แก่งเสือเต้น ระดมเสบียงอาหารหนุนคณะเดินเท้าทางไกลค้าน EHIA เขื่อนแม่วงก์
15 กันยายน 2556
สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ /////
เช้าวันนี้ (15 กันยายน 2556) ชาวสะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ได้ออกรับบริจาคข้าวสารอาหารแห้งเพื่อส่งเป็นเสบียงอาหารให้คณะเดินเท้าทาง ไกลคัดค้าน EHIA เขื่อนแม่วงก์ ซึ่งได้ออกเดินเท้าจากจุดที่จะสร้างเขื่อนแม่วงก์จังหวัดนครสวรรค์ไปยังกรุงเทพ
นายศรชัย อยู่สุข กรรมการกลุ่มราษฎรรักษ์ป่า ต.สะเอียบ อำเภอสอง จังหวัดแพร่ กล่าวว่า “พวก เราได้ทราบข่าวการเดินเท้าทางไกลของคณะมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร เพื่อปกป้องผืนป่าแม่วงก์ ที่รัฐบาลจะสร้างเขื่อนแม่วงก์ ซึ่งไม่ต่างจากพวกเราที่ปกป้องป่าสักทอง แก่งเสือเต้น ที่รัฐบาลผลักดันจะสร้างเขื่อนยมบนเขื่อนยมล่าง ก็ตกอยู่ในชะตากรรมเดียวกัน ทั้งผืนป่า สัตว์ป่า ที่ทำกิน ชุมชนของเราก็เดือดร้อนไม่ต่างจากแม่วงก์ เราจึงขอรับบริจาคข้าวสารอาหารแห้งจากชาวบ้าน เพื่อนำไปมอบให้คณะที่เดินเท้าทางไกลในการรณรงค์ให้คนในสังคมไทยได้ตระหนัก และเห็นความสำคัญของป่าและธรรมชาติ” นายศรชัยกล่าว
โดยก่อนหน้านี้ คณะของมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร ที่นำโดย นายศศิน เฉลิมลาภ ได้ออกเดินเท้าทางไกลจากแนวเขตหัวงานที่จะสร้างเขื่อนแม่วงก์ จ.นครสวรรค์ ไปยังกรุงเทพ ระยะทางประมาณ 388 กิโลเมตร เพื่อแสดงเจตนารมณ์ในการไม่เห็นด้วยกับการผ่าน EHIA ของ เขื่อนแม่วงก์ ซึ่งเคยสอบตกมาแล้ว 4 ครั้ง จนถึงวันนี้ นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ได้โยกย้ายปรับเปลี่ยนคณะผู้ชำนาญการในการพิจารณา EHIA ใหม่ ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะผ่าน EHIA เขื่อนแม่วงก์ภายในสิ้นเดือนกันยายนนี้
ด้านนายสมาน สร้อยเงิน ชาวบ้านบ้านดอนชัยสักทอง หมู่ 9 ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ กล่าวว่า “เขื่อน แม่วงก์จะทำลายป่าแม่วงก์ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ นับหมื่นไร่ ซึ่งกระทบต่อระบบนิเวศน์ ป่าไม้ สัตว์ป่าเป็นอย่างมาก ขณะที่เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง ก็จะทำลายป่าในเขตอุทยานแห่งชาติแม่ยม กว่าสามหมื่นไร่ เราจึงไม่เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อนทำลายป่าที่มีอยู่เพียงน้อยนิดอยู่แล้ว รัฐบาลควรใช้แนวทางอื่นในการแก้ไขปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วม ซึ่งมีหลายอย่าง ไม่ใช่เอะอะอะไรก็สร้างเขื่อน ให้นึกถึงอนาคตของลูกหลานบ้าง วันนี้เรามีฟักทอง ฟักเขียว หัวปลี พริก หอม กระเทียม ข้าวสารอาหารแห้งที่ได้จากจิตศรัทธาของชาวบ้านสะเอียบจะนำไปมอบให้กับพี่ น้องเราที่เดินเท้าทางไกลต่อสู้กับความไม่เป็นธรรม ถึงจะมีค่าเพียงเล็กน้อยแต่ก็เป็นน้ำใจจากชาวบ้านที่ตั้งใจช่วยเหลือกันเอง ตามมีตามเกิด” นายสมานกล่าว
ทั้งนี้เมื่อปีที่ผ่านมา คณะกรรมการคัดค้านเขื่อนแม่วงก์และคณะกรรมการคัดค้านเขื่อนแก่งเสือเต้น ได้ร่วมกันลงนามในสัญญาประชาคมในการต่อสู้คัดค้านเขื่อนแม่วงก์และคัดค้าน เขื่อนแก่งเสือเต้นร่วมกัน อีกทั้งคณะกรรมการคัดค้านเขื่อนแก่งเสือเต้นได้เดินทางไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ กับคณะกรรมการคัดค้านเขื่อนแม่วงก์ที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ อีกทั้ง คณะกรรมการคัดค้านเขื่อนแม่วงก์และมูลนิธิสืบก็ได้เดินทางมาร่วมกิจกรรมและ ร่วมบวชป่าสักทองมาแล้วในปีที่ผ่านมา
ด้านนายสมมิ่ง เหมืองร้อง ประธานคณะกรรมการคัดค้านเขื่อน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ กล่าวว่า “เขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง จ.แพร่ , เขื่อน แม่วงก์ จ.นครสวรรค์ รวมทั้งเขื่อนแม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ เป็นเขื่อนขนาดใหญ่ที่จะทำลายป่าจำนวนมหาศาล เราจึงไม่เห็นด้วย และเราจะร่วมกันคัดค้านเขื่อนเหล่านี้จนถึงที่สุด เราเสนอให้รัฐบาลใช้แนวทางการจัดการน้ำชุมชน การสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ขนาดเล็ก การสร้างแก้มลิง สร้างแหล่กักเก็บน้ำหนึ่งตำบลหนึ่งแหล่งน้ำ สร้างแหล่งกักเก็บน้ำทุกชุมชนทุกหมู่บ้าน ที่สำคัญคือต้องร่วมกันรักษาป่าต้นน้ำ ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ เพื่อให้ป่าช่วยแก้ไขปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วม ผมว่ารัฐบาลไม่น่าโง่มาทำลายป่า ทำลายอนาคตของลูกหลานเรา มันจะก่อให้เกิดน้ำท่วม น้ำแล้ง หนักกว่าเดิม” นายสมมิ่งกล่าว
ทั้งนี้คณะกรรมการคัดค้านเขื่อน ตำบลสะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ จะได้นำเสบียงอาหาร ข้าวสารอาหารแห้ง ไปสมทบให้กับคณะเดินเท้าทางไกล ที่กำลังเดินเท้าทางไกลอยู่ในวันที่ 16 กันยายนนี้ ซึ่งคาดว่าจะอยู่ที่เขตจังหวัดสุพรรณบุรี โดยจะมีตัวแทนชาวบ้านประมาณ 10 คนจากแก่งเสือเต้น ต.สะเอียบ ร่วมเดินให้กำลังใจคณะเดินเท้าทางไกลคัดค้าน EHIA เขื่อนแม่วงก์ อีกด้วย