จม. ถึง MRC ขอให้ทบทวนบทบาทของ MRC ต่อโครงการเขื่อนไซยะบุรี และเขื่อนบนแม่น้ำโขงในวาระการประชุม ผู้นำประเทศลุ่มน้ำโขง เครือข่ายประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง
เรื่อง ขอให้ทบทวนบทบาทของ MRC ต่อโครงการเขื่อนไซยะบุรี และเขื่อนบนแม่น้ำโขง
ในวาระการประชุมผู้นำประเทศลุ่มน้ำโขง
เรียน CEO คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง
สำเนาส่ง คณะมนตรีแม่น้ำโขง 4 ประเทศ
ในวาระการประชุมผู้บริหารระดับสูงของประเทศลุ่มน้ำโขง Mekong2Rio ซึ่งมีวัตถุประสงค์ “เพื่อแสดงจุดยืนร่วมกันของประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่างในการดำเนินการตามความตกลงว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการพัฒนาลุ่มน้ำโขงอย่างยั่งยืน พ.ศ.2538” ซึ่งมีผู้นำจากประเทศลุ่มน้ำโขงเข้าร่วมประชุม
เครือข่ายภาคประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ประกอบด้วย จังหวัดเชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี ที่ได้ติดตามกรณีการพัฒนาโครงการในแม่น้ำโขงมาตลอด มีความกังวลใจอย่างยิ่งต่อโครงการเขื่อนไซยะบุรี ที่ท่านมีหน้าที่กำกับดูแล
กระบวนการแจ้งและปรึกษาหารือ หรือ PNPCA ตามข้อตกลงแม่น้ำโขง พ.ศ.2538 ซึ่งมีโครงการเขื่อนไซยะบุรีเป็นโครงการแรกที่ปฏิบัติตามกรอบข้อตกลง ในฐานะโครงการเขื่อนบนลำน้ำโขงสายหลัก จากทั้งสิ้น 12 โครงการ ใช้ระยะเวลาทั้งสิ้น 6 เดือน ในการรับฟังความคิดเห็นใน 3 ประเทศ ได้แก่ ไทย กัมพูชา และเวียดนาม โดยมีการประชุมในวันที่ 19 เมษายน 2554 มีมติให้เลื่อนการตัดสินใจไปสู่ระดับคณะมนตรี
ต่อมาในเดือนธันวาคม 2554 คณะมนตรีแม่น้ำโขง จากทั้ง 4 ประเทศ ได้มีมติให้ทำการศึกษาเพิ่มเติมเรื่องผลกระทบจากเขื่อนบนแม่น้ำโขง จึงเท่ากับว่าโครงการเขื่อนไซยะบุรี ยังไม่ได้รับฉันทามติจาก 4 ประเทศสมาชิก
แต่ข้อมูลที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กลับระบุว่ามีการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) จากเขื่อนไซยะบุรีไปแล้วตั้งแต่เดือนตุลาคม 2554นอกจากนี้ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) ยังได้เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่าได้ลงนาม กับบริษัทไซยะบุรีพาวเวอร์ เพื่อลงทุน ก่อสร้าง และพัฒนาโครงการเขื่อนไซยะบุรี บนแม่น้ำโขงสายหลัก และเริ่มดำเนินการก่อสร้างอย่างเป็นทางการแล้วตั้งแต่เดือนมีนาคม ที่ผ่านมา
กรณีเขื่อนไซยะบุรี ทำให้เห็นว่าการพัฒนาเขื่อนบนแม่น้ำโขงทั้งหมดจำเป็นต้องนำสู่กรอบกติกาของประชาคมอาเซียน เนื่องจากพบว่านับตั้งแต่ลงนามข้อตกลงแม่น้ำโขงเมื่อ พ.ศ.2538 ประเทศสมาชิกทั้ง 4 ทั้งไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ไม่สามารถควบคุมกำกับกันเองได้
เขื่อนไซยะบุรีเป็นโครงการแรกของ 12 โครงการเขื่อนบนแม่น้ำโขงตอนล่าง จะเป็นบรรทัดฐานและแบบอย่างของโครงการเขื่อนอื่นๆ ที่จะตามมา
ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำโขงมองว่า โครงการก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรีจะสร้างผลกระทบร้ายแรงต่อระบบนิเวศน์ลุ่มน้ำโขง การอพยพของพันธุ์ปลา การประมง การเกษตร และความมั่นคงทางอาหารของชุมชนสองฝั่งแม่น้ำโขงที่มีแม่น้ำโขงเป็นสายเลือดหล่อเลี้ยงชีวิต อันจะส่งผลไปสู่การบังคับให้อพยพย้ายถิ่น และการขาดแคลนอาหาร ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ชาวบ้านได้รับรู้ถึงผลกระทบของการสร้างเขื่อน 4 แห่ง ในประเทศจีน ซึ่งกั้นแม่น้ำโขงทางตอนบน ที่แม้จะอยู่ห่างไกลกว่าโครงการเขื่อนไซยะบุรี แต่ได้สร้างผลกระทบต่อคนลุ่มน้ำโขงตอนล่างอย่างชัดเจน และจวบจนปัจจุบันยังไม่มีกระบวนการแก้ไขปัญหาจากเขื่อนในจีนแต่อย่างใด
หากมีการสร้างเขื่อนไซยะบุรีสำเร็จ จะเกิดผลกระทบไม่เพียงแต่ประชาชนในประเทศไทยเท่านั้น แต่จะส่งผลกระทบต่อ ประชาชนริมแม่น้ำโขงในลาว กัมพูชา และเวียดนาม รวมถึงคนริมฝั่งแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขง เขื่อนไซยะบุรีจะทำลายระบบนิเวศอันอุดมสมบูรณ์ของลุ่มน้ำโขงตอนล่าง และวิถีชีวิตของคนริมฝั่งโขงหลายล้านคน เป็นความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมที่รุนแรง กว้างขวาง และไม่อาจแก้ไขกลับคืนได้
การก่อสร้างโครงการเขื่อนไซยะบุรี ที่ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงระหว่างประเทศของภูมิภาคลุ่มน้ำโขง จะนำไปสู่ความขัดแย้งในภูมิภาคได้ในระยะเวลาอันใกล้
ในการประชุมผู้นำประเทศลุ่มน้ำโขง Mekong2Rio ในครั้งนี้ เครือข่ายประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง จึงขอเรียกร้องให้ท่านทำหน้าที่กำกับดูแลข้อตกลงแม่น้ำโขง พ.ศ. 2538 อย่างจริงจัง และนำเรื่องดังกล่าวมาเป็นวาระเร่งด่วนในการประชุมครั้งนี้ เพื่อให้ระงับโครงการสร้างเขื่อนไซยะบุรีทันที เพื่อหลีกเลี่ยงการสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชน และกลายเป็นประเด็นสร้างความขัดแย้งในภูมิภาค
อนึ่งหากเขื่อนไซยะบุรีเกิดขึ้นท่ามกลางความไม่สะดวกใจของประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมทำให้เกิดปัญหาขัดแย้งระหว่างประเทศที่จะนำไปสู่การตัดสินใจตามอำเภอใจของแต่ละประเทศต่ออีก 11 โครงการเขื่อนในแม่น้ำโขงตอนล่างที่รออยู่ เมื่อถึงเวลานั้น MRC ยิ่งจะกลายเป็นองค์กรเสือกระดาษที่ไม่สามารถมีบทบาทที่เป็นจริงได้
พวกเราคาดหวังว่าท่านจะทำหน้าที่อย่างเข้มงวด เพื่อไม่ให้ประเทศใดประเทศหนึ่ง และกลุ่มธุรกิจเอกชนมาทำลายวิถีชีวิตของคนลุ่มน้ำโขงกว่า 60 ล้านคน ที่สำคัญคือ ควรเคารพภูมินิเวศน์ วัฒนธรรมของชุมชน เพื่อให้สังคมสุวรรณภูมิอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขต่อไป
ขอแสดงความนับถือ
เครือข่ายภาคประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง