จม.ถึงก.ทรัพฯ เรื่อง ขอความชัดเจนกระบวนการจัดรับฟังความเห็นและการปรึกษาหารือล่วงหน้า Prior Consultation กรณีเขื่อนดอนสะโฮง
เรื่อง ขอความชัดเจนกระบวนการจัดรับฟังความเห็นและการปรึกษาหารือล่วงหน้า Prior Consultation กรณีเขื่อนดอนสะโฮง
เรียน ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
สำเนาส่ง อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ
หลังจากที่รัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ได้ประกาศที่จะดำเนิน โครงการเขื่อนดอนสะโฮง แขวงจำปาสัก ทางตอนใต้ของ สปป.ลาว ซึ่งจะเป็นเขื่อนแห่งที่ 2 บนแม่น้ำโขงตอนล่าง และได้นำโครงการนี้เข้าสู่กระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า (Prior Consultation) ตามข้อตกลงแม่น้ำโขง พ.ศ.2538 มีกำหนดระยะเวลา 6 เดือน ซึ่งต่อมาคณะกรรมการร่วม 4 ประเทศ ได้ตกลงเริ่มกระบวนการฯ ในปลายเดือนกันยายน
หากนับระยะเวลาตั้งแต่การประกาศดังกล่าวแล้ว ก็เป็นเวลาล่วงเลยมาเป็นเดือนที่ 4 แล้ว แต่กลับปรากฏว่า กรมทรัพยากรน้ำ ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงของประเทศไทย ยังไม่มีความชัดเจนทั้งกระบวนการ ข้อมูล และรายละเอียดของขั้นตอนการปรึกษาหารือดังกล่าว ที่จะชี้แจงต่อประชาชนลุ่มน้ำโขงในประเทศไทยซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงแต่อย่างใด มีเพียงข่าวเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2557 นายชัยพร ศิริพรไพบูลย์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ ได้ให้สัมภาษณ์ต่อหนังสือพิมพ์ The Nation และในเว็บไซด์ของสำนักงานเลขาธิการแม่น้ำโขงประเทศไทยว่า ได้มีการเผยแพร่ขั้นตอน และข้อมูล เกี่ยวกับการจัดเวทีปรึกษาหารือล่วงหน้า กรณีเขื่อนดอนสะโฮง และจะมีการจัดเวทีปรึกษาหารือ ในพื้นที่ 8 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และ อุบลราชธานี เท่านั้น
เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง มีความเห็นว่ากระบวนการจัดเวทีดังกล่าวมีลักษณะเหมือนกับเวทีรับฟังความเห็น กรณีเขื่อนไซยะบุรี ที่เคยจัดขึ้น ซึ่งเต็มไปด้วยความรีบเร่ง และข้อมูลมีไม่เพียงพอต่อการตัดสินใจ และจะเพียงพอที่จะสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนเกี่ยวกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากโครงการดังกล่าว และโครงการเขื่อนดอนสะโฮงจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่สร้างข้อกังวลด้านผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคมที่เพิ่มมากขึ้น ประชาชนในเขตประเทศไทยจะต้องประสบปัญหาอย่างหนักหน่วง เนื่องจากจะเป็นการสร้างเขื่อนปิดหัว (เขื่อนไซยะบุรี) และปิดท้าย (เขื่อนดอนสะโฮง) แม่น้ำโขง ในเขตที่ไหลผ่านประเทศไทย
จากข้อกังวลดังกล่าว เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2557 ทางเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ได้ส่งหนังสือถึง ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แสดงถึงความกังวลใจ และความเห็นต่อการจัดเวทีปรึกษาหารือล่วงหน้า กรณีเขื่อนดอนสะโฮงแล้ว และได้ออกแถลงการณ์ เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2557 ที่ผ่านมา เพื่อเรียกร้องความชัดเจน ด้านการจัดเวทีรับฟังความเห็นและปรึกษาหารือดังกล่าว แต่จนบัดนี้ ทางเครือข่ายฯก็ยังไม่ได้รับการตอบกลับ หรือมีการชี้แจงเกี่ยวกับข้อมูลดังกล่าวให้มีความชัดเจน หรือมีการชี้แจงต่อประชาชนผู้ที่อาจจะได้รับผลกระทบต่อโครงการ ทั้งในส่วนของ วันเวลา สถานที่ กระบวนการขั้นตอน ตลอดทั้งข้อมูลของโครงการฯ และผู้เข้าร่วม เพื่อที่เครือข่ายฯและประชาชนจะสามารถเข้าไปร่วมรับฟังและแสดงความคิดเห็นได้
ในครั้งนี้ เครือข่ายฯ จึงมีข้อเรียกร้องต่อกรมทรัพยากรน้ำ ในฐานะกองเลขาคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย ซึ่งมีหน้าที่ต้องจัดกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า ดังต่อไปนี้
1. ขอให้เปิดเผยข้อมูลและกระบวนการเกี่ยวกับ “เวทีปรึกษาหารือล่วงหน้า กรณีเขื่อนดอนสะโฮง” ที่ชัดเจนทั้งเรื่อง กรอบการดำเนินการ ระยะเวลา ข้อมูลโครงการ ผู้เข้าร่วม วันและเวลา และสถานที่ ทั้งหมดอย่างเร่งด่วน
2. ยืนยันให้มีการจัดเวทีการปรึกษาหารือในพื้นที่ 8 จังหวัดริมแม่น้ำโขงอย่างครอบคลุมอย่างน้อย 1 เวทีในทุกอำเภอริมแม่น้ำโขง โดยให้มีการประกาศล่วงหน้าในสถานที่ราชการส่วนกลางและท้องถิ่น สื่อวิทยุ หรือหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมได้อย่างกว้างขวาง
3. ให้มีการแปลเอกสารโครงการและข้อมูลที่เกี่ยวข้องเป็นภาษาไทยทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รายงาน EIA,CIA และInitial Assessment on Don Sahong Project, January 2014,MRC และเผยแพร่ล่วงหน้าก่อนการจัดเวที อย่างน้อย 30 วัน เพื่อให้ประชาชนสามารถทำความเข้าใจ และเข้าร่วมแสดงความเห็นในเวทีการปรึกษาหารืออย่างมีประสิทธิภาพ
4. เสนอให้ผู้ลงทุนเอกชนเจ้าของโครงการ และหน่วยงานที่รับผิดชอบ ต้องส่งผู้แทนเข้าร่วมเวทีเพื่อตอบคำถามจากประชาชน
5. ขยายระยะเวลาจัดกระบวนการปรึกษาหารือ ออกไปมากกว่า 6 เดือน เพื่อให้ได้ข้อมูลที่รอบด้านในการประกอบการตัดสินใจมากยิ่งขึ้น
6. ในการจัดเวทีปรึกษาหารือนี้ จะต้องจัดให้มีเวลาในการซักถามและให้แสดงความคิดเห็นอย่างทั่วถึงและเพียงพอ สำหรับผู้ที่ประสงค์จะแสดงความคิดเห็นและซักถาม อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม
7. การจัดเวทีปรึกษาหารือล่วงหน้าจะต้องดำเนินการ บนฐานของสิทธิชุมชน การมีส่วนร่วมของประชาชน และการป้องกันผลกระทบ โดยเฉพาะชุมชนที่จะต้องแบกรับภาระต้นทุนและผลกระทบของโครงการในระยะยาว
8. ปฏิบัติตามกฎหมายที่กำหนดในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชนอย่างเคร่งครัด
ทั้งนี้ ด้วยความหวังว่า ประชาชนจะสามารถได้มีพื้นที่ แสดงความคิดเห็นต่อข้อกังวลที่จะเกิดขึ้นจากการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงได้อย่างเต็มที่ และมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน และหวังว่าจะได้รับความร่วมมือจากท่านเป็นอย่างดี
จึงเรียนมาเพื่อโปรดปฏิบัติ
ขอแสดงความนับถือ
เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง