หนังสือสาละวิน สายน้ำ3แผ่นดิน
ด้วยระยะทางยาวกว่า 2,800 กิโลเมตร มีต้นกำเนิดมาจากเทือกเขาหิมาลัย ไหลทอดผ่านจีนแผ่นดินใหญ่ เข้าสู่ประเทศพม่า เป็นเสมือนกำแพงกั้นระหว่างประเทศไทยกับพม่า
"แม่น้ำสาละวิน"เป็นสายน้ำแห่งชาติพันธุ์ หล่อเลี้ยงชีวิตประชาชนที่อาศัยอยู่ตามลุ่มน้ำของทั้งสามแผ่นดินตลอดมา
แต่ในปัจจุบันสายน้ำแห่งชาติพันธุ์สายนี้ กำลังถูกคุกคามย่ำยีจากกลุ่มนายทุน และนโยบายของประเทศจีน พม่า และไทย ที่ต้องการเข้ามาตักตวงหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะโครงการก่อสร้าง "เขื่อน" เพื่อใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า
แต่ผลที่ตามมาภายหลังเกิดเขื่อน จะทำให้สิ่งแวดล้อมระบบนิเวศของสายน้ำ รวมถึงวัฒนธรรมและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้าน 2 ฝั่งน้ำต้องเปลี่ยนแปลง และถึงล่มสลายไป
ทางโครงการแม่น้ำเพื่อชีวิต โครงการฟื้นฟูนิเวศวิทยาในภูมิภาคอินโดจีนและพม่า ศูนย์ข่าวสาละวิน ร่วมกันจัดทำหนังสือ "สาละวิน สายน้ำสามแผ่นดิน" เพื่อรวบรวมข้อมูลสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นภายหลังการสร้างเขื่อน
สำหรับเนื้อหาและรายละเอียดในหนังสือ เป็นการกล่าวถึงวิถีชีวิตของชาวบ้านทั้งในอดีตและปัจจุบัน รวมทั้งผลกระทบ และปัญหาที่เกิดขึ้นจากการสร้างเขื่อนทั้งในประเทศพม่าและจีน
นอกจากนี้ ยังตีแผ่เบื้องหน้าเบื้องหลัง และผลประโยชน์ที่จะตามมาหากมีเขื่อนในแม่น้ำสาละวิน
ในงานเปิดตัวหนังสือเล่มนี้ ได้เชิญนักวิชาการ นักสิทธิมนุษยชน และบุคคลผู้ทำงานในพื้นที่ มาร่วมแสดงมุมมองต่างๆ
โดย นางสุนี ไชยรส กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ให้มุมมองและรายละเอียดของหนังสือว่า สาละวิน สายน้ำสามแผ่นดิน เป็นหนังสือเล่มเล็กๆ ที่รวบรวมเรื่องราว ความเจ็บปวด และน้ำตาของประชาชนที่ต้องทนแบกรับความทุกข์ยากภายหลังมีการสร้างเขื่อนขึ้น
เนื้อหาในหนังสือระบุถึงการแก้ไขปัญหา และสถานการณ์ในประเทศพม่า รวมถึงการต่อสู้ของชาวพม่า เพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพ สำหรับสถานการณ์ความรุนแรงในประเทศพม่า ดังนั้นสัง คมไทยควรเป็นตัวเชื่อมในการเข้าไปแก้ไขปัญ หา เพราะสิทธิเสรีภาพถือเป็นเรื่องที่ไร้พรมแดน
ด้าน น.ส. รสนา โตสิตระ กูล ส.ว.กทม. มองว่า สาละวินเป็นสายน้ำที่เชื่อมโยงทุกชาติพันธุ์เข้ามาไว้ด้วยกัน อีกทั้งยังถือเป็นสายธารที่มีความอ่อนไหว เป็นพื้นที่ที่มีกลุ่มบุคคลต้องการเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ ซึ่งการเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์เฉพาะด้าน ทำให้สายธารแห่งชาติพันธุ์ ต้องได้รับผลกระทบตามมามากมาย
น.ส.รสนาชี้ว่า ในภาวะที่โลกาภิวัตน์กำลังล่มสลาย ทุกคนควรหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องธรรมชาติ และแก้ไขปัญหาทางระบบนิเวศ เนื่องจากปัญหาที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ในขณะนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ปัญหาที่มีอยู่ลุกลามต่อไป
ขณะที่ นางจ๋ามตอง จากกลุ่มปฏิบัติงานสตรีไทใหญ่ เล่าถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ว่า เหตุการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศพม่าเกิดขึ้นมาเป็นระยะเวลากว่า 50 ปี ภายหลังรัฐบาลทหารพม่าเข้ามาควบคุมอำนาจในประเทศ อย่างเบ็ดเสร็จ ทั้งในปัจจุบันก็ยังคงละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นระบบ เพื่อควบคุมประชาชน และทรัพยา กรทางธรรมชาติของประเทศ
โดยเฉพาะพื้นที่ที่จะก่อสร้างเขื่อน เริ่มมีทหารเข้ามาขับไล่ชาวบ้านและยึดที่นา ส่งผลให้ชาวพม่าหลายแสนคนต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่น ไร้ที่อยู่อาศัย โดยที่ชาวพม่าไม่มีสิทธิ์เรียกร้องสิทธิ์ใดๆ ทั้งสิ้น ผลกระทบที่เกิดขึ้น สะท้อนให้เห็นว่าถ้ายังไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในพม่า ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้าน คงต้องก้มหน้ายอมรับชะตากรรมเช่นนี้ต่อไป
ส่วน พ.ญ.ซินเทีย หม่อง หมอชาวกะเหรี่ยง ผู้ก่อตั้งคลินิกแม่ตาว รักษาผู้อพยพตามแนวชายแดนไทย-พม่า ให้มุมมองในแง่สุขภาพว่า จากสถิติที่ผ่านมาพบว่า รายได้ของชาวพม่ากว่าร้อยละ 70 ต้องถูกนำไปใช้ในการซื้อเครื่องอุปโภคบริโภค
จากสถิติชี้ให้เห็นว่า สภาวะความเป็นอยู่ของชาวพม่าในปัจจุบันยังอยู่ในขั้นต่ำ ทำให้ผู้ที่เข้ามาใช้บริการในคลินิกส่วนใหญ่จึงเป็นชาวพม่าอพยพ และลี้ภัยเข้ามา ส่วนโรคที่ชาวพม่าเสียชีวิตมากที่สุด คือ มาลาเรีย และอหิวาตกโรค ซึ่งเป็นโรคที่สามารถป้องกันได้
แต่จากจำนวนผู้เสียชีวิตด้วยโรคดังกล่าว จึงยิ่งเป็นเครื่องตอกย้ำว่า นอกเหนือจากปัญหาการเมืองแล้ว ประเทศพม่ายังคงประสบกับปัญหาด้านสาธารณสุข ซึ่งอาจส่งผลกระทบทางอ้อมมาถึงประเทศไทยก็เป็นได้
นี่คือส่วนหนึ่งในมุมมอง ข้อมูล และข้อเท็จจริง ล้วนมีอยู่ในหนังสือ "สาละวิน สายน้ำสามแผ่นดิน" มีวางจำหน่ายแล้วตามร้านหนังสือทั่วไป