หวั่นกระทบหนักเขื่อนบ้านกุ่ม วอนศึกษารอบด้าน-เปิดข้อมูล

fas fa-pencil-alt
ประชาชาติธุรกิจ
fas fa-calendar
3 พฤศจิกายน 2551

นักวิชาการ-ชาวบ้านห่วงผลกระทบเขื่อนยักษ์ "บ้านกุ่ม" อุบลฯ มูลค่าแสนล้าน วอนรัฐศึกษาอย่างรอบด้าน ต้องเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนทราบก่อนลงมือสร้าง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รายงานการศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้นของบริษัท ปัญญาคอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท แมคโครคอนซัลแตนท์ จำกัดระบุว่า โครงการเขื่อนบ้านกุ่มเป็นโครงการก่อสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าที่บริเวณบ้านท่าล้ง ต.ห้วยไผ่ อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี และบ้านกุ่มน้อย เมืองชะนะสมบูน แขวงจำปาสัก สปป.ลาว มีกำลังการผลิต 1,872 เมกะวัตต์ มูลค่าการลงทุน 120,390 ล้านบาท ผลิตไฟฟ้าเฉลี่ยปีละ 8,433.87 ล้านเมกะวัตต์ จะทำให้เกิดน้ำท่วมในประเทศไทย 5,490 ไร่ และ สปป.ลาว 8,368 ไร่

นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ประธานที่ปรึกษากรรมาธิการการสวัสดิการสังคม สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า จ.อุบลราชธานีมีเขื่อนเกิดขึ้นในพื้นที่ คือ เขื่อนปากมูน และเขื่อนสิรินธร ผลกระทบที่เกิดขึ้นต้องใช้เวลา 20 ปีจึงจะได้ค่าชดเชย ซึ่งบันทึกข้อตกลงหรือ MOU โครงการเขื่อนบ้านกุ่มที่รัฐบาลไทยและ สปป.ลาวได้ลงนามร่วมกันนั้นถือว่าเป็นการขัดกับสิทธิพื้นฐานของชุมชน และขัดรัฐธรรมนูญอีกด้วย

"ชาวบ้านจะอยู่อย่างไรถ้าหากมีเขื่อนมากั้นแม่น้ำโขง ปลาจะเหลือกี่ชนิด การเดินเรือจะเดินได้หรือไม่ น้ำจะท่วมมากน้อย เพียงใด การสร้างเขื่อนของจีนมีผลกระทบต่อชาวบ้าน ทำให้น้ำในแม่น้ำโขงมีระดับขึ้น-ลงผิดปกติ และยังทำให้ตลิ่งแม่น้ำโขงเกิดการพังทลายเป็นจำนวนมาก ทำให้พื้นที่เพาะปลูกริมฝั่งแม่น้ำโขงลดลง และผลผลิตทางการเกษตรลดลง ดังนั้นโครงการที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนจึงต้องมีการศึกษากันอย่างรอบคอบ" นายไกรศักดิ์กล่าว

นายขรรค์เพชร ชายทวีป อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เปิดเผยว่า รัฐธรรมนูญปี 2550 กำหนดให้ชุมชนสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการรักษาทรัพยากรธรรมชาติได้ ดังนั้นเขื่อนบ้านกุ่มจะมีการก่อสร้างหรือไม่ก็ต้องสอบถามชุมชน ถ้ารัฐบาลไม่ทำตามรัฐธรรมนูญประชาชนฟ้องศาลปกครองได้

ดร.ชวลิต วิทยานนท์ เจ้าหน้าที่กองทุนสัตว์ป่าโลก เปิดเผยว่า การสร้างเขื่อนแต่ละแห่งส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศเป็นอย่างมาก แม่น้ำโขงถือเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญและมีความอุดมสมบูรณ์มาก หากมีการสร้างเขื่อนบ้านกุ่มอาจทำให้เกิดปัญหาน้ำทะเลไหลทะลักเข้าดินแดนปากแม่น้ำโขง นอกจากนี้ปลาพื้นบ้าน เช่น ปลาบึก ปลาเอิน ปลาแข้ ปลากบ เป็นปลาราคาแพงก็จะมีจำนวนลดลงอีกด้วย ซึ่งผลกระทบโครงการก่อสร้างเขื่อนบ้านกุ่มจะรุนแรงมากกว่าโครงการเขื่อนปากมูนเกือบ 500 เท่า

นายสายสมร ละครวง ผู้ใหญ่บ้านบ้านท่าล้ง ต.ห้วยไผ่ อ.โขงเจียม เปิดเผยว่า จนถึงขณะนี้ประชาชนในพื้นที่ก็ยังไม่ทราบว่าจะมีการก่อสร้างเขื่อนบ้านกุ่มที่บริเวณใด จึงอยากให้ทั้งฝ่ายสนับสนุน และฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อนหันหน้ามาคุยกันเพื่อให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลอย่างรอบด้านก่อนที่จะมีการลงทุนก่อสร้างเขื่อน

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง