เหตุผลในคำประกาศ “สู้”ของชาวแม่นาจร
เสียงตะโกนเซ็งแซ่ “ไม่เอาเขื่อนแม่แจ่ม”

fas fa-pencil-alt
ภาสกร จำลองราช
fas fa-calendar
16 สิงหาคม 2556

“ฆ่าพวกเราให้ตายทั้งหมดก่อน แล้วค่อยสร้างเขื่อน พวกเรายอมสู้ตายในบ้านของเรา วันนี้ไม่มีถอย สู้ไปเลย ตายเป็นตาย ดีกว่าต้องย้ายไปที่อื่น” เสียงของชาวบ้านดังก้องมาจากหุบเขา บ่งบอกถึงความรู้สึกในยามนี้ไว้ชัดเจน พวกเขาไม่เคยเตรียมตัวเตรียมใจมาก่อนว่าวันหนึ่ง หมู่บ้านที่เคยอยู่กันอย่างปกติสุขต้องถูก “เขื่อน”หล่นทับ ทำให้ชาวบ้านแทบทำอะไรกันไม่ถูก คนแก่คนเฒ่าต่างไม่เป็นอันกินอันนอน เพราะรู้สึกเป็นทุกข์ว่าผืนดินผืนป่าที่อยู่อาศัยกำลังจะถูกทำให้แปรเปลี่ยน


น้ำแม่แจ่มถูกผนวกไว้ในแผนสร้างเขื่อน ซึ่งเป็นโมดูลหนึ่งในอภิมหาโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท

 เมื่อหลายวันก่อน ณ บ้านแม่ซา ตำบลแม่นาจร อแม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ตัวแทนชาวบ้านจาก 4 หมู่บ้านได้จัดประชุมนัดพิเศษเพื่อตั้งคณะทำงานและคณะกรรมการในนาม คณะกรรมการคัดค้านเขื่อนแม่แจ่ม-ผาวิ่งจู้ โดยมีผู้เข้าร่วมเป็นตัวแทนของชาวบ้าน 38 คน และที่ประชุมได้เลือกประธาน 1 คนคือนายทนางศักดิ์ ม่อนดอก และรองประธาน 3 คน ส่วนที่เหลือเป็นคณะกรรมการ

บรรยากาศในการหารือค่อนข้างเคร่งเครียด หลายคนลุกขึ้นพูดยืนยันไม่เห็นด้วย หลายคนรู้สึกกังวลในชะตาชีวิตและวิถีของคนบนดอย หากต้องย้ายจากบ้านเกิดเพื่อหลีกทางให้กับเขื่อน แต่น้ำเสียงที่ลุกขึ้นพูดต่างพร้อมยืนหยัดสู้อย่างสุดใจ และขอตายในบ้านของตัวเอง

เมื่อได้ข้อสรุปว่า “สู้” ที่ประชุมจึงหารือแนวทางการเคลื่อนไหว

“ไม่เห็นด้วย ไม่เห็นด้วยแม้แต่นิดเดียว เพราะ พะตีอยู่ที่นี้มานานแล้ว ตอนนี้อายุ 54 ปี ถือว่าเป็นช่วงชีวิตที่กำลังจะได้อยู่อย่างสบายมีความสุขในปั้นปลายของชีวิต มีพออยู่พอกิน ที่ดินทำมาหากินก็พอมีพอทำได้ ถ้าเขาสร้างเขื่อนแม่แจ่มจริง พะตีอยู่บ้านแม่หอยมาจนป่านนี้ ถือว่าสมควรกับชีวิตแล้ว”พะตีสมพงษ์ สุวรรณสันติชัย ชาวบ้านแม่หอย ซึ่งเป็นหมู่บ้านหนึ่งที่จะถูกน้ำท่วมหากมีการสร้างเขื่อน ระบายความรู้สึก

ชาวบ้านใน 4 หมู่บ้านส่วนใหญ่เป็นชาวปกาเกอญอ ซึ่งอยู่ร่วมกับป่าอย่างอย่างปกติสุข ตามวิถีชีวิตของชนชาวกะเหรี่ยงที่ถูกปลูกฝังให้เคารพธรรมชาติ บางหมู่บ้านยังไม่มีไฟฟ้าใช้ บางหมู่บ้านยังอยู่กันอย่างดั้งเดิม

“พะตีไปกรุงเทพฯ ก็คิดถึงบ้านตัวเอง ไปประเทศลาวก็คิดถึงบ้านตัวเอง ไปพม่าก็คิดถึงบ้านตัวเอง เราสร้างบ้านสร้างเรือนมากว่า 40 ปี ถ้าเราย้ายไปอยู่ที่อื่นมันจะลำบากมากมายเพียงใด ต้องไปสร้างกันใหม่ ตอนนี้พะตีก็แก่แล้ว ไม่มีแรงพอที่จะสร้างใหม่ นึกถึงธรรมชาติรอบบ้านตัวเอง ต้นไม้คงตายกันเยอะ ตอนนี้เราทำไร่ทำนา ทำไร่ข้าว ป่าไม้มีคุณประโยชน์ต่อเรามาตลอด สร้างเขื่อนเมื่อใด ป่าไม้เสียหายหลายร้อยหลายพันเท่า”

หมู่บ้านแม่หอยมี 70 กว่าหลังคาเรือน ทั้งหมู่บ้านไม่มีใครเห็นด้วยกับการสร้างเขื่อน แม้แต่คนเดียว เพราะเชื่อว่าเขื่อนไม่มีประโยชน์อะไรกับชุมชน

“ทุกวันนี้พอรู้ข่าวว่าเขาจะมาสร้างเขื่อน ตอนนอนก็นอนไม่หลับ หลับก็หลับไม่เต็มตื่น ไปคุยให้คนเฒ่าคนแก่ฟัง เขาก็สะดุ้งกันหมด ยิ่งพูดเยอะขึ้น ก็กลัวเขาจะช็อคตาย ไม่ต้องมาสร้างแล้ว แค่ยังไม่ได้สร้างคนก็จะช็อคตายกันอยู่แล้ว” พะตีสมพงษ์ติดตลก แต่ความรู้สึกของคนพูดและคนฟังไม่ตลกเอาเลย

“พะตีคิดว่าทั้ง 4 หมู่บ้านจะช่วยกันสู้ ถ้าบ้านอื่นไม่สู้ บ้านแม่หอยจะลุกขึ้นสู้อย่างเต็มที่ แต่คิดว่าทุกคนใน 4 หมู่บ้านี้ที่จะได้รับผลกระทบจะรวมตัวกันอย่างแน่นอน พวกเราจะช่วยกันสู้อย่างเต็มแรง ถ้าไม่สู้ในวันนี้ วันข้างหน้าแถวนี้เป็นทะเลสาบแน่”

ขณะที่นายมนตรี ภาสกรวงค์ ผู้ใหญ่บ้านบ้านแม่ซา บอกว่าสถาพพื้นที่ภูมิประเทศที่เป็นอยู่มันเสี่ยงเกินไปสำหรับคนเหนือเขื่อน และคนท้ายเขื่อน

“ชุมชนที่นี่อยู่มานานเกิน 100 ปี ในแถบนี้บ้านแม่ซาเป็นศูนย์กลางการเดินทางไปมาหาสู่กันในตำบลแม่นาจร ถ้ามีการสร้างเขื่อนจริง มีการอพยพชุมชนบางส่วนหรือถนนสายหลักถูกตัดขาด บ้านแม่ซาจะกลายเป็นหมู่บ้านที่ล้าหลังกว่าบ้านอื่น เพราะต้องมาเริ่มนับหนึ่งพัฒนาชุมชนกันใหม่ ผมว่าจะเป็นภาระหนักของชาวบ้านในอนาคตต่อไป”

หมู่บ้านแม่ซาเป็นชุมชนขนาด 200 กว่าหลังคาเรือน ซึ่งในแผนของกรมชลประทาน ระบุว่าจะถูกน้ำท่วมบางส่วน

“ถ้าสร้างเขื่อน ทั้งโรงเรียนสถานอนามัย และหน่วยงานราชการต่างๆ ต้องถูกท่วมแน่เพราะตั้งอยู่ริมน้ำ หน่วยงานราชการเขาสามารถย้ายออกไปได้ แต่ชุมชนหล่ะ การย้ายออกไปเป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับชาวบ้าน รวมถึงที่ทำกินด้วย หมู่บ้านเรา 10 % เป็นที่ราบซึ่งทำนาทั้งหมด ส่วนพื้นที่ทำไร่อยู่ชายป่าถัดไป ตอนนี้มีการควบคุมการบุกรุกป่า พวกราก็ทำไร่หมุนเวียนริมที่ราบเป็นส่วนใหญ่ แต่ก่อนทำไร่กระจัดกระจายหลายที่ เราก็ถูกกล่าวหาว่าทำไร่เลื่อนลอย ตอนนี้ต้องมีมาตรการทำในที่ดินใกล้บ้านรวมกันเป็นแปลงใหญ่ ไม่กระจัดกระจาย ซึ่งยังคงดำรงวิถีของเราชนเผ่าต่อไป”

 ผู้ใหญ่มนตรีเล่าว่า เคยมีเจ้าหน้าที่กรมชลประทาน เข้ามาในหมู่บ้าน จึงได้ก็ขอดูเอกสารแผนที่ระดับน้ำท่วมจากเขื่อนตามที่ระบุใน GPS โดยเจ้าหน้าที่บอกว่าลงมาเก็บข้อมูลเรื่องการสร้างเขื่อน ตนจึงขอถ่ายเอกสารแผนที่ แล้วเอาไปแจกให้ผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านอื่น ทำให้ชุมชนได้รับรู้ว่าพื้นที่หลายหมู่บ้านกำลังกลายเป็นทะเลสาบ “พี่น้องที่นี่เป็นชนเผ่าปกาเกอญอ และนับถือศาสนาคริสต์ทั้งหมด พวกเรามีวิถีการใช้ประโยชน์จากลำน้ำแม่แจ่ม เรามีเหมืองฝายท้องถิ่นและการจัดการแบบชาวบ้านเอง ใช้น้ำทำนา บางส่วนใช้จากลำน้ำสาขา และอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก ถือว่าเพียงพอแล้วกับหมู่บ้าน” ผู้ใหญ่มนตรีเล่าถึงความพอเพียงของชุมชน ซี่งเป็นรากฐานของความสุขในวิถีปกาเกอญอ “ตอนนี้พวกเราค่อนข้างกังวลมาก เพราะไม่มีรายละเอียดอันใดเลยเกี่ยวกับโครงการเขื่อนแม่แจ่ม ทั้งที่เป็นเรื่องใหญ่ กระทบโดยตรงต่อชาวบ้าน”

ขณะที่นายสะแง พระโพธิ์วิทยา แห่งบ้านสบขอ บอกด้วยน้ำเสียงจริงจังว่า “ ฆ่าพวกเราให้ตายทั้งหมดก่อนแล้วค่อยสร้างเขื่อน พวกเรายอมตายที่นี่ อยู่ที่นี่ กินที่นี่”

“ชีวิตตั้งแต่เด็กจนถึงวันนี้ พวกเราทำมาหากิน ทำไร่ ทำนา เลี้ยงครอบครัว เลี้ยงชุมชน ทุกอย่างรอบตัวเหมาะสมแล้วกับพวกเรา ถ้าเขามาสร้างเขื่อน บ้านเราไม่รู้จะเสียหายมากมายเท่าใด หมู่บ้านผมมี 50 กว่าหลังคาเรือน ประชากรกว่า 200 คน พวกเราอยู่กันอย่างดังเดิม และร่วมกันก่อร่างสร้างหมู่บ้านเรื่อยมา ใช้เวลาเกือบ 40 ปี อยู่ตั้งแต่ไม่มีอะไรกิน ไม่มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกอันใด พวกเราก็อยู่มาได้” ผู้ใหญ่สะแงเป็นอีกคนหนึ่งที่มุ่งมันปกป้องหมู่บ้านให้ถึงที่สุด

“ตอนนี้กลุ่มแม่บ้าน เยาวชน และทุกคนในหมู่บ้านประกาศเป็นเสียงเดียวกันว่าจะไม่ยอมให้สร้างเขื่อนโดย เด็ดขาด ยอมตายที่นี่ อยู่ที่นี่ กินที่นี่ ถึงที่สุด ถ้าสู้ไม่ได้เรายอมตายทั้งหมดหมู่บ้าน ฆ่าพวกเราให้ตายทั้งหมดก่อนแล้วค่อยสร้างเขื่อน ตอนนี้ทุกคนยอมสู้ตายในบ้าน” เขาย้ำจุดยืนของชุมชน

 “พวกเราจะไม่ยอมให้ข้อมูลใดๆกับคนที่เข้ามาสำรวจและเจ้าหน้าที่รัฐที่เข้ามา ดำเนินการ ถ้าเรายอมแล้วต่อไปจะเอาอะไรกิน วันนี้เราทำไร่ทำนาใช้กินไปทุกวัน ลูกหลานเราเกิดมาต้องกินข้าว ข้าวคือสิ่งสำคัญที่สุด ทุกคนตื่นมาต้องกินข้าว เราย้ายไปที่อื่นไม่มีข้าวกิน จะมีประโยชน์อะไร กว่าเราจะบุกเบิกที่ทำกินใหม่ ต้องใช้เวลานานจะมีได้กินเท่าวันนี้ ปู่ย่าตายายล้มตายกันไม่รู้เท่าไหร่ ทุกวันนี้เราอยู่ที่เดิม ยังต้องแก้ปัญหาไม่จบสิ้นกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้” ผู้ใหญ่สะแง บอกว่าทุกคนในหมู่บ้านพูดเสมอว่า หากมีการประชุมที่ไหน หรือจัดชุมนุมเพื่อสะท้อนจุดยืนของชาวบ้านที่ใด ทุกคนในหมู่บ้านพร้อมเข้าร่วม ขณะที่นายทนงศักดิ์ ม่อนดอก ประธานคณะกรรมการคัดค้านโครงการสร้างเขื่อนแม่แจ่ม-ผาวิ่งจู้ บอกว่ารู้สึกภูมิใจที่ชาวบ้านเลือกให้มาทำหน้าที่ ซึ่งก็พร้อมทำเพราะเป็นคนที่นี้ตั้งแต่เกิด ความรู้ที่สะสมเกี่ยวกับสายน้ำแม่แจ่มมีค่อนข้างเยอะคือแต่เกิดจนเติบโต

“ข่าวเรื่องการสร้างเขื่อนกระทบกระเทือนต่อความคิดความรู้สึกของชาวบ้านมาก เมื่อ 4-5 ปีก่อน ผมเริ่มศึกษาแม่น้ำแม่แจ่มอย่างจริงจัง พบว่าสายน้ำนี้ช่วยหล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนหลายพันหลายหมื่น ฉะนั้นการสร้างเขื่อนย่อมส่งกระทบ หลายคนคิดว่ามันจะกระทบแต่ชาวบ้าน 4 หมู่บ้านบริเวณที่น้ำท่วม แท้จริงแล้วมันจะกระทบทหมดทั้งลุ่มน้ำแม่แจ่ม คนเหนือเขื่อนท้ายเขื่อนทุกข์ยากเท่ากัน ทรัพยากรธรรมชาติหายหมดแน่”

ประธานคณะกรรมการคัดค้านโครงการสร้างเขื่อนแม่แจ่ม-ผาวิ่งจู้ กล่าวว่าอีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญคือตำนานผาวิ่งจู้ ที่มีมายาวนาน และชาวบ้านต่างเคารพยำเกรง โดยชาวบ้านเสนอให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติเพราะมันมีสวยงามมากกว่าจะ เอาสิ่งเหล่านี้ไปสร้างเป็นเขื่อน สร้างแล้วก็กระทบต่อคนต่อธรรมชาติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งสวนทางกับสิ่งที่ชาวบ้านคิดและเสนอ

“ขอประกาศต่อสาธารณะชนว่า พวกเราพร้อมที่จะยืนหยัดต่อสู้คัดค้านการสร้างเขื่อนแม่แจ่ม”นายทนงศักดิ์ และชาวบ้าน 4 หมู่บ้านต่างประกาศเป็นเสียงเดียวกัน

ในวันที่ 18 สิงหาคมนี้ ชาวบ้านได้ร่วมกันจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และแสดงเจตนารมณ์ประชาคมผู้ ได้รับผลกระทบจากโครงการสร้างเขื่อนแม่แจ่ม ขึ้นที่ศาลาประชาคมบ้นแม่ซา โดยมีสมาชิกวุฒิสภา นักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิและเครือข่ายภาคประชาชนในหลายพื้นที่ร่วมให้กำลังใจและแลก เปลี่ยนประสบการณ์ นอกจากนี้ยังมีสื่อมวลชนจากส่วนกลางอีก 10 กว่าคนเข้าร่วมเก็บข้อมูลด้วย


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง