จม. 7 จว.ลุ่มน้ำโขงถึงนายกเรื่องเวทีรับฟัง 3.5 แสนล้าน
ที่ คสข. ๒๖๐ /๒๕๕๖ เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง ๗ จังหวัด
ภาคอีสาน ตู้ปณ. ๒๗๕ อำเภอเมือง จังหวัด
หนองคาย ๔๓๐๐๐ โทรศัพท์/โทรสาร ๐๔๒ ๐๑๐๕๔๗
๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๖
เรื่อง เสนอแนะปัญหาและแนวทางแก้ไขและความต้องการของประชาชนอันเกี่ยวกับการรับฟังความ
คิดเห็นของประชาชนในโครงการบริหารจัดการน้ำ ๓.๕ แสนล้าน
กราบเรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผ่านผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี
นายจำรัส ศักดิ์จิราพาพงษ์
จากการที่รัฐบาลได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั้งในพื้นที่และพื้นที่ แผนงานก่อสร้าง โครงการเพื่ออกแบบและก่อสร้างการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย ตามแผนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ นั้น เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง ๗ จังหวัดภาคอีสาน (คสข.) และเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนจังหวัดหนองคาย ,เครือข่ายการจัดการน้ำลุ่มน้ำห้วยโมง
จ.หนองคาย จ.อุดรธานี พบว่า การจัดเวทีครั้งนี้ เป็นการจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นที่ขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐ ว่าด้วยสิทธิชุมชนและสิทธิการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน ตลอดจนไม่เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ.๒๕๔๘
สภาองค์กรชุมชน ซึ่งเกิดขึ้นตามพระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชน พ.ศ.๒๕๕๑ และมีภารกิจตามมาตรา ๒๑
(๒) ส่งเสริมและสนับสนุนให้สมาชิกองค์กรชุมชนร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานของรัฐในการจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่จะเป็นประโยชน์ต่อชุมชนและประเทศชาติอย่างยั่งยืน (๓)เผยแพร่และให้ความรู้ความเข้าใจแก่สมาชิกองค์กรชุมชน รวมตลอดทั้งการร่วมมือกันในการคุ้มครองคุณภาพสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน และ(๕) เสนอแนะปัญหาและแนวทางแก้ไข หรือตามต้องการของประชาชนอันเกี่ยวกับการจัดทำบริการสาธารณะของหน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
อาศัยความตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ.๒๕๔๘ ข้อ ๑๕ ให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีมีหน้าที่กำกับดูแล ส่งเสริม สนันสนุน ช่วยเหลือ และแนะนำหน่วยงานของรัฐในการดำเนินการตามระเบียบนี้ รวมทั้งให้มีหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๒) ศึกษาหรือวิจัยเพื่อประโยชน์ในการปรับปรุงและพัฒนาวิธีการให้ข้อมูลและการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน
(๓) จัดทำและพัฒนาฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์และระบบเครือข่ายสารสนเทศเพื่อประโยชน์ในการประกาศ รวบรวม และให้บริการข้อมูลที่เผยแพร่แก่ประชาชนและข้อมูลเกี่ยวกับการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามระเบียบนี้
เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนจังหวัดหนองคาย และเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง ๗ จังหวัดภาคอีสาน (คสข.) เครือข่ายการจัดการน้ำลุ่มน้ำห้วยโมง จ.หนองคาย จ.อุดรธานี ขอเรียกร้องให้ คณะกรรมการ กบอ., สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และมหาวิทยาลัยของรัฐทุกแห่งที่ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนให้กับทางรัฐบาล ได้ศึกษาและพิจารณาดำเนินการตามข้อเสนอดังต่อไปนี้
(๑) ในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต้องปรับปรุงกระบวนการ โดยมุ่งให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับแผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำ และหากมีการกล่าวถึงโครงการของรัฐใดๆในพื้นที่นั้น โดยต้องให้หน่วยงานของรัฐที่เป็นผู้รับผิดชอบโครงการจัดให้มีการเผยแพร่ข้อมูลให้ประชาชนทราบ แยกเป็นรายโครงการในแต่ละพื้นที่ดังต่อไปนี้
(๑.๑) เหตุผลและความจำเป็น และวัตถุประสงค์ของโครงการ
(๑.๒) สาระสำคัญของโครงการ
(๑.๓) ผู้ดำเนินการ
(๑.๔) สถานที่ที่จะดำเนินการ
(๑.๕) ขั้นตอนและระยะเวลาดำเนินการ
(๑.๖) ผลผลิตและผลลัพธ์ของโครงการ
(๑.๗) ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นแก่ประชาชนที่อยู่อาศัยหรือประกอบอาชีพอยู่ในสถานที่ที่จะดำเนินโครงการและพื้นที่ใกล้เคียง และประชาชนทั่วไป รวมทั้งมาตรการป้องกัน แก้ไข หรือเยียวยาความเดือดร้อนหรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากผลกระทบดังกล่าว
(๑.๘) ประมาณการค่าใช้จ่าย ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐจะเป็นผู้ดำเนินโครงการของรัฐเอง ให้ระบุที่มาของเงินที่จะนำมาใช้จ่ายในการดำเนินโครงงานนั้นด้วย
(๒) โครงการใดที่ยังไม่ได้มีการศึกษา ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการศึกษามาให้เรียบร้อยเสียก่อนแล้วจึงนำมารับฟังความคิดเห็นของประชาชน ที่ผ่านมาในเวทีรับฟังความคิดเห็นได้มีโครงการที่ยังไม่ได้ทำการศึกษา แล้วมารับฟังความคิดเห็นซึ่งก่อให้เกิดความขัดแย้งในหมู่ประชาชนที่ขาดข้อมูลเพื่อการพิจารณา
(๓) เนื่องจากการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยประกอบด้วยหลายโครงการที่มีความเชื่อมโยงกัน การรับฟังความคิดเห็นให้มีความทั่วถึงจึงไม่สามารถทำได้ด้วยการจัดเวทีจังหวัดละหนึ่งครั้งและจำกัดเวลาให้พูด ได้คนละสามนาทีจึงขอให้ทางผู้จัดได้นัดประชุมหารือกับทางสภาองค์กรชุมชนตำบล และเครือข่ายภาคประชาชนตามบัญชีรายชื่อแนบท้ายนี้รวมทั้ง สถานีโทรทัศน์สาธารณะ เพื่อกำหนดมาตรการเพิ่มเติมในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนได้แก่ การสนทนากลุ่มย่อย การประชาพิจารณ์ การอภิปรายสาธารณะ การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร การประชุมเชิงปฏิบัติการ และการประชุมระดับตัวแทนของกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือมีส่วนได้เสีย
(๔) ในการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นในโครงการที่จะส่งผลกระทบต่อชุมชน จะต้องจัดให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ได้เข้าร่วมรับข้อมูลและแสดงความคิดเห็นเป็นหลัก/เป็นสำคัญเสียก่อน ที่จะเปิดให้ประชาชนในภาคส่วนอื่นๆได้เข้าร่วม
(๕) ให้หน่วยงานของรัฐเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารทั้งหมด ที่เป็นผลของการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น ผ่านระบบเครือข่ายสารสนเทศ ที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีจัดให้มีขึ้นตามระเบียบนี้ ได้แก่เว็บไซต์ http://www.wateropm.org โดยบันทึกเทปเหตุการณ์การจัดประชุมทั้งห้องใหญ่และห้องย่อย พร้อมอัพโหลดขึ้นที่ยูทูปแชนแนล wateropm ตลอดจนภาพถ่ายของฟลิบบอร์ดหน้าห้องทุกห้องมานำเสนอไว้ทางเว็บไซต์ที่ได้จัดทำขึ้น
เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง ๗ จังหวัดภาคอีสาน (คสข.)
เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนจังหวัดหนองคาย
เครือข่ายการจัดการน้ำลุ่มน้ำห้วยโมง จ.หนองคาย จ.อุดรธานี