จม.พันธมิตรปกป้องแม่น้ำโขง ถึงเอ็มอาร์ซี เรื่อง เขื่อนไซยะบุรี
นาย ลิม เคียน ฮอ
รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรน้ำและอุตุนิยมวิทยา
ประธานคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติกัมพูชา
สมาชิกสภาคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงแห่งกัมพูชา
ประธานคณะมนตรี คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ประจำปี 2554/2555
20 เมษายน 2555
เรื่อง: ข้อเรียกร้องขอความชัดเจนในการปรึกษาหารือล่วงหน้าเรื่องเขื่อนไซยะบุรี
เรียน นาย ลิม เคียน ฮอ:
นับเป็นเวลาสี่เดือนหลังจากการประชุมระดับรัฐมนตรีคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ที่เมืองเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2554 พันธมิตรปกป้องแม่น้ำโขง มีความเชื่อมั่นว่าประเทศสมาชิกคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงและสำนักเลขาธิการกำลังเตรียมดำเนินการ “ศึกษาเพิ่มเติม” เกี่ยวกับผลกระทบของการพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำบนแม่น้ำโขงสายหลัก อย่างไรก็ตาม เรายังคงวิตกกังวลในประเด็นความคลุมเครือบางประการที่ยังไม่มีคำตอบเกี่ยวกับอนาคตของเขื่อนไซยะบุรี และเขื่อนอื่น ๆ บนแม่น้ำโขงสายหลัก
เท่าที่ทราบ ยังไม่มีการบรรลุความตกลงใด ๆ เกี่ยวกับกระบวนการ “การปรึกษาหารือล่วงหน้า” โครงการเขื่อนไซยะบุรี อีกทั้งยังไม่มีการตกลงว่าเขื่อนดังกล่าวควรได้รับความเห็นชอบหรือไม่ ผู้พัฒนาโครงการก็ยังมิได้จัดทำการประเมินผลกระทบข้ามพรมแดนที่จะเกิดจากเขื่อนไซยะบุรี และไม่มีการปรึกษาหารือใด ๆ กับภาคประชาชน ตามคำขอของประเทศสมาชิกคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ระหว่างการประชุม คณะกรรมการร่วม ในเดือนเมษายน 2554 กล่าวได้ว่า ยังมีอีกมากที่จะต้องดำเนินการเพื่อหลักประกันที่ว่า การตัดสินใจเกี่ยวเขื่อนในแม่น้ำโขงสายหลัก จะอาศัยข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และความคิดเห็นของสาธารณชนอย่างเพียงพอ
อย่างไรก็ดี ข้อมูลล่าสุดที่ได้มีการเปิดเผยเมื่อเร็วๆ นี้ในประเทศไทยพบว่า รัฐบาลไทยและบริษัทเอกชนของไทยหลายบริษัทยังคงผลักดันให้มีการสร้างเขื่อนอย่างต่อเนื่อง เจ้าหน้าที่อาวุโสของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งได้เข้าร่วมการประชุมคณะอนุกรรมาธิการวุฒิสภา ภายใต้คณะกรรมาธิการสามัญประจำวุฒิสภาว่าด้วยการตรวจสอบการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2555 ได้ยืนยันในฐานะผู้แทนของผู้ว่าการกฟผ.ว่า กฟผ.และผู้พัฒนาโครงการไซยะบุรี ได้ลงนามข้อตกลงซื้อขายไฟฟ้ากันแล้ว เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2554 ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการขัดต่อพันธกรณีของรัฐบาลไทยที่ว่า จะไม่มีการลงนามดังกล่าวจนกว่าจะมีการเห็นพ้องร่วมกันของสี่ประเทศสมาชิกคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ในกระบวนการการปรึกษาหารือล่วงหน้าเรื่องเขื่อนไซยะบุรี
ในระหว่างนั้น การก่อสร้างเบื้องต้นของเขื่อนไซยะบุรีก็ได้ดำเนินไปโดยปราศจากความตกลงร่วมกันในภูมิภาค เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2555 ในการประชุมของสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของประเทศไทย โดยคณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร ธนาคารกรุงไทย ซึ่งเป็นของรัฐ (และธนาคารเอกชนไทยอีกสามแห่ง) ยืนยันว่า ได้ให้การสนับสนุนทางการเงินแก่โครงการดังกล่าวแล้ว หลังจากที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี เราเชื่อว่าการกระทำทั้งหลายข้างต้นขัดต่อ “ความตกลงแม่น้ำโขงปี 2538” และขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยถอนตัวจากการเกี่ยวข้องทั้งหมดในทันที
เมื่อพิจารณาถึงสภาพการต่าง ๆ ที่กล่าวมา เราจึงใคร่ขอความกระจ่างจากท่านก่อนวันที่ 15 พฤษภาคม 2555 ในประเด็นต่างๆ ดังนี้:
1. มีการทำความตกลงให้สร้างเขื่อนไซยะบุรีแล้วหรือไม่? เราต้องการคำยืนยันว่าไม่ได้มีการทำความตกลงใด ๆ ภายใต้คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง หรือความตกลงระหว่างรัฐบาลใด ๆ เพื่อให้ดำเนินการก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรี
2. การดำเนินการก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรีจะยุติในระหว่างที่มี “การศึกษาเพิ่มเติม” หรือไม่? และถ้าใช่ คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงจะกระทำการอย่างไรเพื่อให้มั่นใจว่า การยุติก่อสร้างจะเกิดขึ้นจริง? หากการก่อสร้างยังดำเนินต่อไป เป็นไปไม่ได้ที่จะทำการรวบรวมข้อมูลฐาน (Baseline data) ที่จำเป็นเพื่อความเข้าใจอย่างถ่องแท้ต่อผลกระทบของการพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำบนแม่น้ำโขงสายหลัก ผลกระทบหลายประการของเขื่อนไซยะบุรีนั้นร้ายแรงเกินกว่าที่จะแก้ไข ซึ่งรวมไปถึงการสูญเสียพันธุ์ปลาอพยพด้วย
3. เขื่อนอื่น ๆ บนแม่น้ำโขงสายหลักจะได้รับอนุญาตให้เริ่มขั้นตอนการปรึกษาหารือล่วงหน้า ในระหว่างจัดทำการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมหรือไม่? การศึกษาเพิ่มเติมนั้น หากทำอย่างระมัดระวังจะทำให้การตัดสินใจเกี่ยวกับเขื่อนอื่น ๆ ในแม่น้ำโขงสายหลักเป็นไปอย่างรอบคอบยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม การอนุญาตให้ริเริ่มโครงการอื่น ๆ ก่อนที่การศึกษาเพิ่มเติมจะเสร็จสมบูรณ์ ย่อมลดทอนความสำคัญของกระบวนการปรึกษาหารือและทำลายข้อมูลฐานที่ยังอยู่ในขั้นตอนของการเก็บรวบรวม เท่ากับเป็นการคุกคามความยั่งยืนของแม่น้ำโขง
4. “การศึกษาเพิ่มเติม” หมายรวมถึงการทบทวนตัวสถาบันและขั้นตอนการปฏิบัติต่าง ๆ ว่าด้วยการพัฒนาแม่น้ำโขงด้วยหรือไม่? ด้วยความคลุมเครือของขั้นตอนการปฏิบัติต่าง ๆ ที่ดำเนินควบคู่ไปกับข้อเสนอเพื่อพัฒนาเขื่อนไซยะบุรี พันธมิตรปกป้องแม่น้ำโขงมีความเชื่อที่หนักแน่นว่า จำเป็นที่จะต้องมีการถกเถียงว่า ควรทำอย่างไรเพื่อให้เกิดความเข้มแข็งและความกระจ่างชัด ต่อสถาบันต่าง ๆ ในระดับภูมิภาค ที่เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบการพัฒนาแม่น้ำโขง
5. “การศึกษาเพิ่มเติม” จะสามารถเปิดโอกาสการมีส่วนร่วมของประชาชนได้ในทางใด? พันธมิตรปกป้องแม่น้ำโขงเชื่อมั่นว่า การศึกษาจะสามารถดำเนินไปได้โดยชอบธรรมในทัศนะของประชาชน และสามารถสะท้อนประเด็นคำถามหรือปัจจัยปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ในลุ่มแม่น้ำโขงได้อย่างถูกต้อง จะต้องมีการเปิดโอกาสในมีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างกว้างขวางต่อการศึกษาดังกล่าว ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ และระดับภูมิภาค
ประชาชนทั่วทั้งภูมิภาคและทั่วโลก ได้คัดค้านและเรียกร้องให้ยกเลิกแผนการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลักมาเป็นเวลานาน ในเดือนมีนาคม 2555 ตัวแทนขององค์กรภาคประชาสังคมกว่าสามร้อย ร่วมกับชุมชนซึ่งได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนจากทั่วทั้งภูมิภาคอาเซียน ออกแถลงการณ์ ณ เวทีประชาชนอาเซียน เรียกร้องให้ยกเลิกโครงการเขื่อนไซยะบุรี หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ล่าสุดต่างสนับสนุนจุดยืนของเราที่ว่า การสร้างเขื่อนเหล่านี้จะก่อความเสียหายร้ายแรงต่อแม่น้ำโขงและประชาชนผู้มีวิถีชีวิตต้องพึ่งพาแม่น้ำสายนี้เกินกว่าที่จะเยียวยา เราหวังว่ากระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้าของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง และ “การศึกษาเพิ่มเติม” จะนำไปสู่กระบวนการตัดสินใจที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่ตรงไปตรงมาและการถกเถียงที่เปิดเผยต่อสาธารณะ เราหวังจะได้รับคำตอบจากท่านในเร็ววัน
ขอแสดงความนับถือ,
เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบลลุ่มน้ำโขง จังหวัดอำนาจเจริญ, ประเทศไทย
เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบลลุ่มน้ำโขง จังหวัดบึงกาฬ, ประเทศไทย
เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบลลุ่มน้ำโขง จังหวัดเลย, ประเทศไทย
เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบลลุ่มน้ำโขง จังหวัดมุกดาหาร, ประเทศไทย
เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบลลุ่มน้ำโขง จังหวัดนครพนม, ประเทศไทย
เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบลลุ่มน้ำโขง จังหวัดหนองคาย, ประเทศไทย
เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบลลุ่มน้ำโขง จังหวัดอุบลราชธานี, ประเทศไทย
Both Ends, ประเทศเนเธอร์แลนด์
สมาคมพุทธศาสนิกชนเพื่อการพัฒนาสิ่งแวดล้อม, ประเทศกัมพูชา
กลุ่มชาวกัมพูชาพัฒนาชนบท,ประเทศกัมพูชา
อาสาสมัครเพื่อสังคม, ประเทศกัมพูชา
ศูนย์วิจัยและพัฒนาสังคม, ประเทศเวียดนาม
ศูนย์อนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรน้ำ (WARECOD), ประเทศเวียดนาม
Christ Lang, ประเทศอินโดนีเซีย
การพัฒนาเศรษฐกิจสังคม, ประเทศกัมพูชา
ศูนย์ทรัพยากรชุมชน, ประเทศไทย
สมาคมอนุรักษ์วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม, ประเทศกัมพูชา
EarthRights International, ประเทศสหรัฐอเมริกา
กลุ่มพันธมิตรการทำประมง, ประเทศกัมพูชา
Foreningen for Internasjonale Vannstudier (FIVAS), ประเทศนอรเวย์
Focus on the Global South, ประเทศไทย
Global Association for People and the Environment (GAPE), ประเทศแคนาดา
GreenID, ประเทศเวียดนาม
HELVETAS, ประเทศลาว
International Rivers, ประเทศสหรัฐอเมริกา
สมาคมชาวนาเขมร,ประเทศกัมพูชา
กลุ่มเครือข่ายชุมชนคนฮักน้ำโขง,ประเทศไทย
Living River Siam, ประเทศไทย
Manna Gum, ประเทศออสเตรเลีย
เครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติแม่โขง-ล้านนา, ประเทศไทย
Mekong Monitor Tasmania, ประเทศออสเตรเลีย
My Village, ประเทศกัมพูชา
เครือข่ายภาคประชาชนแปดจังหวัดลุ่มแม่น้ำโขง, ประเทศไทย
NGO Forum on Cambodia, ประเทศกัมพูชา
NGO Forum onthe ADB, ประเทศฟิลิปปินส์
พลังไท, ประเทศไทย
PanNature, ประเทศเวียดนาม
Save the Vulnerables, ประเทศกัมพูชา
The Corner House, สหราชอาณาจักร
โครงการฟื้นฟูนิเวศในภูมิภาคแม่น้ำโขง (TERRA), ประเทศไทย
เครือข่ายแม่น้ำเวียดนาม, ประเทศเวียดนาม
เครือข่ายปกป้องแม่น้ำเซกอง เซซาน สเรป็อก (3SPN), ประเทศกัมพูชา
สำเนาถึง:
คณะกรรมการร่วม คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง
หน่วยงานและสถาบันผู้ให้การสนับสนุนคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง