จีนปัดเหตุน้ำท่วมใหญ่"ไทย-ลาว"
จากระบายน้ำเขื่อนกลุ่มรักษ์เชียงของ
แย้งน้ำทะลักจากลำน้ำโขงสายเดียว

fas fa-pencil-alt
มติชน
fas fa-calendar
16 พฤษภาคม 2552

จีนยอมเปิดปากคุยกับประเทศท้ายน้ำครั้งแรกยันไม่ได้ปล่อยน้ำเกินกำหนดทำให้น้ำท่วม"ไทย-ลาว"อ้างเกิดจากพายุ ผู้ประสานงานกลุ่มรักษ์เชียงของแย้งน้ำทะลักจากแม่น้ำโขงโดยตรงเพราะแม่น้ำสาขาไม่ได้เอ่อล้นเหมือนที่ผ่านมา

นายศิริพงศ์ หังสพฤกษ์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ให้สัมภาษณ์เมื่อ วันที่ 16 พฤษภาคม ว่า ขณะนี้หลายพื้นที่ประเทศที่อยู่ติดกับแม่น้ำโขง เริ่มประสบปัญหาน้ำท่วมแล้ว แม้เพิ่งย่างเข้าสู่ช่วงหน้าฝนก็ตาม ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าอาจจะซ้ำรอยกับเหตุการณ์น้ำท่วมจากแม่น้ำโขงที่เคยเกิดขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว กระทั่งส่งผลให้เกิดน้ำท่วมหนักในเมือง เศรษฐกิจสำคัญที่แม่น้ำโขงไหลผ่าน ได้แก่ เมืองเวียงจันทน์ ประเทศลาว รวมถึง จ.เชียงราย และหนองคาย เรื่องนี้จึงถูกหยิบยกขึ้นมาหารือระหว่างการประชุมด้านแผนงานความร่วมมือการบริหารจัดการอุทกภัยในภูมิภาคแม่น้ำโขง ของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (เอ็มอาร์ซี) ระหว่างวันที่ 13-14 พฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งมีผู้แทนจากประเทศ 6 ชาติ ในอนุภูมิภาคแม่น้ำโขงได้แก่ ไทย พม่า กัมพูชา เวียดนาม ลาว รวมทั้งผู้แทนจากกระทรวงทรัพยากรน้ำของจีนเข้าร่วม

ทั้งนี้ ผู้แทนกระทรวงทรัพยากรน้ำของจีน ชี้แจงในเรื่องถูกกล่าวหา เป็นต้นเหตุของปัญหาน้ำท่วมหนักในลาวและไทยในเวทีนี้ด้วย ถือเป็นครั้งแรกที่ประเทศจีนยอมพูดคุยเรื่องนี้

"ที่ประชุมค่อนข้างพอใจกับข้อมูลของผู้แทนจากจีนที่นำมาอธิบาย เพราะถือเป็นครั้งแรกที่จีน ยอมให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ และยืนยันถึงความบริสุทธิ์ของตัวเองกรณีที่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนทำให้เกิดน้ำท่วมในประเทศท้ายน้ำแม่น้ำโขง เนื่องจากหลักฐานข้อมูลที่ระบุว่า มาจากกระทรวงทรัพยากรน้ำของจีนนั้นชัดเจนว่า ในช่วงที่เกิดระดับน้ำวิกฤตมากระหว่างวันที่ 11-13 สิงหาคม 2551 นั้น อัตราการระบายน้ำและอัตราการไหลของน้ำจากสถานี ยู่ จิน หง และแม่น้ำหลานซางมีตัวเลขเพียง 4,500-5,000 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ยังไม่ถือว่าอยู่ในระดับสูงสุดที่กำหนดไว้ที่ 6,000 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในลาวและไทยนั้น บางสถานีมีปริมาณน้ำมหาศาลมาก สาเหตุของน้ำท่วมที่แท้จริงมาจากปริมาณฝนจากพายุคามุริ ที่ตกครอบคลุมหลายพื้นที่โดยเฉพาะในลาว ทำให้ปริมาณน้ำสาขาของแม่น้ำโขงเพิ่มปริมาณน้ำ และออกสู่แม่น้ำโขงจนเกิดน้ำท่วมเป็นวงกว้าง"  นายศิริพงศ์กล่าว

อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำกล่าวว่า ที่ประชุมยังได้หารือถึงมาตรการรับมือกับอุทกภัยในระดับอนุภูมิภาค เพื่อบรรเทาความเสียหายที่มีมูลค่ามหาศาล โดยมาตรการแรกที่จะต้องเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จคือ การขอความร่วมมือให้ทั้ง 6 ประเทศ ติดตั้งสถานีตรวจวัดน้ำในลำน้ำสาขาอย่างน้อย 10 แห่ง โดยเฉพาะในลาว จำเป็นต้องติดตั้งสถานีตั้งแต่เมืองหลวงพระบางขึ้นไปเพื่อตรวจสอบว่าปริมาณน้ำจากจีนมากน้อยแค่ไหน รวมทั้งใน เวียดนาม และไทย ทั้งนี้ เพื่อจะสามารถร่วมกับตรวจวัด รวมทั้งแจ้งเตือนประเทศสมาชิกอนุแม่น้ำโขงได้ทันหากพบปริมาณน้ำมากผิดปกติ นอกจากนี้ ยังเสนอว่าควรใช้มาตรฐานเดียวกันเพื่อประเมินประโยชน์จากน้ำท่วมทั้งในแง่ของเศรษฐกิจ สังคม เนื่องจากบางชาติ เช่น เวียดนามมองว่าน้ำท่วมมีประโยชน์ต่อการเกษตรมากกว่าความเสียหายทางเศรษฐกิจ เป็นต้น

"ที่ประชุมยังเสนอว่าพื้นที่ลาดชันที่มีประชาชนอาศัยอยู่มีความเสี่ยงต่อน้ำหลากดินถล่มมากกว่าที่ราบลุ่ม และควรให้ความสำคัญเป็นพิเศษ โดยไทยได้เสนอถึงความเชี่ยวชาญในการรับมือและป้องกันปัญหานี้ เนื่องจากเคยมีบทเรียนที่เคยเข้าไปบรรเทาปัญหามาแล้วหลายพื้นที่ อีกทั้งจากประสบการณ์ของหลายประเทศมองว่า ควรมีการปรับตัวเพื่อรองรับกับภาวะน้ำท่วม และอยู่ให้ได้กับน้ำท่วม เช่น หากพื้นที่ไหนประสบน้ำท่วมซ้ำซากและมีระดับลึกมาอยู่ทุกปี ก็ควรกันพื้นที่และห้ามใช้ประโยนช์ เป็นต้น ถือว่าการประชุมระดับคณะทำงานเพื่อกำหนดแผนรับมืออุทกภัยครั้งนี้ ประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะการที่ผู้แทนจากจีนมาร่วมในเวทีและยอมเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับน้ำ" นายศิริพงศ์กล่าว

นายศิริพงศ์กล่าวด้วยว่า ระหว่างวันที่ 20-22 พฤษภาคม ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระหว่างประเทศระดับรัฐมนตรีว่าด้วยเรื่อง การเสริมสร้างความเข้มแข็งในการบริหารจัดการน้ำพรมแดน ในมิติความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ที่โรงแรมสยามซิตี ขณะนี้มีรัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อม และน้ำจาก 270 ลุ่มน้ำ ใน 20 ประเทศ ตอบรับที่จะเข้าร่วมประชุมแล้ว คือ ฝรั่งเศส ไนจีเรีย นามีเบีย เนเธอร์แลนด์ สาธารณรัฐไนเจอร์ อิตาลี เดนมาร์ก ลาว เนปาล คองโก อาร์เจนตินา กัวเตมาลา โตโก อุรุกวัย แอฟริกา ยูกันดา โบลิเวีย เซเนกัล บอตสวานา ดินซาซา สำหรับประเทศจีน ที่เป็นประเทศต้นน้ำโขงยังไม่ตอบรับ ส่วนประเทศเม็กซิโกที่มีปัญหาภายในเรื่องการระบาดของโรคไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ 2009 ก็ปฏิเสธเช่นเดียวกัน

ขณะที่นายสมเกียรติ์ เขื่อนเชียงสา ผู้ประสานงานกลุ่มรักษ์เชียงของ กล่าวว่า การที่จีนพยายามชี้แจงว่า สาเหตุของน้ำท่วมใหญ่ครั้งที่แล้วในพื้นที่แถบเชียงราย หนองคาย ซึ่งอยู่ตอนล่างของเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงในประเทศจีน ไม่เกี่ยวกับการปล่อยน้ำจากเขื่อนนั้น เป็นเรื่องที่ยังต้องพิสูจน์ข้อเท็จจริงกันต่อไป เพราะที่ผ่านมาชาวบ้านต่างยืนยันว่า น้ำท่วมครั้งนั้นเป็นสถานการณ์ที่ไม่ปกติ เนื่องจากขึ้น-ลงเร็วและเป็นที่น่าสังเกตว่า หากน้ำท่วมเนื่องจากฝนตกท้ายเขื่อนจริงก็น่าจะทำให้มีน้ำจากแม่น้ำสาขาไหลทะลักลงมาด้วยเหมือนกับทุกครั้งที่เกิดขึ้น แต่ครั้งนี้ปรากฏว่าน้ำจากแม่น้ำโขงได้ไหลทะลักลึกเข้าไปในแม่น้ำสาขาเช่น แม่น้ำอิง โดยน้ำระลอกใหญ่มาตามแม่น้ำโขงตอนบน

นายสมเกียรติ์กล่าวว่า ชาวบ้านพยายามถามหาคำตอบและความรับผิดชอบจากทางการจีน แต่จีนกลับใช้วิธีเพิกเฉย ล่าสุดเครือข่ายชาวบ้านจึงได้ร่วมกันลงชื่อทำหนังสือไปยังสถานทูตจีน เพื่อให้รับผิดชอบกับความเสียหายที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ยังได้ทำหนังสือถึงสหประชาชาติและรัฐบาลไทย เพื่อให้ร่วมเจรจาแก้ไขปัญหานี้เร่งด่วน เนื่องจากขณะนี้กำลังเข้าฤดูฝน ซึ่งเกรงว่าเหตุการณ์จะซ้ำรอยเดิม ดังนั้น ควรมีการจัดการกลไกขึ้นมาดูแลเป็นพิเศษ ไม่ใช่ปล่อยให้ชาวบ้านต้องเผชิญชะตากรรมตามลำพัง

"หากยังไม่มีคำตอบใดๆ ชาวบ้านตั้งใจกันว่าจะส่งตัวแทนจากพื้นที่อยู่ติดแม่น้ำโขงจังหวัดละ 10 คน ไปยังสถานทูตจีน เพื่อเจรจา รวมถึงเรียกร้องค่าเสียหายที่เกิดขึ้น" นายสมเกียรติ์กล่าว

ผู้ประสานงานกลุ่มรักษ์เชียงของกล่าวว่า ที่ผ่านมา รัฐบาลจีนแทบไม่ให้ความสำคัญต่อการประชุมคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงเลย ทำให้คณะกรรมาธิการชุดนี้แทบไม่มีบทบาทน่าสนใจ ดังนั้น จึงรู้สึกแปลกใจที่จีนให้ข้อมูลในครั้งนี้ อย่างไรก็ตาม ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี หากจีนจะให้ความสนใจกับประเทศท้ายน้ำมากขึ้น เพราะขณะนี้ประชาชนทั้งในลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม ซึ่งได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนในจีนต่างรู้สึกกดดันและไม่พอใจรัฐบาลจีนอยู่พอสมควร ดังนั้น หากจีนคิดที่จะขยายการลงทุนมาสู่ภูมิภาคนี้ ควรมีความจริงใจและต้องรับผิดชอบต่อชาวบ้านด้วย


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง