หญิงสาวกับสายน้ำ

fas fa-pencil-alt
โดย สายใจ เลี้ยงพันธุ์สกุล นักศึกษาฝึกงานโครงการแม่น้ำเพื่อชีวิต จาก Middlebury College
fas fa-calendar

แม้ว่าโลกจะหมุนไปเร็วแค่ไหน เรายังปฏิเสธไม่ได้ว่าความไม่เท่าเทียมกันระหว่างหญิงและชายยังคงอยู่  ความเหลี่อมล้ำแอบแฝงอยู่ในสังคม การเมือง ที่ทำงาน หรือแม้แต่ในสถาบันครอบครัว  ในโลกกำลังพัฒนา ผู้หญิงถูกคาดหวังให้ทำงานบ้านแทนที่โอกาสในการศึกษา แรงงานราคาถูกส่วนมากในโลกเป็นผู้หญิง  หรือแม้ในยุคที่ทั้งผู้หญิงและชายต่างทำงานนอกบ้าน ผู้หญิงยังถูกคาดหวังลึกๆให้เป็นฝ่ายล้างจาน กวาดบ้าน ซักผ้า ทำอาหาร เลี้ยงลูก  สิ่งที่น่าหวาดหวั่นคือ ความไม่เท่าเทียมได้กลายเป็นสิ่งธรรมดา  คำถามได้หายไปในความเงียบ เป็นความชาชินที่แม้แต่หญิงสาวเองก็ไม่ได้ตั้งคำถามกับสิ่งเหล่านี้

สายน้ำก็เช่นกัน

คงมีหลายครั้งที่สายน้ำรู้สึกน้อยใจ ในความไม่เท่าเทียมกันกับมนุษย์ สายน้ำถูกมนุษย์เอารัดเอาเปรียบและแสวงหาผลประโยชน์ การให้ของสายน้ำ ถูกตอบแทนกลับ ด้วยการทำลายของมนุษย์

แนวคิดด้านความสัมพันธ์ระว่างผู้หญิงกับธรรมชาติ (Ecofeminism) เป็นแนวคิดใหม่ที่เกิดขึ้นเมื่อ 30 ปีมานี้ มีความเชื่อว่า ความเท่าเทียมกันระหว่างหญิง และชาย จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากยังไม่มีความเท่าเทียมกันระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ  ทั้งผู้หญิงและธรรมชาติ ต่างตกเป็นเหยื่อของการพัฒนาและระบบทุนนิยม ที่มีมนุษย์เป็นศูนย์กลางของสรรพสิ่ง ธรรมชาติได้ถูกมองเป็นแหล่งวัตถุดิบที่ตอบสนองความต้องการอันไร้ขีดจำกัดของมนุษย์  งานวิจัยแม่หญิงลุ่มน้ำโขงกับความมั่นคงทางอาหาร เชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างธรรมชาติและแม่หญิง  มีจุดมุ่งหมายในการยกระดับบทบาทของแม่หญิงต่อสิทธิการใช้ทรัพทยากรน้ำ อีกทั้งยังศึกษาความสำคัญของสายน้ำต่อแหล่งอาหาร และการดำรงชีวิต

อรุณเบิกฟ้า เสียงครกตำเป็นจังหวะ แม่หญิงตื่นแต่เช้ามาช่วยกันทำอาหารท้องถิ่นที่นับวันจะสูญหายไปกับการเวลา ผักต่างๆ ที่ได้จากริมฝั่งน้ำ ได้ถูกนำมาจัดเรียงใส่ตะกร้า เพื่อเตรียมปรุงเมนูอาหารกว่าสิบชนิด

 แม้ว่าเมนูอาหารอาจจะยังไม่แตกต่างจากสมัยก่อน แต่แหล่งที่มาของผัก และการได้มาของปลาได้เปลี่ยนไป แม่หญิงเล่าให้ฟังว่า “สมัยก่อนผักก็เด็ดตามฝั่ง ปลาก็หาจากน้ำ แต่เดี๋ยวนี้อะไรก็เปลี่ยนไป ผักและปลาต้องไปหาจากตลาด”

 กลิ่นหอมเย้ายวนลอยมาแต่ไกล หนึ่งเมนูอาหารสุดฮิตของวันนี้คือ ไกน้ำข่าทอด อาหารสูตรโบราณในแถบรุ่นน้ำโขง
ไก  หรือ สาหร่ายแม่น้ำโขง ได้ถูกนำมาคลุกกับข่าก่อนทอด จึงเป็นที่มาของชื่อ ไกน้ำข่าทอด อาจทำให้ใครหลายคนยิ้มได้เพราะฟังผ่านๆอาจนึกว่าเป็น ไก่ต้มข่า

ไก หรือสาหร่ายแม่น้ำโขง มีถิ่นกำเนิดอยู่ตามหาดหินและหินผาใต้น้ำในระดับที่แสงแดดสามารถสาดส่องให้ความสว่าง  ไกมีให้เก็บเพียงปีละครั้งในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ เมื่อน้ำโขงเริ่มลดระดับ สาหร่ายสีเขียวจะเกาะตามหาดหิน อาศัยแสงแดดอ่อนๆ และพริ้วไหวตามจังหวะการไหลของสายน้ำ

แม่หญิงเล่าถึงช่วงฤดูหนาวในอดีตที่ชาวบ้านจะออกมาเก็บไก หรือ “จกไก” แต่ละบ้านจะช่วยกันล้างไกให้สะอาด โดยการทุบด้วยท่อนไม้เป็นแผ่นแห้ง จนเนื้อไกยุ่ยได้ที่ เป็นอีกหนึ่งช่วงเวลาที่ชาวบ้านได้ลงแรงร่วมกัน แม่หญิงหวนนึกถึงความทรงจำวันวาน และรอยยิ้มน้อยๆ ได้แจ่มชัดขึ้น

หลังจากเก็บไกได้แล้ว ชาวบ้านจะล้างไกให้สะอาด โดยการทุบด้วยท่อนไม้ จนเนื้อไกยุ่ยได้ที่  แล้วนำมาหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ  ตำพริกแห้ง หอมแดง เกลือ รวมกัน นำมาทาไก หลังจากนั้นตั้งกระทะใส่น้ำมันรอให้ร้อน ทอดไกจนกรอบ จนส่งกลิ่นหอม จากนั้นโรยหน้าด้วยงา เพียงแค่นี้ก็จะได้ ไกน้ำข่าสุดอร่อย

นอกจากนี้ไกยังสามารถมาทำเป็นแผ่นแห้ง น้ำพริกไก ขนมไก น้ำไก และข้าวเกรียบไกก็เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์โอทอป เป็นของฝากแสนอร่อยจากเชียงของ

ไกไม่เพียงเป็นอาหารของคน แต่ยังเป็นอาหารของปลา ความมหัศจรรย์ของไกยังไม่หมดเพียงเท่านี้ไกมีคุณค่าทางอาหารสูงมาก และกลายเป็นจุดเด่นที่สำคัญ โดยมีโปรตีนสูงพอๆ กับปลาน้ำจืด เรียกได้ว่าสามารถนำมาทดแทนการกินปลาได้เป็นอย่างดี ข้อสำคัญคือ มีกากหรือเส้นใยพอๆ กับผักสีเขียวทั่วๆ ไป แถมยังมีวิตามินและแร่ธาตุต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแคลเซียมค่อนข้างสูง และที่เด่นที่สุดคือมีซิลิเนียมสูงมาก ซึ่งสูงกว่าในผักสีเขียวด้วยซ้ำไป ซึ่งแร่ธาตุตัวนี้เป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นสารป้องกันอนุมูลอิสระที่สำคัญยิ่งชนิดหนึ่ง

ในด้านสรรพคุณทางยา ก็จะพบว่าสาหร่ายไกมีฤทธิ์ต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มยับยั้งการหากเกร็งของกล้ามเนื้อเรียบ ขยายหลอดลม ต้านการอักเสบ ระงับปวด และลดความดันโลหิตได้ด้วย (1)

แม่หญิงสร้างรายได้จากการเก็บไกขาย แต่เรื่องราวเปลี่ยนไป เมื่อจีนปิด เปิดเขื่อน เพื่อล่องเรือสินค้าลงมายังเชียงแสน ระดับน้ำที่ขึ้นลง และกระแสน้ำที่ผันแปรทำให้ไกตาย นับวันไกก็หายากยิ่งทุกที ไกน้ำข่ากลิ่นหอม อาจหายไปกับสายน้ำเป็นเพียงแค่เรื่องเล่า ช่วงเวลาแห่งความสุขที่หมู่บ้านได้ร่วมกันจกไก และตากไก ได้ค่อยๆเลือนหายไป และรายได้ที่แม่หญิงใช้เพื่อจุนเจือครอบครัวก็ลดน้อยลง

หญิงสาว และ ไก สองวิถีชีวิตที่แตกต่าง ต่างพึ่งพาสายน้ำในการดำรงอยู่
อนาคตของไก และอนาคตของหญิงสาวต่างก็ขึ้นอยู่กับการไหลของสายน้ำ  แม่หญิงยังคงอุ้มลูกน้อย เดินเลียบฝั่งโขง เดินหาไกตามหาดหิน
หน้าหนาว ณ ริมฝั่งโขง แม่หญิงยังคงอยู่ที่นั่น...รอการกลับมาของไก

 อ้างอิง

(1) งานวิจัยสาหร่ายในประเทศไทย  http://www.phtnet.org/news/view-news.asp?nID=421

 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง