โฟกัส 6 เขื่อนกั้น 'แม่น้ำโขง' 'ธุรกิจยักษ์' ตีตั๋วจอง 'สูบทรัพย์'

fas fa-pencil-alt
ไทยโพสต์
fas fa-calendar
18 พฤศจิกายน 2550

การรื้อฟื้นแผนการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่ 6 เขื่อน บนแม่น้ำโขงตอนล่าง กำลังเป็นเรื่องที่หลายฝ่ายแสดงความห่วงใยถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นในภูมิภาคแม่น้ำโขง ล่าสุด
องค์กรภาคประชาชนและบุคคล  201 รายชื่อ จาก 30 ประเทศทั่วโลก ซึ่งรวมถึงกลุ่มภาคประชาสังคมในประเทศแม่น้ำโขง  126  กลุ่ม  ได้ยื่นจดหมายถึงคณะกรรมการแม่น้ำโขง (Mekong  River Commission  หรือ  MRC) และประเทศผู้บริจาคในการประชุมหารือประจำปีวันที่  15 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ที่เมืองเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา

โดยเนื้อหาในจดหมายแสดงถึงหายนะที่จะเกิดขึ้น หากมีการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงตอนล่าง และเรียกร้อง  MRC ให้แสดงความรับผิดชอบที่ไม่สามารถปฏิบัติตามข้อตกลงในการอนุรักษ์แม่น้ำโขง รวมทั้งเรียกร้องบรรดาประเทศผู้ให้ทุนทั้งหลายทบทวนอย่างจริงจังว่า  สมควรที่จะสนับสนุนด้านการเงิน   MRC หรือไม่  แต่ทางฝ่ายคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงยังไม่มีท่าทีต่อโครงการพัฒนาเหล่านี้ ขณะที่เขื่อนบนแม่น้ำโขงจ่อคิวเดินหน้า

ประเด็นเขื่อนขนาดใหญ่บนแม่น้ำโขงสายหลักกำลังฟื้นคืนชีพนี้  เปรมฤดี  ดาวเรือง  จากโครงการฟื้นฟูนิเวศวิทยาในภูมิภาคอินโดจีนและพม่า  (TERRA)  บอกว่า  หลังจากเตรียมการวางแผนมากว่า  10  ปี  เขื่อนขนาดใหญ่ 6 เขื่อนบนแม่น้ำโขงตอนล่างได้รับการรื้อฟื้นอีกครั้ง จากที่เคยทิ้งข้อเสนอการสร้างเขื่อนเหล่านี้ไปแล้วในอดีต  เพราะเป็นโครงการที่ทำลายสิ่งแวดล้อมมหาศาล  อีกทั้งมีราคาสูงเกินไป  แต่เมื่อต้นปี 2549 บริษัทสัญชาติไทย มาเลเซีย และจีน กลับได้รับไฟเขียวจากรัฐบาลในลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ให้เดินหน้าศึกษาความเป็นไปได้ของเขื่อนต่างๆ บนแม่น้ำโขงสายหลัก

เปรมฤดี  อธิบายถึงโครงการที่มีการผลักดันอยู่ในขณะนี้ว่า  มี "เขื่อนดอนสะฮอง"  แขวงจำปาศักดิ์  ประเทศลาว มีการลงนามในเอ็มโอยูระหว่างบริษัท เมกะ เฟิร์สท คอร์ปอเรชั่น  จำกัด ของมาเลเซีย กับรัฐบาลลาวเมื่อเดือนมีนาคม 2549 จะใช้เงินลงทุนราว 10,000 ล้านบาท มีแผนสร้างเสร็จในปี  2553 เขื่อนไซยะบุรี แขวงไซยะบุรี ประเทศลาว มูลค่าการลงทุน 60,000 ล้านบาท โดยบริษัท ช.การช่าง  มหาชน  จำกัด ของไทยเซ็นเอ็มโอยูกับรัฐบาลลาว เดือนพฤษภาคม 2550 จะเริ่มก่อสร้างต้นปี 2554 บริษัทยังได้สัมปทานในการผลิตไฟฟ้าจากรัฐบาลลาวเป็นเวลา 30 ปี คาดว่าจะขายไฟฟ้าให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้ในปี 2558

"เขื่อนปากลาย"  แขวงไซยะบุรี  ลงทุนประมาณ  60,000  ล้านบาทเช่นกัน  บริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ของจีนที่ชื่อ  ชิโน ไฮโดร คอร์ปอเรชั่น และบริษัท ไชน่า เนชั่นแนล อิเลคโทรนิค อิมพอร์ต  จำกัด ได้ลงนามกับรัฐบาลลาวเมื่อมิถุนายนที่ผ่านมา และจะได้สัมปทานผลิตไฟจากลาว 30 ปี "เขื่อนปากแบ่ง"  แขวงอุดมไซ  ประเทศลาว  เซ็นเอ็มโอยูระหว่างบริษัท  ต้าถัง  อินเตอร์เนชั่นแนล พาวเวอร์  เจเนเรชั่น  จำกัดกับรัฐบาลลาว  เมื่อเดือนสิงหาคม  2550  "เขื่อนซำบอ" จังหวัดกระแจ๊ะ ประเทศกัมพูชา  มีการลงนามระหว่างบริษัท  ไชน่า เซาธ์เทิร์น พาวเวอร์กริด กับรัฐบาลกัมพูชา เมื่อตุลาคม 2550

เขื่อนที่  6  คือ  "เขื่อนบ้านกุ่ม"  ชายแดนไทย-ลาว  อำเภอโขงเจียม  จังหวัดอุบลราชธานี  ทางกระทรวงพลังงาน โดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน  (พพ.) ได้ว่าจ้างให้บริษัท ปัญญา  คอนซัลแตนท์  จำกัด  และบริษัท แมคโคร คอนซัลแตนท์ ทำการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา คาดว่าจะใช้เงินลุงทุน 90,000 ล้านบาท นอกจากนี้ทาง พพ.ยังได้เสนอโครงการ "เขื่อนผามอง"  บริเวณชายแดนไทย-ลาว   จ.เลย  ซึ่งว่าจ้างบริษัท  ปัญญา คอนซัลแตนท์  จำกัด และบริษัท แมคโคร คอนซัลแตนท์ ทำการศึกษาความเป็นไปได้ มีรายงานล่าสุดว่ามีการว่าจ้างสถาบันการศึกษาท้องถิ่นให้ลงมือทำการศึกษาผลกระทบทางสังคมในหมู่บ้านต่างๆ ในเขต อ.ปากชม  จ.เลย อีกด้วย  แต่ยังไม่มีการเปิดเผยข้อมูลอย่างเป็นทางการ เขื่อนนี้เคยได้รับการผลักดันอย่างหนักในช่วง  30 ปีก่อน แต่ล้มเลิกไปเพราะการต่อต้านจากชาวบ้าน ซึ่งจะต้องอพยพจากพื้นที่อ่างเก็บน้ำกว่า 250,000 คน

"มีทั้งหมด 6 แห่งที่จะเกิดขึ้นบนแม่น้ำโขงสายหลัก มาแบบจู่โจมทีเดียวหลายเขื่อน อย่างเขื่อนดอนสะฮอง แม้เป็นขนาดเล็ก แต่จะสร้างปิดช่องทางน้ำที่เรียกว่า "ฮูสะฮอง" ในบริเวณน้ำตกคอนพระเพ็ง ซึ่งมีความสำคัญทางการประมง  ในรายงาน World Fish Center ระบุว่า ฮูสะฮองเป็นช่องทางสำคัญที่ปลาอพยพผ่านน้ำตกไปยังตอนบนของแม่น้ำได้ตลอดปี  ช่องน้ำอื่นๆ  เป็นน้ำตกสูงชันปลาผ่านไปไม่ได้ ข้อมูลยังชี้ว่าบางจุดมีปลาอพยพสูงถึง  30 ตันต่อชั่วโมง ถ้าปลาอพยพขึ้นตอนบนของน้ำโขงไม่ได้พันกว่าชุมชนตอนบนจะประสบปัญหากับความไม่มั่นคงด้านอาหาร  แล้วยังมีเขื่อนซำบอในเขมร   กำลังผลิต 3,300  เมกะวัตต์ เป็นเขื่อนขนาดใหญ่ที่กั้นลำน้ำโขงร่วม 4 กิโลเมตร พื้นที่สร้างเขื่อนนักวิทยาศาสตร์ระบุว่ามีความสำคัญต่อการประมง  ถือว่าอุดมสมบูรณ์ที่สุดในโลก" เปรมฤดีกล่าวถึงโครงการเขื่อนต่างๆ ที่จะคุกคามต่อปลาและการประมงในแม่น้ำโขง

ประเด็นที่หลายฝ่ายตั้งคำถามต่อบทบาทคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงหรือ  MRC  ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีภารกิจหลักในการปกป้องแม่น้ำโขงภายใต้ "ข้อตกลงความร่วมมือเพื่อการพัฒนาลุ่มน้ำโขงอย่างยั่งยืน" เมื่อปี  2538  เปรมฤดีขยายความตรงนี้ให้ฟังว่า  การลงนามในข้อตกลงแม่น้ำโขงเมื่อปี  2538 เหมือนเป็นการส่งสัญญาณให้เห็นถึงพันธกิจใหม่ที่เน้นการพัฒนาที่ยั่งยืน  การปกป้องสิ่งแวดล้อม  และการใช้ประประโยชน์อย่างเท่าเทียม

แต่ภาคประชาสังคมตั้งคำถามว่า MRC  ปกป้องหรือทำลายแม่น้ำโขงกันแน่  ที่ผ่านมา  MRC ใช้เวลาและทุนจำนวนมากไปกับการทบทวนแผนการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลัก  มีการระบุถึงโครงการเขื่อนอีกจำนวนมากกว่า  200  เขื่อน ส่วนใหญ่อยู่บนแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขงที่ไหลมาจากที่ราบสูงของลาว กัมพูชา และเวียดนาม มันคนละเรื่องกัน

"12 ปีที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วว่าสิ่งที่ MRC บอกว่าจะทำมันล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ โครงการสร้างเขื่อน 6 แห่งบนแม่น้ำโขงสายหลัก MRC ทำสิ่งที่ตรงข้ามกับหลักการตามข้อตกลงแม่น้ำโขงปี 2538 ที่ระบุถึงภารกิจของ MRC มีหน้าที่ป้องกัน หยุดยั้งผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะด้านปริมาณน้ำ  คุณภาพน้ำ  ระบบนิเวศน์ และความสมดุลของระบบแม่น้ำที่เป็นผลจากการพัฒนาและการใช้ทรัพยากรน้ำของลุ่มน้ำโขง"

เปรมฤดี ยังระบุว่า  MRC มีหน้าที่ประสานความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิก ตลอดจนเปิดให้มีส่วนร่วมตามหลักการ  MRC  กลับล้มเหลวที่จะบอกต่อสาธารณะเกี่ยวกับความเสี่ยงของโครงการพัฒนาลักษณะนี้  และเก็บงำข้อมูลเหล่านั้นไว้โดยไม่เปิดเผย นอกจากนี้ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2549 เป็นต้นมา  คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงได้รับการสนับสนุนด้านการเงินมากกว่า  800  ล้านบาท  จากประเทศเดนมาร์ก ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เบลเยียม และประเทศแหล่งทุนอื่นๆ ความจริงแล้วการสนับสนุนทั้งด้านเงินและด้านเทคนิคอยู่บนพื้นฐานที่ว่า  MRC  จะส่งเสริมและประสานให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน  แต่ MRC กลับล้มเหลวที่จะปกป้องนิเวศวิทยาของแม่น้ำโขง  การดำรงอยู่ของ MRC ถือว่าไม่มีประโยชน์ และไม่สมควรที่จะได้รับการสนับสนุนด้านการเงินจากประเทศผู้ให้ทุนทั้งหลาย  นี่เป็นอีกประเด็นที่องค์กรนานาชาติเรียกร้อง

ด้าน  รศ.สุริชัย  หวันแก้ว  สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติและผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  แสดงความเห็นถึงบทบาทของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงว่า  MRC  ควรแสดงความรับผิดชอบและความโปร่งใส  เปลี่ยนภาพพจน์ใหม่ในการรับฟังเสียงของประชาชนในภูมิภาคมากกว่าเสียงจากการประชุมของเจ้าที่รัฐ เพื่อนำไปสู่ความยุติธรรมและความเท่าเทียมกัน  นับเป็นสิ่งท้าทายที่ MRC ต้องแสดงให้เห็นว่าตัวเองเป็นประโยชน์ต่อการดำรงอยู่ ไม่ใช่เป็นประโยชน์ต่อนักลงทุนหรือรัฐบาลเท่านั้น  ต้องรวมถึงชาวบ้านด้วย  เป็นผลประโยชน์ระยะยาวของภูมิภาคนี้ นอกจากนี้ จะมีกลไกอย่างไรให้ประเทศต้นน้ำอย่างจีนและพม่า  ซึ่งไม่ได้เป็นสมาชิก  MRC ได้ร่วมพูดคุยเพื่อแก้ปัญหาน้ำโขงร่วมกันอย่างจริงจัง มีการประสานประโยชน์อย่างเป็นธรรมในระหว่างประเทศภูมิภาคแม่น้ำโขง

เขื่อนกั้นแม่โขงจะมีผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างไร  เพียรพร  ดีเทศน์  จากโครงการแม่น้ำเพื่อชีวิตมีคำตอบ  เธอบอกว่า  วันนี้แม่น้ำโขงกำลังถูกคุกคามด้วยกระแสการพัฒนาแบบทุนนิยมอุตสาหกรรม  มองสายน้ำที่เป็นสายเลือดของผู้คนกว่า  100 ล้านคนตลอดลุ่มน้ำ เป็นเพียงแหล่งพลังงาน   แม่น้ำโขงตอนบนในเขตมณฑลยูนนานของจีนมีการสร้างเขื่อนไปแล้ว 2 แห่ง และมีแผนจะสร้างทั้งหมด  8  เขื่อน ส่วนลุ่มน้ำโขงตอนล่างคงไหลอย่างอิสระได้อีกไม่นาน เมื่อหยิบแผนสร้างเขื่อนมาปัดฝุ่นอีกครั้งด้วยแรงผลักดันของกลุ่มธุรกิจพลังงานในภูมิภาค  ซึ่งช่วงปีที่ผ่านมามีการดำเนินการอย่างเงียบๆ และรุดหน้าไปเร็วมาก โดยเฉพาะในลาวและกัมพูชา โครงการเขื่อนที่มีความเคลื่อนไหวมากที่สุดในขณะนี้มีทั้งหมด 6 แห่ง

เพียรพรกล่าวว่า   สิบปีที่ผ่านมาการสร้างเขื่อนตอนบนของแม่โขงในจีนส่งผลกระทบท้ายน้ำข้ามพรมแดนมาสู่ประเทศอื่นๆ  ชุมชนริมโขงชายแดนไทย-ลาวที่เชียงรายยืนยันถึงความเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศของแม่น้ำ และความผันผวนของระดับน้ำที่ถูกควบคุมโดยเขื่อน  การลดจำนวนลงของปลาที่จับได้เป็นผลกระทบข้ามพรมแดนที่ส่งผลโดยตรงต่อวิถีชีวิตชาวบ้าน และยังไม่ได้รับการแก้ไข

"การพัฒนาเขื่อนถึง  6-7 แห่งบนแม่น้ำโขงตอนล่างจะทำให้แม่น้ำโขงที่มีระบบนิเวศสลับซับซ้อน มีวังน้ำ  เกาะแก่ง  สันดอน เอื้อต่อการดำรงอยู่ของพันธุ์ปลาและวิถีชีวิตชุมชนกลายเป็นอ่างเก็บน้ำนิ่งๆ ความเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศจะส่งผลกระทบกว่า  60  ล้านชีวิตในลุ่มน้ำโขงตอนล่าง  ตั้งแต่ลาว ไทย กัมพูชา  และเวียดนาม  จากการศึกษาภาคสนามในลาว  เขมร  รวมทั้งชายแดนไทย-ลาว  ยังพบว่าชาวบ้านไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินโครงการสร้างเขื่อน" เพียรพรกล่าว

ความสูญเสียด้านพันธุ์ปลาและการประมงเป็นอีกประเด็นสำคัญที่เพียรพรชี้ให้เห็น  จากรายงานของ MRC ระบุว่า ลุ่มน้ำโขงมีความอุดมสมบูณณ์รองจากลุ่มน้ำอะเมซอน มีพันธุ์ปลากว่า 1,300 ชนิดในลุ่มน้ำแห่งนี้  ทำให้การประมงมีมูลค่าสูงถึง  70,000  ล้านบาทต่อปี  และลุ่มน้ำโขงตอนล่างนั้นเป็นแหล่งปลาน้ำจืดที่ชุกชุมที่สุดแห่งหนึ่งของโลก  รวมถึงโลมาอิรวดี โลมาน้ำจืด ซึ่งมีสถานะใกล้สูญพันธุ์ พบได้บริเวณที่จะสร้างเขื่อนดอนสะฮองและเขื่อนซำบอ  รวมทั้งปลาบึกที่พบในเขตไทย  นอกจากนี้ ปลาในแม่น้ำโขงมีการอพยพขึ้นลงในแม่น้ำตามฤดูกาล  โดยไม่มีพรมแดน  หากมีการสร้างเขื่อนจะเป็นการปิดกั้นเส้นทางอพยพปลาและส่งผลให้อัตราการไหลของน้ำเปลี่ยนแปลง

"หลายเขื่อนพูดว่ามีมาตรการบรรเทาผลกระทบ แต่จากการศึกษาของ World Fish Center ระบุว่า ไม่มีตัวอย่างใดๆ  ที่มีประสิทธิภาพในการบรรเทาผลกระทบเรื่องพันธุ์ปลาจากการสร้างเขื่อน และในลุ่มน้ำโขงไม่มีที่ใดประสบความสำเร็จเรื่องบันไดปลาโจน เช่นเดียวกับบันไดปลาโจนที่ปากมูล วันนี้ทำงานไม่ได้  ผลาญเงินไปจำนวนมาก" เพียรพรกล่าว และว่า จากประสบการณ์ในไทยและประเทศเพื่อนบ้านการสร้างเขื่อนไม่ได้ทำให้ชาวบ้านมีวิถีชีวิตที่ดีขึ้น ชาวบ้านยังคงเรียกร้องในสิ่งที่ควรจะได้ ทั้งค่าชดเชยตลอดจนปัญหาผลกระทบที่รัฐยังไม่ได้แก้ไขจนทุกวันนี้

ส่วนการอพยพประชาชนจากพื้นที่อ่างเก็บน้ำ  นักวิชาการคนเดิมชี้ให้เห็นว่า เขื่อนเหล่านี้จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อประชาชนอย่างน้อย  17,300-75,000 คน ซึ่งต้องถูกย้ายจากพื้นที่อ่างเก็บน้ำ   จำนวนประชากรดังกล่าวยังไม่ชัดเจน  ข้อมูลจากรายงานการศึกษาแตกต่างกันไป  นอกจากนี้ อยากเรียกร้องให้  MRC  ทำการศึกษาและประเมินโครงการต่างๆ  บนแม่น้ำโขงที่จะส่งผลกระทบต่อแม่น้ำ  ที่ผ่านมาไม่มีการศึกษาผลกระทบโดยรวมจากการสร้างเขื่อนทุกแห่ง การศึกษาที่โปร่งใสและเชื่อถือได้จะเป็นประโยชน์ว่าสมควรสร้างเขื่อนหรือไม่

"วันนี้แม่น้ำโขงกำลังไม่ใช่สายน้ำนานาชาติของสุวรรณภูมิอีกต่อไป  เพราะกลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่พากันตีตั๋วจับจองจุดต่างๆ  จากรัฐบาลประเทศแม่น้ำโขง  เพื่อแสวงหาผลประโยชน์  ละเลยวิถีชีวิตชุมชนที่พึ่งพาสายน้ำโขงสายเลือดที่หล่อเลี้ยงชีวิตตลอดมา" เพียรพรกล่าวในท้ายที่สุด

 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง