หวั่นชงแก่งเสือเต้นเข้า ค.ร.ม.
กก.สิทธิฯตั้งคำถามมีทางเลือกอื่นที่คุ้มทุนกว่าหรือไม่

fas fa-pencil-alt
สำนักข่าวประชาธรรม
fas fa-calendar
ธันวาคม 2546

กรุงเทพ/ชาวสะเอียบร้องกรรมการสิทธิฯ ตรวจสอบแก่งเสือเต้น เผยกรมชลฯหมกเม็ด ไม่ชี้แจงข้อเท็จจริงพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ หวั่น ร.ม.ต.ลักไก่ดันเข้าค.ร.ม. เยาวชนเผยต้องการให้พิจารณาทางเลือก ชี้เขื่อนไม่ใช่คำตอบสุดท้าย ด้านกรรมการสิทธิฯ ชี้ทีดีอาร์ไอศึกษาแล้วไม่คุ้มทุน ตั้งคำถามมีทางเลือกอื่นอีกหรือไม่


 วันนี้ (12 ธ.ค.) ณ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กลุ่มเยาวชนตะกอนยมและชาวบ้านราษฎรรักป่า ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ประมาณ 10 คน ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อนางสุนี ไชยรส คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ด้านที่ดินและน้ำ เพื่อให้มีการตรวจสอบและทบทวนโครงการว่ามีความเหมาะสมและคุ้มทุนหรือไม่ เนื่องจากที่ผ่านมากรมชลประทานยังให้ข้อมูลคลาดเคลื่อนไม่ตรงกับข้อเท็จจริง นอกจากนี้หากโครงการนี้ยังคงเดินหน้าต่อไปจะกระทบต่อสิทธิของชาวบ้านตามรัฐธรรมนูญ


 กลุ่มราษฎรรักป่าต.สะเอียบชี้แจงข้อมูลกับคณะกรรมการสิทธิฯว่าการสร้างเขื่อนจะสร้างผลกระทบต่อชาวบ้าน ต.สะเอียบ 4 หมู่บ้าน จำนวน 900 ครัวเรือน และยังรวมถึงชาวบ้านในเขต อ.เชียงม่วน อีกด้วย ซึ่งที่ผ่านมากรมชลประทานได้ชี้แจงชาวบ้านว่าไม่กระทบแต่อย่างใดซึ่งเป็นการให้ข้อมูลจำนวนพื้นที่ที่ได้รับผล กระทบที่คลาดเคลื่อน ไม่ตรงตามข้อเท็จจริง นอกจากนี้ ชาวบ้าน ต.สะเอียบอาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวเกือบ 5 ชั่วอายุคน รวมระยะเวลากว่า 200 ปีแล้ว 


 นายศรีมูน ขันทะบุตร ตัวแทนชาวบ้านกลุ่มราษฎรรักป่าต.สะเอียบกล่าวว่าขณะนี้ชาวบ้านไม่ไว้ใจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและ สหกรณ์คนใหม่ที่เป็นจอมผลักดันโครงการ อาจมีการลักไก่นำเข้า ค.ร.ม.โดยไม่ฟังความเห็นของชุมชน ดังนั้นจึงต้องมายื่นหนังสือถึงคณะกรรมการสิทธิฯ เพื่อติดตามตรวจสอบการดำเนินโครงการดังกล่าว 


 น.ส.วิลาวรรณ ขันธบุตร ประธานกลุ่มเยาวชนตะกอนยม กล่าวว่าเมื่อวันที่ 18 พ.ย.ที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีได้นำโครงการสร้างแก่งเสือเต้นเข้าสู่การพิจารณาไปแล้ว แต่ยังไม่ผ่านเพราะนายกรัฐมนตรีให้พิจารณาทางเลือกอื่นก่อน ดังนั้นวันนี้ชาวบ้านจึงยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเพื่อให้มีการตรวจสอบ เพราะกรณีการนำเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณานั้นที่ผ่านมารายละเอียดต่างๆเกี่ยวกับโครงการนี้ชาวบ้านยังไม่รู้รายละเอียด อีกทั้งยังไม่มีการพิจารณาผลดีผลเสียรวมทั้งความคุ้มทุนแต่อย่างใด 


 ประธานกลุ่มเยาวชนตะกอนยม กล่าวต่อว่า จริงๆ แล้วชาวบ้านอยากให้มีการศึกษาผลกระทบในด้านต่างๆ ให้มากกว่านี้ อีกทั้งให้พิจารณาทางเลือกอื่นในการแก้ปัญหาน้ำท่วม จ.สุโขทัยและพิษณุโลกเพราะเขื่อนนั้นไม่ได้เป็นคำตอบสุดท้ายในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว อีกทั้งที่ผ่านมาชาวบ้านก็ได้เสนอทางเลือกอื่นๆ ที่ไม่ใช่เขื่อนในการแก้ปัญหาน้ำท่วมมาโดยตลอด เช่น การขุดลอกคลองเพื่อให้คลองสามารถระบายน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ 


 นางสุนี ไชยรส คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯด้านที่ดินและน้ำกล่าวว่าโดยทั่วไปโครงการต่างๆ ที่ดำเนินการอาจกระทบต่อชุมชนนั้นต้องถือหลักว่าชาวบ้านต้องมีโอกาสรับทราบข้อมูลโครงการทั้งหมด แต่กรณีโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นนี้เท่าที่ตนทราบพบว่าชาวบ้านยังไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจนแต่อย่างใด 


 นางสุนี กล่าวต่อว่าเบื้องต้นต้องมีการตรวจสอบไปยังกรมชลประทานว่าโครงการดังกล่าวคืบหน้าไปถึงไหนและมีการชี้แจง รายละเอียดต่างๆ ให้ชาวบ้านทราบหรือยัง หากกรมชลฯบอกว่าชี้แจงให้ชาวบ้านทราบแล้วก็ต้องดูว่าชี้แจงแค่ไหนซึ่งจะมาอธิบายกว้างๆ ไม่ได้ นอกจากนี้คณะกรรมการสิทธิฯ ต้องเร่งศึกษาหาข้อมูล และหารือกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย 


 อย่างไรก็ตามนางสุนีกล่าวต่อว่าจากการติดตามข้อมูลเรื่องแก่งเสือเต้นพบว่ามีนักวิชาการศึกษามาแล้วหลายคณะ และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทยก็มีข้อสรุปว่าโครงการนี้ไม่คุ้มทุน 


 “กรรมการสิทธิฯ คงต้องศึกษาข้อมูลเบื้องต้น และหากได้ข้อสรุป หรือข้อเสนออย่างไรก็อาจทำข้อเสนอไปถึงรัฐบาล เขื่อนแก่งเสือเต้นเป็นเป็นโครงการขนาดใหญ่ ส่งผลกระทบต่อชาวบ้านและสิ่งแวดล้อมมหาศาล คงต้องรอบคอบในการตัดสินใจเพราะมีบทเรียนมามากแล้ว ที่สำคัญชาวบ้านก็เสนอทางเลือกแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งในหลายมาตรการ คงต้องถามรัฐบาลว่ามีทางเลือกอื่นอีกหรือไม่” นางสุนีกล่าว


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง