จม.เรียกร้องให้มีส่วนร่วมของประชาชนในโครงการเขื่อนดอนสะโฮง
Thai National Mekong Committee Department of Water Resources
180/3 Rama 6 Road, Soi Phibul Watana Building
Phayathai, Bangkok 10400 Thailand
Tel. (66-2) 271 6165, 298 6605
Fax. (66-2) 298 6605
เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง
สำนักงานเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง-ล้านนา
68 ม.2 ต.เวียงแก้ว อ.เชียงของ จ.เชียงราย
13 มกราคม 2557
เรื่อง เรียกร้องให้มีส่วนร่วมของประชาชนในโครงการเขื่อนดอนสะโฮง Don Sahong Dam
เรียน ผู้แทนคณะกรรมมาธิการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย
เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ซึ่งได้ติดตามความเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขงและผลกระทบต่อชุมชนที่พึ่งพาแม่น้ำโขงมาโดยตลอด โดยเฉพาะในพื้นที่ตั้งแต่ จ.เชียงราย จ.เลย ลงไปจนถึงจ.อุบลราชธานี ได้ทราบข้อมูลว่าจะมีการประชุมวาระพิเศษ ของคณะกรรมการแม่น้ำโขง Mekong River Commission Special Joint Committee Meeting on the Don Sahong Dam ณ กรุงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ในวันที่ 14 หรือ 15 มกราคม 2557 เพื่อหารือในประเด็นการก่อสร้างเขื่อนดอนสะโฮง Don Sahong Dam กั้นแม่น้ำโขง ทางภาคใต้ของ สปป.ลาว ใกล้ชายแดนกัมพูชา ซึ่งมีการประกาศว่าเริ่มการก่อสร้างแล้วตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ปี 2556 ที่ผ่านมา
เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง มีความกังวลอย่างยิ่งว่าการก่อสร้างเขื่อนดอนสะโฮง จะปิดกั้นเส้นทางอพยพของปลาแม่น้ำโขง จากกัมพูชา สู่ลาว ไทย และทางตอนบน รวมถึงลำน้ำสาขาต่างๆ ตลอดจนผลกระทบอื่นๆ ทั้งนี้โครงการเขื่อนดอนสะโฮงยังไม่ได้มีการจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดน Transboundary Impact Assessment จึงไม่มีสิ่งใดชี้ได้ว่าผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจะมีมากน้อยแค่ไหน อย่างไร
ในวาระที่มีการประชุมพิเศษครั้งนี้ เครือข่ายฯ ขอเรียกร้องคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย ในฐานะผู้แทนประเทศไทย ดังนี้
1 ชะลอโครงการเขื่อนบนแม่น้ำโขงทั้งหมด จนกว่าจะมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะชุมชนริมแม่น้ำโขงซึ่งจะได้รับผลกระทบโดยตรง แม้ทางการไทยจะเรียกร้องให้มีการจัดกระบวนการ PNPCA ตามข้อตกลงของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงไปแล้วก่อนหน้านี้ แต่ในส่วนของประเทศไทย ต้องยึดหลักตามรัฐธรรมนูญไทยมาตรา 57 สิทธิของประชาชนในการได้รับข้อมูล คำชี้แจง และเหตุผลจากรัฐ ในกรณีที่ “อาจมีผลกระทบต่อส่วนได้เสียสำคัญของประชาชน ให้รัฐจัดให้มีกระบวนการรับฟังความเห็นของประชาชนอย่างทั่วถึงก่อนการดำเนินการ” มาตรา 66 สิทธิของชุมชนท้องถิ่น และมาตรา67 สิทธิในการมีส่วนร่วมจัดการทรัพยากร
2 ผลักดันให้มีการศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดนที่มีส่วนร่วมของผู้ได้รับผลกระทบในทุกขั้นตอน ทั้งนี้ต้องมีการศึกษาสำหรับเขื่อนต่างๆ ทั้งหมดที่จะสร้างบนแม่น้ำโขง ซึ่งปัจจุบันได้แก่ โครงการเขื่อนไซยะบุรี และเขื่อนดอนสะโฮง
การศึกษาดังกล่าวต้องมีส่วนร่วมของผู้ได้รับผลกระทบนับตั้งแต่เริ่มต้นกำหนดกรอบการศึกษาที่รอบด้าน การเลือกพื้นที่ศึกษาอย่างครอบคลุม ไปจนถึงการจัดทำการศึกษาให้แล้วเสร็จสมบูรณ์ ทั้งนี้ การศึกษาดังกล่าวต้องนำมาใช้ในการประกอบการตัดสินใจ ว่าจะสร้าง หรือไม่สร้าง โครงการเขื่อนต่างๆ ไม่ใช่ “สร้างไป ศึกษาไป” ดังเช่นโครงการเขื่อนไซยะบุรี
อนึ่ง การศึกษาผลกระทบนี้ ต้องมีกระบวนการที่ทำ ให้ชาวบ้านได้เห็นถึงภาพรวมของปัญหาผลกระทบข้ามพรมแดนในภาพรวม
เครือข่ายหวังว่าท่านจะทำหน้าที่ปกป้องผลกระโยชน์ของประชาชนในการประชุมครั้งนี้ และมิยอมให้ผลประโยชน์ทางการเมือง เข้ามาทำให้แม่น้ำโขงถูกทำลาย
ขอแสดงความนับถือ
เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดแม่น้ำโขง