“หาญณรงค์ เยาวเลิศ” ประธานมูลนิธิการจัดการน้ำแบบบูรณาการ ฟันธง “ชาวบ้านมีองค์ความรู้เรื่องน้ำมากกว่าคนในระบบข้าราชการ”

fas fa-pencil-alt
ThaiPublica
fas fa-calendar
16 พฤศจิกายน 2555

“น้ำ” เป็นทรัพยากรที่หายาก แม้คนทั่วไปจะรู้สึกว่า “ไม่ใช่” และยังใช้กันอย่างฟุ่มเฟือย โดยเฉพาะคนเมือง แต่น้ำไม่เคยเพียงพอสำหรับเกษตรกร

ปัญหาน้ำแล้ง น้ำท่วม จึงเป็นเรื่องให้แจกเงินกันบ่อยขึ้นในทุกฤดู!!

ปัจจุบัน “น้ำ” กลายเป็นประเด็นร้อนในทุกฤดู

ทั้งๆ ที่บรรพบุรุษเราอยู่กับน้ำ อยู่กับอาชีพเกษตรกรมาอย่างยาวนาน ใช้วิถีชีวิตที่คุ้นชินกับธรรมชาติ

การพัฒนาประเทศที่ละเลย “ราก” ของตัวเอง จึงทำให้การรับมือและป้องกันภัยพิบัติน้ำเป็นไปอย่างบิดเบี้ยว

นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย) ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวไทยพับลิก้าถึงแนวทางการบริหารจัดการน้ำของประเทศไทยว่า

ประเทศไทยมีพื้นที่ทั้งหมด 321 ล้านไร่ ปี 2554 มีพื้นที่เกษตรประมาณ 131 ล้านไร่ แต่เนื่องจากรัฐสนับสนุนการทำสวนยางและการปลูกข้าวโพด ปัจจุบันพื้นที่เกษตรของไทยจึงเพิ่มเป็น 150 ล้านไร่ นั่นหมายความว่าพื้นที่ประมาณครึ่งหนึ่งของประเทศทำเกษตรกรรม ส่วนที่เหลือคือพื้นที่อยู่อาศัย พื้นที่ป่า และพื้นที่ทะเล

การพัฒนาระบบเกษตรเริ่มแรกด้วยการสร้างเขื่อนภูมิพลในปี 2501 โดยเข้าสู่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในปี 2504 เพื่อพัฒนาข้าวส่งออก จากที่เมื่อก่อนทำนาครั้งเดียวก็ส่งเสริมให้ทำนา 2 ครั้ง ซึ่งอาจารย์ท่านหนึ่งที่ส่งเสริมการทำนา 2 ครั้ง เคยบอกว่า “เป็นเรื่องยากมากที่จะให้ชาวนาทำได้ เพราะเขาทำไม่เป็น ต้องใช้เวลานานถึง 13 ปี” มาตอนนี้จะให้เลิกกลับเลิกไม่ได้ อีกทั้งยังกลายเป็นทำนา 3 ครั้งต่อปี

การพัฒนาเกษตรที่ผ่านมา เราส่งเสริมเพื่อการส่งออกเป็นหลัก แต่การพัฒนาระบบชลประทานตั้งแต่แผนพัฒนาฉบับที่ 1 เรื่อยมานั้น มีขีดความสามารถจำกัด ขึ้นอยู่กับภูมิประเทศเป็นสำคัญ เพราะการจัดการน้ำในระบบชลประทานของไทยเป็นการส่งน้ำตามแรงโน้มถ่วง

ปัจจุบันประเทศไทยมีเขื่อนขนาดใหญ่ เช่น เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ ประมาณ 45-50 แห่ง เขื่อนขนาดใหญ่บางแห่งแต่ไม่แน่ใจว่าเรียกเขื่อนหรือไม่ เพราะบางแห่งก็เรียก “ฝาย” ส่วนเขื่อนขนาดกลางมีประมาณ 700 แห่ง และเขื่อนขนาดเล็กประมาณ 14,000 แห่ง

แต่มีพื้นที่ชลประทานทั้งหมดประมาณ 40 ล้านไร่ จากเขื่อนขนาดใหญ่ 28 ล้านไร่ และเขื่อนขนาดกลางกับเขื่อนขนาดเล็กอีก 12 ล้านไร่

ด้านปริมาณน้ำฝนที่ตกในประเทศเฉลี่ยประมาณ 8 แสนล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อปี โดยตกลงพื้นดินประมาณ 2.5 แสนล้าน ลบ.ม. ต่อปี จากปริมาณน้ำฝนบนพื้นดินนี้สามารถเก็บไว้ในเขื่อนได้เพียง 7.82 หมื่นล้าน ลบ.ม. ต่อปี แต่ไม่ได้หมายความว่าเราใช้น้ำแค่ 7 หมื่นกว่าล้าน ลบ.ม. นี้เท่านั้น เพราะเขื่อนมีน้ำไหลเข้าและไหลออกด้วย

เช่น เขื่อนป่าสักเก็บกักน้ำได้ 960 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งน้ำเก็บปกติอยู่ที่ 780 ล้าน ลบ.ม. แต่มีน้ำไหลผ่านปีละกว่า 3 พันล้าน ลบ.ม. นั่นหมายความว่าพื้นที่เกษตรกรรมด้านล่างเขื่อนจะมีน้ำไหลผ่านตามฤดูกาลด้วย

แต่เวลาจะคำนวณว่าน้ำจะพอใช้หรือไม่ รัฐกลับดูเฉพาะปริมาณน้ำที่อยู่ในเขื่อนเท่านั้น ไม่ดูน้ำที่ไหลจากต้นน้ำลงมาท้ายน้ำ

ทุกวันนี้สังคมไทยถูกวัดจากน้ำที่อยู่ในเขื่อนทั้งหมด เป็นการจัดการน้ำที่ไม่ถูก ทำไมไม่อธิบายว่าน้ำมีการเคลื่อนไหว มีไหลเข้า-ปล่อยออกปริมาณเท่าไหร่ต่อปี ซึ่งจะไม่มากกว่าที่กักเก็บไว้ได้ นอกเสียจากว่าจะเป็นฝายทางน้ำผ่าน เช่น ในลุ่มน้ำยม ลุ่มน้ำชี

จากพื้นที่ชลประทานรองรับพื้นที่เกษตรประมาณ 40 ล้านไร่ หากต้องการเพิ่มพื้นที่ให้มากกว่านี้ก็ต้องทำระบบชลประทานใหม่ เช่น การผันน้ำ อย่างโครงการโขง ชี มูล และ โขง เลย ชี มูล ซึ่งมีเป้าหมายคือขยายพื้นที่ชลประทานรองรับภาคเกษตรเป็น 60 ล้านไร่ แต่ถูกยกเลิกเพราะตามงบที่ตั้งไว้แล้วมูลค่าการลงทุนสูงมากกว่า 2-3 ล้านล้านบาท

สำหรับการจัดการน้ำที่พอดีก็คือ ไม่น่ามีพื้นที่ชลประทานที่รองรับภาคเกษตรเกินกว่านี้อีก (40 ล้านไร่) และต้องมีระบบการจัดการน้ำที่หลากหลาย นอกจากระบบใหญ่ (เขื่อน) ก็ต้องทำระบบย่อยหรือระบบเล็กๆ ด้วย

สำหรับเขื่อนใหม่ในปัจจุบันที่รัฐกำลังผลักดันอยู่ เขื่อนแก่งเสือเต้นมีขนาดใหญ่ที่สุด เขื่อนแม่วงก์อนุมัติงบประมาณ 250 ล้านบาท ท่าแซะกับลับล่อให้งบแห่งละ 150 กว่าล้านบาท รวมถึงเขื่อนทางฝั่งตะวันออกและแห่งอื่นๆ ก็ได้งบแห่งละไม่เกิน 200 ล้านบาท ซึ่งต่อให้สร้างทุกเขื่อนเสร็จทั้งหมดก็มีน้ำรวมกันไม่เกิน 9 หมื่นล้าน ลบ.ม.

ปัญหาคือ เวลานี้เราไม่ได้มองระบบอย่างจริงจังและไม่ได้มองถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจและผลเสียในด้านอื่นๆ เลย

ในวันนี้ที่ประชาชนไม่ยอมให้สร้างเขื่อนเพราะเขื่อนทำลายสิ่งแวดล้อมและสังคม เมื่อประชาชนไม่ยอมให้สร้าง กรมชลประทานก็ต้องมีหน้าที่สร้างระบบชลประทานอื่นเพื่อเพิ่มผลผลิต ไม่ใช่คิดแต่โครงการสร้างเขื่อนแบบเดิมๆ

กรมชลประทานอายุเกือบ 100 ปีแล้ว มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ใช้มา 60 ปีแล้ว ในวันนี้ไม่สามารถเรียกการสร้างเขื่อนว่าเป็นนวัตกรรมได้ มันอาจจะใหม่ในปี 2500 แต่ไม่ใช่ในปี 2555 ที่เขื่อนกลายเป็นสิ่งก่อสร้างที่ขวางทางน้ำและทำลายระบบทั้งระบบ

แต่วันนี้เรายังคิดสร้างเขื่อนเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง โดยใช้วาทกรรมเก่าทั้งๆ ที่พิสูจน์แล้วว่าไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหา

สำหรับการเรียกร้องของชาวบ้านไม่ว่าจะเป็นกรณีเขื่อนปากมูล สมัชชาคนจน หรือโครงการโขง เลย ชี มูล นั้น ทำให้คุณประกอบ วิโรจนกูฏ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ซึ่งภายหลังเป็นอธิการบดี เสนอตั้งคณะกรรมการลุ่มน้ำ โดยมีการเคลื่อนไหวเมื่อปี 2538 ซึ่งตอนนั้นคุณปราโมทย์ ไม้กลัด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้เงินมาจากธนาคารโลกประมาณ 1 ล้านเหรียญสหรัฐ (40 บาทต่อเหรียญ) ก็นำมาทำใน 3 ลุ่มน้ำนำร่อง ได้แก่ ลุ่มน้ำป่าสัก ลุ่มน้ำปิงตอนบน และลุ่มน้ำท่าตะเภา จังหวัดชุมพร เพื่อดูว่ากรรมการลุ่มน้ำน่าจะมีโครงสร้างใดบ้าง

คณะกรรมการลุ่มน้ำเริ่มเป็นรูปเป็นร่างในปี 2542 มีการทำแผน ปรับโครงสร้าง และคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิที่รู้เรื่องน้ำท่วมเป็นกรรมการ 6-8 คน จนกระทั่งปรับโครงสร้างกระทรวง ทบวง กรม ใหม่ในปี 2546 จึงมีคณะกรรมการลุ่มน้ำครบทั้งหมด 25 ลุ่มน้ำ

คณะกรรมการลุ่มน้ำนี้ได้ลองใช้มาแล้ว ทั้งลองผิดลองถูก เช่น กรมน้ำไปจ้างบริษัทที่ปรึกษามาทำแผนลุ่มน้ำ ก็ต้องเอากรรมการลุ่มน้ำมาฟังและให้ความคิดเห็นด้วย เวลาแผนจะผ่านก็ต้องเข้ากรรมการลุ่มน้ำก่อน ซึ่งมีข้อดีคืออย่างน้อยก็มีงบประมาณให้ได้ปรึกษาหารือกันในทุกระดับ

แต่เหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อปี 2554 ไม่มีใครมองเห็นกรรมการลุ่มน้ำเลย ทั้งๆ ที่สามารถจะช่วยแก้ไขปัญหาได้ สิ่งที่รัฐทำคือตั้งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม (ศปภ.) ซึ่งเป็นโครงสร้างที่อัปลักษณ์มาก จนมาถึงคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) และคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ก็ไม่มีฟังก์ชันทางองค์ความรู้เลย เป็นฟังก์ชันทางอำนาจเบ็ดเสร็จ แล้วคนที่เข้ามาทำงานก็ไม่มีความรู้เรื่องน้ำเลย ซึ่งผมคิดว่ามันไม่ตอบโจทย์ในการวางแผน และทำให้แผนกรรมการลุ่มน้ำที่เคยมีมาไม่ได้ใช้อีกต่อไป ซึ่งน่าเสียดาย

นั่นเพราะในระเบียบสำนักนายกฯ ได้ให้อำนาจ กบอ. ไว้สูงมาก ในการเรียกหน่วยงานอื่นมาปฏิบัติให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ ดังนั้น ตั้งแต่แผนการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าบาทที่วางไว้โดย กยน. เรื่อยมา ผมมองว่าหลักใหญ่คือผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ

เพราะการที่ภาครัฐจะออกกฎระเบียบโครงการ ออกนโยบายหรือมาตรการใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไข จะต้องมี “กระบวนการการมีส่วนร่วม” ซึ่งโครงการต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้นขาดกระบวนการดังกล่าว

เมื่อผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ กรรมการชุดนี้ก็เหมือนกับว่าโยนอำนาจไปให้กรรมการอีกชุดหนึ่ง คือ กบอ. ซึ่งเหมือนเป็นกลไกที่หางบประมาณมาใช้ให้เสร็จสิ้นตามแผน

ฉะนั้น ผมว่าการที่ขบวนการไม่ถูกต้องแต่ต้น จึงถูกประชาชนต่อต้าน

อย่างน้ำท่วมเมื่อปีที่แล้ว สาเหตุเกิดจากการไม่ดำเนินการในส่วนรัฐบาลของตัวเอง การใช้กระสอบทรายมากเกินไป และไม่รีบปล่อยน้ำให้ไหลลงสู่ทะเล แต่รัฐบาลไม่ได้ทบทวนและสรุปผลของเหตุการณ์อย่างที่ว่า ดังนั้นจึงเกิดแผนงานสร้างเขื่อนเต็มไปหมด และการจัดการการรับน้ำก็สะเปะสะปะมาก ป้องกันพื้นที่อย่างเดียว ทำให้น้ำไม่สามารถไหลลงทะเลตามทางน้ำที่ควรจะเป็นได้

จึงเกิดเหตุการณ์แม่น้ำเจ้าพระยาทะลักเข้าแม่น้ำท่าจีน อีกทั้งแม่น้ำเจ้าพระยาสูงกว่าแม่น้ำท่าจีนกว่า 2 เมตร ซึ่งโดยปกติแล้วน้ำในท่าจีนต้องมาจากสุพรรณบุรี แต่ปี 2554 นั้นเป็นน้ำที่มาจากอยุธยาแล้วทะลักเข้าท่าจีน นั่นหมายความว่าน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาต้องสูงมากๆ เมื่อเหตุการณ์สรุปออกมาไม่ถูกต้อง แผนจึงออกมาไม่ถูกต้อง และไม่มีฟังใครทั้งสิ้น

“ผมมองว่าโครงสร้างการทำแผนในวันนี้คือ วางแผนเพื่อเอาเงินเอาไปใช้ ไม่ได้วางแผนเพื่อให้เกิดความสัมฤทธิ์ผลของการปฏิบัติตามแผน เพราะ ดร.วีรพงษ์ รามางกูร เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน ไม่ใช่เรื่องน้ำ เพราะหากเป็นคนที่รู้เรื่องน้ำดี เขาจะเอาโครงการกรรมการลุ่มน้ำทั้ง 25 แห่งมาดูก่อน”

แผนงานหลักของ กบอ. ไม่สามารถสร้างความมั่นใจว่าจะแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำได้ ผมเองอ่านแผนเป็น 10 รอบ ก็ยังไม่เห็นความมั่นใจใดๆ นอกจากความต้องการจะใช้งบ 3.5 แสนล้าน ให้ได้เท่านั้น เพราะงบเงินกู้ไม่ต้องตรวจสอบ สภาก็ตรวจสอบไม่ได้ ฉะนั้น การคิดโครงการจึงไม่สอดคล้องกับปัญหา และเอกสารประกอบก็ไม่มีความละเอียดพอ ผมเองเคยขอเอกสารฉบับเต็มของงบกว่า 3 แสนล้านบาท มาดู กลับได้เพียงกระดาษ 37 แผ่น เท่านั้น

เปรียบเทียบกับแผนลุ่มน้ำเมื่อปี 2537 ของสภาพัฒน์ฯ ที่มีทั้งหมด 35 เล่ม หรือแผนกรมน้ำทำในปี 2548-2549 ที่นายยงยุทธ ติยะไพรัช ทำสมัยเป็นกรรมการลุ่มน้ำยังละเอียดกว่า และให้ความสำคัญในด้านอื่นๆ เช่น บุคลากรและกรรมการลุ่มน้ำด้วย ไม่ใช่มองแต่มิติการสร้างอย่างเดียว

หากสร้างแผนแบบมาสเตอร์แพลน แล้วมาบอกว่ามีกระบวนการการมีส่วนร่วมแล้ว ผมรับไม่ได้

ไทยพับลิก้า : แล้วการจัดการน้ำบ้านเราควรจะไปทิศทางไหน

ผมมองว่าปัจจุบันสะเปะสะปะและขาดหลักวิชามากขึ้น แต่การจัดการน้ำต้องตอบโจทย์ว่าจะจัดการน้ำแบบไหน ระหว่างเพิ่มพื้นที่เกษตรกรรมคือการทำชลประทาน กับแก้ไขปัญหาน้ำท่วม เพราะทำแล้วจะได้อย่างเสียอย่างทันทีเมื่อเลือกอันใดอันหนึ่ง

เช่น ปี 2555 รัฐบาลระบายน้ำออกจากเขื่อนมากขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ดังนั้น เมื่อน้ำในเขื่อนน้อยลง การทำนาปรังหรือการเกษตรอื่นๆ จึงน้อยลงด้วย จากพื้นที่นาปรังในไทยที่ปลูกข้าวในฤดูแล้งทั้งหมดประมาณ 11-13 ล้านไร่ ก็จะทำนาได้น้อยลงในปี 2555 เพราะน้ำไม่พอใช้

ในวันนี้ สิ่งที่เรายังทำไม่ครบถ้วนสมบูรณ์คือเรื่อง “ศักยภาพของแต่ละลุ่มน้ำ” คำว่าศักยภาพคือประชาชนต้องรู้ว่าลุ่มน้ำนี้ให้น้ำเท่าไหร่ น้ำที่มีอยู่กับพื้นที่การเกษตรเหมาะกับการพัฒนาแบบไหน เช่น ที่สูงเหมาะสำหรับทำนาเฉพาะหน้าฝนเท่านั้น หรือภาคใต้ไม่ควรทำระบบชลประทาน เพราะยางและปาล์มน้ำมันไม่ต้องรดน้ำ อีกทั้งระบบชลประทานยังทำลายพื้นที่ปลูกข้าวในภาคใต้ด้วย เช่น ที่โคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี พื้นที่นาฝั่งหนึ่งกลายเป็นนาร้าง เพราะน้ำไปไม่ถึงและถูกดึงไว้ใช้ในเขตพื้นที่ชลประทานหมด หรือเขื่อนเชี่ยวหลานที่สุราษฎร์ธานี ทำให้น้ำไม่ล้นเข้าไปในพื้นที่นาแถวลุ่มน้ำตาปี เช่น อำเภอพุนพิน ปัจจุบัน พื้นที่นาจึงกลายเป็นสวนปาล์มน้ำมันหมด

ปัจจุบันเรามีพื้นที่นาลดลงจากการส่งเสริมการสร้างเขื่อนแล้วทำระบบไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ทำให้การใช้พื้นที่ถูกเปลี่ยนแปลง ฉะนั้น การจัดการน้ำไม่จำเป็นต้องทำระบบชลประทานเลียนแบบภาคกลางเหมือนกันทั้งประเทศ

กรณีที่จะสร้างเขื่อนท่าแซะและเขื่อนลับล่อที่ชุมพรนั้น 2 เขื่อน มีฝนตกรวมกันกว่า 170 วันต่อปี อีกทั้งมีปริมาณน้ำฝนสูงกว่า 2,000 มิลลิเมตรต่อปี ดังนั้น การสร้างเขื่อนจึงไม่จำเป็น แต่รัฐยังคงมีแนวคิดแบบเดิมๆ ว่าต้องสร้างเขื่อน

การสร้างเขื่อนไม่จำเป็นต้องสร้างทุกที่ และต้องแบ่งสรรปันส่วนให้ได้ว่าสมควรที่จะมีพื้นที่การเกษตรชลประทานเท่าไหร่ เพราะแผนของแต่ละลุ่มน้ำในปัจจุบันกำหนดที่จะเพิ่มพื้นที่ชลประทานทั้งนั้น ทั้งๆ ที่พื้นที่การใช้น้ำจากเขื่อนมีจำกัด

พื้นที่การเกษตรทั้ง 25 ลุ่มน้ำ ต่อจากนี้อีก 10 ปี จะขาดน้ำทั้งหมด บางลุ่มน้ำในวันนี้ขาดน้ำแล้ว เพราะวางแผนโดยดูแต่ตัวเลขประชากรที่เพิ่มขึ้นและความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้น ไม่ได้วางแผนโดยดูว่าปริมาณน้ำที่มี จำนวนประชากร แหล่งเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมที่มี นั้นจะเฉลี่ยการใช้น้ำให้เพียงพอได้อย่างไร ดังนั้น เมื่อมองแต่ว่าต้องใช้น้ำมากขึ้น จึงทำให้เกิดโครงการอยู่ตลอดเวลา

ด้านบริษัทรับเหมาก่อสร้างก็ต้องทำงานสนองความต้องการของผู้จ้าง แต่ในเชิงความเป็นธรรมแล้วการบริหารทรัพยากรจะต้องบริหารให้พอดีกับทรัพยากรที่มี แต่การบริหารจัดการแต่ละลุ่มน้ำของไทยไม่ถูกอธิบายหรืออธิบายด้วยภาษายากๆ ที่ชาวบ้านไม่เข้าใจ อีกทั้งนักการเมืองก็คืออะไรก็ได้ ชาวบ้านอยู่เฉยๆ เดี๋ยวหาโครงการมาตอบสนอง

“บางครั้งผมว่านักการเมืองไทยไม่เข้าใจด้วยซ้ำไปว่า ระบบชลประทานหรือพื้นที่เหมาะสมสำหรับสร้างโครงการต่างๆ นั้นคืออะไร เพียงแค่อยากได้ก็หามา แล้วข้าราชการก็ไม่เคยปฏิเสธ กรมชลประทานมีมากว่า 100 ปีแล้ว ควรหันมาจัดการน้ำด้วยวิธีที่สร้างความพอดี”

ที่ผมบอกว่าไม่ได้ถูกอธิบายอย่างคำว่า น้ำท่วม น้ำหลาก อุทกภัย มหาอุทกภัย วิกฤติ และปัญหาเรื่องน้ำอื่นๆ คืออะไร เช่น “แล้งซ้ำซาก” ไม่ใช่ปัญหาเรื่องนิเวศน้ำ แต่เป็นภาษาทางมหาดไทยที่จะไปเบิกงบประมาณเพื่อมาแจกน้ำ หรือหากทำหนังสือไปยังหน่วยงานท้องถิ่นหรือกรมการปกครองว่าหมู่บ้านนี้อยากขอน้ำ ก็ต้องประกาศก่อนว่าพื้นที่นั้นเกิดภัยแล้งซ้ำซาก

เมื่อเป็นนิยามมหาดไทย ทำให้การเสนอข่าวผ่านสื่อผิดเพี้ยนไป เช่น นักข่าวคนหนึ่งมาถามผมว่าน้ำจะท่วมไหม ผมว่าก่อนที่จะคุยกันต้องเข้าใจก่อนว่าน้ำเป็นวัฎจักร เกิดฝนตก น้ำท่วม น้ำแล้ง เป็นเรื่องปกติ แต่เมื่อสื่อนำเสนอแต่ภาพดินแห้งแตกระแหงเหมือนกันทุกช่องให้คนเข้าใจว่า นี่แหละ “ภัยแล้ง” มันทำให้ชาวบ้านเรียกร้องหาโครงการไปด้วย

แน่นอนว่าความแห้งแล้งเกิดขึ้นจริง แต่แค่กว่า 1 พันไร่จากพื้นที่ชลประทาน 40 ล้านไร่ แต่สื่อทำให้ทุกพื้นที่แห้งแล้งไปหมด หรือบางครั้งเสนอโครงการว่าการสร้างเขื่อนนี้จะทำให้ทั้งจังหวัดมีน้ำใช้ คนในจังหวัดจึงสนับสนุน แต่ไม่ได้บอกความจริงให้หมดว่า ถึงสร้างเขื่อนนี้แล้วน้ำก็ใช้ได้แค่ในพื้นที่นี้เท่านั้น ส่วนที่อื่นๆ ต้องใช้น้ำจากที่อื่น ต้องช่วยเหลือตัวเองกันไป

อย่างที่แก่งเสือเต้น ชาวบ้านสนับสนุนให้สร้างตั้งแต่จังหวัดนครสวรรค์ เพราะคิดว่าจะได้น้ำใช้ถึงนครสวรรค์ พะเยา น่าน หมดทั้งภาค เพราะไม่รู้ว่าพื้นที่รับน้ำจริงๆ อยู่ตรงไหน สิ่งนี้ทำให้ข้อมูลของคนที่อยากได้โครงการกับข้อเท็จจริงนั้นต่างกันมาก

ตัวอย่างที่จังหวัดกาญจนบุรี เขื่อนเขาแหลมและเขื่อนศรีนครินทร์มีน้ำรวมกัน 2 หมื่นกว่าล้าน ลบ.ม. แต่คนในจังหวัดอีก 7 อำเภอ ไม่มีน้ำใช้เนื่องจากไม่ได้อยู่ในระบบส่งชลประทานจากเขื่อน เป็นสาเหตุให้คนกาญจนบุรีไม่เอาเขื่อนน้ำโจนตั้งแต่ปี 2530 เป็นต้นมา

คนแก่งเสือเต้นจึงไม่เอาเขื่อน เพราะเขาเห็นผลจากการสร้างเขื่อนที่อื่นๆ มาหมดแล้วว่า 1. การย้ายคนไม่ดี 2. เมื่อสร้างเขื่อนเสร็จแล้วไม่บรรลุวัตถุประสงค์ที่อ้างไว้แต่แรก 3. เมื่อย้ายคนไปแล้ว คนได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนแล้ว ปัญหาน้ำท่วมก็ยังคงอยู่

“การสร้างเขื่อนในวันนี้ ผมมองว่าชาวบ้านมีองค์ความรู้มากกว่าคนในระบบข้าราชการ”

เมื่อกรรมการ กบอ. ยื่นโครงการทั้งหมดให้นายปลอดประสพ สุรัสวดี ซึ่งเขาก็รู้เรื่องระบบนิเวศ แต่เมื่อถึงเวลาแล้วเขาก็ต้องทำงานที่รับมอบหมายให้สำเร็จโดยไม่ได้มองภาพรวมอะไรเลย

“วันนี้ผมเข้าใจเขามากขึ้นว่า ไม่สนใจอะไรทั้งสิ้น ถ้ามีเรื่องอะไรยื่นมาต้องทำให้เสร็จ แต่วันนี้สังคมไปไกลกว่าคำว่าต้องทำให้เสร็จ มันอยู่บนพื้นฐานที่สูงกว่านั้น และเมื่อทำอะไรไม่เสร็จก็ต้องหันมาฟังกระบวนการมากขึ้น ไม่ใช่ไปกันอย่างนี้”

วันนี้ หากจะสร้างเขื่อนต้องหาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ในมาตรการคุณต้องไปนั่งฟังกับชาวบ้าน จะนั่งเครื่องบินผ่านหลังคาบ้านแล้วบอกว่ามีกี่ครัวเรือนแบบรายงานเดิมๆ ไม่ได้ ต้องมีกระบวนการการมีส่วนร่วม แต่พอรัฐประกาศเองชาวบ้านก็ไม่เกิดกระบวนการการมีส่วนร่วม สุดท้ายรายงานก็ไม่เสร็จ เมื่อรายงานไม่เสร็จก็เข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายไม่ได้ เช่น ขออนุมัติโครงการ

เพราะฉะนั้น วันนี้จะใช้อำนาจอย่างเดียวไม่ได้แล้ว จะต้องสร้างกระบวนการการมีส่วนร่วมด้วย และถ้ามันไม่ดีก็ต้องเปลี่ยนหาทางอื่น ไม่ใช่เอาแบบเดิมๆ

ไทยพับลิก้า : ความจำเป็นทางด้านไฟฟ้า

ผมว่าวันนี้เขื่อนไม่ใช่คำตอบของประเทศไทย เมื่อปี 2544 ไฟฟ้าในระบบที่มาจากเขื่อนมีร้อยละ 2.5 ของไฟฟ้าทั้งระบบจากเขื่อนที่ผลิตไฟฟ้าประมาณ 18 แห่ง เช่น เขื่อนศรีนครินทร์ผลิตไฟฟ้าได้กว่า 500 เมกกะวัตต์ เขื่อนภูมิพล 780 เมกกะวัตต์ เขื่อนปากมูล 136 เมกกะวัตต์ เขื่อนสิรินธร 40 เมกกะวัตต์ ฯลฯ ทั้งหมดรวมแล้วประมาณ 2,800 เมกกะวัตต์

แต่เรามีไฟฟ้าในระบบประมาณ 3.5 หมื่นเมกกะวัตต์ ในช่วงที่ใช้ไฟฟ้าสูงสุด เช่น ตอนที่เขาดูบอลโลกกันหรือตอนที่อากาศร้อนสูงสุด อยู่ที่ประมาณ 2.5 หมื่นเมกกะวัตต์ คือ ในปริมาณไฟฟ้า 2,800 เมกกะวัตต์ ผลิตได้จริงก็ไม่เกิน 2,000 เมกกะวัตต์ ที่พึ่งพิงได้จริงๆ คือพันกว่าเมกกะวัตต์ ซึ่งแผนจีดีพี 2555 เราต้องซื้อไฟฟ้ามาจากต่างประเทศถึง 8,000 เมกกะวัตต์

ฉะนั้น ในวันนี้เขื่อนมีความจำเป็นด้านพลังงานไฟฟ้าหรือไม่ ผมว่าไม่ใช่คำตอบแล้ว ถ้าเป็นเมื่อ 50 ปีที่แล้วตอนที่จะสร้างเขื่อนน้ำโจนหรือปากมูลนั้น ตอนนั้นเราใช้ไฟฟ้าทั้งประเทศประมาณ 1.2 หมื่นเมกกะวัตต์ แล้วถ้าเราจะสร้างโรงไฟฟ้าสักโรงหนึ่ง 300-400 เมกกะวัตต์มันเป็นเรื่องใหญ่ เพราะมีตัวบวกเข้ามาในพลังงานไฟฟ้าสูงมาก แต่วันนี้ผมว่าไม่ใช่แล้ว ตัวเลขไฟฟ้าที่มาจากระบบอื่นนั้นสูงมากกว่า

วันนี้เราซื้อไฟฟ้าจากหงสาวดีมาเกือบ 2,000 เมกกะวัตต์ อีกไม่เกิน 3 ปี เราก็จะซื้อจากลาวเพิ่ม โดยภาพรวม การพัฒนาโครงการเขื่อนของไทยนั้นหมดแล้ว คือ พื้นที่ที่เหมาะสมในการสร้างเขื่อนแทบจะไม่เหลือแล้ว

เมื่อไม่เหลือแล้ว สิ่งที่กรมชลประทานต้องทำคือ “พัฒนาระบบ” ทำส่งเสริมการทำคลองส่งน้ำ ทำระบบน้ำที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพ และการพัฒนากลไก เช่น พัฒนาข้าวไทยให้มีคุณภาพที่สุด โดยพัฒนาระบบชลประทานให้ดี เพิ่มมูลค่าผลผลิต ไม่ใช่คิดแต่โครงการ คือ เราคิดหาน้ำมาเกือบ 60 ปีแล้ว ถึงเวลาที่กรมชลฯ จะกลับไปทำเรื่องระบบชลประทาน เช่น เขื่อนลำปาว มีพื้นที่เป้าหมายชลประทานกว่า 7 แสนไร่ วันนี้กรมชลฯ ทำมาได้แค่ครึ่งเดียว ที่เหลือยังไม่ได้ทำ มีระบบคลองส่งน้ำกับคลองไส้ไก่ที่ต้องทำอีก ซึ่งคลองส่งน้ำที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดคือคลองส่งน้ำที่เป็นดินไม่ใช่คอนกรีต ในต่างประเทศรื้อคลองส่งน้ำคอนกรีตออกหมดแล้วแต่บ้านเรายังคิดสร้างอะไรที่แพงกว่าอยู่

ราคาสร้างเขื่อนแม่วงก์อยู่ที่ 2.8 พันล้านบาท แต่ราคาระบบชลประทานอยู่ที่หมื่นกว่าล้านบาท เขื่อนป่าสักลงทุนสร้างกว่า 2.3 หมื่นล้าน แต่ราคาระบบชลประทานกว่า 6 หมื่นล้าน จะเห็นว่าระบบชลประทานแพงกว่าเขื่อนประมาณ 3 เท่า และเป็นอย่างนี้ทุกเขื่อน มันคืออะไร คือประเทศไทยทำระบบชลประทานที่แพงที่สุด และมันไม่สมควรแพงขนาดนั้น สู้ทำคลองส่งน้ำที่เป็นดินและดูแลระบบนิเวศไว้ ผมว่าอย่างนั้นสมบูรณ์กว่า

ในวันนี้การทำผังหรือคุมพื้นที่เกษตรกรรมก็ทำแทบไม่ได้ ยกตัวอย่างเช่น แถวปทุมธานี อยุธยา ซึ่งมีนิคมอุตสาหกรรมและบ้านจัดสรร รวมไปถึงคลองรังสิต ผมคิดว่านี่เป็นความล้มเหลวของการคุมพื้นที่เกษตรกรรม สมัยรัชกาลที่ 5 ขุดคลองรังสิตไว้เพื่อผันน้ำมาทำเกษตร แต่วันนี้กลับมีหมู่บ้านจัดสรรและนิคมอุตสาหกรรมตั้งอยู่ประมาณร้อยละ 30 ของคลองรังสิต จนมองไปแทบไม่เจอพื้นที่เกษตรกรรม

สำหรับปทุมธานีและอยุธยาเป็นพื้นที่ทำนาที่ดีที่สุด แต่เวลารัฐทำถนนบายพาสหรือตัดถนนเส้นใหม่กลับไม่คุมพื้นที่เลย จึงเกิดนิคมฯ เกิดอาคาร บ้านเรือน จำนวนมาก ทำให้พื้นที่เกษตรกรรมลดลง

นอกจากนี้ คลองรังสิตยังเป็นคลองส่งน้ำที่ดีที่สุดด้วย แต่การเพิ่มพื้นที่ชลประทานแบบใหม่กลับไปอยู่บนที่สูงทั้งหมดเพื่อให้เหมาะแก่การทำนา ทั้งๆ ที่ควรจะไปทำไร่หรือปลูกพืชใช้น้ำน้อยและทนต่อสภาพพื้นที่

เพราะเราไม่มีการคุมพื้นที่ ที่ลุ่มทำเกษตรกรรมจึงกลายเป็นนิคมฯ บ้านจัดสรร พื้นที่เกษตรกรรมไปอยู่บนที่สูง

แม้แต่บางที่ เช่น ปราจีนบุรี มีพื้นที่เกษตรกรรมที่กู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และเป็น NPL ถูกยึด เนื้อที่ 5,600 ไร่ ก็กำลังถูกสร้างเป็นนิคมอุตสาหกรรมโดยยกคันดินสูง 4 เมตร ซึ่งน้ำท่วมเมื่อปีที่แล้วพื้นที่นี้ก็ขวางทางน้ำด้วย แล้วก็แย่งพื้นที่เกษตรกรรมซึ่งเป็นพื้นที่ที่ดีที่สุด ดินเป็นสีดำด้วยซ้ำ อย่างนี้เราก็ไม่ได้คุ้มครองอะไรเลย

กรมชลประทานในวันนี้สร้างเขื่อนขึ้นมาส่วนใหญ่ในภาคตะวันออกก็เพื่อส่งน้ำเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมทั้งหมด เช่น คลองหลวง ที่อำเภอพนัสนิคม ชลบุรี ซึ่งกำลังทำใหม่นั้น สุดท้ายก็เอาน้ำไปใช้ที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร อีกทั้งยังมีอีก 2 นิคมฯ ที่กำลังจะสร้างใหม่ของซีพี สิ่งที่เกิดนี้ก็เพราะไม่ได้คุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรมจริง

ไทยพับลิก้า : รู้ได้ยังไงว่าอีก 10 ปีจะขาดน้ำ

เวลาวางแผนลุ่มน้ำ กรมน้ำจะดูว่าลุ่มน้ำนี้มีน้ำเท่าไหร่ ในพื้นที่เกษตรกรรมใช้น้ำเท่าไหร่ แล้ววางแผนว่าในอนาคต 5 ปี 10 ปี 15 ปี ต้องใช้น้ำเท่าไหร่ ซึ่งกราฟวิ่งขึ้นตลอด ทั้งๆ ที่แต่ละลุ่มน้ำในวันนี้แทบจะไม่มีน้ำให้ใช้อยู่แล้ว

ไทยพับลิก้า : ทุกที่มีข้อมูลหมดเพียงแต่ไม่ได้จัดการ ใช้เพียงอำนาจอย่างเดียว ถ้าหากแบ่งปันข้อมูลกันได้ก็คงดี

ในวันนี้ทุกอย่างมีข้อมูล อยู่ที่ว่าเราจะจัดการน้ำบนข้อมูลหรือคำสั่ง ถ้าหากเชื่อในข้อมูลการจัดการก็คงไม่ต่างกับที่ผมพูด เพราะหลายคนที่รู้เรื่องน้ำก็บอกว่าต้องทำแบบผมว่า แต่เขาพูดอะไรไม่ได้เพราะเป็นข้าราชการ

ผมว่าคนเราพอยิ่งแก่ยิ่งเพี้ยนนะ ไม่เข้าใจว่าฤดูกาลมี 3 ฤดู ฤดูฝนน้ำมากเป็นเรื่องปกติแต่ต้องบอกชาวบ้านให้ได้ว่ามากตรงไหน น้ำแล้งควรจะปลูกพืชอะไรที่เหมาะสม ถ้าคิดอย่างนี้หมด คนคิดเพี้ยนโครงการก็ออกมาเพี้ยน ทั้งหมดมันต้องดูระบบนิเวศ คน และการจัดการ

อย่างในสมัยของนายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในขณะนั้น คิดทำเรื่องน้ำท่อ หรือวอเตอร์กริดที่จะส่งน้ำไปยังที่ต่างๆ ตามท่อนั้น คนในการประปาลาออกเพื่อมาขายท่อ งบตั้ง 4 แสนกว่าล้าน ซึ่งผมก็ตามไปดูโครงการ ปรากฏว่าเจ๊งหมดทุกที่ สูบน้ำไม่ได้ จนต้องการพับโครงการไป มาถึงเรื่อง กบอ. ผมก็ถามว่าเป็นแบบนี้ได้ยังไง

ในวันนี้ต้องหาคนมาอธิบายกับคนส่วนใหญ่ว่าข้อเท็จจริงคืออะไร เพราะเวลาจะทำโครงการ รัฐไม่พูดความจริงทั้งหมด จะพูดแต่ด้านเดียวว่าจำเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ แล้วมันได้ผลจริงตามที่อ้างไหม

เหมือนงบบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน วันนี้ที่เราหวังก็คือว่า อยากให้โครงการนี้เลิกใช้สักที แล้วเข้าสู่งบฯ นั้นให้เร็วที่สุด แต่ถ้าไม่สามารถหยุดงบฯ 3.5 แสนล้านได้ ยังไงผมก็ไม่ให้เข้าพื้นที่ผม (สร้างเขื่อน) ส่วนจะเดินหน้าต่อยังไง ผมคิดว่า 1. ต้องถูกตรวจสอบจากหลายส่วน คือ กรรมการของวุฒิสภาก็ตรวจสอบเรื่องงบจำนวนนี้ แต่เขาก็ไปตรวจสอบรายโครงการเหมือนกันว่าแต่ละโครงการเป็นยังไง 2. มีหลายเวทีที่ผม เครือข่ายลุ่มน้ำ และองค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) ไปนั่งรับฟังปัญหาจากชาวบ้าน แล้วทำภาพรวมส่งต่อวุฒิสภา และให้วุฒิสภาเสนอในนามคณะกรรมาธิการ

แม้หลายส่วนท้วงติงเรื่องงบ 3.5 แสนล้านนี้ แต่ผมว่าเขาก็ไม่ฟังทั้งหมดหรอก แต่เราก็จะทำข้อเสนอบันทึกเป็นหลักฐาน ที่กลัววันนี้คือ แม้งบฯ การสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นยังไม่อนุมัติ แต่ในแผนเขียนว่าใช้ภายใน 3-5 ปี ซึ่งผมคิดว่าเขาจะทำเป็นพวง คือ บริษัทเหล่านี้จะทำแบบล่ำซำไว้ ซึ่งตัวเลขงบฯ สร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นอยู่ที่กว่า 1.2 หมื่นล้าน ก็อาจจะให้สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สนนก.) ของนายรอยล (จิตรดอน) มาดูแล แล้วไปจ้างบริษัทอีก 2-3 แห่ง มาดูเรื่องสิ่งแวดล้อม ออกแบบ และรับเหมาก่อสร้าง แล้วอนุมัติงบฯ ไปเลย อยู่ที่ใครสักคน

เพราะฉะนั้น กับโครงการแก่งเสือเต้นวันนี้ ทุกคนจึงวิ่งเข้าไปในพื้นที่หมด เพื่อเคลียร์พื้นที่และบอกว่าสามารถจัดการและเข้าไปในพื้นที่ได้ ดังนั้นผมจึงบอกชาวบ้านว่า มีหน้าที่กัน อย่าให้เขาเข้ามาได้

ไทยพับลิก้า : แล้วจะกันอย่างไร

ที่แก่งเสือเต้นมีทางเข้าออกทางเดียว ล้อมรอบด้วยภูเขาหมด กว่า 19 ปีแล้วที่ชาวบ้านต่อสู้ไม่ให้เกิดเขื่อนแก่งเสือเต้น โดยการกันพื้นที่ไม่ให้คนของบริษัทเข้าไปในพื้นที่ได้ ดังนั้น หากนักข่าวจะเข้าไป ชาวบ้านก็จะตรวจสอบจากต้นสังกัดก่อนว่าเป็นนักข่าวที่ส่งมาจริงหรือไม่ เพื่อความปลอดภัย

หากเปรียบเทียบระหว่างเขื่อนแม่วงก์กับเขื่อนแก่งเสือเต้น ผมมั่นใจว่าจะไม่มีเขื่อนแก่งเสือเต้นมากกว่า เพราะที่แม่วงก์ไม่มีชาวบ้านต่อสู้เลย มีแต่เสียงสนับสนุนการสร้างมากกว่า

ไทยพับลิก้า : แล้วโครงการเขื่อนในประเทศไทยเคยล้มเลิกบ้างไหม

เคยครับ คือ โครงการเขื่อนสายบุรี จังหวัดยะลา แต่ตอนนี้กำลังจะเอากลับมาอีก และอีก 2 เขื่อนที่มีมติ ครม. ยกเลิกไปเมื่อปี 2551 คือ เขื่อนคลองกลาย จังหวัดนครศรีธรรมราช กับเขื่อนลับล่อ จังหวัดชุมพร

ที่ต้องยกเลิกก็เพราะเจรจากันแล้วรัฐไม่มีเหตุผลพอว่าจะสร้างทำไม แต่เนื่องจากที่ชุมพรมี 2 เขื่อน คือ ท่าแซะและลับล่อ สำหรับเขื่อนลับล่อจะสร้างเพื่อเอาน้ำไปทำระบบชลประทาน เราก็เถียงว่าระบบชลประทานไม่ดีจะทำทำไม งบฯ กว่า 3 พันล้าน เขาก็ต่อรองขอเขื่อนท่าแซะไว้แห่งหนึ่ง ซึ่งเขื่อนท่าแซะนี้อนุมัติงบฯ ตั้งแต่ปี 2543 แล้ว แต่ชาวบ้านก็กันไม่ให้เข้าพื้นที่จนถึงตอนนี้ ซึ่งงบฯ ตกไปแล้วตั้งแต่ปี 2551 จึงเอางบฯ ไปทำอย่างอื่นแทน เช่น สร้างประตูน้ำข้างล่าง งบฯ 100 กว่าล้านบาท สำหรับเขื่อนท่าแซะนี้มีเป้าหมายเพื่อเอาน้ำไปใช้ในอุตสาหกรรมที่บางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งหากสร้างเขื่อนนี้ได้อุตสาหกรรมก็จะเกิดที่บางสะพาน จึงทำให้ชาวบ้านที่ไม่อยากได้โรงงานที่บางสะพานมาร่วมต่อต้านด้วย

นอกจากนี้ หากสร้างเขื่อนแล้วยังไม่มีพื้นที่อพยพให้ชาวบ้านด้วย จากเกณฑ์การทำรายงานเมื่อก่อนเราคิดว่าน่าจะดี เช่น ตีค่าครองชีพชาวบ้านปีละประมาณกว่า 6 หมื่นบาท แต่เมื่อก่อนยางราคา 14-17 บาทต่อกิโลกรัมพอเวลาผ่านไป ยางขึ้นราคาเป็นกิโลกรัมละ 50-100 บาท เศรษฐกิจชาวบ้านดีขึ้น ชาวบ้านจึงรู้สึกหวงแหนที่ดิน และไม่เห็นที่ดินอื่นที่จะทำเกษตรได้ เพราะชาวบ้านมีพื้นที่ปลูกยาง ปาล์มน้ำมัน และสวนผลไม้ เนื้อที่กว่า 6.8 พันไร่ ชาวบ้านที่มีสวน 40 ไร่ เขามีรายได้จากยางพาราเดือนละแสนบาท แล้วเขาจะย้ายไปที่ไหน เขามีรายได้สามารถส่งลูกเรียนได้ ไม่รู้สึกว่าต้องดิ้นรนอะไร ถ้าไปอยู่ที่ใหม่ก็ต้องดิ้นรนกว่าเดิม เขาก็ไม่ไปหรอก

ชาวบ้านต้องการความมั่นคงในการประกอบอาชีพ แต่สิ่งที่รัฐหยิบยื่นให้คือการเสนอโครงการต่างๆ ที่ไม่มีหลักประกันความมั่นคงใดๆ อย่างคนแก่งเสือเต้น เขาต้องการอยู่แบบวิถีดั้งเดิมของเขา เวลาที่นักข่าวไปถามชาวบ้านว่า รัฐจะสร้างเขื่อนแน่ๆ ชาวบ้านจะทำอย่างไร ชาวบ้านถึงกับนอนไม่หลับความดันขึ้น นี่คือเรื่องสุขภาพของพวกเขา แต่คนพูดไม่เคยคิดเลยว่าคนฟังจะรู้สึกอย่างไร

“เมื่อเราถามหาทางออก ถามหาการแก้ไข และถามว่าผลประโยชน์ที่ได้จากโครงการจะเกิดขึ้นจริงแค่ไหน เราแทบจะไม่ได้รับคำตอบ หรือได้คำตอบเพียงว่า มันจำเป็นและคนส่วนใหญ่อยากจะได้”

ด้านข้อมูล แม้รัฐจะเปิดเผยผลการศึกษาวิจัยประโยชน์และผลกระทบจากโครงการแก่ชาวบ้าน แต่ชาวบ้านก็ยืนยันว่าข้อมูลนั้นผิด อย่างกรณีแก่งเสือเต้น เกือบ 20 ปีแล้ว รัฐไม่เคยเข้าไปเก็บแบบสอบถามจากชาวบ้านได้เลย หรืออย่างที่เชียงใหม่ทำเมื่อปี 2542 นั้นก็ใช้เครื่องบินบินถ่าย ให้ผู้ใหญ่บ้านทำข้อมูลความจำเป็นพื้นฐานของหมู่บ้าน (จปฐ.) แม้ผู้ใหญ่บ้านจะทำแต่ก็ไม่ส่งให้อำเภอ กลัวว่าอำเภอจะเอาไปใช้ หรือการที่ชาวบ้านทำข้อมูล อสม. แล้วหัวหน้าอนามัยเอาไปให้อำเภอส่งต่อบริษัทที่ปรึกษา ให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หัวหน้าอนามัยถูกไล่ออกจากหมู่บ้าน ไม่ไล่ก็เหมือนถูกไล่ เพราะชาวบ้านประชุมและชี้แจงว่าข้อมูลที่ได้ไปทั้งหมดติดไปกับหัวหน้าคนนี้ หัวหน้าคนนี้ไปตลาดไม่มีใครคุยด้วย ไม่มีใครขายของให้ จนเขาต้องขอย้ายตัวเองออกไป

หรือตำรวจรับงานมาเก็บแบบสอบถามชาวบ้าน ปรากฏว่าเด็กที่ไปทำความสะอาดที่โรงพักพบเข้า แล้วมาเล่าให้กรรมการหมู่บ้านฟังว่าแบบสอบถามนั้นแปลกมากเพราะมีคำถามอย่างนี้ๆ แล้วก็เอามาให้ดู ปรากฏว่าเป็นแบบสอบถามข้อมูล จปฐ. ชาวบ้านมาล้อมโรงพัก ให้ตำรวจที่รับงานนี้มาทำเปิดเผยตัว มิฉะนั้นจะเผาโรงพัก

สุดท้ายตำรวจคนนั้นก็ขอทำลาย ชาวบ้านก็โอเค ให้อยู่ในหมู่บ้านได้

วิธีการจัดการของชุมชนนี้ถูกเสนอโดยเยาวชน ป.5 – ป.6 ตั้งแต่ปี 2538 ตั้งเป็นกลุ่มตะกอนยม วันนี้แม้พวกเขาโตขึ้นและอยู่ที่อื่น แต่เมื่อถูกเรียกทุกคนก็กลับมาหมด สมัยที่เด็กกลุ่มนี้เรียนที่โรงเรียนนารีรัตน์จังหวัดแพร่ ก็โดนครูว่าว่าพวกเธอไม่เสียสละให้สร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เด็กๆ ก็เลยพาครูมาดูหมูบ้าน เดินป่าวันเสาร์-อาทิตย์ หลังจากนั้นมาครูเลยไม่พูดเรื่องนี้อีกเลย

หรือปี 2542 ที่แพร่น้ำท่วม นักข่าวคนหนึ่งก็ถามผมว่า “พี่ต่อสู้ไปทำไมป่าไม่มี” ตามที่นายวรวัจน์กับเมธา เอื้ออภิญญกุล บอก ผมเลยนัดนักข่าวคนนั้นให้เข้ามาดูในป่า หลังจากนั้นเขาเงียบเลย ขอโทษผม แล้วหลังจากนั้นมาก็เป็นนักข่าวคนเดียวที่เข้าหมู่บ้านได้ เพราะคนอื่นจะเขียนข่าวด่าชาวบ้าน แล้วชาวบ้านจะตัดตอนคนที่เขียนด่าโดยไม่แจ้งข่าว เมื่อนักข่าวตกข่าวก็โดนหัวหน้าข่าวด่า ตอนหลังมีอะไรก็ขอโทษๆ ชาวบ้านก็เลยยอม

ที่แก่งเสือเต้นนี้ตอนแรกชาวบ้านก็ไม่ค่อยรู้เรื่องเขื่อนหรอก ผมก็เลยพาเขาไปดูเขื่อนต่างๆ อย่างตอนอพยพคนสร้างเขื่อนสิริกิติ์ ผมพาชาวบ้านไปดู ให้เขาจัดการหารถไป เมื่อไปถึงไม่ใช่แค่ดูอย่างเดียวนะ ต้องเข้าไปพูดคุย สอบถามชาวบ้านเขาด้วย อยากรู้เรื่องอะไรก็ให้ถาม เสร็จกลับมาร้องไห้กันหมด ชาวบ้านที่นั่นร้องไห้เพราะไปถามเขามาก พอกลับมาพวกชาวบ้านที่ได้ไปดูก็เอามาบอกต่อเล่าสู่กันฟังในหมู่บ้าน ภายในอาทิตย์เดียวทั้งหมู่บ้านเข้าใจกันหมด ตั้งแต่นั้นหากมีเรื่องไหนที่เขาสงสัยเขาจัดรถมาดูกันเองเลย

หรือตอนย้ายเขื่อนป่าสัก ผมลงพื้นที่ไปดูว่าย้ายเป็นไงบ้าง ตอนนั้นผมเป็นกรรมการพิจารณา EIA เขื่อนป่าสัก เพราะผมว่ามันไม่ค่อยถูกต้อง ก็โทรหากำนัน กรรมการหมู่บ้าน เยาวชน กลุ่มแม่บ้าน ให้มาดู เมื่อเขามาเห็นเขาร้องไห้เลย เพราะเห็นเขาทุบใบเสมาที่วัดมะนาวหวานทิ้ง ซึ่งชาวบ้านบอกเขารับไม่ได้ แต่เวลาภาพที่ออกมาของราชการมันดูดีไง ชาวบ้านเลยมีวิธีการว่า หากราชการจะพาไปดูงานที่เขื่อนไหน เขารีบไปดูก่อน พอราชการพาดูเสร็จแล้ว ชาวบ้านก็จะพาราชการไปดูจุดอื่นๆ ที่เขาไม่ได้เตรียมไว้ ให้เห็นเลยว่ามันจริงตามที่ราชการบอกไว้หรือไม่ พวกราชการที่พามาก็หน้าแตกหมด เพราะชาวบ้านเขาทันเกมแบบนี้แล้ว

อีกทั้งสมัยที่จะเลือกตั้ง พรรคไทยรักไทยเขาอยากจะให้นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ได้เป็น ส.ส. ทักษิณ (ชินวัตร) เข้าไปคุยกับกรรมการหมู่บ้านเองเลยว่าขอให้ไทยรักไทยได้เป็น ส.ส. แล้วรับปากว่าสมัยเขาจะไม่สร้างเขื่อน ชาวบ้านก็ยอม มาถึงตอนนี้น้องจะทำ ชาวบ้านก็บอกว่าไม่ได้นะ ชาวบ้านเองก็สายตรงถึงยิ่งลักษณ์เช่นกัน เรื่องอย่างนี้ถ้าชาวบ้านรู้เขาจะจัดการเลย เขามีอำนาจตัดสินใจบนพื้นฐานของการปรึกษาหารือกัน อย่างกำนันกับปลอดประสพสมัยที่ยังไม่ได้เป็นรัฐมนตรีนั้นก็สนิทกัน โทรหากัน รักกัน มาตอนนี้โทรไปไม่รับสาย ไปหาถึงกระทรวงก็ไม่ยอมฟังอะไรเลย คนที่ฟังชาวบ้านหรือไม่ค่อยออกมาขยับมากคือสมัยยงยุทธ ติยะไพรัช เป็นรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรฯ เขาเคยไปดูหมู่บ้าน

ไทยพับลิก้า : มองว่าการจัดการน้ำของไทยถ้าจะเดินหน้าต่อไปต้องทำยังไง

ผมคิดว่าเดินหน้าผมยังเห็นด้วยกับกรรมการลุ่มน้ำเดิม อายุกว่า 10 ปีแล้ว น่าจะเคยลองผิดลองถูกมาพอสมควร แต่ถ้าโละไม่เอาเขาเลย แล้วมองว่าการจัดการน้ำแบบอื่นมันน่าจะดีกว่า คงไม่ค่อยถูกต้อง

ผมไม่ได้มองว่ากรรมการลุ่มน้ำจะฟังก์ชันหรือครอบคลุมที่สุดนะ แต่ผมมองว่าในกระบวนการลุ่มน้ำยังมีกระบวนการมีส่วนร่วมมากกว่าวิธีการอื่นๆ ที่มาใหม่ ซึ่งจะทำให้เห็นภาพต่างๆ ชัดขึ้น แต่พอมาเป็นกลไกแบบ กบอ. ผมรู้สึกไม่มีความหวังในการจัดการน้ำที่ถูกทิศถูกทาง มีแต่จะไปสู่กระบวนการตั้งงบประมาณการจัดการเรื่องน้ำที่สูงขึ้นๆ เช่น การแก้ไขน้ำท่วม โดยใช้เหตุการณ์ปี 2554 เพื่อให้คนกลัว และทุกคนก็ไม่อยากไปตรวจสอบเพราะคิดว่าแนวคิดของการจัดการน้ำมันแก้ไขได้จริง มันก็ทำให้การตรวจสอบน้อยลงแม้แต่ในกลุ่มเดียวกัน แทบไม่ตรวจสอบเลย ฉะนั้น การที่รัฐบาลเป็นอย่างนี้ผมเกรงว่าปีหน้าหลังจากใช้งบฯ 3.5 แสนล้านเสร็จ จะมีงบกู้อีกก้อนหนึ่ง 2.2 ล้านล้าน อันนั้นก็จะมาเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้อีก และพอถึงเวลาจะจ่ายหนี้คืน ถ้าเป็นเงินกู้ใหม่ ผมไม่แน่ใจว่าการที่รัฐบาลจำนำข้าวทุกเม็ดนี่ สุดท้ายจะเอาเงินค่าข้าวไปแลกกับเงินกู้แทนหรือไม่

กรณี ดร.วีรพงษ์ รามางกูร ใช้เงินหมื่นล้านบาทไปสร้างความมั่นคงด้านการลงทุนกับพวกนักธุรกิจ เช่น ให้สภาอุตสาหกรรมไปทำเรื่องประกันน้ำท่วมในเขตนิคมฯ นั้นเหมือนไปอุ้มโจร คือ นิคมอุตสาหกรรมไปอยู่ในที่ลุ่ม แทนที่จะเอาออก กลับไปสร้างกำแพงให้อยู่ต่อ รักษาฐานะเดิมต่อ ซึ่งความจริงแล้วจะต้องหาที่ใหม่ให้นิคมฯ และไปทำสาธารณูปโภคพื้นฐานในที่ใหม่ อย่างนี้ยังกลมกลืนกว่า นี่กลับให้เขาอยู่ที่เก่าอย่างปลอดภัยและให้คนอื่นน้ำท่วมมากขึ้น

สำหรับแนวทางการจัดการน้ำจะไปทางไหนต่อ ในส่วนของพวกผมคือ จะเสนอ พ.ร.บ.น้ำภาคประชาชน แต่เดิมมี พ.ร.บ.น้ำที่รัฐบาลเสนอ แต่สมัยนายสุวิทย์ไม่ได้สนใจ มาถึงสมัยนายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข และรัฐบาลนี้ก็ไม่ได้สนใจ พ.ร.บ.น้ำนั้นเลย ซึ่งร่างมาตั้งแต่สมัยนายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ เป็นรัฐมนตรีกระทรวงทรัพย์ฯ

ส่วน พ.ร.บ.น้ำที่ผมจะเสนอใหม่ จะเสนอในนามของ พ.ร.บ.น้ำที่ให้อำนาจกับประชาชนและกรรมการลุ่มน้ำตามบทบาทเดิม และอาจจะให้กลไกการมีส่วนร่วมไปสู่กลไกการวางแผนมากกว่าที่จะให้อำนาจแก่องค์กรเดียวอย่างที่เป็นอยู่ แต่เป้าหมายจริงๆ ก็คือการรณรงค์ ส่วนกฎหมายจะผ่านหรือไม่นั้นผมไม่รู้ สำหรับร่าง พ.ร.บ. นั้นเอามาจากร่างเดิม แล้วจะรณรงค์ในปี 2556 ซึ่งผมคิดว่าการรณรงค์เป็นโอกาสหนึ่งที่จะวิจารณ์กรรมการลุ่มน้ำ กรรมการ กบอ.

ด้านกรรมการ กบอ. ในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา ผมคิดว่ามีหลายเรื่องที่ไม่ใช่เรื่องใหญ่ที่ กบอ. ต้องลงไปดู เช่น กรณีน้ำท่วมสุโขทัยไม่ใช่หน้าที่ กบอ. เพียงแต่สั่งการว่าต้องมีหน่วยทหารหรือใครเข้าไปช่วยบ้าง หรือการวางแผนเรื่องน้ำแล้งที่ กบอ. พยายามหาบทบาทตัวเองลงก็ไม่น่าใช่หน้าที่ คำว่าซิงเกิลคอมมานด์น่าจะเป็นเรื่องเฉพาะกาลเฉพาะกิจจริงๆ มิฉะนั้นจะทำให้กลไกที่มีอยู่เดิมอย่างชลประทานจังหวัดหรือระดับเล็กไม่กล้าทำอะไรทั้งสิ้น เช่น หากกบอ.ไม่สั่งก็ไม่กล้าเปิดประตูน้ำแม้น้ำจะท่วมอยู่ ซึ่งเดิมทีบทบาทหน้าที่ก็ต่างคนต่างทำอยู่ทั้งกรมชลประทาน กรมน้ำ

อีกทั้งโครงสร้างกรรมการที่ผมเห็นว่าย้ายลูกหลาน ภรรยา มาอยู่เต็มไปหมดนั้น ทำให้คนไม่สามารถทำหน้าที่ตามตำแหน่งได้

“ในวันนี้กลไกการพัฒนามันต้องเลยยุคผู้ใหญ่ลีได้แล้ว จะกลับไปสู่แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 1 หรือ นี่มันแผนที่ 11 แล้ว ซึ่งหากดูตำแหน่งหน้าที่โครงสร้างกับตำแหน่งที่แต่ละคนมารับมันวังเวงมากในการแก้ไขปัญหาชาวบ้าน วันนี้ปัญหาชาวบ้านทุกเรื่องที่ส่งมาเอาคนไม่รู้เรื่องมานั่งทั้งหมด แล้วก็ไม่เรียกประชุมเพราะต้องรอรัฐมนตรีว่างมาประชุมด้วย รัฐมนตรีไม่ว่างกลไก ปัจจุบันก็ไม่ทำงาน ประเทศจะเป็นอย่างนี้ได้อย่างไร”

ชาวบ้านเลือกรัฐบาลเพื่อให้มาแก้ไขปัญหาของเขา แต่คนที่มานั่งทำงานกลับไม่เข้าใจปัญหาชาวบ้านเลย เข้าใจแต่ว่าจะรักษาอำนาจตัวเองไว้ได้อย่างไร ซึ่งผมรู้สึกหมดความหวัง แผนต่างๆ ของ กบอ. ที่วางไว้ผมถือคติที่ว่า เมื่อเขาไม่ทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ เราก็ไม่ต้องปฏิบัติตาม

หลายคนมาพูดกับผมแล้วบอกว่า ไม่เห็นผมพูดว่าเขื่อนดีตรงไหนเลย คือ เขื่อนมันดีในกรณีของเขื่อนในระบบ ที่ผ่านมาการสร้างเขื่อนมีความเหมาะสมในยุคหนึ่ง ผมไม่เถียง แต่ถ้าอยากได้น้ำใช้เพื่อการเกษตรก็ได้ไม่เกิน 40 ล้านไร่ เท่านั้น มากกว่านี้ลำบากแล้ว แต่เป้าหมายทั้งหมดของประเทศเรากลับยึดติดไว้กับเขื่อน

เช่น น้ำปุกที่ลุ่มน้ำยมมีน้ำไหลทั้งปี แม่น้ำแม่วงก์ก็น้ำไหลทั้งปี แต่จะสร้างเขื่อน ผมรู้สึกเสียดายมาก เพราะแม่น้ำที่น้ำไหลทั้งปีมันหาไม่ได้แล้ว วันนี้เราฝากปัจจัยการมีน้ำไว้กับพายุ ไม่ว่าจะดีเปรสชัน โซนร้อน ซึ่งมามากก็ท่วม ไม่มาน้ำในอ่างก็แห้ง ซึ่งมันเป็นอย่างนี้ไม่ได้ น้ำจะมีอยู่ในอ่างได้ต้นน้ำต้องสุขภาพดี คือมีป่า มีความอุดมสมบูรณ์ และน้ำไหลได้ทั้งปี

เมื่อ 30 ปีที่แล้วผมไปที่ไหนก็มีลำน้ำตลอด มาวันนี้ลำน้ำตายไปแล้วเกือบร้อยละ 80 เราต้องฟื้นลำน้ำที่ตายแล้วให้กลับมาเหมือนเดิมในเชิงการจัดการพื้นที่ ผมเคยเห็นภูเขาหัวโล้น แล้วสุดท้ายชาวบ้านสามารถฟื้นให้กลับมาเป็นลำน้ำธรรมชาติได้ เช่น เขาแผงม้า เขากระทู้ ซึ่งติดกับแม่วงก์นั้นเมื่อปี 2538 ไม่มีต้นไม้เลย ผ่านมา 13 ปี วันนี้มีประปาภูเขาทั้งหมด 18 หมู่บ้าน โดยใช้งบของซิป (Social Investment Program: SIP) ได้จากธนาคารออมสิน มาทำท่อส่งน้ำไปยังหมู่บ้าน เงินค่าน้ำก็เอามาเป็นสวัสดิการชุมชน เช่น ค่ารักษาพยาบาล อีกทั้งค่าน้ำก็เก็บถูกกว่าที่อื่นครึ่งหนึ่ง ซึ่งสะท้อนถึงการใช้ทรัพยากรโดยไม่แสวงหากำไร ใช้อย่างคุ้มค่า และสามารถกลับมาเป็นสวัสดิการชุมชนได้ด้วย

“ผมว่าเราสามารถสร้างต้นน้ำได้โดยไม่จำเป็นต้องเป็นต้นน้ำสูงสุด ต้นน้ำอาจมาจากลำน้ำสาขาก็ได้ เรามีหน้าที่ต้องทำลำน้ำสาขาให้ฟื้นกลับมาให้ได้ นี่คืองานที่ใหญ่กว่า ไม่ต้องถึงขั้นปลูกป่าดิบชื้นตามนายปลอดประสพ”

อย่างที่แม่วงก์ก็ไม่ใช่ป่าดิบชื้น ชาวบ้านแค่ป้องกันไม่ให้เกิดไฟป่าอย่างเดียวก็อยู่ได้ มูลนิธิก็ปลูกป่า 5 พันไร่ ที่เขาแผงม้าสุดท้ายกลายเป็นต้นน้ำลำพระเพลิง ซึ่งอย่างนี้สามารถทำได้และเห็นผลในช่วงชีวิตเรา แต่ต้องเริ่มทำเลย หรือน้ำปุกต้นน้ำยมในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าดอยผาช้าง มีน้ำไหลทั้งปี ซึ่งชาวบ้านจะมีกติกาห้ามคนเข้าไปเขตต้นน้ำเพื่อรักษาต้นน้ำไว้ อย่างที่คนกะเหรี่ยงพูดว่า “คนกะเหรี่ยงกินน้ำ ต้องรักษาต้นน้ำ เมื่อใช้ประโยชน์จากป่าต้องรักษาป่า ต้องพึ่งพากัน”

มิติทางสังคมของเราวันนี้คือ เราใช้โดยไม่รู้ว่ามันมาจากไหน วันนี้ผมถามคนกรุงเทพฯ คนนครปฐม ว่าใช้น้ำจากลำน้ำไหนอยู่ เขาไม่สามารถอธิบายได้เลย คนรุ่นใหม่ตอบไม่ได้เลยว่าแม่น้ำคืออะไร ต้องอธิบายกันใหม่ทั้งหมด

อ้างอิง :https://thaipublica.org/2012/11/harnnarong-yaowalert/

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง