่อาจพูดได้อีกแล้ว ว่าใครสำคัญกว่าใครการหันหน้าเข้าพูดคุยทำความเข้าใจด้วยความสำนึกในศักดิ์ศรีที่เท่าเทียมเท่านั้น

ที่จะนำไปสู่ความยั่งยืนของทุกสิ่ง รวมทั้งเผ่าพันธุ์แห่งมนุษยชาติ

 


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง