จี้รัฐเปิดเอ็มโอยูเขื่อนกั้นโขง "โต้ง"ชี้ร้ายแรงกว่าพระวิหาร
รมว.เงาต่างประเทศชี้ทำเอ็มโอยูศึกษา"เขื่อนกั้นโขง"ร้ายแรงกว่าแถลงร่วมปราสาทพระวิหาร จี้รัฐบาลเปิดรายละเอียด หวั่นกระทบเขตแดน นัดทีม ปชป.หารือ 1 ส.ค.นี้ นักวิชาการเผยต้นปีหน้า"อิตัลไทย"ขนเครื่องมือลงสำรวจ ปลัดพลังงานยันไม่เกี่ยวข้อง เป็นมติ ครม.ให้เอกชนศึกษา แต่ไม่เคยเห็นเอ็มโอยู
ความคืบหน้ากรณีรัฐบาลไทยไปร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) กับรัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เพื่อให้บริษัทเอกชนศึกษาความเป็นไปได้ในโครงการสร้างเขื่อนบ้านกุ่ม อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี กั้นแม่น้ำโขง มูลค่า 90,000 ล้านบาท เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าขนาด 1,800 เมกะวัตต์ ขณะที่ภาคประชาชนเห็นว่าโครงการดังกล่าวขัดรัฐธรรมนูญหลายมาตรานั้น ล่าสุด นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ส.ส.ระบบสัดส่วน พรรค ประชาธิปัตย์ ในฐานะรัฐมนตรีเงากระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคมว่า เห็นเอกสารรายละเอียดเขื่อนบ้านกุ่มที่ นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีต ส.ว.อุบลราชธานี เก็บข้อมูลไว้แล้วรู้สึกตกใจ เพราะเป็นโครงการใหญ่มาก จึงหารือกับสมาชิกพรรคหลายคน ทุกคนเห็นพ้องกันว่า เรื่องนี้ร้ายแรงกว่าปราสาทพระวิหาร หากปล่อยให้ดำเนินการโดยไม่ตรวจสอบ จะทำให้ประเทศไทยเสียหายอย่างมาก เพราะกระทบกระเทือนกับความเป็นอยู่ การทำมาหากิน รวมถึงความมั่นคงของเขตแดนไทย รัฐบาลจะต้องเปิดเผยเอ็มโอยูฉบับนั้นว่าไปทำข้อตกลงอะไรกับลาวเอาไว้บ้าง และว่า จะนำเรื่องนี้หารือในที่ประชุมทีมงานรัฐมนตรีเงากระทรวงการต่างประเทศ ในวันที่ 1 สิงหาคมด้วย
นางพิกุลแก้ว ไกรฤกษ์ สมาชิกวุฒิสภา จ.พิษณุโลก ประธานคณะกรรมาธิการต่างประเทศ วุฒิสภา กล่าวว่า ทราบการทำเอ็มโอยูเรื่องเขื่อนพร้อมกับกรณีแถลงการณ์ร่วมปราสาทพระวิหาร ขณะนั้นกรรมาธิการต่างประเทศเห็นว่าควรตรวจสอบไปพร้อมกัน แต่เรื่องปราสาทพระวิหารอยู่ในกระแสสังคมแรงมาก จึงตกลงทำเรื่องปราสาทพระวิหารก่อน หลังจากนี้ คงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
นายประเสริฐ ชิตพงศ์ ส.ว.สงขลา รองประธานคณะกรรมาธิการทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา กล่าวว่า ไม่แน่ใจว่า โครงการนี้อยู่ในระดับเห็นควรให้สร้างแล้ว จึงมาศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรืออยู่ในระดับศึกษาว่าควรสร้างหรือไม่กันแน่ เพราะถ้าเป็นแบบหลัง จะมีประเด็นเรื่องการผลาญงบฯและเอื้อประโยชน์ให้บริษัทเอกชนเข้ามาศึกษาซ้ำแล้วซ้ำอีกด้วย แต่เบื้องต้นข่าวระบุเพียงว่าศึกษาความเป็นไปได้ จุดนี้จึงไม่น่าจะต้องให้สภาเห็นชอบ เพราะเป็นเรื่องทางเทคนิคและวิชาการ แต่ถ้าถึงช่วงการทำโครงการจริง ต้องผ่านการเห็นชอบจากสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 วรรคสองและวรรคสาม ดังนั้น ตอนนี้ต้องขอดูเอ็มโอยูให้ละเอียดก่อน และอาจจะหารือในการประชุม กมธ.วันที่ 31 กรกฎาคม
นายสุรสม กฤษณะจูฑะ อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (มอบ.) ในฐานะนักวิชาการในพื้นที่ที่ติดตามโครงการนี้มาตั้งแต่ต้น กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทเอกชนเริ่มลงพื้นที่พูดคุยให้ข้อมูลกับชาวบ้านแล้ว คาดว่าประมาณต้นปีหน้า บริษัทจะขนเครื่องมือลงสำรวจลักษณะทางกายภาพในพื้นที่อย่างจริงจัง จากการพูดคุยกับชาวบ้าน พบว่า มากกว่าร้อยละ 80 ไม่เห็นด้วย หลายหมู่บ้านถูกเสนอค่าชดเชยกรณีต้องอพยพครอบครัวออกมาจากพื้นที่แล้ว ตามหลักการศึกษาความเป็นไปได้ ผลที่ออกมามี 2 อย่าง คือ สร้างได้ และสร้างไม่ได้ แต่สิ่งที่เป็นอยู่ในขณะนี้ เช่น การให้ข้อมูลทางเดียวกับชาวบ้าน หรือการพูดถึงเรื่องเงินชดเชย ทำเหมือนมีคำตอบอยู่แล้วว่าสร้างได้แน่ๆ
นายสุรสมกล่าวด้วยว่า เวลานี้มีข่าวออกมาว่า รัฐบาลพยายามหาช่องว่างทางกฎหมายไม่ต้องทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) อ้างว่า เป็นโครงการร่วมระหว่างประเทศ เพราะการทำอีไอเอทำให้โครงการล่าช้า แต่นักวิชาการวิเคราะห์ร่วมกันแล้วเห็นว่าไม่ว่ากรณีไหนก็ต้องทำอีไอเออยู่ดี เร็วๆ นี้ ศูนย์วิจัยสังคม อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง มอบ.จะทำหนังสือถึงกระทรวงพลังงานขอตรวจสอบเอ็มโอยูฉบับดังกล่าวว่ามีความไม่ชอบมาพากลอย่างไรบ้าง
ทางด้านนายพรชัย รุจิประภา ปลัด กระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่เห็นเอ็มโอยูที่นายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเซ็นกับรัฐบาลลาว เรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวกับกระทรวงแล้ว แต่เป็นเรื่องของบริษัทเอกชนที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ศึกษาโครงการ แต่ก่อนหน้านี้ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ได้ศึกษาความเป็นไปได้แล้ว บริษัท อิตาเลี่ยนไทยฯเคยมาขอข้อมูลที่ พพ. ศึกษาไว้ แต่ พพ.ไม่ได้ให้ไป ไม่รู้ว่าบริษัทนี้ ได้รับอนุมัติให้ศึกษาโครงการหรือไม่ จนกระทั่งเข้า ครม. กระบวนการของกระทรวงหยุดอยู่แค่นั้น
นายพาณิช พงศ์พิโรดม อธิบดี พพ. กล่าวว่า พพ.จะทำรายละเอียดชี้แจงในวันที่ 31 กรกฎาคม ในฐานะเป็นผู้ศึกษาศักยภาพเบื้องต้นของลำน้ำโขงตั้งแต่ปี 2548 พบว่า มีศักยภาพสร้างเขื่อนได้ 11 แห่ง อยู่ในแนวชายแดนไทย-ลาวประมาณ 3 แห่ง มีความเหมาะสมจะทำ 2 แห่ง ที่บ้านกุ่ม จ.อุบลฯ และ อ.ปากชม จ.หนองคาย แต่รัฐบาลมี นโยบายจะทำที่บ้านกุ่ม เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องของรัฐบาล